คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 6

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 70 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15020/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า 'Superdry' ไม่สื่อถึงลักษณะสินค้าเครื่องแต่งกาย จึงเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
แม้หนังสือมอบอำนาจไม่ได้เขียนชัดแจ้งให้ผู้รับมอบอำนาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า แต่ก็มีข้อความระบุให้มีอำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และมีอำนาจปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาให้ปลอดจากการคัดค้านหรือโต้แย้ง และยื่นฟ้องเกี่ยวกับข้อเรียกร้องทั้งปวงของโจทก์เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า เมื่อข้อเรียกร้องโจทก์ในคดีนี้คือให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ การฟ้องคดีนี้จึงเป็นการกระทำภายในขอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจ
ในการพิจารณาว่าคำใดเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าคำดังกล่าวสามารถสื่อให้สาธารณชนทราบหรือเข้าใจได้ในทันทีว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นมีคุณสมบัติอย่างไร หากคำดังกล่าวเป็นเพียงคำที่อาจสื่อให้สาธารณชนผู้ใช้สินค้าคิดหรือจินตนาการและยังต้องใช้วิจารณญาณพอสมควรจึงจะเข้าใจว่าคำดังกล่าวสื่อให้ทราบถึงลักษณะของตัวสินค้าหรือคุณสมบัติของสินค้านั้น ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง เมื่อคำว่า "Superdry" เกิดจากการนำคำว่า "Super" และ "dry" มารวมกันได้ความหมายว่า "ทำให้แห้งอย่างมาก" ซึ่งตรงกับคำแปลของอักษรญี่ปุ่นในเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าจำพวกเครื่องแต่งกายประเภทเข็มขัด รองเท้า หมวก เสื้อ กางเกง ชุดลำลอง ผ้าพันคอ ถุงมือ และชุดชั้นใน ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น คุณสมบัติความแห้งมากของสินค้ามิใช่คุณสมบัติพิเศษที่ผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวทั่วไปต้องการ เครื่องหมายการค้าอักษรญี่ปุ่นและอักษรโรมันคำว่า ของโจทก์จึงไม่ถือเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15015/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความแตกต่างขององค์ประกอบรวมและประเภทสินค้า
การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้านั้น ไม่ใช่พิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะรูปหรือคำหรือข้อความที่ปรากฏหรือเสียงเรียกขานอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ของเครื่องหมายการค้าที่ประกอบกันขึ้นเป็นองค์ประกอบรวมของเครื่องหมายการค้านั้นทั้งหมด รวมทั้งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นด้วยว่าเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือเป็นสินค้าต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกัน และสาธารณชนผู้ใช้หรือบริโภคสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นเป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ ทั้งยังต้องคำนึงถึงความสุจริตในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยสาระสำคัญอยู่ที่ว่าความเหมือนหรือคล้ายกันของเครื่องหมายการค้านั้นถึงขนาดที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่
เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเฉพาะภาคส่วนที่เป็นอักษรโรมัน "HOLLISTER" แล้วเห็นได้ว่าคำดังกล่าวตามคำขอจดทะเบียนทั้งสองคำขอของโจทก์ประกอบด้วยอักษรโรมันที่เหมือนกันกับของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เพียงแต่คำดังกล่าวตามคำขอจดทะเบียนทั้งสองคำขอของโจทก์นั้นเป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด ส่วนของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีเพียงอักษรโรมัน H ซึ่งเป็นอักษรโรมันตัวแรกเท่านั้นที่เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ ส่วนเสียงเรียกขานทั้งเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนทั้งสองคำขอของโจทก์และของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีเสียงเรียกขานคล้ายกันว่า "โฮลลิสเตอร์" แต่เมื่อพิจารณาในส่วนองค์ประกอบรวมของเครื่องหมายการค้า และ ตามคำขอจดทะเบียนทั้งสองคำขอของโจทก์แล้วเห็นว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอของโจทก์ยังมีภาคส่วนอื่นประกอบอยู่ด้วย โดยเครื่องหมายการค้า มีรูปนกประดิษฐ์อยู่ตรงกลางของเครื่องหมาย มีคำว่า "HOLLISTER" อยู่ด้านบน และมีคำว่า "CALIFORNIA" อยู่ด้านล่างของเครื่องหมาย ส่วนเครื่องหมายการค้า มีรูปนกประดิษฐ์อยู่ด้านบน มีคำว่า "HOLLISTER" อยู่ตรงกลาง และมีคำว่า "CALIFORNIA" อยู่ด้านล่างของเครื่องหมาย แม้คำว่า "CALIFORNIA" จะเป็นชื่อมลรัฐหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาอันเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และในระหว่างพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโจทก์ได้แถลงขอสละประเด็นตามคำฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนคำดังกล่าวด้วยหรือไม่ โดยโจทก์แถลงว่าโจทก์ยินยอมที่จะแสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า "CALIFORNIA" แต่คำดังกล่าวก็ถือเป็นภาคส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ที่ทำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์และของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว นอกจากนี้ เครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ยังมีรูปนกประดิษฐ์เป็นภาคส่วนที่สำคัญซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเช่นกัน โดยเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีแต่เพียงรูปประดิษฐ์ซึ่งเป็นอักษรโรมัน H จำนวน 4 ตัว ประกอบกันเป็นรูปคล้ายอักษรโรมัน X หรือรูปกากบาท วางอยู่ด้านหน้าคำว่า "Hollister" เท่านั้น เมื่อพิจารณาองค์ประกอบรวมทุกภาคส่วนของเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนทั้งสองคำขอของโจทก์เปรียบเทียบกับรายการสินค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เห็นได้ว่าสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอนั้นเป็นสินค้าจำพวกที่ 3 รายการสินค้า ลิปบาล์ม ลิปกลอส สเปรย์ฉีดตัวสำหรับใช้เป็นเครื่องสำอางระงับกลิ่นตัวและให้กลิ่นหอม เครื่องสำอางระงับกลิ่นตัวใช้กับร่างกาย เครื่องสำอางระงับกลิ่นตัว ยาดับกลิ่นตัว เครื่องสำอางระงับกลิ่นเหงื่อ ครีมเสริมสวย ครีมเสริมสวยสำหรับทาตัว โลชั่นเสริมสวย เครื่องสำอางใช้กับร่างกาย เครื่องสำอางใช้เสริมสวย โลชั่นทาตัว โลชั่นทามือ เครื่องสำอางใช้ทำความสะอาดร่างกาย โคโลญ สารให้กลิ่นหอมสำหรับใช้กับร่างกาย น้ำหอม ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเครื่องสำอางและเครื่องประทินผิว ซึ่งมักวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้าทั่วไป และผู้ใช้สินค้าดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไป แต่สินค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นสินค้าจำพวกที่ 5 รายการสินค้า วัสดุตกแต่งบาดแผล น้ำยาทำความสะอาดผิว ครีมปรับสภาพผิว ขี้ผึ้งกันความชื้น กาวใช้ในทางการแพทย์ สารลอกกาวใช้ในทางการแพทย์ แผ่นปิดผิวหนัง ครีมและแป้งใช้รักษาบาดแผลและแผลเปิดของลำไส้บริเวณหน้าท้อง สารหล่อลื่นรูเปิดผนังหน้าท้อง เจลทาผิวใช้ในทางการแพทย์ ยาดับกลิ่นที่ไม่ได้ใช้กับร่างกาย ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้ในทางการแพทย์ ดังนั้น ผู้ใช้สินค้าดังกล่าวจึงเป็นแพทย์ พยาบาล หรือผู้ป่วยที่แพทย์แนะนำให้ใช้สินค้าดังกล่าวเท่านั้น และสถานที่จำหน่ายก็มีเพียงเฉพาะในโรงพยาบาลหรือร้านขายยาซึ่งมีเภสัชกรคอยแนะนำซึ่งบุคคลดังกล่าวย่อมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นอย่างดี ดังนั้น ทั้งรายการสินค้า กลุ่มผู้ใช้สินค้า และสถานที่จำหน่ายสินค้าของโจทก์และของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจึงแตกต่างกัน ยังไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่าสาธารณชนผู้ใช้สินค้าของโจทก์และผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจะสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองคำขอคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนทั้งสองคำขอของโจทก์จึงมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9971/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายบริการ "SINGAPOREAIR" ไม่เป็นเครื่องหมายบ่งเฉพาะและขัดต่อกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
โจทก์นำสืบว่า โจทก์ประดิษฐ์คำว่า "SINGAPOREAIR" ขึ้นใหม่โดยนำคำว่า "SINGAPORE" และ "AIR" มาเรียงต่อกันเกิดเป็นคำใหม่และไม่มีคำแปลหรือความหมายตามพจนานุกรม แม้คำที่โจทก์นำมาเรียงต่อกันจะเป็นภาษาโรมันขึ้นใหม่เพราะเรียงอักษรติดต่อกันไป แต่โจทก์และประชาชนทั่วไปก็เรียกขานว่า สิงคโปร์แอร์ ซึ่งเป็นคำเรียกขานของคำเดิมที่นำมาเรียงต่อกันนั่นเอง คำว่า "SINGAPORE" ตามพจนานุกรมและความเข้าใจของคนทั่วไปหมายถึง ประเทศสิงคโปร์ และคำว่า "AIR" แปลว่า อากาศจึงไม่อาจถือได้ว่าคำว่า "SINGAPOREAIR" ไม่มีคำแปลดังที่โจทก์กล่าวอ้างได้ เมื่อเครื่องหมายบริการคำว่า "SINGAPOREAIR" ของโจทก์นำมาใช้กับบริการในจำพวก 39 รายการบริการการขนส่งทางอากาศ การขนส่งผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า ฯลฯ ย่อมเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะของการบริการโดยตรง จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2)
คำว่า "SINGAPORE" แปลว่า สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งเป็นชื่อของรัฐต่างประเทศ ถือได้ว่าเครื่องหมายบริการ คำว่า "SINGAPOREAIR" ของโจทก์มีชื่อของรัฐต่างประเทศอยู่ด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ของประเทศสิงคโปร์ให้นำคำว่า "SINGAPORE" มาใช้เป็นชื่อทางการค้า คำขอของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8823/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า 'Caramelts' เป็นคำประดิษฐ์ มีลักษณะบ่งเฉพาะ สามารถจดทะเบียนได้ แม้มีคำว่า 'Caramel' รวมอยู่ด้วย
คำว่า "Caramelts" เป็นคำที่ไม่ปรากฏในพจนานุกรม เป็นคำที่ไม่มีความหมาย ไม่มีคำแปล ถือว่าเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้น แม้คำว่า "Caramelts" จะมีอักษรโรมัน คำว่า "Caramel" รวมอยู่ด้วย แต่ก็มิได้ทำให้เข้าใจไปได้ว่าหมายถึง คาราเมลที่มีสีน้ำตาลอมเหลือง น้ำตาลไหม้ ขนมหวาน คำว่า "Caramelts" จึงเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง ย่อมนำคำว่า "Caramelts" มาใช้กับสินค้าขนมหวาน ช็อกโกแลต ขนมช็อกโกแลต เครื่องดื่มช็อกโกแลต อาหารที่มีชื่อช็อกโกแลตเป็นส่วนผสมหลักได้ ดังนี้ คำว่า "Caramelts" จึงเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าดังกล่าวโดยตรง และมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าดังกล่าวได้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3753/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า 'VFLEX' เป็นคำประดิษฐ์ มีลักษณะบ่งเฉพาะ จึงรับจดทะเบียนได้
เครื่องหมายการค้าคำว่า "VFLEX" เป็นคำที่ไม่มีคำแปลหรือปรากฏในพจนานุกรม จึงเป็นคำที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้น แม้โจทก์ไม่ได้ทำให้อักษร V มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากอักษรโรมัน V ซึ่งเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ คำดังกล่าวโดยรวมทั้งคำก็ยังเป็นคำประดิษฐ์อยู่ อย่างไรก็ดีแม้จะพิจารณาโดยการแยกคำ ความหมายก็หาได้ยุติดังที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยไม่ กล่าวคือ อักษร V ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าอ้างถึงพจนานุกรมอักษรย่ออังกฤษ - ไทย โดยสุนทร ประสารพจน์ ว่า อักษรโรมัน V เป็นคำย่อของคำว่า Very แปลว่า มาก มากๆ อย่างยิ่ง แท้จริง นั้น ตามสำเนาพจนานุกรมดังกล่าว อักษร V มิได้เป็นคำย่อของ Very ซึ่งแปลว่า มาก มากๆ อย่างยิ่ง แท้จริง เท่านั้น แต่เป็นคำย่อของหลายสิ่ง เมื่อพิจารณาพจนานุกรมเล่มอื่นก็เช่นกัน ดังนั้นอักษร V จึงมีความหมายหลากหลายจนไม่อาจยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าหมายถึงสิ่งใด สำหรับคำว่า FLEX ตามสำเนาพจนานุกรม Oxford River Books English- Thai Dictionary หากเป็นคำนาม หมายถึงสายไฟ หากเป็นคำกริยาแปลว่า งอ คำว่า FLEX จึงไม่ได้แปลว่า โค้งงอ เพียงอย่างเดียว การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาหาความหมายของคำว่า "VFLEX" โดยแยกคำเป็นภาคส่วน แล้วนำความหมายแต่ละภาคส่วนตามที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาเลือกมารวมกัน เพื่อให้ความหมายของคำดังกล่าวว่าโค้งงอได้อย่างมาก โดยไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าเหตุใดคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงหยิบยกความหมายนั้น ๆ มาใช้ จึงไม่ถูกต้อง เพราะอักษร V และคำว่า FLEX ต่างมีความหมายหลายอย่าง เมื่อนำมารวมกันแล้วจะมีความหมายอย่างใดขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใช้ความหมายใดของอักษร V กับความหมายใดของคำว่า FLEX นอกจากนี้การพิจารณาเครื่องหมายการค้าที่อาจรับจดทะเบียนได้หรือไม่นั้นต้องมองภาพโดยรวมของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเองด้วย ทั้งการไม่สามารถหาความหมายของคำว่า "VFLEX" ที่ชัดเจนได้เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนว่าคำดังกล่าวเป็นคำที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้น จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ และเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16559/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกัน ละเมิดสิทธิเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง และขอบเขตคำพิพากษา
เมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้า ของจำเลยที่ 3 กับเครื่องหมายการค้า และ ของโจทก์ แม้รูปคชหงส์จะเป็นรูปลายไทยมีรายละเอียดแตกต่างกับรูปไก่ชน แต่ลักษณะจัดวางรูปคชหงส์และรูปไก่ชนให้ยืนหันหน้าเข้าหากันโดยมีตัวอักษรโรมันอยู่ด้านบนเหมือนกัน ทำให้ภาพรวมของเครื่องหมายการค้าคล้ายกัน ประกอบกับตัวอักษรโรมันด้านบนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานได้ว่า ลำปำ จันทรา และลำปำ ตามลำดับ ส่วนตัวอักษรโรมันประดิษฐ์ด้านบนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 แม้ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระบุว่า อ่านไม่ได้ แปลไม่ได้ แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นตัวอักษรโรมันที่ประดิษฐ์จากคำว่า LAMPAM ซึ่งเรียกขานได้ว่า ลำปำ เหมือนกัน เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 จึงคล้ายกับของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนสำหรับสินค้าทุกจำพวก
แม้จำเลยที่ 3 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่รูปคชหงส์เป็นรูปของสัตว์ซึ่งไม่มีอยู่จริง โดยจำเลยที่ 3 อ้างว่านำลักษณะเด่นของหงส์ ช้าง และสิงโต มารวมกันแล้วเขียนขึ้นใหม่ในลักษณะรูปลายไทย รูปคชหงส์จึงเป็นรูปที่จำเลยที่ 3 สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ให้มีความแตกต่างกับรูปไก่ชน ไม่ได้เกิดจากการนำรูปไก่ชนมาดัดแปลง ลำพังการจัดองค์ประกอบของรูปให้มีคชหงส์สองตัวหันหน้าเข้าหากันซึ่งบุคคลทั่วไปก็สามารถทำได้ไม่ใช่การทำซ้ำ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ จึงไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์งานศิลปกรรมรูปไก่ชนสองตัวหันหน้าหากันของโจทก์
แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่การที่จำเลยที่ 3 สร้างสรรค์รูปคชหงส์แล้วนำไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และจำเลยทั้งสามจำหน่ายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียน ทั้งการโฆษณาก็ระบุเครื่องหมายการค้าพร้อมที่มาของการออกแบบรูปคชหงส์เป็นเครื่องหมายการค้าใหม่ จำเลยทั้งสามไม่มีเจตนาลวงขายสินค้า ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
การสั่งให้คู่ความฝ่ายใดรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมจำนวนมากน้อยเพียงใดนั้น เป็นดุลพินิจของศาล การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยไม่ได้ฟ้องผู้ละเมิดเครื่องหมายการค้าของโจทก์รายอื่นด้วยไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสามยุติการจำหน่ายสินค้าที่ใช้ภาคส่วนอักษรโรมันคำว่า LAMPAM รูป รอยประดิษฐ์ และเครื่องหมายการค้าหงส์คู่ หรือเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งเป็นเครื่องหมายมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ศาลย่อมมีอำนาจบังคับให้ตามคำขอ
ที่โจทก์อุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสามยุติการใช้และผลิตสินค้าที่ใช้ภาคส่วนอักษรโรมัน คำว่า LAMPAM รูป รอยประดิษฐ์ และเครื่องหมายการค้าหงส์คู่ หรือเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายนั้น เมื่อพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 แล้ว จำเลยทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้านั้นอีกต่อไป คำขอดังกล่าวมุ่งบังคับการกระทำในอนาคตซึ่งครอบคลุมถึงการกระทำของจำเลยทั้งสามที่เกินไปกว่าที่ปรากฏในคดีนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกคำขอของโจทก์ส่วนนี้ชอบแล้ว
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยจำเลยที่ 3 ไม่ต้องขอถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ไม่ถูกต้อง เมื่อการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นการโต้แย้งสิทธิต่อโจทก์ จึงชอบที่จะบังคับให้จำเลยที่ 3 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หากจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติก็ชอบที่จะใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15698/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความบ่งเฉพาะของเครื่องหมายที่มาจากชื่อบริษัทและภาษาต่างประเทศ
คำว่า หรือ ของเครื่องหมายบริการ และ ตามคำขอทั้งสี่คำขอของโจทก์มาจากตัวอักษรโรมันคำว่า ซึ่งเป็นชื่อของโจทก์ ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยว่ามีแหล่งข้อมูลอื่นที่ให้ความหมายคำว่า เป็นคำย่อในภาษาเยอรมันซึ่งหมายถึงสมาคมที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคเช่นเดียวกับเอกสารที่จำเลยอ้าง ทั้งปรากฏในเอกสารดังกล่าวด้วยว่าคำดังกล่าวซึ่งเป็นคำย่อยังมีอีกหลายความหมาย จำเลยก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าบุคคลที่มีความรู้ภาษาเยอรมันหรือบุคคลที่มีความรู้ทางด้านการให้คำแนะนำทางเทคนิคต่าง ๆ ทราบดีว่า คำว่า เป็นคำย่อในภาษาเยอรมันซึ่งหมายถึงสมาคมที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค แม้คำว่า เป็นคำย่อซึ่งหมายถึงสมาคมที่ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคก็ตาม แต่คำดังกล่าวก็ไม่เป็นคำที่ผู้ใช้บริการสามารถทราบได้ว่าเกี่ยวข้องกับบริการจำพวกที่ 35 และ 42 ตามที่โจทก์ขอจดทะเบียน คำว่า และ ที่โจทก์ขอจดทะเบียนจึงไม่ใช่คำหรือข้อความที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการโดยตรง เครื่องหมายบริการของโจทก์ทั้งสี่คำขอ จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 6 และ มาตรา 7 ประกอบมาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 อันพึงรับจดทะเบียนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18738-18740/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความเหมือน/คล้ายคลึง, การใช้โดยสุจริต, และการคุ้มครองตามกฎหมาย
เครื่องหมายการค้าคำว่า ของโจทก์ เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายเป็นอักษรโรมันและมีลักษณะการประดิษฐ์ที่แตกต่างกันน้อยมาก เมื่อใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันจึงอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ แต่เมื่อโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวในทางการค้าของโจทก์กับสินค้าจำพวกที่ 16 ได้แก่ เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องเขียน โดยใช้สินค้าดังกล่าวภายในกิจการของกลุ่มโจทก์ และนำไปแจกจ่ายเป็นของแจก แลก ของสมนาคุณ เพื่อส่งเสริมการขายต่อกลุ่มโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการใช้เพื่อแสดงว่าสินค้าดังกล่าวมีความแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น อันเป็นการใช้อย่างเครื่องหมายการค้าแล้ว เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีที่มาจากนามสกุลของผู้ก่อตั้งโจทก์ และโจทก์ใช้คำนี้เป็นชื่อของโจทก์ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายสาธารณรัฐอินเดียตั้งแต่ปี 2460 ทั้งโจทก์ก็ยังเคยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเพื่อใช้กับสินค้าหลายจำพวกรวมทั้งสินค้าจำพวกที่ 16 มาแล้วในหลายประเทศ จึงเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยสุจริตมิได้มีเจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากความมีชื่อเสียงของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีดุลพินิจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันได้ โดยจะมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้น เพื่อป้องกันมิให้สาธารณชนสับสนหลงผิดไว้ด้วยก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7202/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า ต้องพิจารณาภาพรวมทุกด้าน ไม่ใช่แค่รูปคำหรือข้อความ
การพิจารณาเปรียบเทียบว่าเครื่องหมายการค้าใดคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ไม่ใช่พิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะรูปหรือคำหรือข้อความที่ปรากฏให้เห็นด้วยสายตาเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาดูภาพรวมทุกส่วนของเครื่องหมายนั้น ทั้งสำเนียง เสียงเรียกขาน รายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนหรือที่จดทะเบียนไว้แล้ว สาธารณชนกลุ่มผู้ซื้อสินค้า ใช้เครื่องหมายการค้า และความสุจริตในการขอจดเครื่องหมายการค้า โดยสาระสำคัญอยู่ที่ว่าความคล้ายนั้นถึงขนาดที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ สำหรับเครื่องหมายการค้าคำว่า "PROTO" ของจำเลยเปรียเทียบกับคำว่า "proton" ของโจทก์ เห็นได้ว่า คำว่า "PROTO" ประกอบด้วยอักษรโรมันที่เหมือนกัน 5 ตัวแรก นับว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองคล้ายกันระดับหนึ่ง แต่ก็มีความแตกต่างกันหลายประการ กล่าวคือ ต่างจดทะเบียนโดยใช้ตัวอักษรประดิษฐ์ที่มีลักษณะแตกต่างกันอย่างชัดเจน เครื่องหมายการค้าคำว่า "PROTO" อาจเรียกขานได้ว่า โปร-โต หรือ โปร-โต้ ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า "proton" อาจเรียกขานได้ว่า โปร-ตอน หรือ โปร-ตัน สำเนียงเรียกขานจึงแตกต่างกัน เมื่อพิจารณารายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง คือ "PROTO" ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 12 รายการสินค้า ผ้าเบรก แผ่นคลัตซ์ คลัตช์ออโตเมติก ดุมล้อ ก้ามเบรก วงล้อ ซี่ลวดสำหรับรถจักรยานยนต์ ส่วน "proton" ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 12 รายการสินค้า รถยนต์ แล้ว เห็นได้ว่า แม้จะเป็นสินค้าจำพวกเดียวกัน แต่ก็มีข้อแตกต่างกันที่รายการสินค้าของจำเลยเป็นชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์ ซึ่งสาธารณชนผู้ซื้อสินค้าเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นช่างซ่อมหรือตกแต่งรถจักรยานยนต์ หรือผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่มีความสนใจในการซ่อมหรือตกแต่งรถจักรยานยนต์ สาธารณชนอื่นที่ไม่ใช่บุคคลในกลุ่มผู้ใช้สินค้าดังกล่าวโดยตรง แม้จะเป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ภายใต้เครื่องหมายการค้านี้ มักไม่ได้เป็นผู้ซื้อชิ้นส่วนอะไหล่หรืออุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์ด้วยตนเอง กลุ่มคนที่ซื้อสินค้าเหล่านี้มักจะเป็นผู้คลุกคลี มีความคุ้นเคยและมีความรู้เข้าใจเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์เป็นอย่างดีพอสมควร บุคคลเหล่านี้ย่อมแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "PROTO" ของจำเลยกับสินค้ารถยนต์หรือชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ของรถยนต์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "proton" ของโจทก์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาสูงกว่าสินค้าของจำเลยมาก เครื่องหมายการค้าคำว่า "PROTO" ของจำเลย จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "proton" ของโจทก์ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) ประกอบมาตรา 13 และ มาตรา 6 (2) ประกอบมาตรา 8 (10)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6270/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความแตกต่างของเครื่องหมายและเจตนาของผู้ใช้
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มีความมุ่งหมายให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์และเจ้าของเครื่องหมายการค้าแยกต่างห่างจากกันโดยชัดเจน โดยเฉพาะกรณีลิขสิทธิ์นั้น งานอันจะมีลิขสิทธิ์ได้ต้องเกิดจากการที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์งานประเภทใดประเภทหนึ่งที่กฎหมายให้ความคุ้มครองเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามบทบัญญัติของมาตรา 8 ประกอบมาตรา 6 และคำนิยาม "ผู้สร้างสรรค์" ตามมาตรา 4 อันหมายถึงผู้สร้างสรรค์จะต้องใช้ความคิดและการกระทำให้เกิดงานขึ้นโดยมุ่งหมายให้เกิดผลงานอันมีลักษณะเป็นงานสร้างสรรค์ที่จัดได้ว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏได้ความว่าโจทก์ใช้รูปเด็กศีรษะโตอย่างเครื่องหมายการค้า โดยเดิมโจทก์ผลิตสินค้าปากกาลูกลื่นออกจำหน่ายและต่อมาได้ว่าจ้าง ร. ออกแบบภาพประดิษฐ์รูปเด็กศีรษะโตเพื่อใช้กับสินค้าปากกาลูกลื่นและผลิตภัณฑ์แบบต่างๆ ของโจทก์ออกจำหน่ายจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ส่อแสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ ร. ออกแบบภาพประดิษฐ์นี้เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายการค้า โดยภาพที่เป็นรูปเด็กดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมทำนองเดียวกับหัวปากกาลูกลื่น ทั้งมีรูปปากกาลูกลื่นปรากฏประกอบกับรูปเด็กด้วย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงว่าผู้ออกแบบได้ออกแบบรูปนี้ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ให้เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงไม่ใช่การสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดงานสร้างประเภทศิลปกรรมอันมีลิขสิทธิ์แต่อย่างใด ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์ในภาพประดิษฐ์รูปเด็กศีรษะโต อันจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปเด็กผู้ชายมีศีรษะกลมโต สวมเสื้อ กางเกงขาสั้น ใส่รองเท้า แขนสองข้างวางแนบลำตัว ยืนตัวตรงขาชิดกัน และมีปากกายาวเรียวบางพาดเฉียงด้านหลังจากซ้ายไปขวา ประกอบกับคำว่า BIC ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นรูปคนประดิษฐ์มีรูปมีดโกนพาดเฉียงด้านหลังจากซ้ายไปขวา และมีคำว่า Razor King Sensitive Skin Shaver มีรูปมงกุฎอยู่บนตัวอักษร Z เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงมีส่วนคล้ายกันบ้างก็เฉพาะรูปเด็กประดิษฐ์หรือคนประดิษฐ์เท่านั้น นอกนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งรูปเด็กหรือคนประดิษฐ์ก็มีลักษณะนำมาจากรูปร่างของคนอันเป็นสิ่งที่ควรใช้กันได้ทั่วไป ไม่ใช่ให้คนใดคนหนึ่งหวงกันใช้แต่เพียงผู้เดียว เพียงแต่ผู้นำมาใช้ภายหลังต้องทำให้เห็นส่วนแตกต่างให้สังเกตเห็นได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าต่างเจ้าของกันโดยไม่สับสนหลงผิด ซึ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าวประกอบรายละเอียดอื่นและภาพเครื่องหมายการค้าทั้งสองโดยภาพรวมแล้ว มีความแตกต่างเพียงพอให้สังเกตได้ เมื่อนำสินค้าของโจทก์และสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปวางรวมกันแล้ว ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้ละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์
of 7