คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 296 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 267 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6516/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการขายทอดตลาด: คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุดตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความแพ่ง
คำร้องของจำเลยอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดไว้ 4,346,000 บาท และขายทอดตลาดได้เงิน 5,450,000 บาท ต่ำกว่าความเป็นจริง เป็นการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สุจริต และไม่เป็นธรรมต่อจำเลย แม้จำเลยจะอ้างว่าเป็นการขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ก็ตาม แต่เนื้อหาตามคำร้องของจำเลยเป็นการโต้แย้งว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินไปในราคาต่ำเกินสมควร และการขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควรนั้นเกิดจากความไม่สุจริตของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ซึ่งมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ บัญญัติว่า คำสั่งของศาลตามวรรคสองให้เป็นที่สุด เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย คำสั่งของศาลชั้นต้นย่อมเป็นที่สุดตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3744/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการขอเพิกถอนการขายทอดตลาด: ผู้มิได้เข้าร่วมสู้ราคา ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย
ที่ดินพิพาทคดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีเคยเคาะไม้ขายให้ผู้สู้ราคาสูงสุดมาแล้ว 3 ครั้ง และผู้สู้ราคาดังกล่าวผิดสัญญาซื้อขายไม่ชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือทั้งสามครั้ง เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงกำหนดเงื่อนไขการวางเงินประกันการเข้าสู้ราคาสูงกว่าร้อยละ 5 ของราคาที่เคยมีผู้เสนอสูงสุด โดยเสนอต่ออธิบดีกรมบังคับคดีหรือรองอธิบดีผู้รับมอบหมายเพื่อพิจารณา และโดยอาศัยคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 64/2554 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 ก่อนการประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทในครั้งนี้ อันนับได้ว่าเป็นการประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทโดยชอบ ประกอบกับ ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างเพื่อขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ก็บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าว เมื่อปรากฏว่า ผู้ร้องเป็นเพียงผู้อ้างว่าประสงค์จะเข้าสู้ราคา โดยมิได้เข้าร่วมสู้ราคา ผู้ร้องจึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ซึ่งต้องเสียหายเพราะการบังคับคดีนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1025/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีขายทอดตลาดและการสวมสิทธิเจ้าหนี้: เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องพิจารณาราคาประเมินและสิทธิเจ้าหนี้ใหม่
ผู้ร้องเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ได้รับโอนสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องจากโจทก์ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 และได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีส่วนได้เสียในการบังคับคดี การที่ทนายความผู้ร้องนำสำเนาคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์พร้อมหมายนัดไปส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี โดย ณ. เจ้าพนักงานบังคับคดีได้สั่งในหมายนัดว่า ทราบ รวม และรอฟังคำสั่งศาล แสดงว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบแล้วว่าผู้ร้องได้ขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ แม้จะไม่เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาด แต่เมื่อพิจารณาประกอบกับในวันขายทอดตลาด มีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียวและเสนอซื้อในราคา 1,620,000 บาท ต่ำกว่าราคาประเมินของ เจ้าพนักงานบังคับคดีที่ประเมินไว้ในราคา 3,240,000 บาท และต่ำกว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นจำนวนมาก เจ้าพนักงานบังคับคดีควรที่จะถอนทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 513 เพื่อรอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ก่อนจึงดำเนินการขายทอดตลาดต่อไป แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกลับขายทอดตลาดในวันรุ่งขึ้นโดยไม่รอฟังคำสั่งศาล เมื่อการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีและต้องคุ้มครองลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ให้ต้องเสียหายโดยต้องไม่ขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาที่ต่ำเกินสมควร จนลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องรับภาระหนักขึ้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดในราคา 1,620,000 บาท โดยมีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียว แม้จะไม่ปรากฏว่ามีการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการไม่รักษาผลประโยชน์ให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เพราะการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองในราคาที่ต่ำเกินสมควรโดยไม่ให้โอกาสผู้ร้องซึ่งเล็งเห็นได้ว่าจะเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้ามารักษาประโยชน์ของตน และเห็นได้ว่าต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าว เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 513 และ ป.วิ.พ. มาตรา 308 เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 553/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการขายทอดตลาดที่เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ต้องยื่นคำร้องภายใน 15 วันนับจากวันที่ทราบข้อเท็จจริง
ผู้ร้องกล่าวอ้างมาในคำร้องว่า ผู้ร้องได้เข้าร่วมประมูลที่ดินแปลงที่ 1 และเป็นผู้ประมูลได้ในราคา 605,000 บาท แต่เมื่อผู้ร้องทำสัญญาซื้อขายเจ้าพนักงานบังคับคดีกลับระบุว่าผู้ร้องเป็นผู้ชนะการประมูลที่ดินแปลงที่ 2 เนื่องจากเกิดจากความผิดพลาดในการจดรายงานการขายทอดตลาดและการทำสัญญาซื้อขาย คำร้องดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ร้องต้องเสียหายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ผู้ร้องต้องยื่นคำร้องก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตามมาตรา 296 วรรคสาม เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 และผู้ร้องเข้าทำสัญญาซื้อขายกับเจ้าพนักงานบังคับคดีในวันดังกล่าวตามสำเนาสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 เอกสารท้ายคำร้องคัดค้านขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2554 แสดงว่าผู้ร้องทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นแล้วนับแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 ผู้ร้องเพิ่งมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 จึงพ้นกำหนดระยะเวลา 15 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด คำร้องของผู้ร้องเป็นคำร้องที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16991/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเพิกถอนการขายทอดตลาด: ต้องเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายและเกิดความเสียหาย
การขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และเกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์เดิมจากการขายทอดตลาดจะเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าหลังจากผู้ร้องประมูลซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้จากการขายทอดตลาดแล้ว ผู้ร้องไม่ชำระราคา เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดใหม่ จากนั้นผู้ซื้อทรัพย์ประมูลซื้อในราคาซึ่งสูงกว่าราคาที่ผู้ร้องประมูลซื้อไว้ครั้งก่อน จึงไม่มีราคาทรัพย์ส่วนที่ขาดที่ผู้ร้องจะต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้ต้องเสียหายเพราะเหตุที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12758/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีทรัพย์สินจำนองหลังมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์: สิทธิเจ้าหนี้มีประกัน & อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดี
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (2) บัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวในการเก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น แม้ทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในระหว่างการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ยังต้องปฏิบัติตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น เว้นแต่การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 110 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 112 ทั้งนี้ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาแบ่งเฉลี่ยให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเสมอภาคตามส่วน แต่อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 110 วรรคท้าย
คดีนี้หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 และมีคำพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 แล้ว ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับทรัพย์จำนอง หรือมอบหมายให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในคดีนี้แทน หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือสอบถามไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่ยึดไว้อันถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย แต่กลับปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในคดีนี้ต่อไปในวันที่ 8 มิถุนายน 2548 และเพิ่งมามีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2551 ว่าให้สอบถามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับทรัพย์ของจำเลยในคดีนี้ ซึ่งเป็นการสอบถามภายหลังจากที่ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปแล้ว จึงมีผลเท่ากับว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปตามอำนาจหน้าที่ของตนในการบังคับคดีแพ่ง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หาใช่เป็นการขายทอดตลาดในคดีล้มละลายอันเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือถือได้ว่าได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ ประกอบกับทรัพย์จำนองเป็นหลักประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เดิม แม้ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว แต่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ย่อมไม่กระทบถึงสิทธิของโจทก์เดิมในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในการที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้นต่อไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายดังที่ศาลล่างวินิจฉัย โจทก์ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีนี้ได้ โดยหาจำต้องไปยื่นคำร้องในคดีล้มละลายดังที่ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2997/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีที่ฝ่าฝืนกฎหมายและการไม่มีอำนาจฟ้อง กรณีเพิกถอนการขายทอดตลาดและเรียกค่าเสียหาย
ค้ำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 23422 พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้าง และให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 19323 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยโจทก์ทั้งสองอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ทราบ และขายทอดตลาดทรัพย์ไปในราคาต่ำกว่าราคาปกติ ทำให้โจทก์ทั้งสองมีหนี้ค้างชำระต้องถูกยึดทรัพย์อื่นอีก อันเป็นคำฟ้องที่อ้างว่าการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี โจทก์ทั้งสองหาอาจนำคดีมาฟ้องใหม่ได้ไม่และในกรณีที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเป็นค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีแทนโจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น เมื่อศาลยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหรือเพิกถอนการยึดทรัพย์ก็จะฟังว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองหาได้ไม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 284/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดทรัพย์สินมีผู้เข้าสู้ราคาเดียว การดำเนินการชอบด้วยกฎหมายหากไม่มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล
จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยอ้างว่าการขายทอดตลาดมีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียวและราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดต่ำเกินสมควรอันเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลหรือความไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีและโจทก์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยแล้ว จำเลยยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ไปโดยมีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียวชอบหรือไม่ ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุอื่นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง มิใช่ประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุการขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควรโดยมิชอบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง อันจะทำให้คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุดได้ตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่
การขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา กฎหมายมิได้บัญญัติให้ต้องมีผู้เข้าแข่งขันประมูลราคา แม้การขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้จะมีโจทก์เข้าสู้ราคาเป็นผู้ซื้อทรัพย์เพียงรายเดียวก็ตาม เจ้าพนักงานบังคับคดีก็สามารถดำเนินการขายทอดตลาดไปได้โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ประมูลราคารายอื่นเข้ามาแข่งขันด้วยประกอบกับยังได้ความอีกว่า การขายทอดตลาดดังกล่าวเป็นการขายทอดตลาดครั้งที่ 19 ซึ่งการขายทอดตลาดครั้งก่อนหน้านี้ไม่มีผู้ใดสนใจเข้าสู้ราคานอกจากโจทก์ดังนั้น การดำเนินการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่มีเหตุให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10912/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดี: การเพิกถอนขายทอดตลาดต้องยื่นคำร้องภายในกำหนด หากพ้นกำหนดสิทธิขาด
คำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งประกาศแจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 2 ทราบ การขายทอดตลาดจึงไม่ชอบนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าการขายทอดตลาดฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง คำร้องของจำเลยที่ 2 จึงอยู่ในบังคับมาตรา 296 วรรคสอง ที่บัญญัติให้ยื่นคำร้องต่อศาลภายในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวและเสนอบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงิน รายงานต่อศาลเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2546 ว่า ได้จัดทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงินและจ่ายเงินให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในคดีไปแล้ว การบังคับคดีจึงเสร็จสิ้นลงตามมาตรา 296 วรรคสี่ (2) การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 13 ธันวาคม 2550 จึงพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9508/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการร้องขัดทรัพย์และการบังคับคดี: การเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ว. เพราะก่อนที่ ว. จะถึงแก่ความตายได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้อง โดยสละการครอบครองและส่งมอบการครอบครองให้ผู้ร้องตามคำร้องของผู้ร้องมีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยที่ดินพิพาทที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้อง จึงเป็นกรณีที่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 288 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องร้องขัดทรัพย์ มิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 แต่การที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อนำออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งให้โจทก์และจำเลยทั้งสองตามส่วนนั้น เป็นวิธีการแบ่งทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษาที่ให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท โดยศาลกำหนดไว้ว่าหากไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลราคากันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองถ้าตกลงกันไม่ได้ให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้แบ่งให้โจทก์ 1 ใน 3 ส่วน อันเป็นวิธีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้มีสิทธิร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง โจทก์และจำเลยทั้งสองมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกัน จึงมิใช่การร้องขอให้บังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอันเป็นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 เข้ามาในชั้นบังคับคดีนี้
of 27