คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 6

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 70 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5448/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายบริการ 'HAVE IT YOUR WAY' มีลักษณะบ่งเฉพาะ แม้เป็นคำบรรยายทั่วไป หากใช้สร้างความแตกต่างกับบริการอื่น
แม้ว่าเครื่องหมายบริการข้อความว่า "HAVE IT YOUR WAY" ที่โจทก์ขอยื่นจดทะเบียนเพื่อใช้กับบริการจำพวก 43 รายการบริการ ภัตตาคาร จะเป็นคำหลายคำประกอบกันเป็นข้อความ ซึ่งอาจแปลได้ความหมายว่า "มีมันตามทางของคุณ" หรือ "รับประทานมันตามใจ หรือตามแบบของคุณ" หรือสื่อความหมายได้ว่า "มีทุกอย่างที่คุณต้องการ หรือตามใจปรารถนา" ซึ่งมีลักษณะเป็นคำบรรยายทั่วไปก็ตาม แต่ข้อความดังกล่าวจะเป็นเครื่องหมายบริการได้ ก็ต้องเป็นเครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการเพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายบริการนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 และในการพิจารณาลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายบริการที่ขอจดทะเบียนนั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 กล่าวคือ ต้องเป็นเครื่องหมายบริการอันมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้บริการนั้นทราบและเข้าใจได้ว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากบริการอื่น และหากเป็นเครื่องหมายบริการที่เป็นคำหรือข้อความ คำหรือข้อความนั้นต้องไม่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการนั้นโดยตรง แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายมาตราใดที่ระบุว่า เครื่องหมายที่เป็นคำหรือข้อความทั่วไปถือว่าไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เพราะหากคำหรือข้อความนั้นได้ถูกใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการเพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายบริการนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายของบุคคลอื่นจนมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้บริการนั้นทราบ เข้าใจและสามารถแยกแยะได้ว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการนั้นแตกต่างไปจากบริการอื่น ดังนั้น จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงหรือผู้ขอจดทะเบียนสามารถพิสูจน์ได้ว่า เครื่องหมายที่เป็นคำหรือข้อความดังกล่าวมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้บริการนั้นทราบและเข้าใจว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการดังกล่าวแตกต่างจากบริการอื่นอย่างไร และข้อความหรือคำดังกล่าวต้องเป็นข้อความหรือคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการนั้นโดยตรงตามมาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2) เพราะไม่ควรที่จะให้บุคคลใดมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวหรือผูกขาดในข้อความหรือคำที่สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะหรือชนิดหรือประเภทของบริการนั้นโดยตรง ซึ่งบุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะใช้ข้อความหรือคำที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของบริการกับบริการของตนได้ รวมทั้งมีสิทธิในการนำข้อความหรือคำที่แสดงถึงคุณสมบัติของบริการโดยตรงไปใช้พรรณนาหรือโฆษณาคุณภาพของบริการของตนได้
สำหรับเครื่องหมายบริการข้อความว่า "HAVE IT YOUR WAY" ที่โจทก์ขอยื่นจดทะเบียนแม้จะมีลักษณะเป็นคำบรรยายแต่เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า ก่อนที่โจทก์จะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการข้อความว่า "HAVE IT YOUR WAY" โจทก์ได้รับการจดทะเบียนและใช้เครื่องหมายบริการดังกล่าวกับบริการประเภทภัตตาคารซึ่งเป็นร้านอาหารประเภทจานด่วนซึ่งจำหน่ายแฮมเบอร์เกอร์และเครื่องดื่มเป็นอาหารหลักภายใต้ร้านค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการอื่นของโจทก์ในต่างประเทศหลายสิบประเทศรวมทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายบริการดังกล่าวในประเทศไทยกับบริการประเภทภัตตาคารซึ่งเป็นร้านอาหารประเภทจานด่วนซึ่งจำหน่ายแฮมเบอร์เกอร์และเครื่องดื่มเป็นอาหารหลักภายใต้ร้านค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการอื่นของโจทก์ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และบนถนนหลายสายภายในกรุงเทพมหานครที่เป็นแหล่งชุมชน รวมทั้งร้านอาหารของโจทก์ในแหล่งการค้าต่าง ๆ ในต่างจังหวัดที่เป็นสถานท่องเที่ยวสำคัญ และโจทก์ได้โฆษณาเครื่องหมายบริการข้อความว่า "HAVE IT YOUR WAY" ในนิตยสาร ที่สื่อสิ่งพิมพ์และการทำตลาดร่วมกับบัตรเครดิต (VISA) ป้ายโฆษณา ซึ่งเมื่อผู้ใช้บริการเห็นเครื่องหมายบริการข้อความว่า "HAVE IT YOUR WAY" ก็จะทราบได้ทันทีว่าเป็นเครื่องหมายบริการของโจทก์ เครื่องหมายบริการข้อความว่า "HAVE IT YOUR WAY" ของโจทก์จึงมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้บริการนั้นทราบและเข้าใจได้ว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการข้อความว่า "HAVE IT YOUR WAY" ของโจทก์นั้นแตกต่างไปจากบริการอื่น ทั้งข้อความว่า "HAVE IT YOUR WAY" ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของภัตตาคารโดยตรง ดังนั้นเครื่องหมายบริการข้อความว่า "HAVE IT YOUR WAY" จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 80 ประกอบมาตรา 6 และมาตรา 7 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6768/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายและการสับสนของสาธารณชน
เครื่องหมายการค้าของโจทก์และโจทก์ร่วมเรียกขานว่า "จูปา จุ๊ปส์" หรือ "จุ๊ปปะ จุ๊ปส์" นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาจากตัวอักษรโรมันในเครื่องหมายการค้าของโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นไปได้ที่สาธารณชนอาจออกเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า "ชู้ป ป้า ชู้ปส์" หรือ "ชัป ป้า ชัปส์" การที่เครื่องหมายการค้า Joopy Juups ของจำเลยเรียกขานว่า "จุ๊ปปี้ จุ๊ปส์" และเครื่องหมายการค้าของโจทก์และโจทก์ร่วมอาจเรียกขานว่า "จูปา จุ๊ปส์" หรือ "ชู้ป ป้า ชู้ปส์" นั้น เสียงเรียกขานพยางค์แรก คือ "จูป" หรือ "ชู้ป" กับ "จุ๊ป" ของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และโจทก์ร่วมกับของจำเลยคล้ายกัน และเสียงเรียกขานพยางค์ที่สามของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และโจทก์ร่วมกับของจำเลยคือ "จุ๊ปส์" หรือ "ชู้ปส์" กับ "จุ๊ปส์" เหมือนหรือคล้ายกัน แม้ว่าเสียงเรียกขานพยางค์ที่สองของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และโจทก์ร่วมกับของจำเลยมีความแตกต่างกันบ้างแต่เมื่อออกเสียงเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่าเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าคล้ายกัน จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเพื่อใช้กับสินค้าลูกอมในจำพวก 30 ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าของโจทก์และโจทก์ร่วม โดยมีกลุ่มลูกค้าสำคัญคือเด็กเช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากวัยของกลุ่มลูกค้าสำคัญที่ซื้อสินค้าของโจทก์และโจทก์ร่วมกับสินค้าของจำเลยที่มีความสามารถในการแยกแยะความแตกต่างของสินค้าน้อยกว่าผู้ใหญ่แล้ว เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์และโจทก์ร่วม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: 'DR' ไม่ใช่คำย่อทั่วไปและไม่ใช่คำสามัญที่จดทะเบียนไม่ได้
คดีนี้คำย่อของคำว่า "DOCTOR" ตามที่ปรากฏในพจนานุกรมคือ "DR" โดยใช้อักษรตัวพิมพ์ใหญ่กับตัวพิมพ์เล็ก ไม่ใช่ "DR" ตามที่ปรากฏในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงไม่ใช่คำย่อของคำว่า "DOCTOR" ตามหลักเกณฑ์ในพจนานุกรมตามที่จำเลยกล่าวอ้าง เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงอาจเรียกขานได้ว่า "ดี-อา-เปป-เปอร์" นอกจากนั้น คำสามัญ (Generic word) ที่ไม่อาจรับจดทะเบียนได้นั้นหมายถึง คำที่เป็นชื่อเรียกสามัญของสินค้านั้นๆ เช่น คำว่า "เก้าอี้" สำหรับสินค้าเก้าอี้ เป็นต้น และไม่มีบุคคลใดสามารถหวงกันคำสามัญเช่นนั้นไว้ใช้กับสินค้าดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว สำหรับอักษรโรมัน "DR" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้จะพิจารณาว่าเป็นคำที่มาจากคำย่อของคำว่า "DOCTOR" ซึ่งเป็นคำทั่วไปที่มีความหมายในพจนานุกรมแปลว่า "แพทย์ หมอ ดุษฎีบัณฑิต" แต่คำดังกล่าวไม่ใช่ชื่อเรียกสามัญของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียน ทั้งความหมายของอักษรโรมันดังกล่าวไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าจำพวก น้ำดื่ม น้ำอัดลมหรือน้ำหวาน ที่โจทก์ขอจดทะเบียนใช้เครื่องหมายการค้าโดยตรง เมื่อเป็นเช่นนี้อักษรโรมัน "DR" จึงไม่ใช่เครื่องหมายที่ไม่อาจจดทะเบียนได้และมีลักษณะบ่งเฉพาะโดยโจทก์ไม่ต้องปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายการค้า: ภาพประดิษฐ์ที่ไม่โดดเด่น และไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้
เครื่องหมายของโจทก์เป็นภาพประดิษฐ์ตามความหมายของคำว่า "เครื่องหมาย" ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 เมื่อโจทก์มีความประสงค์จะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนี้ของโจทก์แตกต่างจากสินค้าของบุคคลอื่น ย่อมถือว่าเป็นเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 แต่จะเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนหรือไม่นั้นย่อมต้องพิจารณาตามมาตรา 6 (1) และมาตรา 7 ว่า เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่
เครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ ของโจทก์ถูกใช้มาในลักษณะของกรอบภาพที่มีคำว่า "MILO" หรือ "ไมโล" ปรากฏอยู่ข้างในเท่านั้น ซึ่งเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าอื่นๆ ทั่วไปในท้องตลาดก็มีการใช้กรอบภาพในลักษณะเช่นที่ปรากฏอยู่เช่นกัน แม้ว่าจะไม่เหมือนกับเครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์ แต่ก็เห็นได้ว่า ภาพประดิษฐ์ในลักษณะที่เป็นกรอบภาพเช่นนี้ไม่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อย่างใดอันที่จะทำให้สาธารณชนหรือผู้ใช้สินค้าจดจำหรือแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าตามที่โจทก์กล่าวอ้างได้ หากนำไปใช้โดยลำพังกับสินค้า เครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์ย่อมไม่อาจทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์แตกต่างไปจากสินค้าอื่นเช่นใด ถือว่าเครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์ไม่ใช่ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นอันจะมีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (6)
เครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์ไม่ใช่ชื่อ คำหรือข้อความ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) หรือ (2) จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์การมีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม มาพิจารณาได้ เครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5463/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า และสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่เกิดก่อน
เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรโรมัน ตัวพิมพ์ใหญ่ คำว่า "HALOTRION" ส่วนของโจทก์เป็นอักษรโรมัน ตัวพิมพ์ใหญ่ คำว่า "HALOTRON" จึงมีอักษรโรมันที่เป็นตัวพิมพ์ใหญ่เหมือนกันถึง 8 ตัว และอยู่ในตำแหน่งเดียวกันแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะอักษรโรมัน 4 ตัวแรก คือ HALO กับอักษรโรมัน 2 ตัวสุดท้ายคือ ON เพียงแต่เครื่องหมายการค้าของจำเลยมีอักษรโรมัน I แทรกอยู่ระหว่างอักษรโรมัน R กับ O เท่านั้น ถือว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยและของโจทก์มีรูปลักษณะที่คล้ายกันมาก ในส่วนของเสียงเรียกขานนั้น เครื่องหมายการค้า HALOTRION ของจำเลยอ่านออกเสียง 4 พยางค์ ว่า ฮา-โล-ทรี-ออน และเครื่องหมายการค้า HALOTRON ของโจทก์อ่านออกเสียง 3 พยางค์ ว่า ฮา-โล-ทรอน แม้จะมีจำนวนพยางค์ที่ออกเสียงต่างกัน แต่เสียงเรียกขาน 2 พยางค์แรกซึ่งเป็นส่วนสำคัญนั้นเหมือนกัน ถือว่าเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยและของโจทก์ก็คล้ายกันมากเช่นกันเมื่อพิจารณาเกี่ยวกับจำพวกสินค้า และรายการสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของแต่ละฝ่ายจะเห็นว่า เป็นสินค้าจำพวก 1 รายการสินค้า สารหรือน้ำยาที่ใช้ในการดับเพลิงเหมือนกัน ดังนี้ ถือได้แล้วว่า เครื่องหมายการค้า HALOTRION ของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้า HALOTRON ของโจทก์
โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า HALOTRON มาก่อนจำเลยใช้เครื่องหมายการค้า HALONITE และ HALOTRION ทั้งจำเลยประกอบธุรกิจชนิดเดียวกับโจทก์ซึ่งมีสินค้าจำหน่ายในประเทศไทยมาก่อนแล้ว และบริษัทในเครือของจำเลยเคยสั่งซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงเป็นไปได้ว่าจำเลยเคยเห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อน ทำให้จำเลยคิดใช้เครื่องหมายการค้า HALOTRION อนึ่ง การที่สารฮาลอน HALON เป็นคำสามัญที่บุคคลทั่วไปอาจใช้ได้ ก็ไม่ทำให้จำเลยอาจนำไปใช้ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ รวมทั้งข้ออ้างที่ว่าการใช้เครื่องหมายการค้า HALOTRION เป็นเพราะมีการใช้สารประกอบ 3 ชนิด จำเลยก็ไม่สมควรที่จะทำให้เครื่องหมายการค้าของตนคล้ายกับของโจทก์เช่นนี้ จึงรับฟังว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า HALOTRON ดีกว่าจำเลย และเมื่อคดีรับฟังมาแล้วว่า เครื่องหมายการค้า HALOTRION ของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้า HALOTRON ของโจทก์ จึงรับฟังต่อไปได้ด้วยว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า HALOTRION ดีกว่าจำเลย
คดีนี้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 16 ซึ่งจำเลยไม่ได้คัดค้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในส่วนนี้ ประกอบกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจถูกคัดค้านในสาเหตุอื่นๆ ได้ โจทก์จึงไม่อาจห้ามจำเลยคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยเองตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 54 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4608/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสน ศาลยืนคำพิพากษาเดิม
ในส่วนของรูปลักษณะนั้น แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีเฉพาะอักษรโรมันคำว่า "Petto" กับอักษรไทยคำว่า "เพ็ทโต" ไม่มีรูปประกอบ ในขณะที่เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค102801 มีอักษรโรมันคำว่า "PETTOR" กับรูปสุนัขประดิษฐ์ แต่เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายมีอักษรโรมันเป็นส่วนสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า และเมื่อเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค102801 มีอักษรโรมันอยู่ด้านบนภายในริบบิ้นและมีรูปสุนัขประดิษฐ์อยู่ภายในวงกลม ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีความหมายในพจนานุกรม ถือเป็นคำประดิษฐ์และเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายจึงมีส่วนคล้ายกันในอักษรโรมัน 5 ตัว คือ P, E, T, T และ O ซึ่งจัดวางอยู่ในตำแหน่งเดียวกันทั้งหมดแม้จะมีความแตกต่างกันที่ตัว R ตัวสุดท้าย แต่ความแตกต่างดังกล่าวนี้ สาธารณชนที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาต่างประเทศอาจไม่สังเกตเห็นได้ และถึงแม้สาธารณชนที่คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษก็อาจไม่สังเกตเห็นความแตกต่างเช่นกัน เพราะคำดังกล่าวเป็นคำประดิษฐ์ไม่ใช่คำที่รู้จักคุ้นเคยมาก่อน เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค102801 จึงมีความคล้ายกันในส่วนของอักษรโรมันดังกล่าว
สำหรับเสียงเรียกขานนั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกว่า "เพ็ด-โต" ส่วนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค102801 อาจเรียกว่า "เพ็ด-โต" เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ ทั้งนี้ การพิจารณาเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าไม่จำต้องเรียกขานตามที่ผู้ขอจดทะเบียนระบุคำอ่านไว้ในคำขอจดทะเบียนแต่ต้องพิจารณาตามเสียงเรียกขานที่สาธารณชนซึ่งเป็นคนไทยอาจเรียกขานได้ เมื่อเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายการค้าคล้ายกันทั้งในส่วนของรูปลักษณะและเสียงเรียกขาน ทั้งยังใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าจึงมีมาก
นอกจากนี้การพิจารณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นการพิจารณารายคำขอ ไม่ต้องพิจารณาว่าสินค้าแต่ละชนิดในรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนเมื่อปรากฏว่ามีรายการสินค้าที่เหมือนกันแล้ว ก็ชอบที่จะไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า: การประเมินลักษณะบ่งเฉพาะของคำประดิษฐ์จากการรวมคำทั่วไป
เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันประดิษฐ์คำว่า ของโจทก์แม้จะไม่ปรากฏความหมายทั่วไปในพจนานุกรม แต่ปรากฏชัดตามรูปลักษณะเสียงอ่านและคำขอจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.2 ว่าเป็นการนำอักษรโรมันคำว่า "Color" และ "Plus" มารวมกันนั่นเอง แม้โจทก์จะใช้รูปแบบ (Font) ของตัวอักษรเป็นลักษณะลวดลายการเขียน ก็ไม่ทำให้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำประดิษฐ์ อย่างไรก็ดีเมื่อนำอักษรโรมันดังกล่าวมารวมกันแล้ว ก็มีความหมายทั่วไปเพียงว่า "บวกสี", "เพิ่มสี" ซึ่งเห็นได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าจำพวก 25 ตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนเพื่อให้กับเครื่องหมายการค้าของตน หรือหากจะพิจารณาตามที่จำเลยให้ความหมายว่า "เพิ่มบุคลิกภาพ" แล้ว ก็เป็นเพียงคำแนะนำ (Suggestive word) เท่านั้น ยังไม่ใช่คำพรรณนา (Descriptive word) ซึ่งจะทำให้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นคำที่เล็งถึงคุณสมบัติสินค้าโดยตรง เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4588/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ผลงานมีลิขสิทธิ์เป็นเครื่องหมายการค้าขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายและอาจขัดต่อความสงบเรียบร้อย
การนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้า แม้จะไม่ปรากฏข้อห้ามในกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 ได้บัญญัติห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะของเครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย เมื่อเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ต้องการที่จะให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ และเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าก็มุ่งที่จะให้ความคุ้มครองแก่บุคคลผู้กระทำการโดยสุจริตเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่บุคคลใดทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นโดยวิธีใด ๆ อันไม่สุจริต และนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตน ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4588/2552 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ลิขสิทธิ์ผู้อื่นเป็นเครื่องหมายการค้าขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม แม้ไม่มีข้อห้ามโดยตรง
การนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้า แม้จะไม่ปรากฏข้อห้ามในกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 8 ได้บัญญัติห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะดังนี้... (9) เครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย เมื่อเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ต้องการที่จะให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ และเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าก็มุ่งที่จะให้ความคุ้มครองแก่บุคคลผู้กระทำการโดยสุจริตเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่บุคคลใดทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคอื่นโดยวิธีใดๆ อันไม่สุจริต และนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนเช่นนี้ ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนนี้จึงมีหรือประกอบด้วยลักษณะอันต้องห้ามไม่ให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 8 (9) และไม่อาจรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 6 ประกอบมาตรา 16 ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4588/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้รูปภาพมีลิขสิทธิ์เป็นเครื่องหมายการค้าเป็นการขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม
การนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้า แม้จะไม่ปรากฏข้อห้ามในกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (9) ห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบายเมื่อเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ต้องการที่จะให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ และเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าก็มุ่งที่จะให้ความคุ้มครองแก่บุคคลผู้กระทำการโดยสุจริตเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่บุคคลใดทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคอื่นโดยวิธีใดๆ อันไม่สุจริต และนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตน ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบายนั่นเอง เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนจึงมีหรือประกอบด้วยลักษณะอันต้องห้ามไม่ให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (9) และไม่อาจรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 16
of 7