คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 6

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 70 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2044/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าต้องมีลักษณะบ่งเฉพาะและแตกต่างจากสินค้าอื่น การตกแต่งเล็กน้อยไม่เพียงพอ
เครื่องหมายการค้าอันพึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายจะต้องมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นภาพประดิษฐ์คล้ายหยดน้ำถือว่าเป็นภาพประดิษฐ์ตามความหมายของคำว่า "เครื่องหมาย" ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 4 เมื่อโจทก์มีความประสงค์จะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนี้ของโจทก์แตกต่างสินค้าของบุคคลอื่น ย่อมถือว่าเป็นเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ฯ มาตรา 4 ได้ แต่จะเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามมาตรา 6 (1) และมาตรา 7 ว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะทรงรี แม้จะมีการตกแต่งให้เกิดความสวยงามและแตกต่างไปจากรูปทรงเรขาคณิตทั่วไป แต่เป็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงขนาดที่จะทำให้สาธารณชนเห็นได้ถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับรูปทรงเรขาคณิตอื่น ทั้งโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวประกอบกับเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "MAGGI" หรือคำว่า "แม็กกี้" จึงไม่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่จะทำให้สาธารณชนหรือผู้ใช้สินค้าจดจำหรือแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าได้หากนำไปใช้โดยลำพังกับสินค้า จึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าภาพประดิษฐ์อันจะมีลักษณะบ่งเฉพาะโดยตัวเองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 7 วรรคสอง (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2044/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าคล้ายหยดน้ำขาดลักษณะบ่งเฉพาะ แม้เป็นภาพประดิษฐ์แต่ไม่สามารถแยกแยะสินค้าจากผู้อื่นได้
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นภาพประดิษฐ์คล้ายหยดน้ำถือว่าเป็นภาพประดิษฐ์ตามความหมายของคำว่า "เครื่องหมาย" ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 เมื่อโจทก์มีความประสงค์จะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนี้ของโจทก์แตกต่างสินค้าของบุคคลอื่นก็ย่อมถือว่าเป็นเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 4 ได้ แต่จะเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามมาตรา 6 (1) และมาตรา 7 ว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่
เครื่องหมายการค้าภาพประดิษฐ์คล้ายหยดน้ำของโจทก์มีลักษณะทรงรี แม้จะตกต่างด้วยเส้นโค้งมนและมีปลายแหลมเพื่อทำให้เกิดความสวยงามและแตกต่างไปจากรูปทรงเรขาคณิตทั่วไป แต่เป็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงขนาดที่จะทำให้สาธารณชนเห็นได้ถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับรูปทรงเรขาคณิตอื่นทั่วๆ ไป ต่างจากเครื่องหมายการค้าที่เป็นภาพประดิษฐ์รูปทรงเรขาคณิตอื่นซึ่งสามารถทำให้สาธารณชนเห็นถึงความแตกต่างได้ อันถือได้ว่าเป็นภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นจนมีลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมาย
เครื่องหมายการค้าภาพประดิษฐ์คล้ายหยดน้ำของโจทก์ถูกนำมาใช้ในลักษณะของส่วนประกอบที่มีอักษรโรมันคำว่า "MAGGI" หรือคำว่า "แม็กกี้" ปรากฏอยู่ข้างในไม่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในอันที่จะทำให้สาธารณชนหรือผู้ใช้สินค้าจดจำหรือแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าได้ หากนำไปใช้โดยลำพังกับสินค้า เครื่องหมายการค้าภาพประดิษฐ์คล้ายหยดน้ำของโจทก์ไม่อาจทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์แตกต่างไปจากสินค้าอื่นเช่นใด ถือว่าเครื่องหมายการค้าภาพประดิษฐ์คล้ายหยดน้ำของโจทก์ไม่ใช่ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นอันจะมีลักษณะบ่งเฉพาะโดยตัวเองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1787/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า POWERMILL มีลักษณะบ่งเฉพาะ แม้สื่อความหมายได้หลายอย่าง ไม่ถือว่าเล็งถึงคุณสมบัติสินค้าโดยตรง
คำว่า POWERMILL ใช้อักษรโรมันประกอบเป็นคำในภาษาอังกฤษ ไม่มีคำแปลในพจนานุกรมทั่วไป โดยเป็นคำที่โจทก์นำคำว่า POWER แปลว่า อำนาจ กำลังแรง กับคำว่า MILL แปลว่า โรงสี โรงเครื่องจักร เครื่องกล โรงงาน มารวมกันเป็นเครื่องหมายการค้าและขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 9 รายการสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ติดตั้งสำหรับใช้กับสินค้าดังกล่าว คำว่า POWERMILL จึงสื่อได้หลายความหมายทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ การนำคำดังกล่าวมารวมกันจึงไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าหมายถึงสิ่งใด ถือไม่ได้ว่าคำว่า POWERMILL เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าดังกล่าว จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะ เครื่องหมายการค้าคำว่า POWERMILL จึงเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียบได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1786/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า "TIMEWALKER" ไม่สามารถจดทะเบียนได้ เพราะสื่อถึงลักษณะสินค้าโดยตรง
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นคำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร แม้ว่าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๘ วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นที่สุด ก็มีความหมายเพียงว่า ผู้อุทธรณ์จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต่อเจ้าพนักงานอื่นของฝ่ายบริหารต่อไปอีกไม่ได้เท่านั้น หากคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวได้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการบรรยายฟ้องว่ามีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๕๕ แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
แม้คำว่า "TIMEWALKER" จะเป็นคำที่ไม่มีความหมายในพจนานุกรม แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและนำสืบว่า คำว่า "TIMEWALKER" เป็นการนำเอาคำว่า "TIME" และคำว่า "WALKER" มาเรียงต่อกันเกิดเป็นคำใหม่ โจทก์แปลคำดังกล่าวว่า "ผู้เดินเวลาที่มีชีวิต" ซึ่งเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าคำนั้นสามารถแปลความหรือสื่อความหมายได้ หาใช่เป็นคำประดิษฐ์หรือคำใหม่ที่ไม่มีความหมาย และการแปลความของโจทก์ก็เป็นการแปลจากคำว่า "TIME" และคำว่า "WALKER" นั่นเอง เมื่อพจนานุกรมให้ความหมายคำว่า "TIME" ว่าหมายถึง เวลา และคำว่า "WALKER" หมายถึง การเดิน ผู้เดิน หรือผู้ชอบเดิน คำว่า "TIMEWALKER" จึงอาจสื่อถึงความหมายได้หลายประการ การที่โจทก์แปลความว่า "ผู้เดินเวลาที่มีชีวิต" ก็อาจเป็นไปได้ตามความมุ่งหมายของโจทก์ และขณะเดียวกันคำว่า "TIMEWALKER" ก็สื่อถึงความหมายว่า ผู้เดินเวลา หรือเครื่องมือที่เดินตามเวลา ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจถึงนาฬิกาซึ่งเป็นเครื่องบอกเวลาได้เช่นกัน เมื่อโจทก์นำมาใช้กับสินค้าจำพวกที่ ๑๔ รายการสินค้า นาฬิกาข้อมือ นาฬิกาพก และนาฬิกาแขวน จึงถือได้ว่าคำว่า "TIMEWALKER" เป็นคำที่บรรยายลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าจำพวกนาฬิกาของโจทก์อันเป็นการเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ วรรคสอง (๒) คำดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ อันจะพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา ๖

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า 'Global Sources' ไม่สามารถจดทะเบียนได้ เพราะเป็นคำที่บ่งบอกลักษณะสินค้า/บริการโดยตรง
เครื่องหมายการค้า/บริการของโจทก์ประกอบด้วยรูปประดิษฐ์กับอักษรโรมันคำว่า "Global Sources" หากพิจารณาทั้งเครื่องหมายแล้ว อักษโรมันคำว่า "Global Sources" ย่อมเป็นภาคส่วนสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า/บริการของโจทก์ ในขณะที่รูปโลกประดิษฐ์นั้น แม้จะมีลักษณะเป็นภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นและมีเจตนาจะใช้เครื่องหมายการค้า/บริการ แต่โดยขนาดตำแหน่งและสภาพที่ใช้ร่วมกับอักษรโรมันคำว่า "Global Sources" แล้ว รูปโลกประดิษฐ์ดังกล่าวไม่อาจถือว่าเป็นภาพส่วนสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า/บริการของโจทก์ได้ กล่าวคือหากพิจารณาว่า อักษรโรมันคำว่า "Global Sources" ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะแล้ว ลำพังรูปโลกประดิษฐ์ดังกล่าวยังไม่อาจทำให้เครื่องหมายการค้า/บริการได้รับการจดทะเบียน
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ อักษรโรมันคำว่า "Global Sources" มีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่โดยโจทก์ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า/บริการ จำนวน 5 คำขอ เพื่อใช้กับสินค้าและบริการที่ขอจดทะเบียน ซึ่งในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้า/บริการตามคำขอใดเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าและบริการโดยตรงหรือไม่นั้น มิจำต้องพิจารณาสินค้าและบริการแต่ละชนิดในรายการสินค้าและบริการที่ขอจดทะเบียน ดังนั้น หากตรวจสอบพบสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า/บริการในคำขอใดแล้วก็ชอบที่จะปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนสำหรับคำขอนั้นได้ ไม่จำเป็นต้องพิจารณาให้รับจดทะเบียนเป็นรายสินค้าหรือบริการตามที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใด สำหรับคำว่า "Global" นั้น แปลว่า "โลก, ทั่วโลก, เกี่ยวกับโลก" ส่วนคำว่า "Sources" นั้นแปลว่า "แหล่ง, ข้อมูล, แหล่งข้อมูล" เมื่อออกเสียงรวมกันแล้ว จึงมีความหมายว่า "แหล่งข้อมูลของโลก" เมื่อใช้คำดังกล่าวกับคำขอเลขที่ 456095 ถึง 456099 ซึ่งต่างมีสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสาร ย่อมเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าและบริการโดยตรง เครื่องหมายการค้า/บริการของโจทก์ทั้งคำขอจึงไม่อาจรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 16 ประกอบมาตรา 6 (1) และมาตรา 7 วรรคสอง (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5432/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายการค้า: การพิจารณารูปแบบรวมและการสื่อถึงแหล่งที่มา
โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยรูปลักษณะและมีการใช้จนเป็นที่แพร่หลายทั่วไปแล้ว จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ด้วย แต่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยโดยแยกพิจารณาตัวอักษรโรมันกับรูปทรงกลมทึบออกจากกัน และวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ทั้งไม่วินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้หรือไม่ เท่ากับว่าโจทก์ได้โต้แย้งแล้วว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำวินิจฉัยดังกล่าวจึงยังไม่เป็นที่สุด และโจทก์มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลได้
โดยหลักทั่วไปเครื่องหมายการค้าจะต้องมีหน้าที่สำคัญ เช่น บอกแหล่งที่มาของสินค้า บอกความแตกต่างของสินค้า และประกันคุณภาพสินค้า เป็นต้น หลักสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การพิจารณาให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่บุคคลใดในลักษณะของเครื่องหมายการค้าเช่นนี้จะต้องไม่เป็นอุปสรรคหรือขัดขวางบุคคลอื่นในการใช้อักษร ภาพ หรือสิ่งสามัญใดๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่สังคมสามารถใช้ประโยชน์เป็นเครื่องหมายการค้าได้เช่นกัน หลักการดังกล่าวจึงเป็นเหตุผลในการไม่ยอมรับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ อันเป็นข้อจำกัดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 6 และมาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5402/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายบริการ "SOUTH AFRICAN AIRWAYS" ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เป็นคำทั่วไปเกี่ยวกับบริการขนส่งทางอากาศ
เครื่องหมายบริการของโจทก์ประกอบด้วยคำ 2 คำ หรือ SOUTH AFRICAN กับ AIRWAYS ซึ่งคำแรกนั้น แม้จะไม่ใช่ชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยตรง แต่ก็เป็นคำที่มีความหมายเกี่ยวกับประเทศแอฟริกาใต้ จึงเป็นคำสามัญที่เกี่ยวข้องกับประเทศแอฟริกาใต้ ส่วนคำว่า AIRWAYS นั้น ความหมายตามพจนานุกรม หมายถึง เส้นทางการบิน แต่ความหมายอันเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปอีกประการหนึ่งนั้น หมายถึง สายการบิน คำว่า AIRWAYS ถือว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการโดยตรง ดังนี้ เครื่องหมายบริการของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายบริการที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ นอกจากนี้คำว่า AIRWAYS ย่อมสื่อให้เห็นถึงการบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทางอากาศรวมถึงการให้บริการติดตั้ง ดูแลและซ่อมบำรุงอากาศยานด้วย และยังรวมถึงบริการอื่นๆ ในรายการบริการจำพวกที่ 37 และ 39 ซึ่งเป็นบริการปลีกย่อยที่เกี่ยวข้องกับบริการหลักของโจทก์ แม้จะแยกพิจารณาเป็นรายรายการ เครื่องหมายบริการของโจทก์ก็ยังคงเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการโดยตรงเช่นเดิม
แม้เครื่องหมายบริการของโจทก์จะมีความหมายเกี่ยวข้องโดยตรงกับเจ้าของเครื่องหมายที่เป็น "สายการบินแห่งประเทศแอฟริกาใต้" แต่เครื่องหมายบริการของโจทก์ก็มีความหมายเกี่ยวเนื่องกับการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทางอากาศอันเป็นการเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติการบริการของโจทก์โดยตรง อีกทั้ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการด้วยเหตุผลว่า เครื่องหมายบริการของโจทก์เป็นการใช้ชื่อที่เป็นธรรมเนียมปกติทางการค้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นรัฐ ถือหุ้นโดยรัฐหรือได้รับความเห็นชอบจากรัฐนั้นๆ ให้ใช้ชื่อดังกล่าวแต่อย่างใด ในทางกลับกันกฎหมายไม่ประสงค์ที่จะให้นำคำหรือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับรัฐต่างประเทศเช่นนั้นไปใช้ในการจดทะเบียน อนึ่งการที่ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษหลายประเทศรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของโจทก์นั้น เป็นเรื่องหลักเกณฑ์และความเห็นของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับประเทศนั้นๆ ในการพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายต่าง ๆ ไม่อาจนำมาเป็นเหตุผลให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของโจทก์ โดยไม่ต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ แต่อย่างใด กรณีจึงเป็นอันรับฟังได้ว่า เครื่องหมายบริการคำว่า "SOUTH AFRICAN AIRWAYS" ของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3686/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมาย และอำนาจศาลในการเพิกถอนคำสั่งที่ไม่รับจดทะเบียน
โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 16 และโจทก์ผู้ขอใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง มิใช่กรณีที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นควรรับจดทะเบียนที่คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้วแต่กรณีที่จะเป็นที่สุดตามมาตรา 39
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่จะเป็นที่สุดต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในการพิจารณาความถูกต้องหรือชอบด้วยกฎหมายนั้นศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาได้ว่าคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของจำเลยหรือนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีเหตุผลชอบด้วยข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานและถูกต้องด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่ด้วย
โจทก์ฟ้องว่าคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ ไม่มีบทบัญญัติใดใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือในกฎหมายใดบัญญัติให้โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลหรือฟ้องคดีภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายอักษรโรมันอย่างเดียว แต่เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นเป็นทั้งเครื่องหมายรูปคือกิเลน 5 ตัว ในวงกลมและเครื่องหมายอักษรภาษาจีนอ่านว่า "โหงวคี่เล้ง" และอักษรไทย ตัวเลขอารบิคคำว่า "ตรา 5 กิเลน" ส่วนที่เป็นสาระสำคัญของคำและอักษรคือ "KIRIN" และ "กิเลน" ไม่คล้ายกันเพราะเป็นอักษรโรมันกับเป็นอักษรไทย แต่คำว่า "กิเลน" มีเสียงเรียกขานคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว แม้สินค้าของโจทก์และของบุคคลอื่นเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันแต่รายการสินค้าแตกต่างกันโดยของโจทก์เป็นยารักษาโรคแผนปัจจุบัน แต่ของบุคคลอื่นเป็นยาแผนโบราณ และสินค้ายาของโจทก์ต้องสั่งและใช้โดยแพทย์ในโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่มีการจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ประชาชนไม่อาจหาซื้อได้ แต่สินค้ายาของบุคคลอื่นหาซื้อได้ในร้านขายยาทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งยา ตลาดยาของโจทก์จึงเป็นโรงพยาบาล สถานพยาบาล ซึ่งแพทย์เป็นผู้สั่งซื้อหรือสั่งจ่ายยาซึ่งยากที่แพทย์หรือเภสัชกรหรือผู้ใช้ยาจะสับสนหรือหลงผิดหรือผิดพลาด ขณะที่ตลาดยาของบุคคลอื่นนั้นเป็นร้านขายยาซึ่งประชาชนผู้ซื้อสินค้ายาของบุคคลอื่นสับสนหรือหลงผิด เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนกับของบุคคลอื่นจึงไม่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อไป เป็นการบังคับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ทั้งที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 40 วรรคสอง เสียก่อน ศาลจึงไม่อาจก้าวล่วงพิพากษาให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 630/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายการค้า: ภาพประดิษฐ์บนขวดมีลวดลายโดดเด่นเพียงพอต่อการจดทะเบียนได้
การรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีหลักเกณฑ์ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ (ฉบับที่ 2)ฯ โดยสรุปคือเครื่องหมายการค้านั้นต้องมีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 และไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตามมาตรา 13 พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ ไม่ได้ให้คำนิยามคำว่า "ลักษณะบ่งเฉพาะ" ไว้โดยแจ้งชัดแต่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 7 วรรคแรกว่า "เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะได้แก่ เครื่องหมายการค้าอันมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น" และในมาตรา 7 วรรคสอง ได้บัญญัติว่า "เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นสาระสำคัญต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ...(6) ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้น" เมื่อพิเคราะห์เครื่องหมายการค้า "รูปขวด" ของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนที่มีลักษณะบ่งเฉพาะพิเศษโดยมีส่วนเว้า ส่วนนูน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีลวดลายเป็นจุดที่เว้าลึกรอบขวดในระยะที่ห่างเท่ากันแล้ว เห็นว่า รูปขวดของโจทก์มีลักษณะไม่เหมือนรูปขวดทั่วไป แต่เป็นภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 7 วรรคสอง (6) ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองที่ทำให้ประชาชนผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น เครื่องหมายการค้ารูปขวดของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7831/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า ยาคน-สัตว์ ไม่ทำให้สับสน ศาลอนุญาตจดทะเบียนได้
โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสินค้าจำพวกที่ 5 เช่นเดียวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบริษัท ค. แต่สินค้าของโจทก์เป็นคนละประเภทกับสินค้าของบริษัทดังกล่าว กล่าวคือ สินค้าของโจทก์เป็นยาและสารที่เตรียมขึ้นทางเภสัชกรรมไว้รักษาและป้องกันโรคผมร่วงหรือโรคหัวล้าน แต่สินค้าของบริษัท ค. เป็นยาทำลายหรือต่อต้านเชื้อแบคทีเรียสำหรับใช้ในการรักษาสัตว์ แม้จะเป็นยาเหมือนกันแต่ก็ใช้รักษาโรคในคนและสัตว์แตกต่างกันผู้ใช้จึงเป็นคนละกลุ่มกัน แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองจะคล้ายกันแต่ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่ายาของโจทก์เป็นยาของบริษัท ค. หรือมีแหล่งกำเนิดจากบริษัทดังกล่าว เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
of 7