คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 74 ทวิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 45 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8649/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการริบทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้: ต้องมีของกลางถูกยึดและระบุในฟ้อง
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 ทวิ ไม่ใช่เป็นบทความผิด แต่เป็นเพียงบทที่ให้อำนาจแก่ศาลในการริบบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใดๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 11 มาตรา 48 มาตรา 54 หรือมาตรา 69 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 ทวิ ด้วย เป็นการไม่ชอบ
คดีนี้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเจ้าพนักงานยึดสิ่งใดเป็นของกลางอันพึงจะต้องริบตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวดังนั้น จึงไม่มีของกลางที่ศาลจะสั่งให้ริบเสีย แม้โจทก์จะมีคำขอตามมาตรา 74 ทวิ มาท้ายฟ้องด้วยก็ตาม ก็ไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องสั่งตามมาตรานี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14391/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบรถยนต์ที่ใช้ในการกระทำผิดป่าไม้ และความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ที่ไม่เข้าข่ายต้องมีใบอนุญาต
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 ทวิ บัญญัติว่า "บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา 11 มาตรา 48 มาตรา 54 หรือมาตรา 69 ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่" โจทก์บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสองพร้อมกับยึดของกลางต่าง ๆ รวมทั้งรถยนต์กระบะ อันเป็นเครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องใช้ เครื่องจักรกล และยานพาหนะที่จำเลยทั้งสองใช้และมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานทำไม้และแปรรูปไม้ บรรทุกไม้และอุปกรณ์เครื่องมือดังกล่าวเป็นของกลาง เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง และไม่ได้ขอนำพยานเข้าสืบในส่วนรถยนต์กระบะของกลางให้เชื่อได้ว่า รถยนต์กระบะของกลางเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยทั้งสองใช้เดินทางไปรับจ้างแปรรูปไม้และจอดอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ กรณีจึงต้องฟังว่ารถยนต์กระบะของกลางเป็นยานพาหนะซึ่งจำเลยทั้งสองใช้บรรทุกไม้ด้วย และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, มาตรา 48 รถยนต์กระบะของกลางจึงเป็นยานพาหนะซึ่งได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 อันเป็นทรัพย์สินที่ต้องริบตามมาตรา 74 ทวิ แห่งกฎหมายดังกล่าว
ความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 นั้น นอกจากโจทก์ไม่ได้อ้างกฎกระทรวงที่กำหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดนั้นมาในคำขอท้ายฟ้องแล้ว ยังปรากฏอีกด้วยว่ากฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้ "เลื่อยโซ่ยนต์" หมายความว่า (1) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่ผลิตและประกอบสำเร็จรูปเพื่อการใช้งานที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว อันเป็นการกำหนดไว้ว่าเฉพาะการมีเลื่อยโซ่ยนต์ที่มีลักษณะเช่นนี้เท่านั้นที่ต้องมีใบอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ ถ้าไม่มีใบอนุญาตจึงจะมีความผิดฐานดังกล่าว แต่ฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏว่าเลื่อยโซ่ยนต์ที่จำเลยทั้งสองมีไว้ในครอบครองมีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดไว้ ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และ (6) การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง ต้องพิพากษายกฟ้องความผิดฐานนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16300/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความความหมาย ‘เลื่อยโซ่ยนต์’ ตามกฎกระทรวง และความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครอง
พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3 ให้ความหมายของคำว่า "เลื่อยโซ่ยนต์" ไว้ว่า เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และให้หมายความรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง และกฎกระทรวงกำหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2551 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ กำหนดความหมายของคำว่า "เลื่อยโซ่ยนต์" ไว้ว่า
(1) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่ผลิตและประกอบสำเร็จรูปเพื่อการใช้งาน ที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว
(2) ส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือตาม (1) ดังต่อไปนี้
(ก) เครื่องจักรกลต้นกำลังที่มีการออกแบบตัวเครื่องและอุปกรณ์ประกอบตัวเครื่องให้มีลักษณะหรือสภาพเพื่อนำมาประกอบเป็นเครื่องมือตาม (1) โดยเฉพาะ ที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า
(ข) แผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เลื่อยโซ่ยนต์ของกลางเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้ หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล ชนิดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ขนาดกำลังแรงม้าไม่ชัดเจน แต่แผ่นบังคับโซ่มีขนาดความยาวเกิน 12 นิ้ว แม้โจทก์ไม่ได้กล่าวยืนยันมาว่าเลื่อยโซ่ยนต์ของกลางมีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า คงกล่าวแต่เพียงว่า แผ่นบังคับโซ่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว เท่านั้นก็ตาม แต่ก็ต้องด้วยความหมายของคำว่า เลื่อยโซ่ยนต์ ตามกฎกระทรวงที่กำหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2551 แล้ว เพราะใน (2) กำหนดความหมายเลื่อยโซ่ยนต์ ให้หมายถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือตาม (1) แห่งกฎกระทรวงดังกล่าวด้วย ซึ่งก็คือเครื่องจักรกลต้นกำลังหรือแผ่นบังคับโซ่ การที่โจทก์บรรยายฟ้องเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ของกลางข้างต้น จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ขอให้ริบของกลางตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 ทวิ ซึ่งศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษาให้ริบ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ นอกจากนี้ ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในวรรคสอง มาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7713/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบของกลางในคดีอาญา: ศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยแม้โจทก์มิอุทธรณ์ หากศาลชั้นต้นละเลยการวินิจฉัย
ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมีรายการต่าง ๆ ที่จะต้องมีในคำฟ้องอีกรวม 7 อนุมาตรา แต่มิได้มีเงื่อนไขเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะขอให้ศาลสั่งริบว่าจะต้องมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เมื่อโจทก์ได้บรรยายมาในคำฟ้องว่าเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พร้อมกับยึดเครื่องสูบน้ำเป็นของกลางและมีคำขอให้ริบเครื่องสูบน้ำดังกล่าวจึงเป็นการเพียงพอแล้ว ไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้องว่าเป็นของผู้ใดและใช้ในการกระทำความผิดอย่างไร
เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบเครื่องสูบน้ำของกลางแล้ว แต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยว่าจะริบเครื่องสูบน้ำของกลางหรือไม่ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และการริบทรัพย์สินแม้ ป.อ. มาตรา 18 จะบัญญัติว่าเป็นโทษสถานหนึ่ง แต่เป็นโทษที่มุ่งถึงตัวทรัพย์เป็นสำคัญต่างกับโทษสถานอื่นซึ่งแม้จำเลยจะไม่ได้กระทำความผิดหรือกระทำความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ ศาลก็มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินของกลางได้ จึงมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ย่อมมีอำนาจสั่งริบของกลางได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2291/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกอุทยานฯ การริบ/รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และการบังคับใช้กฎหมายอุทยานฯ
บ้านของกลางทั้ง 2 หลังที่จำเลยปลูกสร้างขึ้นในเขตอุทยานแห่งชาติมิใช่เครื่องมือ อาวุธ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะหรือเครื่องจักรกลใดๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดโดยตรง ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 74 ทวิ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 29 ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคห้า จึงไม่อาจริบได้
พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 22 มีเจตนารมณ์ให้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างโดยฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติฯ ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยรื้อถอนบ้านของกลางทั้ง 2 หลัง แต่เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบบ้านของกลางทั้ง 2 หลัง ศาลก็ย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนบ้านของกลางทั้ง 2 หลัง ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2197/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องในคดีอาญา: ป.วิ.อ. มาตรา 158 ใช้บังคับโดยเฉพาะ, ไม่อ้างอิง ป.วิ.พ. มาตรา 172
ในคดีอาญาเมื่อ ป.วิ.อ. มาตรา 158 ได้บัญญัติเรื่องคำบรรยายฟ้องไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงนำ ป.วิ.พ. มาตรา 172 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2944/2535 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองไม้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาตและการริบรถยนต์ที่ใช้ในการกระทำความผิด
จำเลยมีไม้ยางแปรรูป ปริมาตร 0.23 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้พ.ศ.2484 มาตรา 48 ที่เป็นความผิดตลอดเวลาที่จำเลยยังครอบครองไม้แปรรูปนั้นอยู่ จำเลยได้ใช้รถยนต์ของกลางเป็นพาหนะบรรทุกไม้ดังกล่าวนำไป รถยนต์ของกลางจึงเป็นยานพาหนะที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด จึงอยู่ในข่ายอันจะพึงริบตามมาตรา 74 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4029/2532 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบของกลางในความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต และความผิดฐานมีไม้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องมือเพื่อทำการเลื่อยไม้ให้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไปจากเดิม และเจ้าพนักงานยึดไม้ยางพารา แปรรูปจำนวน 50 แผ่น ปริมาตร 0.00399 ลูกบาศก์เมตรและเครื่องเลื่อยวงเดือนขนาด 3 แรงม้า 2 เครื่อง ขนาด 5 แรงม้า 1 เครื่อง และมอเตอร์ ไฟฟ้า 3 ลูก เป็นของกลาง เมื่อฟ้องของโจทก์ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานมีไม้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 48 ก็ไม่อาจถือได้ว่าไม้แปรรูปของกลางได้มาหรือมีไว้เนื่องจากการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ อันจะพึงริบได้ตามมาตรา 74 และด้วยเหตุนี้ การกระทำผิดของจำเลยจึงเป็นเพียงการไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้เท่านั้นไม้แปรรูปของกลางจึงไม่อาจริบได้ ทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ของกลางก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 74 ทวิ จึงริบเครื่องเลื่อยวงเดือนและมอเตอร์ ไฟฟ้าของกลางไม่ได้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2529

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำผิดป่าไม้ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ มาตรา 74 ทวิ ศาลไม่อาจใช้ดุลพินิจได้
จำเลยกระทำผิดฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปรวมปริมาตรเกินกว่า0.20ลูกบาศก์เมตรไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่ไม้ฯมาตรา48และใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะในการกระทำผิดรถยนต์ของกลางจึงเป็นทรัพย์ที่ต้องริบตามมาตรา74ทวิศาลไม่อาจใช้ดุลพินิจไม่ริบรถยนต์ของกลางได้.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3118/2528 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์ในความผิดป่าไม้: ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อจำกัดการริบตามกฎหมายป่าไม้ และการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33
รถยนต์ของกลางที่จำเลยใช้บรรทุกไม้ฟืนซึ่งเป็นของป่าหวงห้ามเกินปริมาณที่กฎหมายอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 29 ทวิ นั้น ศาลจะสั่งให้ริบตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 74 ทวิ ไม่ได้เพราะมาตรา 74 ทวิไม่มีบทบัญญัติให้ริบทรัพย์ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 29 ทวิ
แม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้จะมีบทบัญญัติเกี่ยวแก่การริบทรัพย์ไว้เป็นพิเศษแล้ว ศาลก็นำมาตรา 33 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับในการที่จะริบทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17
of 5