คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 215

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 476 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4789/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุมโดยมิชอบและการเรียกรับเงินจากผู้ถูกจับกุม ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 และ 157
การที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 จะต้องได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ส. โดยชอบ กล่าวคือ จับกุมขณะ ส. กำลังเล่นการพนัน แล้วหลังจากนั้นจึงเรียกรับเงินจาก ส. เพื่อที่จะไม่ดำเนินคดี เมื่อจำเลยกับพวกไม่พบการเล่นการพนันไฮโลในที่เกิดเหตุ การจับกุม ส. จึงเป็นการจับกุมโดยมิชอบ แม้จะมีการเรียกรับเงินจาก ส. การกระทำของจำเลยกับพวกก็ไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 ได้ คงเป็นความผิดตามมาตรา 148 แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องขอลงโทษในความผิดฐานดังกล่าว จึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง คงลงโทษได้ตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบทความผิดทั่วไปเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4754-4755/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ความผิดฐานช่วยเหลือผู้อื่น, อัตราดอกเบี้ยค่าสินไหมทดแทน
ความผิดฐานร่วมกันช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดเพื่อมิให้ถูกจับกุม ตาม ป.อ. มาตรา 189 นั้น ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมคงได้ความเพียงว่า ขณะที่จำเลยที่ 6 โทรศัพท์ให้ ช. ขับรถของ ญ. ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดไปส่งที่จังหวัดหนองคาย ญ. ได้หลบหนีไปที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 6 ช่วยเหลือในการหลบหนีดังกล่าวแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 6 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 189 แม้ความผิดฐานดังกล่าวจะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานนี้ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2470-2471/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฉ้อโกงกรรมเดียวต่อเนื่อง การรับผิดคืนเงินเฉพาะส่วนที่กระทำ
ผู้เสียหายถูกคนร้ายหลอกลวงฉ้อโกงให้โอนเงินเข้าบัญชีของจําเลยที่ 1 จำนวน 3 ครั้ง เป็นเงิน 937,500 บาท เข้าบัญชีของจําเลยที่ 2 จำนวน 2 ครั้ง เป็นเงิน 612,500 บาท และเข้าบัญชีของจําเลยที่ 4 จำนวน 5 ครั้ง เป็นเงิน 1,370,000 บาท โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จําเลยแต่ละคนร่วมรู้เห็นหรือได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากการเปิดบัญชีเงินฝากร่วมกัน กรณีเป็นเรื่องต่างคนต่างทำ จําเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมกันคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย แต่คงต้องรับผิดคืนหรือใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายจากผลเฉพาะที่ตนกระทำ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2314/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กและการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ใช้บังคับ ศาลฎีกาแก้ไขโทษให้ถูกต้องตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด
ที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี โดยใช้นิ้วสอดเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นการกระทำไม่สมควรทางเพศต่อผู้เสียหายที่ 1 นั้น เมื่อกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบัญญัติให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำอนาจาร จึงประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยการล่วงล้ำตามมาตรา 279 วรรคห้า ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมภายหลังจำเลยกระทำความผิด อันเป็นกรณีกฎหมายที่บัญญัติภายหลังกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตามมาตรา 3 ต้องลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยการล่วงล้ำตามมาตรา 279 วรรคห้า ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า แต่ความผิดฐานนี้มีระวางโทษเท่ากับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตามมาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ในส่วนระวางโทษจึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ศาลต้องกำหนดโทษจำเลยตามมาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิด มิใช่ตามมาตรา 279 วรรคแรก (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2220/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพรากเด็กเพื่อการอนาจาร แม้จำเลยไม่ได้ชักชวน แต่ร่วมเดินทางและกระทำอนาจาร ย่อมเป็นความผิดตามกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยลำพังพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ผู้ปกครอง เพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิด ก็มิใช่ข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1899/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติกฎหมาย และการปรับบทลงโทษความผิดฐานกระทำอนาจารเด็ก
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหาย เด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี โดยข่มขู่บังคับให้ผู้เสียหายถอดเสื้อผ้าแล้วจำเลยใช้นิ้วสอดใส่ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นการฟ้องให้รับผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) แต่ขณะกระทำความผิดนั้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งเป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็ก โดยบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวคงบัญญัติว่าการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศของผู้อื่นยังเป็นความผิดอยู่ มิได้เป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติในภายหลังให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง เพียงแต่เปลี่ยนฐานความผิดจากข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารโดยการล่วงล้ำเท่านั้น ซึ่งเป็นคุณมากกว่า การฟ้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) จึงชอบแล้ว และเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1732/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาการออกเช็ค - ผู้แทนสหกรณ์ไม่มีเจตนาออกเช็คที่ไม่มีเงินเพียงพอ - ยกฟ้อง
ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนสหกรณ์จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ โดยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้หรือมีเงินเหลืออยู่ไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็ค เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ว่าในวันที่ออกเช็คนั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คได้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลรู้ว่าในวันที่ออกเช็คนั้นจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีเพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ได้เช่นกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยขาดเจตนาในการกระทำความผิดอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำเลยทั้งสามย่อมไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง และกรณีนี้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 225 มาตรา 215 มาตรา 213 และมาตรา 185 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 225 และมาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 404/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ผิดกฎหมาย: สมาชิกไม่ใช่ผู้เสียหาย, ไม่มีอำนาจฟ้องฐานยักยอก
กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. มีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกออมเงินแล้วนำเงินฝากของสมาชิกไปให้สมาชิกกู้ยืม โดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 บาท ต่อเดือน แล้วนำดอกเบี้ยมาจ่ายเป็นสวัสดิการให้แก่สมาชิก ดอกเบี้ยดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 24 บาท ต่อปี เกินกว่าร้อยละ 15 บาท ต่อปี ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ในขณะนั้น และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ที่ใช้บังคับภายหลัง ดังนี้ วัตถุประสงค์ในการดำเนินการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. จึงต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 สมาชิกทุกรายที่เข้าร่วมฝากเงินและกู้ยืมรวมทั้งชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว หรือเมื่อผิดนัด ยินยอมให้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยการนำต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระที่ฝ่าฝืนกฎหมายรวมเข้ากันแล้วคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ต่อไปซึ่งเกินกว่าระเบียบข้อบังคับกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. (ฉบับปรับปรุง 2549) ข้อ 23 รวมถึงการส่งมอบเงินฝาก รับเงินกู้ยืม เงินกำไรหรือปันผล ดอกเบี้ยของสมาชิกในทุกขั้นตอนตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว เป็นการร่วมกันกระทำการอันต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ทั้งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนซ้ำซ้อน โจทก์ร่วมและผู้เสียหายซึ่งเป็นสมาชิกจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวอันยอมความกันได้ตาม ป.อ. มาตรา 356 พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง และพนักงานอัยการโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3979/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ผู้สนับสนุนการกระทำความผิด และการลงโทษฐานมีอาวุธปืน
โจทก์ไม่มีพยานมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมคบคิดกับจำเลยที่ 1 ที่จะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสองมาตั้งแต่แรก การที่จำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง พาอาวุธปืน และใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสองจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยพลาด อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่า ออกมาแล้ว ยิงตะ ๆ เป็นการยุยงส่งเสริมให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้เสียหายทั้งสองโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยพลาด อันเป็นความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 84 ดังนี้ จะลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยพลาดไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ก่อให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิด เป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง แต่การที่จำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ให้ยิงผู้เสียหายที่ 1 เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกให้ผู้อื่นกระทำความผิดเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 ด้วย ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ได้เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการจึงไม่เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3781/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันทำร้ายร่างกาย, พาอาวุธ, พยานหลักฐาน, การบรรเทาโทษ, รอการลงโทษ
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่าทำความตกลงกับผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ร้องคดีนี้ได้ และจำเลยทั้งสองยื่นคำให้การใหม่ขอแก้ไขคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธเป็นรับสารภาพตามฟ้องทุกข้อกล่าวหา ซึ่งไม่อาจกระทำได้เพราะการแก้ไขคำให้การต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง แต่การยื่นคำร้องและคำให้การใหม่ดังกล่าวถือเป็นการรับข้อเท็จจริงว่ากระทำความผิดโดยไม่โต้แย้งคำพิพากษาลงโทษของศาลชั้นต้น แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานโจทก์ที่นำสืบมามีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง แม้จำเลยที่ 1 จะแถลงขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การรับสารภาพ แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิด ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 ดังนั้น โจทก์ย่อมสามารถฎีกาได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่
of 48