พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7788/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำร้องคัดค้านการบังคับคดีและการขอค่าสินไหมทดแทน การฟ้องร้องต้องกระทำโดยตรง ไม่ใช่การอ้างในคำร้องคัดค้าน
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทรวม 6 แปลง เป็นการยึดเกินกว่าหนี้ที่มีอยู่ย่อมเป็นการไม่ชอบ ขอให้ถอนการยึด จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาและไม่มีการเจรจาตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ก่อน ขอให้ถอนการยึด ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ให้บังคับคดีต่อไป และวินิจฉัยว่าการยื่นคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีมูลและเป็นการยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดีให้ชักช้า เห็นสมควรให้วางเงินต่อศาลคนละ 5,000,000 บาท เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องว่า การยื่นคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวไม่มีมูลและเป็นการยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดีให้ชักช้า เวลาผ่านไป 7 ปี โจทก์ยังไม่ได้รับเงินจากการขายที่ดิน ทำให้ไม่อาจนำเงินไปลงทุนหากำไร นำไปฝากหรือให้กู้ยืมได้ดอกเบี้ย ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 4,590,000 บาท ศาลชั้นต้นยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาในตอนท้ายว่า ยกหรือยืนหรือกลับหรือแก้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 242 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 แต่ในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในส่วนนี้ว่า โจทก์มิได้ใช้สิทธิร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหก (เดิม) แต่แรก และเพิ่งจะมาใช้สิทธิตามมาตรา 296 วรรคหก (เดิม) ภายหลัง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์มานั้น ชอบแล้ว พอแปลได้ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ กรณีถือว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ผิดหลงเล็กน้อยหรือผิดพลาดเล็กน้อยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และการยื่นคำร้องของโจทก์ดังกล่าว ไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองและวรรคหก (เดิม) ประกอบมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง (เดิม) เพราะคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิใช่คัดค้านการขายทอดตลาด แม้จำเลยทั้งสี่จะเคยยื่นคัดค้านการขายทอดตลาดและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์ก็ไม่ได้ร้องขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 30 วัน ดังนั้น หากโจทก์เห็นว่ามีความเสียหายก็ชอบที่โจทก์จะไปยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6087/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขายทอดตลาดบังคับคดี: ศาลฎีกาส่งกลับศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาเรื่องราคาต่ำกว่าความเป็นจริง
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยประเด็นเรื่องเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งวันนัดขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท แต่ศาลฎีกาเห็นว่าการแจ้งวันนัดขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ทราบชอบแล้ว จึงมีประเด็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุมัติให้ขายเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง (เดิม) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ซึ่งคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในเรื่องนี้ย่อมเป็นที่สุดตามความในวรรคท้ายเดิม และศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247
แม้ระหว่างพิจารณาคดีขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 จะได้ชำระหนี้ให้โจทก์และโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีแล้ว แต่การซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาท การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้โจทก์ถอนการยึดทรัพย์จึงไม่มีผลกระทบถึงสิทธิฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์
แม้ระหว่างพิจารณาคดีขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 จะได้ชำระหนี้ให้โจทก์และโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีแล้ว แต่การซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาท การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้โจทก์ถอนการยึดทรัพย์จึงไม่มีผลกระทบถึงสิทธิฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1540/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การวางเงินประกันเพื่อคัดค้านการขายทอดตลาด: คำสั่งศาลยกคำร้องเป็นที่สุดและไม่อุทธรณ์ได้
การที่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าราคาที่ได้มีจำนวนต่ำเกินสมควร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง (เดิม) นั้น ในวรรคสามของมาตราดังกล่าวให้นำวรรคห้าของมาตรา 296 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 296 วรรคห้า บัญญัติให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เพื่อเป็นหลักประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลที่อาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวได้ หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยวางเงินจำนวน 200,000 บาท ภายในวันที่ 3 มีนาคม 2546 เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ซื้อทรัพย์ แม้จำเลยจะนำเงินมาวางแล้วบางส่วนจำนวน 100,000 บาท และส่วนที่เหลือขอขยายระยะเวลาวางเงินต่อไปอีกก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินอีก จำเลยก็ต้องนำเงินส่วนที่เหลือมาวางภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นแล้ว คำสั่งยกคำร้องดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาต่อไปอีก