คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 148

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,582 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9919/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับจำนองแม้หนี้ขาดอายุความ: สิทธิเจ้าหนี้จำนองยังคงมีอยู่ตามกฎหมาย แม้หนี้ประธานขาดอายุความแล้ว
คดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้วนั้น โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตายให้รับผิดในฐานะ ส. เป็นลูกหนี้ตามสัญญากู้เงินและจำนองที่ดินพิพาทในคดีนี้ไว้เป็นประกัน และคดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 โดยยังมิได้วินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิบังคับทรัพย์สินที่จำนองได้หรือไม่ เพราะแม้มูลหนี้ตามสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม แล้วก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็บัญญัติยกเว้นไว้มิให้ใช้บังคับแก่กรณีสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ตามมาตรา 193/27 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงหรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปีขึ้นไปไม่ได้ และตามมาตรา 745 ก็บัญญัติไว้ว่า ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปีไม่ได้ อันเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้มีการวินิจฉัย เมื่อโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. เพื่อชำระหนี้โจทก์จากทรัพย์สินที่จำนองได้ กรณีไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7458/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดก สินสมรส การครอบครองทรัพย์มรดก และอายุความมรดก
กรณีที่จะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คู่ความคดีหลังเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีแรกประการหนึ่ง คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแรกต้องถึงที่สุดก่อนฟ้องคดีหลังประการที่สอง ประเด็นข้อพิพาทในคดีแรกและคดีหลังเป็นอย่างเดียวกันทั้งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแรกแล้วประการที่สาม จะขาดหลักเกณฑ์ประการใดประการหนึ่งไม่ได้เลยแม้คู่ความคดีนี้จะเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ทั้งประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกัน และคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ถึงที่สุด โดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องเนื่องจากฟ้องตามคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ของศาลชั้นต้นเป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 1710/2539 ของศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทอันเป็นเนื้อหาแห่งคดีว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของ ย. หรือไม่ เพียงใดฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนหรือไม่นั้น ฟ้องโจทก์ทั้งสี่คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540
ก. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ย. โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ก. เมื่อ ก. ถึงแก่ความตายก่อน ย. โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1639 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นทายาทของ ย. ส่วนโจทก์ที่ 4 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นทายาทของ ย. เช่นกัน เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ย. ส. จึงเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาท มีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย มีผลให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของ ย. ไม่จำต้องฟ้องร้องภายในอายุความมรดก 1 ปี เพราะอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 และถือได้ว่า ส. ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทของ ย. ทุกคน แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ย. ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของ ย. ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลงที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของ ย. และยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นทุกคน และเมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาจาก ส. ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมดโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7458/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเพิกถอนการโอนมรดก: อายุความ, การจัดการมรดก, สิทธิในสินสมรส, และการแบ่งมรดก
กรณีที่จะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คู่ความคดีหลังเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความคดีแรก คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแรกต้องถึงที่สุดก่อนฟ้องคดีหลัง และประเด็นข้อพิพาทในคดีแรกและคดีหลังเป็นอย่างเดียวกันทั้งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแรกแล้ว ดังนั้นแม้คู่ความคดีนี้จะเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ทั้งประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกันและคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องเนื่องจากคดีหมายเลขที่ 1442/2540 ของศาลชั้นต้น เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 1710/2539 ของศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทอันเป็นเนื้อหาแห่งคดีว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนาย ย. หรือไม่ เพียงใด ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนหรือไม่ ดังนั้นฟ้องของโจทก์ทั้งสี่คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนาง น. ให้เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ย. นาง น. จึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย มีผลให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของนาย ย. ไม่จำต้องฟ้องร้องภายในอายุความมรดก 1 ปี เพราะอายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 และถือได้ว่านาง น. ในฐานะผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทของนาย ย. ทุกคน แม้ต่อมานาง น. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนาย ย. ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของนาย ย. ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และการจัดการมรดกที่ไม่ชอบนั้นย่อมทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลง ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนาย ย. และยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก เมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาง น. ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมด โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คดีของโจทก์ทั้งสี่จึงยังไม่ขาดอายุความมรดก
ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนาย ย. และนาง น. ได้มาเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2499 โดยนาย ย. และนาง น. อยู่กินกันฉันสามีภริยาและแต่งงานกันในขณะกฎหมายลักษณะผัวเมียใช้บังคับ (โดยมิได้จดทะเบียนสมรสในภายหลัง) จึงต้องแบ่งสินสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมียโดยนาย ย. ได้ส่วนแบ่ง 2 ใน 3 ส่วน ส่วนนาง น. ได้ 1 ใน 3 ส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6702/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำโดยไม่สุจริตถือเป็นการละเมิด ผู้ฟ้องต้องชดใช้ค่าเสียหายค่าทนายความ
ในคดีก่อนที่จำเลยทั้งสามฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดิน ขับไล่และเรียกค่าเสียหาย ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง แต่จำเลยทั้งสามกลับนำคดีมาฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน และแบ่งแยกโฉนดที่ดินในส่วนที่จำเลยทั้งสามอ้างว่าเป็นของตนอีก ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันและคดีถึงที่สุดไปแล้ว ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าจำเลยทั้งสามไม่มีสิทธินำประเด็นที่ถึงที่สุดดังกล่าวมาฟ้องโจทก์แล้ว การที่จำเลยทั้งสามยังมาฟ้องโจทก์ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันถึงที่สุดไปแล้วนั้นมาฟ้องโจทก์อีกอันเป็นการฟ้องซ้ำ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อสู้คดีปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนจากการกระทำอันไม่สุจริตของจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ และค่าว่าจ้างทนายความเข้าต่อสู้คดีกับจำเลยทั้งสามในเหตุที่จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปในการปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของโจทก์ไม่ให้เสียไป จึงเป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการที่จำเลยทั้งสามกระทำการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6086/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: คดีชายคาล้ำที่ดิน vs. ฟ้องขับไล่ทั้งแปลง ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์
คดีต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนคดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยปลูกสร้างบ้านโดยมีชายคาและเสาค้ำชายคาล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ซึ่งเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทนี้ จำเลยให้การตอนแรกมีใจความสรุปว่า ที่ดินของจำเลยทางด้านทิศตะวันตกไม่ได้ติดกับที่ดินของโจทก์แต่ติดถนนสาธารณะ และให้การต่อมาว่าโจทก์ได้ที่ดินดังกล่าวมาโดยไม่ชอบไม่ทราบว่าขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในที่ดินพิพาทได้อย่างไรเนื่องจากเป็นถนนสาธารณะ จำเลยสร้างบ้านซึ่งโจทก์อ้างว่ามีชายคารุกล้ำมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน สิทธิของจำเลยดีกว่าโจทก์ ขอให้ยกฟ้องจึงเท่ากับเป็นการอ้างว่าที่ดินตามฟ้องเป็นถนนสาธารณะ และจำเลยมีสิทธิในที่ดินในส่วนที่รุกล้ำดีกว่าโจทก์เท่านั้น มิได้หมายความว่าจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยไม่ใช่ของโจทก์ เมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลมีคำวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าชายคาบ้านดังกล่าวอยู่ในที่ดินตามฟ้องแต่อยู่ในที่ดินของจำเลยเองและพิพากษายกฟ้อง จึงไม่ได้เป็นการวินิจฉัยว่าที่ดินตาม น.ส.3 ก. ที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นของโจทก์หรือเป็นของจำเลย เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องขับไล่จำเลยและห้ามจำเลยคัดค้านการรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดินโดยอ้างว่าที่ดินตาม น.ส.3 ก. ดังกล่าวเป็นของโจทก์ทั้งแปลง จึงเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยในคดีก่อน ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4742/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำคดีล้มละลาย: เหตุอื่นที่ไม่ควรล้มละลายเปลี่ยนไปถือเป็นประเด็นใหม่
ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคาร ท. เจ้าหนี้เดิมหากมาฟ้องร้องลูกหนี้ในประเด็นที่เจ้าหนี้เดิมได้ฟ้องร้องและศาลได้วินิจฉัยถึงที่สุดไปแล้วโดยเหตุอย่างเดียวกัน ย่อมเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบกับ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ได้
คดีก่อนธนาคาร ท. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายศาลล้มละลายกลางเห็นว่าแม้จำเลยทั้งสองจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่จำเลยทั้งสองมีรายได้ประจำรวมกันเกินเดือนละ 100,000 บาท ย่อมสามารถชำระหนี้ได้ อีกทั้งหากเจ้าหนี้เดิมยินยอมลดหนี้จำนวนหนึ่งน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองจะสามารถผ่อนชำระหนี้ได้ในระยะเวลาอันสั้น สมควรให้จำเลยทั้งสองไปเจรจาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เดิม กรณีจึงมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย คดีถึงที่สุด แต่คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคาร ท. ฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายโดยกล่าวอ้างในอุทธรณ์ว่า ระยะเวลาผ่านพ้นไป 4 ปีเศษแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ได้เข้าทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่โจทก์ ทั้งไม่ชำระหนี้ใดๆ ให้แก่โจทก์เลย เช่นนี้ หากเป็นจริงดังที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ก็ถือว่าเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลายนั้นอาจจะเปลี่ยนไปในสาระสำคัญ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่ใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนอันจะเป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4619/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องล้มละลายไม่เป็นฟ้องซ้ำ หากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงและทรัพย์สินถูกยึดโดยเจ้าหนี้รายอื่น
โจทก์ฟ้องคดีหลังอ้างเหตุความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลยเนื่องจากจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้โจทก์ได้และจำเลยถูกเจ้าหนี้อื่นยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีซึ่งเป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ อันเป็นคนละเหตุกับคดีก่อนที่อ้างว่าโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง มีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน การที่โจทก์ฟ้องคดีหลังซึ่งเป็นคดีล้มละลายเช่นเดียวกับคดีก่อนจึงมิได้เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับเหตุในคดีก่อนซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4619/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องล้มละลายซ้ำ และการพิสูจน์ความสามารถในการชำระหนี้เพื่อล้มล้างข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว
คดีก่อนโจทก์เคยฟ้องให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายอ้างเหตุจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าจำเลยมีที่ดิน 1 แปลง มีราคามากกว่าหนี้ คดีถึงที่สุด ส่วนคดีนี้โจทก์นำหนี้เดียวกันมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายอีกโดยอ้างเหตุจำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี และที่ดินในคดีก่อนจำเลยได้โอนขายไปแล้ว จำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) แม้มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจะเป็นหนี้เดียวกันและคดีมีประเด็นเดียวกันว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ก็ตาม แต่เหตุที่อ้างว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นคนละเหตุกัน ทั้งเหตุในคดีนี้เป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4431/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: การซื้อสินค้าไม่ใช่การโอนสิทธิ ผู้ร้องไม่มีสิทธิสอดเข้าคดี
จำเลยที่ 1 จะเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้อง จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของเครื่องหมายการค้า เมื่อจำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้องไปแล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าในสินค้าที่ได้จำหน่ายไปได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้านั้นจากราคาสินค้าที่จำหน่ายไปเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้จำเลยที่ 1 ผู้ซื้อสินค้าซึ่งประกอบการค้าปกตินำสินค้านั้นออกจำหน่ายอีกต่อไปเท่านั้น การซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้องไปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่จำเลยที่ 1 ในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้อง การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าฟ้องจำเลยทั้งสามให้ระงับหรือเลิกใช้เครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย จึงไม่ใช่การก่อการรบกวนสิทธิของจำเลยทั้งสามผู้ซื้อในอันจะครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุขเพราะโจทก์มีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายอันผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 475 ที่จะเป็นเหตุให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ขายสามารถสอดเข้ามาในคดีเพื่อปฏิเสธการเรียกร้องของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 478 ได้
คดีก่อนผู้ร้องได้ฟ้องโจทก์โดยอ้างว่ามีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าโจทก์ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษายืนให้ยกฟ้องของผู้ร้องโดยวินิจฉัยในประเด็นเรื่องเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ว่าคดีของผู้ร้องขาดอายุความ ผู้ร้องซึ่งเป็นคู่ความเดียวกับโจทก์จะรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันไม่ได้ ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 148 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4431/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: การซื้อขายสินค้าไม่ทำให้เกิดสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้า, การรื้อฟ้องคดีซ้ำต้องห้าม
เครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งซึ่งกฎหมายรับรอง และคุ้มครองไว้โดยเฉพาะ ไม่มีรูปร่าง ทั้งไม่อาจยึดถือครอบครองได้อย่างทรัพย์สินทั่วไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้อง แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของเครื่องหมายการค้า เมื่อจำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้องไปแล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าในสินค้าที่ได้จำหน่ายไปได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้านั้นจากราคาสินค้าที่จำหน่ายไปเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้จำเลยที่ 1 ผู้ซื้อสินค้าซึ่งประกอบการค้าปกตินำสินค้านั้นออกจำหน่ายอีกต่อไปเท่านั้น การซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้องไปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่จำเลยที่ 1 ในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้อง การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปเพชรในกรอบสี่เหลี่ยมฟ้องจำเลยทั้งสามให้ระงับหรือเลิกใช้เครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยพร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย จึงไม่ใช่การก่อการรบกวนสิทธิของจำเลยทั้งสามผู้ซื้อในอันจะครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะโจทก์มีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขาย อันผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 475 ที่จะเป็นเหตุให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ขายสามารถสอดเข้ามาในคดีเพื่อปฏิเสธการเรียกร้องของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 478 ได้
ส่วนปัญหาว่าใครจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปเพชรดีกว่ากัน เป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ซึ่งมี พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 บัญญัติคุ้มครองเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว และปรากฏตามคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ว่า ผู้ร้องได้ฟ้องโจทก์โดยอ้างว่ามีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปเพชรดีกว่าโจทก์ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีของผู้ร้องขาดอายุความแล้วพิพากษายืนให้ยกฟ้องของผู้ร้อง ผู้ร้องซึ่งเป็นคู่ความเดียวกับโจทก์จะรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันไม่ได้ ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 148 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องสอดของผู้ร้องมานั้นชอบแล้ว
of 159