คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 6

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 70 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1899/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความเหมือนหรือความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า โดยคำนึงถึงจำนวนตัวอักษร, เสียงเรียกขาน, และความหมาย
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งที่เป็นคำ และเป็นรูปกับคำต่างประกอบด้วยตัวอักษรโรมันแบบพิมพ์ใหญ่และแบบอักษรประดิษฐ์ 4 ตัว คือ "F" "O" "R" และ "D" โดยเครื่องหมายการค้าที่เป็นรูปและคำจะมีวงรีล้อมรอบตัวอักษรประดิษฐ์ดังกล่าวอยู่ ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่ประกอบด้วยตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ 3 ตัว คือ "F" "O" และ "R" ดังนี้ เมื่อพิจารณาจากลักษณะของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนจะเห็นได้ว่า แม้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่างมีตัวอักษรขึ้นต้นด้วยอักษร "F" และตามด้วยตัวอักษร "O" และ "R" ตามลำดับเช่นเดียวกัน แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีตัวอักษร "D" อยู่ในตอนท้ายด้วย ซึ่งแม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนจะมีจำนวนตัวอักษรต่างกันเพียงตัวอักษรเดียว แต่เนื่องจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีตัวอักษรเพียง 4 ตัว เท่านั้น สาธารณชนจึงสามารถสังเกตเห็นความแตกต่างของเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนได้โดยง่าย และโดยเหตุที่เครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่างประกอบด้วยตัวอักษรโรมันเช่นเดียวกัน การเขียนจึงต้องมีตัวสะกดซ้ำกันบ้าง ในกรณีเช่นนี้จะสันนิษฐานว่าจำเลยมีเจตนาเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ได้ นอกจากนั้นเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนมีเสียงเรียกขานว่า "ฟอร์" และมีคำแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยชัดเจนคือแปลว่า "สำหรับ" ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีเสียงเรียกขานว่า "ฟอร์ด" ซึ่งมีที่มาจากชื่อผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงมีความหมายและเสียงเรียกขานที่ต่างกัน ดังนั้น เครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12540/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน: ปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าเป็นความผิดตาม พรบ.เครื่องหมายการค้า
แม้รูปลายเส้นคล้ายปีกนกตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์จะเป็นรูป รอยประดิษฐ์ที่ใช้ในการประกอบการค้าของโจทก์ด้วยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้นำรูป รอยประดิษฐ์นี้ไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าจนมีสภาพเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักร อันมีผลให้ได้รับความคุ้มครองอย่างเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนที่หากผู้อื่นปลอมเครื่องหมายการค้าจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108 โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่ต้องปรับบทความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4034/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าไม่คล้ายกัน แม้มีคำบางส่วนซ้ำกัน และสินค้ามีราคาสูง-ต่ำแตกต่างกัน ไม่อาจสับสนได้
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้คำว่า CHARLIE อ่านว่า "ชา-ลี" ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้คำว่า ROYAL CHARLE อ่านว่า "รอ-ยอล-ชาร์ล" โดยวางคำว่า ROYAL และ CHARLE อยู่คนละบรรทัดกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยจึงมีเสียงเรียกขานต่างกัน นอกจากนี้ยังปรากฏว่าสินค้าของโจทก์เป็นสินค้าจากต่างประเทศและวางขายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ มีราคาอย่างต่ำขวดละ 200 บาท ในขณะที่สินค้าของจำเลยมีราคาเพียง 15 ถึง 19 บาทเท่านั้น จึงสามารถสังเกตถึงความแตกต่างดังกล่าวได้โดยง่ายและยากที่จะสับสนหรือหลงผิดระหว่างสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลย เครื่องหมายการค้าคำว่า ROYAL CHARLE ของจำเลยจึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า CHARLIE ของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย และโจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้มีสิทธิดีกว่าในเครื่องหมายการค้าคำว่า ROYAL CHARLE ของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3543/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า 'TRUSTY' ไม่เล็งคุณสมบัติสินค้า แต่บ่งเฉพาะ จึงจดทะเบียนได้ ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
การดำเนินการเกี่ยวกับการรับหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์และของกรมศิลปากรกระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2535มาตรา 3 และพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 3 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ในฐานะผู้แทนกรมจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยเห็นว่าเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่จะเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น หากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยนั้นได้
โจทก์บรรยายว่า โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยอ้างว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ โจทก์เห็นว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคำว่า TRUSTY ไม่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง แต่เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงได้รับการจดทะเบียน คำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์เท่ากับโต้แย้งว่า คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่นายทะเบียนและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งและคำวินิจฉัยไม่รับจดทะเบียนจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
แม้คำว่า TRUSTY จะมีความหมายว่า ไว้วางใจ เชื่อถือได้แต่เมื่อนำไปใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 31 ได้แก่ อาหารสัตว์ ก็มิได้มีความหมายที่บ่งบอกถึงลักษณะของอาหารสัตว์ว่าเป็นอาหารสัตว์ชนิดใด หรือบ่งบอกคุณสมบัติของอาหารสัตว์ชนิดนั้นว่า เป็นสินค้าที่ดีทำให้สัตว์แข็งแรง สมบูรณ์ สุขภาพดี น่าไว้วางใจที่จะนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้โดยปลอดภัย แต่เป็นคำที่มีลักษณะไปในทางโน้มน้าวให้บุคคลทั่วไปที่ประสงค์จะซื้ออาหารสัตว์เกิดความสนใจในสินค้าชนิดนั้นมากกว่า จึงเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าอาหารสัตว์โดยตรง แต่เป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เมื่อนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าดังกล่าวตามมาตรา 7 วรรคสอง(2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จึงมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 กำหนดให้ศาลต้องมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเสมอไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ จึงชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3344/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลอกเลียนเครื่องหมายการค้า: ศาลพิพากษาเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสน
จำเลยอุทธรณ์โดยยกข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเรื่องการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 38 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 35 เป็นบทบัญญัติที่ให้บุคคลอื่นซึ่งอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิดีกว่าผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือเจ้าของเครื่องหมายการค้า ซึ่งจดทะเบียนไว้ก่อนแล้วมีสิทธิที่จะยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ภายในกำหนด 90 วัน หากไม่ยื่นภายในกำหนดดังกล่าวนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีอำนาจที่จะดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอต่อไปได้ตามมาตรา 40 ส่วนเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งได้จดทะเบียนไว้ก่อนหากได้รับผลกระทบจากการรับจดทะเบียนของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็ยังคงมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ภายใน5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นตามมาตรา 40ทั้งนี้ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง เพราะตามบทบัญญัติดังกล่าวหาได้มีข้อกำหนดจำกัดสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งได้จดทะเบียนไว้ก่อนว่าจะต้องยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ก่อนฟ้องคดีไม่
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ARROW ที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว การที่จำเลยไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MARROW ไว้สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันกับโจทก์และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้ตามคำขอของจำเลยมีผลกระทบต่อสิทธิในเครื่องหมายการค้า ARROW ที่โจทก์จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว โดยเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีส่วนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้กระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตั้งแต่จำเลยไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่งไม่ว่าโจทก์จะได้ยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 35 ไว้หรือไม่
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกเครื่องหมายมีสาระสำคัญอยู่ที่คำว่า ARROWส่วนคำอื่นหรือรูปลูกศรที่ประกอบคำว่า ARROW เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น และความสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์อยู่ที่เสียงเรียนขานคำว่า ARROW ซึ่งอ่านออกเสียงว่า "แอโร่"ยิ่งกว่าความหมายของคำที่แปลว่าลูกศร เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำในภาษาต่างประเทศเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ในส่วนที่เป็นคำและใช้อักษรโรมันมี 2 พยางค์ เท่ากัน โดยเฉพาะพยางค์หลังจะอ่านออกเสียงว่า "โร่"เหมือนกันส่วนพยางค์ต้นของโจทก์อ่านออกเสียงว่า"แอ"พยางค์ต้นของจำเลยอ่านออกเสียงว่า "แม" จึงนับได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะพึงรับจดทะเบียนให้ได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6(3) และ 13(2)จำเลยย่อมไม่มีสิทธิใช้และขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MARROW ได้ โจทก์ซึ่งใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ARROW มาก่อน มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยและมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้
โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า MARROW ดีกว่าจำเลย ชอบที่ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเสียได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องพิพากษาให้จำเลยไปเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่าMARROW หรือให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยอีก และที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาตามคำขอของโจทก์โดยห้ามจำเลยใช้หรือเข้าเกี่ยวข้องในทางใด ๆ กับเครื่องหมายการค้า MARROW อีกต่อไปนั้น เป็นคำขอบังคับที่มุ่งบังคับถึงการกระทำในอนาคตซึ่งครอบคลุมถึงการกระทำของจำเลยที่เกินไปกว่าที่ปรากฏในคดีนี้ ศาลฎีกาจึงให้จำกัดข้อห้ามการกระทำของจำเลยเฉพาะในลักษณะเดียวกับที่ปรากฏในคดีนี้เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: 'JAVACAFE' ขาดลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมาย
แม้ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จะบัญญัติให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุดก็ตาม แต่หากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็น คำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวได้
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้โต้แย้งคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "JAVACAFE" ของโจทก์โดยอ้างว่าคำสั่งและคำวินิจฉัยนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จึงถือได้ว่าคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่รับ จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้นเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล ขอให้ เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าวได้
สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าคำว่า "JAVACAFE" ของโจทก์นอกจากอักษรโรมันที่เขียน ติดกันจำนวน 8 พยางค์ แล้ว สำเนียงเรียกขานก็ถือเป็นส่วนสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะสามารถทำให้ประชาชนผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่มีเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้านั้นแตกต่างจากสินค้าอื่น คำว่า "JAVACAFE" แม้จะเขียนติดต่อเป็นคำเดียวกัน แต่คำว่า "JAVA" และ "CAFE" สามารถแยกออกจากกันได้และสามารถแปลความหมายตามพจนานุกรมได้ คำว่า "JAVA" เรียกขานว่า "จาวา" หมายถึง ชื่อเกาะในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งประชาชนโดยทั่วไปรู้จักดีว่าหมายถึงเกาะชวาในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2535) เรื่อง การกำหนดชื่อทางภูมิศาสตร์ตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้ชื่อเมืองท่า จังหวัด อำเภอ ตำบล มณฑล เกาะ ภูเขา แม่น้ำ ทะเล หรือทะเลสาปที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ ดังนั้น คำว่า "JAVA" หรือ "จาวา" จึงเป็นคำที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะส่วน คำว่า "CAFE" เรียกขานว่า คาเฟ่ ความหมายตามพจนานุกรม หมายถึง กาแฟ หรือภัตตาคารขนาดเล็ก จึงถือเป็นคำสามัญไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เช่นเดียวกัน เมื่อนำคำ 2 คำ ดังกล่าวมาเขียนติดกันเป็น "JAVACAFE" สำเนียงเรียกขานก็จะเป็น จาวาคาเฟ่ จะเห็นได้ว่าทั้งตัวอักษรโรมันและสำเนียงเรียกขานยังคงเดิม และแม้จะแปลไม่ได้ แต่ก็สามารถสื่อความหมายให้คนทั่วไปได้ เข้าใจว่าหมายถึงกาแฟที่มีแหล่งกำเนิดมาจากเกาะชวาในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
การที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งมีเพียงอักษรโรมันคำว่า "JAVACAFE" เป็นส่วน สาระสำคัญแต่เพียงอย่างเดียวเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 30 รายการสินค้า กาแฟ เมล็ดต้นโกโก้ ธัญพืชที่สีแล้ว ธัญพืชที่ยังไม่ได้สี ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกาแฟ และครีมที่ไม่มีส่วนผสมของนม จึงเห็นได้ชัดว่าตัวอักษรโรมันที่สะกดเป็นคำทั้งหมดไม่ว่าจะออกสำเนียงแยกเป็นคำหรือรวมกันเสียงเรียกขานก็ไม่แตกต่างกัน และสื่อความหมายให้ ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่เล็งถึงลักษณะและแหล่งกำเนิดของสินค้านั้นโดยตรง จึงเป็น เครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งนายทะเบียน เครื่องหมายการค้าไม่อาจรับจดทะเบียนให้ได้ เพราะไม่เข้าลักษณะเป็นเครื่องหมายการค้าที่มี ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 6 (1)
แม้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 4 จะบัญญัติว่า "ท่านว่าสิ่งอันกล่าวต่อไปนี้เป็น สาระสำคัญต้องมีสิ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อยอยู่ในเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ (4) คำเดียวหรือหลายคำอัน ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติแห่งสินค้าโดยตรงและตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาไม่เป็นชื่อในภูมิศาสตร์หรือนามสกุล" ก็ตาม แต่เครื่องหมายการค้าที่มิได้มีแต่คำอันเป็นชื่อในภูมิศาสตร์ หรือคำซึ่งเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติแห่งสินค้าโดยตรงเท่านั้นแต่ยังมีคำอื่นที่มีลักษณะบ่งเฉพาะประกอบอยู่ด้วย จึงอาจได้รับการ จดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่งเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจดทะเบียน
หลักฐานการจดทะเบียน เครื่องหมายการค้าคำว่า "JAVACAFE" ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย- ประชาชนลาว ก็มิใช่หลักฐานแสดงการจดทะเบียนแพร่หลายหรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "JAVACAFE" ในประเทศไทยแล้วอันจะถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีลักษณะบ่งเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 สำหรับในกรณีที่เครื่องหมายการค้าคำว่า "JAVACAFE" ของโจทก์ได้รับการจดทะเบียนมาแล้วในหลายประเทศก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศที่จะวางหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร และความเห็นนายทะเบียนในประเทศนั้น ๆ ไม่อาจนำมาเป็นเหตุผลให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยไม่ต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ได้ เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 วรรคสอง (2) และวรรคท้ายแห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 นายทะเบียนจึงไม่อาจรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 (1) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ เครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมาย การค้าคำว่า "JAVACAFE" ของโจทก์จึงเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัย ที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า 'JAVACAFE' ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมาย, คำสั่งไม่อนุมัติถูกต้อง
แม้พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุดก็ตาม แต่หากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวได้ ดังนั้น เมื่อคำสั่งและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "JAVACAFE" เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าวได้
คำว่า "JAVA" หรือ "จาวา" ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ส่วนคำว่า"CAFE" เรียกขานว่า คาเฟ่ ความหมายตามพจนานุกรมหมายถึง กาแฟหรือภัตตคารขนาดเล็ก จึงถือเป็นคำสามัญไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะเช่นเดียวกัน ตัวอักษรโรมันที่สะกดเป็นคำทั้งหมดไม่ว่าจะออกสำเนียงแยกเป็นคำหรือรวมกันเสียงเรียกขานก็ไม่แตกต่างกัน และสื่อความหมายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่เล็งถึงลักษณะและแหล่งกำเนิดของสินค้านั้นโดยตรงจึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่อาจรับจดทะเบียนให้ได้
เครื่องหมายการค้าคำว่า "SINVINOJAVATEASTRAIGHT" มิได้มีแต่คำว่า "JAVA" อันเป็นชื่อในภูมิศาสตร์ หรือคำว่า "TEA" ซึ่งเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติแห่งสินค้าโดยตรงเท่านั้น แต่ยังมีคำอื่นที่มีลักษณะบ่งเฉพาะประกอบอยู่ด้วย จึงอาจได้รับการจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจดทะเบียน นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมิได้มีแต่เพียงคำว่า "JAVA" ซึ่งเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักและมีคำว่า "CAFE" ซึ่งเป็นคำอันได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้ากาแฟโดยตรงอย่างเครื่องหมายการค้าคำว่า"JAVACAFE" ของโจทก์ซึ่งไม่อาจรับจดทะเบียนได้เพราะไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 6(1) ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2)
หลักฐานการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "JAVACAFE"ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า มิใช่หลักฐานแสดงการจำหน่ายแพร่หลายหรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "JAVACAFE" ในประเทศไทยแล้ว อันจะถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีลักษณะบ่งเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 และการที่เครื่องหมายการค้าคำว่า "JAVACAFE" ของโจทก์ได้รับการจดทะเบียนมาแล้วในหลายประเทศก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศที่จะวางหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร และความเห็นของนายทะเบียนในประเทศนั้น ๆ ไม่อาจนำมาเป็นเหตุผลให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยไม่ต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5083/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อใช้ก่อนและสินค้าต่างจำพวก การใช้เครื่องหมายการค้าก่อนย่อมมีสิทธิ
จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 กับสินค้าแหนบรถยนต์นำออกจำหน่ายมาก่อนโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเวลากว่า 10 ปี และต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็ต่างใช้เครื่องหมายการค้าของตนกับสินค้าที่แตกต่างกันโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยโต้แย้งว่าการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียหายเพราะประชาชนสับสนหลงผิดว่าสินค้าและเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นของโจทก์มาก่อนแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ และไม่มีเหตุสมควรกำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดสิทธิในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8655/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปฏิเสธการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเนื่องจากความเหมือน/คล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว และการฟ้องเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า
++ เรื่อง เครื่องหมายการค้า ++
++ (ประชุมใหญ่)
++ มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. โอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้า พ.ศ. 2534 บัญญัติให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์ การดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนและการเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ.25374 อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลยเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวทั้งหมด ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องกรมจำเลยซึ่งมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า จึงถือได้ว่าเป็นการฟ้องนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นข้าราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญาตามคำสั่งแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้ว ประกอบกับอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นผู้แทนกรมจำเลยเป็นประธานกรรมการคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าด้วยตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 95 ย่อมถือได้ว่า การฟ้องกรมจำเลยก็เท่ากับเป็นการฟ้องอธิบดีซึ่งเป็นกรรมการผู้หนึ่งในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า จึงถือได้ว่าเป็นการฟ้องคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้ว ไม่จำต้องฟ้องกรรมการทุกคน
การที่นายทะเบียนพิจารณาออกคำสั่งว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบริษัท ส. ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว หาได้ตัดรูปแผนที่ออกเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายแล้วจึงพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของบริษัทดังกล่าวไม่ การปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นการปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งหมด ส่วนการที่นายทะเบียนสั่งให้โจทก์ยื่นคำร้องขอสละสิทธิในรูปแผนที่มีผลเพียงให้โจทก์ไม่อาจขอถือสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้รูปแผนที่นั้นเท่านั้น หาได้เป็นการให้โจทก์ต้องตัดรูปแผนที่ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ออกไม่ ซึ่งนายทะเบียนยังระบุแจ้งให้โจทก์ทราบถึงสิทธิของโจทก์ไว้ชัดเจนว่า หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของนายทะเบียนดังกล่าว โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง อันเป็นสิทธิที่โจทก์มีอยู่ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ต่อมาบริษัท ส. ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนอีกสองเครื่องหมายการค้าเพื่อให้ภาพรวมถึงเครื่องหมายการค้าของบริษัท ส. เหมือนหรือคล้ายกับภาพรวมเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. ที่จะโต้แย้งและพิสูจน์กันว่าผู้ใดมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่ากัน หาใช่เรื่องที่แสดงว่านายทะเบียนมีคำสั่งไปโดยไม่ชอบหรือมีเจตนาไม่สุจริตไม่ โจทก์ไม่อาจขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนดังกล่าวได้
การวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 96 (1) ประกอบมาตรา 16 และ 18 เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีเสียงเรียกขานเหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว โดยมิได้พิจารณาว่ารูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าทั้งสองเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่ ยังถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ใช้ดุลพินิจโดยมีเจตนาไม่สุจริตหรือโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เพราะเหตุผลในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่มีได้หลายประการ และเหตุผลที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยดังกล่าวก็เป็นเหตุผลหนึ่งในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เมื่อไม่ปรากฏจากทางนำสืบและพยานหลักฐานของโจทก์ว่าความเห็นของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในคำวินิจฉัยอุทธรณ์เกิดจากการใช้ดุลพินิจโดยมีเจตนาโดยไม่สุจริตหรือโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย หรือมีเจตนาจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้
เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนทั้งสามคำขอของโจทก์ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน โจทก์จึงอยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียน หากโจทก์เห็นว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวดีกว่าบริษัท ส. โจทก์ก็ต้องฟ้องบริษัทดังกล่าวขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าฯ เพราะผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์คือบริษัท ส. หาใช่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลยไม่ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยเพื่อขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบริษัท ส. ได้ ++

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5427/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้าจนสับสน และการละเมิดสิทธิเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว
เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยต่างเป็นเครื่องหมายการค้าซึ่งใช้คำในภาษาต่างประเทศเป็นสาระสำคัญเหมือนกัน คือ โจทก์ใช้คำอักษรโรมันว่า "BRUSEL" ส่วนจำเลยใช้คำว่า "BUSHEL" เห็นได้ว่ามีอักษรจำนวน 6 ตัวเท่ากัน ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่เหมือนกัน และเป็นอักษรตัวเดียวกันถึง 5 ตัว โดยเฉพาะอักษรตัวแรกที่สังเกตเห็นได้ก่อนก็ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร B และลงท้ายเป็นตัวอักษร L เหมือนกัน เมื่อพิจารณาประกอบกับการเรียกขานคำ เครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างออกเสียง 2 พยางค์ โดยของโจทก์อ่านออกเสียงว่า "บรุสเซล" ส่วนของจำเลยอ่านออกเสียงว่า "บูเชล" อักษรหลักในการออกเสียงใช้เสียง "บ" เหมือนกัน ใช้สระ "อู" หรือ "อุ" ซึ่งออกเสียงใกล้เคียงกัน พยางค์ที่สองก็ใช้สระ "เอ" เหมือนกัน แม้จะมีข้อแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยคือเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีการใช้ตัวอักษรประดิษฐ์รูปตัว S ที่ตัว S ของคำดังกล่าว เมื่อโจทก์และจำเลยต่างใช้เครื่องหมายการค้าของตนกับสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเช่นเดียวกันย่อมเป็นการยากที่สาธารณชนจะสังเกตเห็นข้อแตกต่างที่มีเพียงเล็กน้อยนั้นได้ชัดเจน อีกทั้งผู้ซื้อสินค้าอาจไม่มีโอกาสเห็นเครื่องหมายการค้าทั้งสองเปรียบเทียบกันและผู้ซื้อบางส่วนอาจไม่สันทัดในภาษาอังกฤษด้วย ดังนั้น เครื่องหมายการค้าทั้งสอง จึงคล้ายกันจนถึงขนาดที่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เมื่อโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้นกับสินค้าตามที่จดทะเบียนไว้ และจำเลยย่อมไม่มีสิทธินำเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แม้นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้จำเลย โจทก์ก็ยังมีสิทธิดีกว่าจำเลย ชอบที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ และการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่คล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวก็ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยได้
เมื่อเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยแล้ว การยื่นขอจดทะเบียนใหม่และการอื่นที่เกี่ยวข้องในภายหน้าเป็นกรณีเกี่ยวกับการกระทำที่ยังไม่เกิดขึ้นและการกระทำเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าอื่นนั้น ไม่แน่ว่าเครื่องหมายการค้าอื่นที่หากจำเลยจะใช้นั้นจะเหมือนหรือคล้ายของโจทก์หรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่หากเกิดขึ้นก็จะต้องว่ากล่าวกันใหม่ในภายหน้า การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาห้ามจำเลยใช้ ยื่นขอจดทะเบียนหรือเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าของจำเลย และเครื่องหมายการค้าอื่นที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ด้วยนั้น จึงไม่ชอบและเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้
of 7