พบผลลัพธ์ทั้งหมด 741 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14477/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบอาวุธปืน: การบรรยายฟ้อง 'ไม่ปรากฏเครื่องหมายทะเบียน' ไม่ทำให้เป็นทรัพย์สินที่ต้องริบ หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นของผู้อื่นที่มีทะเบียน
คำว่า "ปรากฏ" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า สำแดงออกมาให้เห็น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับอาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองว่า เป็นอาวุธปืนที่ไม่ปรากฏเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ จึงมีความหมายว่า เป็นอาวุธปืนที่ไม่สำแดงออกมาให้เห็นถึงเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ กรณีจึงยังไม่เป็นการแน่นอนว่าอาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองนั้น เป็นอาวุธปืนที่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้หรือไม่ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นคุณแก่จำเลยว่า อาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น เป็นอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และความผิดดังกล่าวอยู่ที่การไม่ได้รับใบอนุญาต หาทำให้อาวุธปืนของกลางที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นอาวุธปืนผิดกฎหมายไปไม่ อาวุธปืนของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดอันจะพึงต้องริบ และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 ไม่อาจริบตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ ชอบที่จะต้องส่งคืนแก่เจ้าของ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14264/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่: ผอ.สำนักงานละเลยตรวจสอบเอกสารเบิกจ่าย ทำให้เกิดการทุจริต
โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย ตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานภาคกลาง เขต 6 มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงาน บริหารจัดการในสำนักงานให้เกิดความเรียบร้อย เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุดตามคำสั่งจำเลยที่ 176/2542 การที่โจทก์ไม่ตรวจสอบลายมือชื่อโจทก์ในใบสั่งจ่าย บันทึกอนุมัติค่าใช้จ่าย เอกสารประกอบการเบิกจ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะในส่วนที่โจทก์มาทำงานในวันหยุดว่าโจทก์มาทำงานในวันหยุดด้วยหรือไม่ และโจทก์ไม่ตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายให้รอบคอบ ทำให้เกิดความเสียหายจากการจ่ายเงินโดยไม่มีหลักฐานการเบิกจ่ายและปลอมแปลงหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงินและเบิกซ้ำ จนทำให้ ล. ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบการเงินและบัญชีภายใน สำนักงานภาคกลาง เขต 6 ทำการทุจริตปลอมลายมือชื่อโจทก์ พนักงานจำเลยและบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ย่อมเป็นการกระทำที่ปราศจากความระมัดระวังอย่างร้ายแรงซึ่งโจทก์จักต้องมีในฐานะผู้อำนวยการ หากโจทก์ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อของตน และตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารประกอบการเบิกจ่ายเงินอย่างละเอียดรอบคอบ โจทก์ต้องพบการกระทำที่มิชอบของ ล. ผู้ใต้บังคับบัญชา อันจะส่งผลให้ ล. ไม่สามารถทุจริตยักยอกเงินของจำเลยเป็นจำนวนมากถึง 921,464.50 บาทได้ พฤติการณ์ของโจทก์เช่นนี้จึงเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การที่จำเลยมีคำสั่งที่ 339/2546 ให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 40 ของค่าเสียหายเป็นเงิน 368,585.58 บาท ตามความเห็นของกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางอันเป็นไปตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 ประกอบมาตรา 10 จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13963/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องคดีแรงงาน การปิดอากรแสตมป์หนังสือมอบอำนาจ และการรับผิดของจำเลยที่ 3 ตามหนังสือค้ำประกัน
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดทั้งตามสัญญาจ้างแรงงานและในมูลละเมิด ในกรณีเช่นนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองทาง แม้โจทก์จะทราบการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดอย่างช้าในวันที่ 25 มกราคม 2554 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 เกินกว่า 1 ปี อันทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดขาดอายุความดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาแรงงานยักยอกเงินไประหว่างวันที่ 5 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2553 เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้น 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์มอบอำนาจให้ ส. บ. และ จ. คนใดคนหนึ่งมีอำนาจกระทำการต่างๆ แทนโจทก์ไว้ 6 ข้อ จึงเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคนกระทำกิจการแยกกันได้ค่าอากรแสตมป์จึงต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจคนละ 30 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7 (ค) ท้าย ป.รัษฎากร ดังนั้นหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ต้องปิดอากรแสตมป์ 90 บาท แต่การปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 113 และมาตรา 114 เพียงให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินอากรจนครบพร้อมเงินเพิ่มอากรเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าในชั้นสืบพยานโจทก์ โจทก์ได้ปิดอากรแสตมป์เพิ่มเติมอีก 60 บาท จากที่ปิดอากรแสตมป์ไว้เดิมเพียง 30 บาท พร้อมขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้ว แม้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เสียเงินเพิ่มอากร ศาลก็รับฟังหนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีเป็นพยานหลักฐานได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์มอบอำนาจให้ ส. บ. และ จ. คนใดคนหนึ่งมีอำนาจกระทำการต่างๆ แทนโจทก์ไว้ 6 ข้อ จึงเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคนกระทำกิจการแยกกันได้ค่าอากรแสตมป์จึงต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจคนละ 30 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7 (ค) ท้าย ป.รัษฎากร ดังนั้นหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ต้องปิดอากรแสตมป์ 90 บาท แต่การปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 113 และมาตรา 114 เพียงให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินอากรจนครบพร้อมเงินเพิ่มอากรเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าในชั้นสืบพยานโจทก์ โจทก์ได้ปิดอากรแสตมป์เพิ่มเติมอีก 60 บาท จากที่ปิดอากรแสตมป์ไว้เดิมเพียง 30 บาท พร้อมขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้ว แม้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เสียเงินเพิ่มอากร ศาลก็รับฟังหนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีเป็นพยานหลักฐานได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13925/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การระงับข้อพิพาทแรงงานต้องเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายก่อนฟ้องคดี การฟ้องก่อนถึงขั้นตอนมีผลต่ออำนาจฟ้อง
การที่โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2551 ตกไปนับแต่วันที่ยื่นและคณะกรรมการลูกจ้างที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่งตั้งตามหนังสือฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2551 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น หากโจทก์เห็นว่าการแจ้งข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่เข้าร่วมการเจรจากับจำเลยที่ 1 และหากมีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น โจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็จะต้องดำเนินการระงับข้อพิพาทแรงงานนั้นเป็นลำดับขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดก่อน จะด่วนนำคดีมาสู่ศาลแรงงานไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อมิให้ขั้นตอนในการแจ้งข้อเรียกร้องเจรจาและไกล่เกลี่ยตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ต้องหยุดชะงักหรือถูกประวิงเวลาเพื่อไม่เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย และหากโจทก์เห็นว่าคณะกรรมการลูกจ้างที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่งตั้งไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ยอมรับการแต่งตั้งดังกล่าวแล้วปฏิบัติต่อลูกจ้างที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างนั้นไปอย่างเช่นลูกจ้างธรรมดา ในชั้นนี้โจทก์จึงยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสิบสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13666/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิจารณาคดีมโนสาเร่และการยื่นบัญชีระบุพยาน ศาลต้องบันทึกพยานหลักฐานเองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 193 ตรี
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 193 ตรี บัญญัติให้ศาลสอบถามคู่ความฝ่ายที่จะต้องนำพยานเข้าสืบว่า ประสงค์จะอ้างอิงพยานหลักฐานใดแล้วให้ศาลบันทึกไว้ ย่อมแสดงว่า ในการพิจารณาคดีมโนสาเร่ เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องบันทึกเกี่ยวกับพยานหลักฐานที่จะนำเข้าสืบได้เองไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา โดยคู่ความไม่จำต้องจัดทำบัญชีระบุพยานยื่นต่อศาลล่วงหน้าตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 88 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานฉบับที่สองของโจทก์ จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 193 ตรี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13572/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในการขนย้ายแร่ที่ประมูลได้จากการขายทอดตลาดของกลาง แม้เจ้าของที่ดินมิได้ยินยอม
การที่โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อแร่ของกลางที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้บนที่ดินของจำเลย จากการขายหรือจำหน่ายของอธิบดีโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหารตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาตรา 15 จัตวา (1) แต่จำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์เข้าไปขนแร่ของกลางออกจากที่ดินของจำเลย การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยมิให้ขัดขวางการขนย้ายแร่ของโจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13443/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลือกตั้งใหม่ เริ่มนับจากวันที่สั่งเพิกถอนผลการเลือกตั้ง
โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการจัดการเลือกตั้งใหม่ตามฟ้องได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 56 วรรคสอง แล้ว ดังนั้น อายุความในการฟ้องให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่โจทก์มีคำสั่งเพิกถอนผลการเลือกตั้งของจำเลยและให้ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ คือ วันที่ 17 มิถุนายน 2548 เมื่อนับถึงวันฟ้องแล้วยังไม่เกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13416/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อตกลงห้ามแข่งขันหลังเกษียณ: ศาลตีความเคร่งครัดตามสัญญา หากไม่ได้ห้ามชัดเจนถือไม่ผิดสัญญา
สัญญาจ้างมีใจความว่า หากอายุสัญญาสิ้นสุดแล้ว ห้ามจำเลยทำงานในตำแหน่งใด ๆ หรือช่วยเหลือบริษัทอื่นใดในประเทศไทยซึ่งเป็นคู่แข่ง (ผู้ผลิตตัวเรือนนาฬิกา) ของโจทก์ เป็นเวลา 2 ปี ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์โดยระบุจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจน มิได้เป็นการห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยอย่างเด็ดขาดและจำเลยก็สามารถที่จะประกอบอาชีพหรือทำงานในบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขายสินค้าหรือบริการอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากข้อตกลงนี้ได้ ขอบเขตพื้นที่ที่ห้ามก็เฉพาะประเทศไทย ลักษณะของข้อตกลงเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งหมด เพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ ไม่เป็นการปิดทางทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ
ข้อตกลงในการห้ามจำเลยทำงานหลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์เป็นข้อตกลงในการจำกัดสิทธิของจำเลย จึงต้องตีความในข้อตกลงดังกล่าวโดยเคร่งครัด เมื่อเงื่อนไขในข้อตกลงตามสัญญาจ้างที่ห้ามจำเลยเข้าทำงานหรือช่วยเหลือบริษัทอื่นใดซึ่งเป็นคู่แข่งของโจทก์กำหนดห้ามไว้เฉพาะบริษัทอื่นที่เป็นผู้ผลิตตัวเรือนนาฬิกาเท่านั้น การที่จำเลยลาออกจากการเป็นลูกจ้างโจทก์แล้วไปเข้าทำงานกับบริษัท ป. ซึ่งประกอบกิจการผลิตสายนาฬิกาส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ หาใช่เป็นบริษัทที่เป็นผู้ผลิตตัวเรือนดังที่ข้อสัญญาดังกล่าวกำหนดห้ามไว้ไม่ การเข้าทำงานของจำเลยกับบริษัท ป. จึงไม่เป็นการผิดสัญญา
ข้อตกลงในการห้ามจำเลยทำงานหลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์เป็นข้อตกลงในการจำกัดสิทธิของจำเลย จึงต้องตีความในข้อตกลงดังกล่าวโดยเคร่งครัด เมื่อเงื่อนไขในข้อตกลงตามสัญญาจ้างที่ห้ามจำเลยเข้าทำงานหรือช่วยเหลือบริษัทอื่นใดซึ่งเป็นคู่แข่งของโจทก์กำหนดห้ามไว้เฉพาะบริษัทอื่นที่เป็นผู้ผลิตตัวเรือนนาฬิกาเท่านั้น การที่จำเลยลาออกจากการเป็นลูกจ้างโจทก์แล้วไปเข้าทำงานกับบริษัท ป. ซึ่งประกอบกิจการผลิตสายนาฬิกาส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ หาใช่เป็นบริษัทที่เป็นผู้ผลิตตัวเรือนดังที่ข้อสัญญาดังกล่าวกำหนดห้ามไว้ไม่ การเข้าทำงานของจำเลยกับบริษัท ป. จึงไม่เป็นการผิดสัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13293/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลในการอนุญาตถอนฟ้อง, ดุลพินิจศาล, ฟ้องไม่สมบูรณ์, การต่อสู้คดี
โจทก์ขอถอนฟ้องคดีภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 5 ยื่นคำให้การแล้วซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 175 วรรคสอง บัญญัติว่า "...ศาลจะอนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ (1) ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาต โดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอด ถ้าหากมี ก่อน..." ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาสั่งได้ ดังนั้น แม้โจทก์ขอถอนฟ้องอ้างว่าฟ้องไม่สมบูรณ์ และจำเลยที่ 1 และที่ 5 จะคัดค้านการถอนฟ้องเหตุตามคำร้องโจทก์ดังกล่าว ก็อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งอนุญาตได้ และศาลไม่อาจนำข้อที่โจทก์อ้างตามคำร้องขอถอนฟ้องว่าฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์มาเป็นเงื่อนไขในการสั่งคำร้องขอถอนฟ้องด้วย เพราะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ก็ไม่ได้ห้ามโจทก์ที่ถอนฟ้องยื่นฟ้องคดีใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ดังนี้ การถอนฟ้องของโจทก์เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้าและทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ พ. เป็นคดีใหม่ จำเลยทั้งห้าก็ยังมีสิทธิต่อสู้คดีได้เต็มที่เช่นเดิม จึงฟังไม่ได้ว่าการถอนฟ้องคดีของโจทก์ไม่สุจริต ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 เสียเปรียบในการต่อสู้คดีตามจำเลยที่ 1 และที่ 5 คัดค้าน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13274/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำฟ้องอาญามาตรา 157 ต้องระบุเจตนาพิเศษทำให้เสียหาย หากขาดองค์ประกอบนี้ คำฟ้องไม่ชอบ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสองคอน มีหน้าที่แจ้งให้ผู้สอบราคาได้มาทำสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลสองคอน จำเลยได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยไม่แจ้งให้ผู้สอบราคาได้ไปทำสัญญาจ้าง แต่กลับสั่งยกเลิกประกาศสอบราคาโครงการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551 และไม่ทำเรื่องเบิกตัดปีเพื่อกันเงินไว้เพื่อจัดทำโครงการ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้สอบราคาได้ องค์การบริหารส่วนตำบลสองคอน และประชาชน คำฟ้องของโจทก์มุ่งหมายให้ลงโทษจำเลยฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ฉะนั้น ความสำคัญของความผิดย่อมอยู่ที่เจตนาในการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นองค์ประกอบของความผิดประการหนึ่งด้วยตาม ป.อ. มาตรา 157 เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นจำเลยกระทำด้วยเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบของความผิด ย่อมเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้อ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้วทำให้เห็นเจตนาพิเศษหรือพอเข้าใจได้ว่าเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้สอบราคาได้ ก็ไม่ทำให้คำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายได้