คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 148

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,582 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1930/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: คำร้องครอบครองปรปักษ์ที่ขัดแย้งกับคำพิพากษาตามยอมในคดีเดิม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2549 ผู้คัดค้านทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ได้ยื่นฟ้องผู้ร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12730 และ 12732 เป็นของผู้คัดค้านทั้งสามที่ได้รับมรดกมาจาก ก. ขอให้ผู้ร้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้คัดค้านทั้งสาม ต่อมาผู้คัดค้านทั้งสามและผู้ร้องตกลงกันได้โดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาตามยอมเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1627/2549 ระบุให้มีการรังวัดเนื้อที่ดินในโฉนดเลขที่ 12730 และ 12732 ให้ได้เนื้อที่ครบตามหน้าโฉนด หากปรากฏว่ามีที่ดินเหลือจากการรังวัดให้ถือว่าส่วนที่เหลือเป็นที่ดินของผู้ร้อง คดีถึงที่สุด ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการรังวัดที่ดินกับมีการปักหลักเขตเรียบร้อยแล้ว การที่ผู้ร้องมาร้องขอครอบครองปรปักษ์ เป็นคดีนี้ซึ่งเป็นที่ดินที่เดียวกับที่พิพาทและมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1627/2549 ของศาลจังหวัดขอนแก่น โดยที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามในคดีนี้กับโจทก์และจำเลยในคดีดังกล่าวเป็นคู่ความเดียวกัน ประเด็นที่ต้องพิจารณาในคดีนี้กับคดีดังกล่าวก็เป็นประเด็นเนื่องมาจากมูลฐานเดียวกัน จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คำร้องขอของผู้ร้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ซึ่งผู้ร้องในคดีนี้มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็มิได้วินิจฉัยประเด็นนี้ให้แก่ผู้ร้อง การที่ผู้ร้องกลับหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาฎีกาว่า ที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษาตามยอม หาได้เป็นการกระทบกระเทือนการครอบครองปรปักษ์ของผู้ร้องไม่ คำร้องขอของผู้ร้องไม่เป็นฟ้องซ้ำนั้น จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14839/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้บุริมสิทธิจำนอง: คำร้องรับชำระหนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ แม้เป็นคดีคู่ความเดิม
คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 หรือไม่ ส่วนคดีก่อนมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้กู้ยืมผู้ร้อง อันเป็นหนี้ประธานหรือไม่ ส่วนที่มีคำขอให้บังคับจำนองที่ดินพิพาทเป็นหนี้อุปกรณ์ ประเด็นข้อพิพาทตามคำร้องคดีนี้และตามคำพิพากษาในคดีก่อนจึงเป็นคนละประเด็นกัน แม้ทรัพย์จำนองจะเป็นแปลงเดียวกันและผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ในคดีนี้จะเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อนซึ่งพิพากษาให้บังคับจำนองที่ดินพิพาทมาด้วย ก็เป็นการรับรองสิทธิของผู้ร้องที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองในคดีเดิมเท่านั้น เมื่อประเด็นข้อพิพาทของคำร้องคดีนี้และตามคำพิพากษาในคดีก่อนเป็นคนละประเด็นกัน โดยผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองในคดีก่อนเจ้าหนี้รายอื่นได้ กรณีจึงหาเป็นเรื่องฟ้องซ้ำไม่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13723/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหลังหย่า ไม่เป็นฟ้องซ้ำ หากไม่ได้รวมในคดีเดิม และอำนาจปกครองบุตรควรพิจารณาจากความเหมาะสม
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องผิดสัญญาหย่า และแบ่งสินสมรส โดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน มิได้มีการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูแต่อย่างใด ทั้งการฟ้องเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูสามารถฟ้องคดีได้ต่างหากโดยไม่ต้องอ้างอิงการหย่าเนื่องจากบิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ไม่ว่าจะหย่ากันหรือไม่และบุตรผู้เยาว์จะอยู่ในอำนาจปกครองของฝ่ายใด ตามทะเบียนการหย่าก็ไม่ได้มีข้อตกลงเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูแต่อย่างใด คงมีแต่ข้อตกลงเรื่องให้บุตรอยู่ในความปกครองของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ในคดีนี้ จึงมิใช่เรื่องที่เคยว่ากันมาก่อนในคดีเดิมหรือเป็นข้อเรียกร้องที่มีขึ้นก่อนการฟ้องคดีเดิมซึ่งต้องฟ้องเรียกร้องในคดีเดิม ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12953/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำหรือไม่: คดีเช่าซื้อรถยนต์ ประเด็นต่างกัน แม้มีข้อเท็จจริงบางส่วนเชื่อมโยง
คดีก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยอ้างว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์เช่าซื้อเป็นจำเลยที่ 1 โจทก์ให้การว่า จำเลยที่ 1 ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า หลังทำสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อบางส่วน แล้วเสนอขอทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่ โดยโจทก์นำค่าเช่าซื้อบางส่วนไปชำระปิดบัญชีค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ยังค้างอยู่ ส่วนที่เหลือโจทก์สั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คระบุชื่อจำเลยที่ 1 และมีการนำฝากเข้าบัญชีของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่าไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อฉบับหลังกับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่าไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อฉบับหลังกับโจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ต้องคืนเงินโจทก์ ประเด็นแห่งคดีนี้จึงมีว่า จำเลยที่ 1 รับเงินตามฟ้องไปจากโจทก์จริงหรือไม่และเป็นการรับไว้โดยมูลอันจะอ้างตามกฎหมายหรือไม่ อันเป็นคนละประเด็นกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 400/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: ประเด็นการครอบครองที่ดินไม่เหมือนกัน แม้ขอแบ่งแยกที่ดินในลักษณะเดียวกัน
ในคดีก่อน คำฟ้องของโจทก์ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ส. ซึ่งเป็นภริยาของบุตร ท. สัญญายกที่ดินพิพาทให้โจทก์ ส่วนฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นการยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แต่ต้นโดยได้รับการให้จาก ท. มารดาของโจทก์ ถึงแม้คำขอของโจทก์ในคดีก่อนและคดีนี้จะขอให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งเหมือนกันก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยในคดีก่อนกับประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในคดีนี้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนและไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21282/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: คดีแพ่งต้องไม่วินิจฉัยเฉพาะเรื่องอำนาจฟ้อง หากยังไม่ได้พิจารณาเนื้อหาข้อหา
ในคดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยเพียงว่า โจทก์ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องโดยศาลยังไม่ได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีตามประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดี จึงไม่ใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20953/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของกรรมการตรวจรับงานบกพร่อง, การหักกลบลบหนี้จากเงินบำเหน็จ, และอายุความของคดี
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรับผิดเฉพาะค่าเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในการตรวจรับมอบงานงวดที่ 1 ถึงที่ 4 ส่วนคดีที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิพากษาให้บริษัท พ. รับผิดต่อโจทก์ในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวแล้วหรือไม่ อย่างไร การที่ศาลแรงงานภาค 6 ให้นำค่าเสียหายที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิพากษาให้บริษัท พ. รับผิดต่อโจทก์มาหักกับค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดในคดีนี้จึงไม่ชอบ แต่การที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิพากษาให้บริษัท พ. รับผิดต่อโจทก์ เนื่องจากการก่อสร้างผิดแบบแปลนเป็นมูลกรณีสืบเนื่องมาจากจำเลยทั้งสามปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในการตรวจรับมอบงานเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ดังนั้นหากโจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากบริษัท พ. แล้วเพียงใดก็ย่อมทำให้ความรับผิดที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์ในคดีนี้ลดลงตามไปด้วย
คดีของศาลแรงงานกลางมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลย (โจทก์คดีนี้) มีสิทธิหักเงินที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ก่อให้เกิดความเสียหายเนื่องจากโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการตรวจรับงานจ้างบกพร่องจากเงินบำเหน็จที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์เมื่อโจทก์เกษียณอายุหรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยหักเงินบำเหน็จได้ แต่ค่าเสียหายที่จำเลยนำมาหักจากเงินบำเหน็จของโจทก์ซึ่งเป็นการหักกลบลบหนี้เป็นหนี้ที่จำเลยยังไม่ได้ฟ้องบริษัท พ. ให้รับผิดตามสัญญาจ้าง เป็นหนี้ที่ยังมีข้อโต้แย้งและจำนวนเงินยังไม่แน่นอน จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักเงินบำเหน็จของโจทก์ไว้ ศาลฎีกาพิพากษายืน คดีดังกล่าวศาลไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการก่อสร้างไม่ถูกแบบให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจากการก่อสร้างไม่ถูกแบบเนื่องจากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการตรวจรับงานจ้างบกพร่องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7174/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ไม่เป็นการยื่นซ้ำ หากครั้งหลังบรรยายเหตุผลครบถ้วนตามกฎหมาย
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในครั้งแรกมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่าหากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอไปแล้ว จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เป็นครั้งที่สองโดยบรรยายข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลโดยถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่ ป.วิ.พ. มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 จัตวา กำหนดไว้ จึงไม่เป็นการร้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 หรือ มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4013/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ แม้เหตุแห่งสิทธิจะเปลี่ยนแปลง
กรณีที่จะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือฟ้องซ้ำนั้น ต้องเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาหรือฟ้องอันเกี่ยวกับประเด็นข้อเดียวกันที่ศาลได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว หากประเด็นในเรื่องแรกที่ศาลได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดไปเป็นคนละเรื่องคนละกรณีกันกับประเด็นในเรื่องหลัง ก็ไม่ถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาหรือฟ้องคดีอันเกี่ยวเนื่องกับคดีหรือประเด็นที่ได้มีคำวินิจฉัยแล้ว
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องฉบับแรกมีว่า ผู้ร้องมีสิทธิเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ผู้สวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิมหรือไม่ ส่วนคำร้องฉบับที่สอง ผู้ร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนบรรษัทบริหารสินทรัพย์ ท. จึงเป็นการร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อบังคับคดีแก่จำเลยทั้งห้า ถือว่าการร้องขอเข้าสวมสิทธิของผู้ร้องในฉบับที่สองนี้เป็นการร้องขอเข้าสวมสิทธิโดยอาศัยเหตุที่มาคนละเหตุกัน ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องฉบับที่สองจึงอาศัยเหตุที่ต้องวินิจฉัยแตกต่างกับคำร้องฉบับแรก การยื่นคำร้องฉบับที่สองของผู้ร้องจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือฟ้องซ้ำกับคำร้องฉบับแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19938/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีฟ้องซ้อน: การฟ้องคดีเดิมซ้ำ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยผิดพลาด ศาลฎีกาแก้
ปรากฏตามคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสองว่า ผู้ร้องสอดทั้งสองต่างมีหน้าที่ร่วมกันและช่วยกันในการคุ้มครองดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ป่าช้าหัวนาหว้า ทรัพย์สินอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน มิให้ผู้ใดกีดกันเอาไปเป็นอาณาประโยชน์แต่เฉพาะตัว การดำเนินการตามหน้าที่ดังกล่าวของผู้ร้องสอดคนใดคนหนึ่งย่อมผูกพันผู้ร้องสอดอีกคนหนึ่งตามที่มีหน้าที่ร่วมกัน ผลแห่งคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2263/2548 หมายเลขแดงที่ 1288/2549 ของศาลชั้นต้น ที่แม้จะปรากฏว่าผู้ร้องสอดที่ 2 เพียงผู้เดียวเป็นโจทก์ฟ้องคดีก็ตาม แต่ย่อมมีผลผูกพันถึงผู้ร้องสอดที่ 1 ด้วยเช่นกัน
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6329 ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์และเรียกค่าเสียหาย จำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การ ก่อนศาลจังหวัดอุดรธานีมีคำพิพากษา ผู้ร้องสอดทั้งสองยื่นคำร้องขอว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องอีกต่อไป ศาลจังหวัดอุดรธานียกคำร้องขอของผู้ร้องสอดทั้งสอง ผู้ร้องสอดทั้งสองอุทธรณ์ ขณะที่คดีที่ผู้ร้องสอดทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ศาลจังหวัดอุดรธานีรับคำร้องขอของผู้ร้องสอดทั้งสองไว้พิจารณาอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2263/2548 ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินและขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 6329 ซึ่งเห็นได้ว่าคดีนี้ที่ผู้ร้องสอดทั้งสองร้องสอดเข้ามา และคดีที่ผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยดังกล่าวนั้น มีประเด็นพิพาทเป็นอย่างเดียวกันว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ จึงเป็นคดีเรื่องเดียวกัน การที่ผู้ร้องสอดที่ 2 ยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ตามมาตรา 57 (1) ถือได้ว่าผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยแล้ว แม้ศาลจังหวัดอุดรธานีจะสั่งยกคำร้องขอ แต่ผู้ร้องสอดที่ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์และคดียังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณา การที่ผู้ร้องสอดที่ 2 นำคดีเรื่องเดียวกันมายื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2263/2548 ของศาลชั้นต้นอีก จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคดีดังกล่าวของผู้ร้องสอดที่ 2 ไว้พิจารณาจึงเป็นการไม่ชอบ และส่งผลพลอยทำให้กระบวนพิจารณาที่ดำเนินต่อมาในภายหลังจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1288/2549 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามให้ยกฟ้องของผู้ร้องสอดที่ 2 และคดีถึงที่สุดไปแล้วนั้น พลอยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย เสมือนหนึ่งไม่เคยมีการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีดังกล่าวมาก่อนเลย ดังนั้น การดำเนินคดีนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวของผู้ร้องสอดที่ 2 อันจักต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมาตรา 148 แต่อย่างใด
of 159