คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 148

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,582 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9174/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีละเมิดจากการฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ คืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกิน
คดีแพ่งทั้งสองคดีในคดีก่อน จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 กับโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ให้ร่วมกันโอนที่ดินรวม 8 แปลง แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 กับโจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 8 แปลงดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 จึงต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 8 แปลงดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ โจทก์ร้องขอพิจารณาคดีใหม่ แต่ศาลยกคำร้อง คดีถึงที่สุดแล้ว คดีแพ่งทั้งสองคดีในคดีก่อนจึงมีประเด็นเพียงว่า จำเลยที่ 2 กับโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 8 แปลงดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 หรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันฟ้องเท็จและเบิกความเท็จในคดีแพ่งทั้งสองคดีในคดีก่อนอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คดีนี้รูปคดีจึงเป็นเรื่องละเมิดซึ่งมีประเด็นว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันฟ้องเท็จและเบิกความเท็จหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในภายหลังและศาลในคดีก่อนทั้งสองคดียังไม่ได้มีการวินิจฉัย ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งทั้งสองคดีดังกล่าว
อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์เป็นการโต้แย้งเรื่องอำนาจฟ้องมิได้ขอให้โจทก์ชนะคดี จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาเพียงชั้นละ 200 บาท ตามตาราง 1 ค่าธรรมเนียมศาล (2) ท้าย ป.วิ.พ. แต่โจทก์เสียมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เสียเกินมาให้โจทก์ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9129/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมโอนมรดกที่ดิน: ข้อจำกัดการโอน, การโอนทางมรดก, และสิทธิของบุคคลภายนอก
ในคดีก่อน โจทก์กับ ท. ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 นั้น ถือได้ว่าการที่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งฟ้องบุคคลภายนอกแทนทายาทคนอื่น ๆ ด้วย เพราะหากศาลพิพากษาให้เพิกถอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นทรัพย์ในกองมรดก ทายาททุกคนย่อมได้รับประโยชน์ แต่การที่โจทก์กับ ท. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 90,000 บาท แก่โจทก์กับ ท. และศาลพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว การกระทำของโจทก์ในฐานะทายาทซึ่งเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกใช้สิทธิขัดกับทายาทอื่นหรือเจ้าของรวมคนอื่น คำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าวคงผูกพันเฉพาะส่วนของโจทก์เท่านั้น หาได้ผูกพันทายาทอื่นหรือเจ้าของรวมคนอื่นไม่ เมื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีนี้อีก จึงเป็นคู่ความเดียวกันและมีประเด็นเดียวกัน คือ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 กับคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำเฉพาะส่วนของโจทก์ในฐานะส่วนตัวเท่านั้น แต่ในส่วนผู้จัดการมรดกหาได้เป็นฟ้องซ้ำด้วยไม่
ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายในสิบปีตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน มุ่งหมายที่จะควบคุมมิให้มีการเปลี่ยนแปลงจากผู้รับโฉนดที่ดินไปเป็นของบุคคลอื่นจนกว่าจะพ้นระยะเวลาห้ามโอน เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือเป็นการโอนในกรณีอื่นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ น. ตามคำสั่งศาล จดทะเบียนใส่ชื่อตนเองในฐานะผู้จัดการมรดกและโอนมาเป็นชื่อตนเองในฐานะทายาทในวันเดียวกันเช่นนี้ ถือเป็นการโอนทางมรดกซึ่งเข้าข้อยกเว้น จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนในฐานะทายาทเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน หลังจากพ้นระยะเวลาห้ามโอนแล้ว สัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 จึงไม่เป็นโมฆะ เมื่อจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเช่นเดียวกัน ถือได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกได้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9129/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมโอนมรดกที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอน และผลของการประนีประนอมยอมความที่มีผลผูกพันเฉพาะผู้ทำ
การที่โจทก์กับนาง ท. ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ในคดีก่อน นั้น ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งฟ้องบุคคลภายนอกแทนทายาทคนอื่นๆ ด้วย เพราะหากศาลพิพากษาให้เพิกถอนที่ดินกลับมาเป็นทรัพย์ในกองมรดก ทายาททุกคนย่อมได้รับประโยชน์ แต่การที่โจทก์กับนาง ท. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 90,000 บาท แก่โจทก์กับนาง ท. และศาลพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว การกระทำของโจทก์ในฐานะทายาทซึ่งเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกใช้สิทธิขัดกับทายาทอื่นหรือเจ้าของรวมคนอื่น คำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าวคงผูกพันเฉพาะส่วนของโจทก์เท่านั้น หาได้ผูกพันทายาทอื่นหรือเจ้าของรวมคนอื่นไม่ เมื่อโจทก์ใช้อำนาจผู้จัดการมรดกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีนี้อีก จึงเป็นคู่ความเดียวกันและมีประเด็นเดียวกัน คือ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 กับคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำเฉพาะส่วนของโจทก์ในฐานะส่วนตัวเท่านั้น แต่ในส่วนผู้จัดการมรดกหาได้เป็นฟ้องซ้ำด้วยไม่
ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายในสิบปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน มุ่งหมายที่จะควบคุมมิให้มีการเปลี่ยนแปลงจากผู้รับโฉนดที่ดินไปเป็นของบุคคลอื่นจนกว่าจะพ้นระยะเวลาห้ามโอน เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือเป็นการโอนในกรณีอื่นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนาง น. ตามคำสั่งศาลจดทะเบียนใส่ชื่อตนเองในฐานะผู้จัดการมรดกและโอนมาเป็นชื่อตนเองในฐานะทายาทในวันเดียวกันเช่นนี้ ถือเป็นการโอนทางมรดก ซึ่งเข้าข้อยกเว้น จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนในฐานะทายาทเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน หลังจากพ้นระยะเวลาห้ามโอนแล้ว สัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 จึงไม่เป็นโมฆะ เมื่อจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเช่นเดียวกัน ถือได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกได้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8454/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: คดีแพ่งและคดีอาญาต่างกัน แม้มีส่วนเชื่อมโยงจากเช็ค แต่เป็นหนี้คนละส่วน
บริษัท ท. สั่งซื้อสินค้ากระดาษจากโจทก์ โดยบริษัท ท. ออกเช็คสั่งจ่ายชำระหนี้ 1 ฉบับ และจำเลยในฐานะกรรมการของบริษัท ท. ออกเช็คสั่งจ่ายชำระหนี้อีก 4 ฉบับ เมื่อเช็คทั้ง 5 ฉบับ ถึงกำหนดเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ฟ้องบริษัท ท. เป็นจำเลยที่ 1 และจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 เป็นคดีก่อนให้รับผิดชำระหนี้ค่ากระดาษตามเช็ค 4 ฉบับ โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงกันได้ ศาลพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างเหตุว่าจำเลยในฐานะกรรมการบริษัท ท. ออกเช็คฉบับลงวันที่ 29 มีนาคม 2553 สั่งจ่ายชำระหนี้ค่ากระดาษแก่โจทก์ เมื่อเช็คฉบับดังกล่าวถึงกำหนดเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย พนักงานอัยการฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงดุสิต จำเลยให้การรับสารภาพ และทำบันทึกยอมรับว่าออกเช็คฉบับดังกล่าวชำระหนี้ค่ากระดาษแก่โจทก์จริง ขอผ่อนชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงในคดีอาญาภายหลังจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามบันทึกดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ดังนี้ ยอดหนี้ในคดีก่อนกับยอดหนี้ในคดีนี้จึงเป็นคนละจำนวนกัน การที่โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงในคดีอาญา เป็นคดีนี้จึงไม่ใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นข้อพิพาทที่อาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8440/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำต้องห้าม: ประเด็นสิทธิในที่ดินซ้ำกับคดีบังคับคดีก่อน ศาลฎีกายืนยกฟ้อง
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทในคดีนี้กับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งโจทก์ขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดีเอาแก่ จ. กับพวกตามคดีแพ่งของศาลชั้นต้นเป็นทรัพย์รายเดียวกัน โดยคดีดังกล่าวโจทก์คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องให้ จ. กับพวกรับผิดตามสัญญากู้ยืมและบังคับจำนอง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี แต่ จ. กับพวกไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์จำนองในคดีดังกล่าวออกขายทอดตลาด และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของ จ. กับพวกยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาล จำเลยในคดีนี้ได้ยื่นคำร้องในคดีดังกล่าวว่า จำเลยมิใช่บริวารของ จ. กับพวกและอ้างว่า จำเลยอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ก่อนโจทก์ รวมทั้งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ จ. ในอันที่จะบังคับให้ จ. ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่จำเลย จึงถือว่าจำเลยเป็นผู้มีอำนาจพิเศษ และมีคำสั่งให้ถอนการบังคับคดีแก่จำเลย โจทก์จึงต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ประกอบด้วยมาตรา 142 (1) โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำสั่ง คดีในชั้นบังคับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีดังกล่าวจึงถึงที่สุด จึงต้องฟังว่าจำเลยอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ก่อน การที่โจทก์มายื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท คดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับในคดีก่อนนั่นเอง ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ต้องห้ามไม่ให้รื้อร้องฟ้องกันอีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7309/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: ทายาทฟ้องแย่งทรัพย์มรดกเดิม ศาลถือเป็นฟ้องซ้ำเมื่อมีคำพิพากษาผูกพันทายาทอื่นแล้ว
แม้โจทก์ทั้งสี่จะไม่ใช่คู่ความในคดีก่อน แต่มูลแห่งสิทธิอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้อง คือ สิทธิแห่งทายาทในการรับมรดกแทนที่บิดามารดาของตน เรียกร้องเอาที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเดียวกันของผู้ตายเช่นเดียวกับโจทก์ในคดีก่อน จึงเป็นกรณีทายาทมีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทในลำดับเดียวใช้สิทธิแห่งความเป็นทายาทของผู้ที่ตนเข้าแทนที่ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดก ถือว่าเป็นการฟ้องในนามทายาททุกคน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสามชนะคดี คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความรวมถึงทายาทที่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทนั้นเช่นเดียวกับคู่ความด้วย คำฟ้องโจทก์คดีนี้ย่อมเป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6518/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องล้มละลายซ้ำ: ศาลยกฟ้องเมื่อเหตุผลและหลักฐานเหมือนคดีก่อน
คดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 ของศาลล้มละลายกลางกับคดีนี้โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มาฟ้องจำเลยที่ 1 และคดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างเดียวกันว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ แม้เหตุในการพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 โจทก์กล่าวอ้างข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) แต่โจทก์ไม่นำสืบให้เห็นถึงพฤติการณ์อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นเหตุให้ศาลล้มละลายกลางรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวและพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนเหตุที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวในคดีนี้ โจทก์กล่าวอ้างข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) และ (9) แต่การที่โจทก์เพิ่งไปดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ เพื่อแสดงถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8 (5) นั้น เป็นเหตุเดียวกับที่โจทก์เคยกล่าวอ้างและนำสืบให้รับฟังไม่ได้ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 กรณีเป็นเพียงการแก้ไขข้อบกพร่องของโจทก์ในคดีก่อนด้วยการนำเสนอพยานหลักฐานของโจทก์ในคดีนี้เท่านั้น มิใช่เหตุที่เกิดขึ้นใหม่อันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ในสาระสำคัญ ส่วนที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ด้วยวิธีส่งไปรษณีย์และประกาศ หนังสือพิมพ์แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้เป็นการดำเนินการภายหลังจากในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง การกระทำของโจทก์ดังกล่าวก็เพื่อให้โจทก์สามารถกล่าวอ้างและนำสืบถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (9) ในคดีนี้ ทั้งที่โจทก์สามารถดำเนินการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันได้ตั้งแต่ก่อนฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 แต่โจทก์ก็มิได้ปฏิบัติ ดังนั้น เหตุที่โจทก์กล่าวอ้างและนำสืบดังกล่าวในคดีนี้จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ควรกระทำได้อยู่แล้วในคดีก่อนมิใช่เหตุที่เกิดขึ้นใหม่อันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 เช่นกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับเหตุในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 ของศาลล้มละลายกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: ประเด็นข้อพิพาทเคยถูกวินิจฉัยเด็ดขาดแล้วในคดีก่อนจากการประนีประนอมยอมความ
คดีก่อนจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยว่า โจทก์ผิดสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าที่ดินซึ่งเป็นสัญญาฉบับเดียวกับที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องจำเลยคดีนี้โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าโจทก์ชำระราคาค่างวดตามสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าที่ดิน 3 งวด แต่ละงวดชำระไม่ครบตามสัญญาและค้างชำระ 2,250,000 บาท โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ให้การต่อสู้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่า จำเลยเพิกเฉยไม่ส่งมอบที่ดินที่เหลืออีก 20 ไร่ ตามสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าที่ดินแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิยึดหน่วงไม่ชำระค่างวดที่เหลือ 780,000 บาท แก่จำเลย จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา สิทธิเรียกร้องตามข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ในคดีนี้จึงมิใช่หนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่หากเป็นเรื่องที่ต่างอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ทั้งในคดีก่อนนอกจากโจทก์จะให้การว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาแล้ว โจทก์ยังให้การเรื่องที่ดินที่เหลือตามสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าที่ดินอีก 20 ไร่ ว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิและจำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวน 732,000 บาท แก่โจทก์ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถหยิบยกขึ้นต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้องของจำเลยในคดีก่อนได้ เมื่อคดีก่อนโจทก์กับจำเลยประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยต่างไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ ต่อกันอีก และได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาตามยอมจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันในคดีนี้ การที่โจทก์นำข้ออ้างที่สามารถหยิบยกเป็นข้อต่อสู้แก้คำฟ้องของจำเลยในคดีก่อนมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงถือว่าคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันจึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: ประเด็นข้อพิพาทเคยถูกวินิจฉัยในคดีก่อนแล้ว แม้มีการเปลี่ยนคำฟ้องก็ถือเป็นการรื้อร้องคดีเดิม
คำฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 277/2551 ของศาลชั้นต้น จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยว่า โจทก์ผิดสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าที่ดินซึ่งเป็นสัญญาฉบับเดียวกับที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องจำเลยคดีนี้ โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าโจทก์ชำระราคาค่างวดตามสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าที่ดิน 3 งวด แต่ละงวดชำระไม่ครบตามสัญญาและค้างชำระ 2,250,000 บาท โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและให้โจทก์กับบริวารออกไปจากที่ดินแล้ว โจทก์ให้การต่อสู้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา คดีดังกล่าวจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระค่างวดให้ถูกต้องตามสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าที่ดินหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่า จำเลยเพิกเฉยไม่ส่งมอบที่ดินที่เหลืออีก 20 ไร่ ตามสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าที่ดินแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิยึดหน่วงไม่ชำระค่างวดที่เหลือ 780,000 บาท แก่จำเลย จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาดังนี้ สิทธิเรียกร้องตามข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์คดีนี้ จึงมิใช่หนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ หากแต่เป็นเรื่องที่ต่างอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาทั้งในคดีดังกล่าวนอกจากโจทก์จะให้การว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาแล้ว โจทก์ยังให้การเรื่องที่ดินที่เหลือตามสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าที่ดินอีก 20 ไร่ ว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิและจำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวน 832,000 บาท แก่โจทก์ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถหยิบยกขึ้นต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้องของจำเลยได้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 277/2551 เมื่อคดีแพ่งดังกล่าวโจทก์กับจำเลยประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแล้ว โดยโจทก์และจำเลยไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ ต่อกันอีกอันมีผลให้คดีดังกล่าวได้มีคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีโดยคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคดีถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาตามยอมจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันในคดีนี้ การที่โจทก์นำข้ออ้างที่สามารถหยิบยกเป็นข้อต่อสู้แก้คำฟ้องของจำเลยได้ในคดีหมายเลขแดงที่ 277/2551 มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงถือว่าคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3444/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ! คำร้องถอนผู้จัดการมรดกถูกตัดสิทธิ์แล้ว ยื่นซ้ำต้องห้ามตามกฎหมาย
คดีก่อนศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา ผู้คัดค้านมิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้ถูกตัดไม่ให้รับมรดก ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และไม่มีสิทธิขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องได้ ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิยกเอาเหตุข้อขัดข้องในการแบ่งทรัพย์มรดกมาเป็นมูลกล่าวอ้างว่าผู้ร้องไม่ทำตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกหรือกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้ว เมื่อผู้คัดค้านมิได้ฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงถึงที่สุด มีผลผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านจะโต้เถียงเป็นอย่างอื่นว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายอีกหาได้ไม่ การที่ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง โดยอ้างเหตุเป็นอย่างเดียวกันว่าผู้ร้องละเลยไม่ทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยไม่แบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้านและกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของผู้ตายอีก ย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คำร้องขอของผู้คัดค้านจึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
of 159