คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 215

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 476 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6276/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารและการกระทำชำเราผู้เยาว์ ศาลแก้เป็นความผิดตามมาตรา 283 ทวิ
พฤติการณ์ของผู้เสียหายและจำเลยส่อแสดงว่าผู้เสียหายยินยอมไปกับจำเลยและร่วมประเวณีกันยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคหนึ่ง แต่ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมีอายุ 15 ปีเศษ เมื่อจำเลยพาผู้เสียหายไปและร่วมประเวณีกับผู้เสียหายเช่นนี้ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดพาหญิงไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีโทษหนักกว่า แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยพาบุคคลอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อการอนาจารอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งมีโทษเบากว่า ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคหนึ่ง ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3764/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกหมายจับแทนการแจ้งนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 กรณีจำเลยย้ายที่อยู่หลังศาลชั้นต้นพิพากษา ศาลฎีกาเพิกถอนคำพิพากษาลับหลัง
ศาลชั้นต้นไม่แจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก่จำเลยที่ 2 เพราะส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 2 ไม่ได้เนื่องจากรื้อบ้านไปแล้ว โดยเห็นว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ให้ออกหมายจับจำเลยที่ 2 มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เมื่อปรากฏว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 2 และปรับโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ จำเลยที่ 2 ชำระค่าปรับจึงเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นครบถ้วนไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 2 จะหลบหนีเพื่อไม่ให้ถูกลงโทษตามกฎหมาย ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 ย้ายบ้านไม่น่าจะเป็นเหตุให้สงสัยว่าจำเลยที่ 2 หลบหนี ทั้งจำเลยที่ 2 และครอบครัวจำเป็นต้องออกจากบ้านพักเลขที่ดังกล่าวตามคำสั่งของทางราชการ แต่ยังคงอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นโดยเปิดเผยไม่ได้ปกปิดซ่อนเร้นที่จะแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาจะหลบหนี ที่ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 2 และอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลับหลังจำเลยที่ 2 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาชอบที่จะเพิกถอนเสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3397/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากผู้เรียงฟ้องมิได้เป็นทนายความ และการไม่อาจฎีกาลดโทษ
คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยมีจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ และมี ธ. ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงและเขียน โดย ธ. มิได้เป็นผู้ซึ่งได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความและไม่ปรากฏว่าเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ทนายความฯ การที่ ธ. เรียงหรือแต่งฟ้องอุทธรณ์ให้จำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ครบองค์ประกอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 215 ประกอบด้วยมาตรา 158 (7)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2226/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อผิดพลาดในการพิมพ์คำพิพากษาโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์มีอำนาจแก้ไขได้หากไม่เป็นผลร้ายต่อจำเลย
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2547 ศาลชั้นต้นได้พิจารณาพิพากษาคดีนี้โดยลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 3 ปี และลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ตามร่างคำพิพากษา เอกสารลำดับที่ 13/1 ที่ปรากฏอยู่ในสำนวน แต่เมื่อทำการจัดพิมพ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นตามร่างคำพิพากษาดังกล่าวได้พิมพ์จำนวนโทษจำคุกจำเลยภายหลังจากลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยเพียง 6 เดือน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ลำดับที่ 13/2 ที่ปรากฏในสำนวนนั้น เป็นเรื่องพิมพ์ตัวเลขผิดพลาดตกระยะเวลาไป 1 ปี โทษจำคุกจำเลยจึงเหลือเพียง 6 เดือน ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวให้ถูกต้องตามความจริงได้โดยไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดร้องขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 190 ประกอบมาตรา 215 และไม่ถือเป็นผลร้ายแก่จำเลยแต่อย่างใด อีกทั้งไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2955/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดหางานผิดกฎหมายและการพิสูจน์ความเกี่ยวข้องของจำเลย ศาลฎีกายกฟ้องเนื่องจากไม่มีหลักฐานการกระทำร่วม
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 30,82,91 ตรี ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯมาตรา 30 วรรคหนึ่ง,82 ยกฟ้องข้อหาอื่น จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องทั้งหมด โดยโจทก์ไม่อุทธรณ์ ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 91 ตรี จึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและความผิดดังกล่าวมีองค์ประกอบแตกต่างกับความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 30,82 ไม่เกี่ยวข้องกัน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 91 ตรี มิได้เป็นส่วนหนึ่งของความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 30,82 อันจะทำให้ศาลลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหก ทั้งกรณีไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องเกี่ยวกับฐานความผิดซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ศาลอุทธรณ์จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 91 ตรีได้ เป็นการเกินคำขอไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 ดังนั้น เมื่อระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้เสียหายทั้งสองได้ขอถอนคำร้องทุกข์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ก็ไม่จำต้องสั่งอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 522/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาว่าการกระทำเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ โดยพิจารณาจากสภาพจิตใจและเหตุการณ์ขณะกระทำความผิด
หลังจากที่จำเลยกับผู้เสียหายโต้เถียงกันแล้ว ผู้เสียหายกลับไปบ้านพักจำเลยกลัวว่าผู้เสียหายจะไปนำอาวุธปืนมายิงตน จำเลยจึงกลับไปนำเอาอาวุธปืนที่บ้านตน เมื่อกลับมาที่บ้านผู้ตาย จำเลยเห็นบริเวณเอวของผู้เสียหายมีสิ่งของซึ่งเชื่อว่ามีอาวุธปืนพกอยู่ จำเลยจึงยิงผู้เสียหาย 1 นัด กระสุนปืนถูกผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย เมื่อคำนึงถึงระยะทางและระยะเวลาตลอดทั้งสภาพของตัวจำเลยที่อยู่ในอาการมึนเมา ประกอบกับจำเลยมีอารมณ์โกรธที่ไก่ของจำเลยหลายตัวตายเพราะกินข้าวคลุกยาเบื่อซึ่งจำเลยเชื่อว่าผู้เสียหายเป็นผู้ใช้ข้าวคลุกยาเบื่อให้ไก่ของจำเลยกิน ทำให้จำเลยมีความเครียดและสับสน ทั้งต้องมาโต้เถียงกับผู้เสียหายอย่างรุนแรงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอีก ด้วยสภาวะการณ์เช่นนี้จำเลยไม่สามารถที่จะคิดใคร่ครวญหรือวางแผนในการฆ่าผู้เสียหาย เพราะการยิงผู้อื่นในลักษณะที่มีผู้คนที่รู้จักคุ้นเคยอยู่ล้อมรอบย่อมเป็นข้อชี้ชัดว่าจำเลยมิได้คิดทำการให้รอบคอบเพื่อมิให้ตนต้องมีความผิดได้รับโทษโดยง่าย เชื่อได้ว่าจำเลยมิได้คิดไตร่ตรองไว้ก่อนแต่อย่างใด ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอ้างในฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง และมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่เมื่อจำเลยยิงผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและผู้ตายถึงแก่ความตายจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 60 อันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7102/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาความเสียหาย แม้จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามอุทธรณ์
ในคดีที่ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. แม้โจทก์อุทธรณ์เพียงประการเดียวว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน และศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. ก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการกระทำเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะจึงไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวต่อไปได้ โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6968/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจอดรถในทางเดินรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษา
การที่จำเลยจอดรถในทางเดินรถโดยไม่แสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 56 วรรคสอง,152 เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กาย ซึ่งเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291,390 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43(4) และ 157ต้องเป็นผู้ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน และตามมาตรา 78 และ 160 ต้องเป็นผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นและไม่หยุดให้ความช่วยเหลือพร้อมแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งการจะเป็นความผิดดังกล่าวได้ต้องเป็นผู้ขับรถที่กำลังแล่นอยู่หาใช่กรณีผู้ขับรถที่จอดหรือหยุดรถไม่ เมื่อจำเลยจอดรถในทางเดินรถ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทและก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43(4),78,157 และ 160 วรรคหนึ่งปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องในความผิดดังกล่าวทั้งสองข้อหาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง,215,225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6802/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บันดาลโทสะจากการพบเห็นชู้รัก ศาลยกเว้นความผิดฐานมีอาวุธปืนฯ
การที่จำเลยใช้อาวุธปืนที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูงและสามารถก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้โดยง่ายยิงผู้เสียหายในระยะใกล้ และยิงถูกร่างกายผู้เสียหายกระสุนปืนเข้าที่ปอดด้านซ้าย ช่องท้อง ถูกลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กอันเป็นอวัยวะส่วนสำคัญ แม้จำเลยจะอ้างว่ากระทำไปโดยอารมณ์ชั่ววูบด้วยความหึงหวงก็ต้องถือว่าจำเลยกระทำโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหาย
จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายเป็นเพราะนายดาบตำรวจ อ. สามีจำเลย ได้แสดงความรักใคร่ในทำนองพลอดรักกับผู้เสียหาย ซึ่งมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนายดาบตำรวจอ. สามีจำเลย ย่อมทำให้จำเลยได้รับความกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจอย่างรุนแรงและถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายไปในขณะนั้นโดยทันทีจึงเป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะ แม้จะไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายกับนายดาบตำรวจ อ. ทราบว่าจำเลยอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุขณะที่บุคคลทั้งสองพลอดรักกันก็ตาม แต่เมื่อการกระทำดังกล่าวมีผลเป็นการข่มเหงจำเลยแล้ว ก็มีเหตุที่จำเลยจะบันดาลโทสะได้หาจำต้องเป็นกรณีที่ผู้เสียหายกระทำโดยเจตนามุ่งที่จะข่มเหงจำเลยโดยตรงแต่ประการใดไม่
การที่จำเลยนำอาวุธปืนของกลางที่นายดาบตำรวจ อ. ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการติดตัวไปโดยมุ่งประสงค์จะนำไปมอบให้นายดาบตำรวจ อ. ใช้ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในงานกฐิน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองเพราะจำเลยมิได้เจตนาจะยึดไว้อย่างเป็นเจ้าของ ทั้งการที่จำเลยนำอาวุธปืนติดตัวไปเพื่อมอบให้นายดาบตำรวจ อ. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจไว้ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ที่จะพาอาวุธปืนของกลางไปได้ แม้จำเลยจะนำอาวุธปืนติดตัวไปที่บ้านที่เกิดเหตุก็เป็นการกระทำต่อเนื่องกันจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืน แม้ความผิดข้อหาดังกล่าวจะยุติไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ แต่เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีค้าประเวณีเด็กหญิง อายุเกิน 15 ปี: ศาลแก้เป็นผิดฐานธุระจัดหา ยินยอม มีโทษจำคุก
จำเลยพาผู้เสียหายมากรุงเทพมหานครแล้วพาผู้เสียหายไปพักโรงแรมที่จำเลยทำหน้าที่เป็นแม่บ้านอยู่ประมาณ 3 เดือน จำเลยมิได้ชักนำผู้เสียหายไปค้าประเวณีในทันที ขณะจำเลยกระทำความผิดนั้น ผู้เสียหายมีอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก
แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นธุระจัดหาหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงอายุกว่าสิบห้าปีโดยหญิงนั้นสมัครใจยินยอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสอง และตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ มาตรา 9 วรรคสอง ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ อันเป็นบทที่มีโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาโดยชัดแจ้ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215และ 225
of 48