คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประสาร กีรานนท์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 14 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2650/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดสรรที่ดิน, ค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภค, และการคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย
การที่จำเลยที่ 1 ผู้จัดสรรที่ดินโอนที่ดินสาธารณูปโภคพร้อมที่ดินในโครงการจัดสรรให้แก่บรรษัท บ. เป็นการโอนที่ดินจัดสรรทั้งโครงการ ซึ่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคนั้นให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ การโอนที่ดินดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินสาธารณูปโภค จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 18 และผลของการโอนไม่ตกเป็นโมฆะ
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 1 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่บรรษัท บ. และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 4 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่บรรษัท บ. ขายที่ดินเปล่าที่เหลือจากที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิซื้อคืนให้แก่โจทก์ ให้นิยามคำว่า "ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร" ทำนองเดียวกันว่าผู้ทำสัญญากับผู้จัดสรรที่ดินเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินจัดสรร แต่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 4 ให้นิยามเพิ่มเติมว่า ให้หมายความรวมถึงผู้รับโอนสิทธิในที่ดินคนต่อไปด้วย ซึ่งหมายความว่า ผู้ใดที่ทำสัญญากับผู้จัดสรรที่ดินเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินจัดสรร รวมทั้งผู้รับโอนสิทธิจากผู้ทำสัญญากับผู้จัดสรรที่ดินไม่ว่าในทางใด ย่อมเป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรร แม้บรรษัท บ. ไม่ได้ซื้อที่ดินจัดสรรจากจำเลยที่ 1 แต่การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบรรษัท บ. และโอนที่ดินตีใช้หนี้แก่บรรษัท บ. ถือได้ว่าบรรษัท บ. เป็นผู้ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินจัดสรร และเมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินจัดสรรจากบรรษัท บ. เนื่องจากการควบรวมกิจการตามมติคณะรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้รับโอนสิทธิในที่ดินคนต่อไปอันเป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรรตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคสำหรับที่ดินจัดสรรแปลงย่อยที่ตนซื้อและเหลืออยู่ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน ฯ มาตรา 49 วรรคสอง
สำหรับค่าตัดหญ้าในที่ดินของจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มีสิทธิเข้าไปตัดหญ้าในที่ดินของจำเลยที่ 2 ได้อย่างไร และมีเหตุผลความจำเป็นใดที่จะต้องตัดหญ้าในที่ดินของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าตัดหญ้าในที่ดินของจำเลยที่ 2 ส่วนค่าตัดหญ้าในที่ดินที่เป็นสาธารณูปโภคนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องดูแลที่ดินแปลงสาธารณูปโภคตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 43 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้จัดสรรที่ดินจึงมีหน้าที่ในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าตัดหญ้าในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2354/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับค้ำประกันหลังผิดนัดชำระหนี้เช่าซื้อ ประเด็นหนังสือบอกกล่าวและการใช้กฎหมายใหม่
แม้คดีก่อนโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 หลังจาก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับแล้ว แต่ลูกหนี้ผิดนัดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2557 ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ โจทก์ผู้ให้เช่าชื้อจึงไม่จำต้องมีหนังสือบอกกล่าวจำเลยผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้นัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ แต่ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง (เดิม) อย่างไรก็ดี แม้ศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยในคดีเดิมเป็นทำนองว่าโจทก์ผู้ให้เช่าชื้อมีหนังสือบอกกล่าวจำเลยผู้ค้ำประกันวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 เกินกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดโจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 (จำเลยในคดีนี้) ผู้ค้ำประกันรับผิดได้ อันเป็นการนำ ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ มาใช้บังคับแก่คดีของโจทก์ แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยผู้ค้ำประกัน คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า คดีเดิมศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุว่าโจทก์บอกกล่าวแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันเกินกว่าหกสิบวันนับแต่ผู้เช่าซื้อผิดนัดโดยยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยผิดสัญญาค้ำประกันหรือไม่ และต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเพียงใด ประเด็นดังกล่าวจึงยังไม่ได้มีการวินิจฉัยถึงที่สุด เมื่อโจทก์บอกกล่าวแก่จำเลยและฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีเดิม ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4404/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนทางปริยาย, สัญญาประกันภัย, ละเมิด: การกรอกข้อมูลไม่ตรงจริงทำให้ประกันภัยเป็นโมฆะ และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดทางละเมิด
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคโดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพในคำขอเอาประกันภัยว่า โจทก์มีส่วนสูง 163 เชนติเมตร น้ำหนัก 85 กิโลกรัม ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาน้ำหนักลดลง 2 กิโลกรัม เนื่องจากออกกำลังกาย และในระหว่าง 3 ปีที่แล้วมา โจทก์เคยให้แพทย์ตรวจหรือเข้าสถานพยาบาลรักษาตัวโดยโจทก์เคยตรวจประจำของบริษัทที่โจทก์เป็นพนักงาน โจทก์เคยผ่าตัดเนื้องอกมดลูกที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผลชิ้นเนื้อปกติ แต่จำเลยที่ 2 กรอกข้อความในแบบพิมพ์คำขอเอาประกันชีวิตไม่ตรงกับที่โจทก์แจ้ง เป็นว่า โจทก์มีส่วนสูง 163 เซนติเมตร น้ำหนัก 65 กิโลเมตร ในระหว่าง 3 ปีที่แล้ว โจทก์ไม่เคยให้แพทย์ตรวจหรือเข้าสถานพยาบาลรักษาตัว และไม่มีข้อความว่า โจทก์ผ่าตัดเนื้องอกที่มดลูกที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และข้อเท็จจริงได้ความเพิ่มเติมจากพนักงานของจำเลยที่ 1 ตอบคำถามค้านว่า ขั้นตอนการขอทำประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 นั้น ลูกค้าจะต้องกรอกแบบคำขอทำประกันชีวิต โดยจะแจ้งให้ตัวแทนกรอกให้หรือจะกรอกเองก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนขายประกันของจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ปี 2552 ได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของลูกค้าจำเลยที่ 1 ในเรื่องส่วนสูง น้ำหนัก ความเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักภายในรอบ 6 เดือน สาเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลง การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ผลการตรวจโลหิต ความดันโลหิต ปัสสาวะ เอกซเรย์ หัวใจ หรือตรวจอย่างอื่น ที่ปรากฎในแบบฟอร์มคำขอเอาประกันภัยของจำเลยที่ 1 แล้วกรอกข้อมูลลงในคำขอเอาประกันชีวิตแทนโจทก์ส่งไปให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 ได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากลูกค้าอีก และถือเอาข้อมูลที่จำเลยที่ 2 กรอกลงในคำขอเอาประกันชีวิตเป็นสาระสำคัญ ดังนี้ เมื่อโจทก์ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของตนตามความเป็นจริง แต่จำเลยที่ 2 กลับกรอกข้อมูลไม่ตรงกับที่โจทก์แจ้ง และส่งไปให้จำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมไม่มีทางทราบได้ แม้จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการรับประกันชีวิตแทนจำเลยที่ 1 แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 สอบถามรายละเอียดของข้อมูลสุขภาพของลูกค้าและถือเอาข้อมูลดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 1 ในการสอบถามข้อมูลสุขภาพดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 วรรคสอง แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยได้
แม้คำฟ้องของโจทก์ระบุด้วยว่า จำเลยทั้งสามทำละเมิดต่อโจทก์ โดยร่วมกันทำคำขอเอาประกันภัยของโจทก์ไม่ตรงกับที่โจทก์แจ้ง แต่สภาพแห่งข้อหาเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสามผิดสัญญาประกันภัยด้วยการปฏิเสธจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ สาระสำคัญของคำฟ้องเป็นเรื่องการผิดสัญญาโดยตรง ทั้งในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ซึ่งห้ามมิให้ศาลพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคไม่รับวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยปริยาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4337/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้เสียหายในคดีปลอมพินัยกรรม: ทายาทโดยธรรมมีสิทธิฟ้องได้ แม้ผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิตแล้ว
โจทก์และจําเลยที่ 3 เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของ จ. จําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันปลอมพินัยกรรมของ จ. ขึ้นทั้งฉบับว่า จ. ยกที่ดินพร้อมบ้านให้แก่จําเลยที่ 3 แต่เพียงผู้เดียว นอกจาก จ. ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการทำปลอมพินัยกรรมจะเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมพินัยกรรมอันเป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 265 แล้ว โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. ก็ถือเป็นผู้เสียหายอีกคนหนึ่งด้วย เพราะหากพินัยกรรมปลอมถูกยกขึ้นกล่าวอ้างว่าเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ใช้บังคับได้ โจทก์ซึ่งเป็นแต่เพียงทายาทโดยธรรมมิใช่ทายาทตามพินัยกรรม ย่อมไม่มีสิทธิได้รับมรดกของ จ. ในส่วนที่เป็นที่ดินพร้อมบ้านซึ่งกำหนดไว้ในพินัยกรรมตามสิทธิที่ควรจะได้ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม ถือได้ว่าการกระทำความผิดของจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทบต่อส่วนได้เสียของโจทก์ในการรับมรดกของ จ. อันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องด้วยบทนิยามคําว่า "ผู้เสียหาย" ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3441/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญาบัตรเครดิต/สินเชื่อส่วนบุคคล กรณีไม่ใช่การเรียกเก็บเงินทดรองจ่าย แต่เป็นการกู้ยืม
จำเลยให้การว่า จำเลยใช้บริการสินเชื่อประเภทบัตรกดเงินสดจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างจากจำเลย รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปเป็นกรณีที่จำเลยให้การว่าหนี้ตามสัญญาสินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) คดีจึงมีประเด็นเพียงว่า หนี้ตามสัญญาสินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ ขาดอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (7) หรือไม่ เท่านั้น แม้จำเลยจะอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความในทำนองว่า หนี้ส่วนนี้ขาดอายุความ 5 ปี ก็ไม่ทำให้เกิดประเด็นขึ้นเพราะเป็นเรื่องนอกคำให้การ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า หนี้ตามสัญญาสินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ ขาดอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (2) จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ไม่ฎีกาในเรื่องนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
ส่วนที่จำเลยให้การในตอนท้ายต่อมาว่า นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2556 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2561 โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องแต่ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับให้จำเลยชำระเงินภายในกำหนดดังกล่าว สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น คำให้การในส่วนนี้ไม่ได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ชัดแจ้งว่าขาดอายุความเรื่องใด ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ 5 ปี ได้ความว่า สินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ เป็นกรณีที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) อนุมัติสินเชื่อเป็นวงเงินกู้ประเภทหมุนเวียนแบบมีกำหนดการชำระคืนขั้นต่ำและหรือแบบมีการกำหนดชำระคืนแน่นอน ซึ่งการเบิกรับเงินกู้สามารถเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติโดยใช้บัตรกดเงินสดที่ธนาคารออกให้หรือให้ธนาคารนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากหรือวิธีการอื่น ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากเงินกู้นับแต่วันที่ขอเบิกถอนเงินแต่ละครั้ง รูปคดีจึงเป็นสัญญาบริการสินเชื่อหาใช่เป็นเรื่องผู้ประกอบธุรกิจรับทำงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปก่อนแล้วมาเรียกเก็บจากจำเลยภายหลัง สิทธิเรียกร้องเช่นนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มิใช่ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (7) ฟ้องโจทก์สำหรับหนี้สินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3414/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกงหรือยักยอก: ฟ้องไม่ขัดแย้งหากศาลเลือกลงโทษฐานใดฐานหนึ่ง
แม้คำฟ้องจะบรรยายความผิดฐานฉ้อโกงมาด้วย แต่การกระทำอันเดียวกันอาจเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือยักยอกฐานหนึ่งฐานใดก็ได้ และเป็นเรื่องในใจของจำเลยว่าจำเลยมีเจตนาปลอมใบส่งของและใบเสร็จรับเงินเพื่อการหลอกลวงให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือเพื่อปกปิดการกระทำความผิดฐานยักยอกของตน กรณีจึงไม่ทำให้จำเลยไม่เข้าใจฟ้องหรือหลงต่อสู้ ทั้งฟ้องของโจทก์ประสงค์ให้ศาลเลือกลงโทษจำเลยฐานใดฐานหนึ่งเท่านั้นจึงไม่เป็นฟ้องที่ขัดแย้งกันเองหรือเคลือบคลุม ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2891/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีปลอมแปลงเอกสารราชการและการประกอบวิชาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต
ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์เป็นเอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ หาใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิด้วย จึงเป็นเพียงเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) เมื่อจำเลยปลอมและนำใบอนุญาตประกอบวิชาชีพปลอมดังกล่าวมาใช้ประกอบในการทำงานกับผู้เสียหายในตำแหน่งหน้าที่พยาบาล การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงการปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม) แต่โจทก์ฟ้องคดีและได้ตัวจำเลยมายังศาลเกินสิบปี นับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2534/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องไม่ชัดเจน ขาดข้อเท็จจริงสนับสนุนการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ศาลยกฟ้อง
โจทก์บรรยายเพียงว่าจำเลยนำคำพูดที่โจทก์พูดกับจำเลยทางโทรศัพท์ไปแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจแล้วจำเลยส่งภาพถ่ายรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานไปในโปรแกรมไลน์ให้ผู้ปกครองนักเรียนในกลุ่มนักเรียนที่เป็นเพื่อนกับบุตรจำเลย โดยตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่ารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานและข้อความที่จำเลยพิมพ์ส่งไปในโปรแกรมไลน์นั้นเป็นข้อมูลที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) อย่างไร และข้อความจริงมีอยู่อย่างไร จึงเป็นฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2498/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลฎีกาวินิจฉัยการลงโทษกรรมเดียว
กระสุนปืนของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองในคดีนี้มีทั้งกระสุนปืนที่ใช้สำหรับปืนประจุปาก (ปืนแก๊ป) ขนาดความกว้างปากลำกล้องประมาณ 10 มิลลิเมตร ของกลาง และกระสุนปืนลูกซอง ขนาด 12 กับกระสุนปืนลูกกรด ขนาด .22 LONG RIFLE ซึ่งเป็นคนละขนาดกับปืนประจุปาก (ปืนแก๊ป) ของกลาง การกระทำของจำเลยนอกจากจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง แล้วยังเป็นความผิดตามมาตรา 72 วรรคสอง อีกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้ปรับบทลงโทษตามมาตรา 72 วรรคสอง มาด้วยนั้น จึงยังไม่ถูกต้อง แต่ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืน (กระสุนปืนลูกซอง ขนาด 12 กับกระสุนปืนลูกกรด ขนาด .22 LONG RIFLE) และเครื่องกระสุนปืน (กระสุนปืนที่ใช้สำหรับปืนประจุปาก (ปืนแก๊ป)) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้นเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้เป็นความผิดในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ วัตถุที่ต้องห้ามนั้นไม่ว่าจะเป็นอาวุธปืน ก็ดี หรือเครื่องกระสุนปืน ก็ดี กฎหมายถือว่าเป็นวัตถุประเภทเดียวกันโดยบัญญัติบทความผิดกับบทลงโทษอยู่ในบทมาตราเดียวกันคือมาตรา 7 กับมาตรา 72 เมื่อจำเลยมีไว้ในครอบครองในขณะเดียวกันจึงเป็นการกระทำกรรมเดียว แม้โจทก์จะแยกบรรยายการกระทำผิดดังกล่าวของจำเลยมาในฟ้องเป็นข้อ ข. และข้อ ค. เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันและจำเลยให้การรับสารภาพก็ตาม ศาลจะลงโทษจำเลยหลายกรรมเป็นกระทงความผิดไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1145/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดจากความผิดผู้เช่าซื้อ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมด้วย
สัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 มิได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาดทุกกรณี แต่แบ่งแยกความรับผิดในแต่ละกรณีต่างหากจากกัน จึงมิใช่การเอาเปรียบหรือทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเกินกว่าที่คาดหมายปกติ ทั้งข้อสัญญายังสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2555 ข้อ 5 (4) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และเป็นประกาศฉบับที่ใช้ในขณะทำสัญญาเช่าซื้อคดีนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวจึงใช้บังคับได้
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์จึงนำสืบพยานฝ่ายเดียวคงนำสืบพอให้เห็นว่าข้ออ้างตามคำฟ้องของตนมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย และศาลใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าข้อเท็จจริงน่าจะเป็นไปดังพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาหรือไม่เท่านั้น การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลและพยานเอกสารยืนยันว่า ความเสียหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดจากอุบัติเหตุเพลิงไหม้ซึ่งเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 แม้มิได้ขยายความว่าเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 อย่างไร แต่ไม่ถึงกับเป็นข้อให้ต้องตำหนิหรือไม่เชื่อถือพยานหลักฐานของโจทก์ เมื่อพยานหลักฐานไม่ปรากฏว่า ภายหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ที่เช่าซื้อ จำเลยที่ 1 เคยชี้แจงต่อโจทก์หรือบอกเล่าให้บุคคลใดทราบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องไม่อาจคาดหมายได้และมิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 รวมไปถึงการที่จำเลยทั้งสองขาดนัดไม่ยื่นคำให้การ ทั้งที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดแก่รถยนต์เป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 ผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยเฉพาะ พยานหลักฐานของโจทก์พอเห็นว่า ข้ออ้างตามคำฟ้องเรื่องเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งรับฟังได้ว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้เสียหายอย่างสิ้นเชิงโดยเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เท่าจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 วรรคสอง แต่หนี้ค่าเสียหายเท่ากับสัญญาเช่าซื้อส่วนที่เหลือตามสัญญาซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ เป็นหนี้หลักที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงและรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เสียหายหรือถูกทำลาย จนไม่สามารถซ่อมแซมให้ดังเดิม และไม่อาจส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้เป็นประโยชน์แก่โจทก์อีกต่อไปได้ ค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นการชดเชยแทนที่ไม่แตกต่างจากหนี้ส่งมอบรถยนต์ที่คู่สัญญาฝ่ายผู้เช่าซื้อพึงต้องปฏิบัติ เมื่อมีการเลิกสัญญาหาใช่ความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด และต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์
of 2