คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธีระพงศ์ จิระภาค

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 741 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14281/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการหักกลบลบหนี้ของสหกรณ์กับเงินค่าหุ้นสมาชิกหลังสมาชิกภาพสิ้นสุดตาม พ.ร.บ.สหกรณ์
แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือขออายัดเงินของจำเลยต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ในขณะจำเลยยังไม่ถึงแก่ความตาย สมาชิกภาพของจำเลยจึงยังไม่สิ้นสุด ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจกระทำได้ก็ตาม แต่ขณะอายัดเงินจำเลยยังไม่มีสิทธิได้รับเงินต่าง ๆ จากสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ จึงไม่ต้องส่งเงินให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ครั้นเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายทำให้เกิดสิทธิที่จำเลยจะได้รับเงินต่าง ๆ จากสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ แต่ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42 วรรคสอง บัญญัติให้อำนาจสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ใช้สิทธินำเงินค่าหุ้นของจำเลยที่มีอยู่ต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ มาหักกลบลบหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ได้ เมื่อหักกลบลบหนี้แล้วไม่มีเงินค่าหุ้นของจำเลยเหลืออยู่ สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ จึงไม่ต้องส่งเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่อายัดไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13812/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แม้ไม่มีความผิดทางอาญา แต่ประมาทเลินเล่อในการทำงาน
การกระทำที่ไม่เป็นความผิดในคดีอาญา แต่อาจจะเป็นการกระทำความผิดทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานได้ แม้คดีอาญาจะเป็นความผิดที่เกี่ยวกับแผ่นดินซึ่งอาจจะมีความสำคัญมากกว่าความผิดทางวินัย แต่การพิจารณาว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดต่อคดีอาญาหรือไม่ หรือเป็นความผิดทางวินัยหรือไม่ ย่อมมีองค์ประกอบและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาแตกต่างกันไป ไม่อาจนำข้อสรุปของการพิจารณาแต่ละกรณีมาใช้บังคับแก่กันได้ แม้คดีอาญาที่จำเลยแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์จะถึงที่สุดโดยพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องก็ตาม ก็ไม่อาจนำมาเป็นข้อยุติว่าโจทก์มิได้กระทำความผิดทางวินัยด้วยได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ใช้ความระมัดระวังไม่เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นพนักงานเก็บรักษาของอันเป็นการปฏิบัติงานโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง กรณีย่อมมีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13797/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ และข้อบังคับขององค์กร จำเลยไม่มีหน้าที่จ่ายหากไม่แก้ไขข้อบังคับ
การสงเคราะห์เมื่อออกจากงานตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 4.9 ข้อ 16 และข้อ 17 ระบุให้ผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน กรณีที่ผู้ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนถึงแก่ความตายให้จ่ายเงินสงเคราะห์ตกทอดแก่ทายาทโดยอนุโลมตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ดังนั้นเงินสงเคราะห์ตกทอดจะจ่ายเมื่อใดจึงขึ้นอยู่กับความตายของผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน และตัวผู้รับเป็นทายาทของผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน แต่บำเหน็จดำรงชีพตามพ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 มาตรา 3, 4 และ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 47/1, 49 วรรคสอง เป็นเงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับบำนาญเพื่อช่วยเหลือการดำรงชีพโดยจ่ายให้ครั้งเดียว เมื่อผู้รับบำนาญที่รับบำเหน็จดำรงชีพไปแล้วถึงแก่ความตาย การจ่ายบำเหน็จตกทอดแก่ทายาทให้หักเงินที่จะได้รับเท่ากับบำเหน็จดำรงชีพออกจากบำเหน็จตกทอดเสียก่อน บำเหน็จดำรงชีพจึงไม่ใช่บำเหน็จตกทอดตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติสำหรับกรณีผู้ได้รับบำนาญถึงแก่ความตายให้จ่ายบำเหน็จตกทอดให้ทายาทผู้มีสิทธิตามมาตรา 48 บำเหน็จดำรงชีพจึงแตกต่างจากบำเหน็จตกทอดทั้งตัวผู้รับคือบำเหน็จดำรงชีพจ่ายให้ตัวผู้รับบำนาญเอง แต่บำเหน็จตกทอดจ่ายให้ทายาทผู้มีสิทธิหลังจากผู้ได้รับบำนาญถึงแก่ความตายแล้ว และบำเหน็จดำรงชีพเป็นการเร่งระยะเวลาที่ต้องจ่ายเงินให้เร็วขึ้นจากที่ทยอยจ่ายตามอายุขัยของผู้ได้รับบำนาญมาเป็นการจ่ายตามคำขอของผู้รับบำนาญในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นเงินสงเคราะห์ตกทอดที่จำเลยจะต้องจ่ายตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 4.9 จึงมีหลักเกณฑ์การจ่ายโดยอนุโลมเช่นเดียวกับการจ่ายบำเหน็จตกทอด เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 4.9 ให้มีการจ่ายเงินในลักษณะเดียวกับการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 คือจ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในขณะที่ยังมีชีวิต จำเลยจึงไม่มีหน้าที่จ่ายบำเหน็จดำรงชีพให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13791-13792/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยไม่ได้รับความยินยอม: การลดอัตราเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
จำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างบังคับให้ลูกจ้างรวมถึงโจทก์ทั้งสองต้องเป็นสมาชิกกองทุนประกันและออมทรัพย์สถาบันเทคโนโลยี่แห่งเอเซีย โดยสมาชิกส่งเงินสมทบอัตราร้อยละ 5 ของเงินเดือนสมาชิก และจำเลยส่งเงินสมทบอัตราร้อยละ 10 ของเงินเดือนสมาชิก ต่อมาจำเลยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทิสโก้ร่วมทุน 2 ซึ่งจดทะเบียนแล้ว พนักงานส่วนใหญ่ของจำเลยโอนมาเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทิสโก้ร่วมทุน 2 ซึ่งจดทะเบียนแล้ว แต่โจทก์ทั้งสองไม่โอนไป เมื่อจำเลยไม่ได้บอกเลิกการส่งเงินสมทบตามกฎข้อบังคับของกองทุน กองทุนประกันและออมทรัพย์สถาบันเทคโนโลยี่แห่งเอเชียจึงคงดำเนินการอยู่ มิได้ยุบกองทุนไป จำเลยต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของกองทุนซึ่งรวมถึงการส่งเงินสมทบในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเดือนสมาชิก ต่อไป การที่จำเลยเปลี่ยนแปลงอัตราการส่งเงินสมทบจากอัตราร้อยละ 10 ของเงินเดือนสมาชิก เป็นอัตราร้อยละ 5 ของเงินเดือนสมาชิก อันเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างซึ่งไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยจึงต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสองก่อน เมื่อไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสอง จำเลยจึงเปลี่ยนแปลงการส่งเงินสมทบลดลงเป็นอัตราร้อยละ 5 ของเงินเดือนสมาชิก ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13730/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้, การคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี, และการหักเงินที่ชำระออกจากหนี้
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้อำนาจธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยส่วนต่างสูงสุดที่จะใช้บวกกับอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรืออัตรา เอ็ม.โอ.อาร์. เป็นอัตราสูงสุดที่จะเรียกจากลูกค้าทั่วไป หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้แตกต่างระหว่างลูกค้ารายย่อยชั้นดีกับลูกค้าทั่วไปด้วยวิธีบวกส่วนต่างเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่จะเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี แต่ทั้งนี้เมื่อรวมอัตราดอกเบี้ยทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่จะเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไป มิใช่ธนาคารพาณิชย์จะกำหนด "ส่วนต่างที่จะใช้บวก" ได้โดยไม่มีหลักเกณฑ์กำกับ
ดอกเบี้ยที่กำหนดในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเขียนเป็นตัวอักษรว่า คิดในอัตราร้อยละ เอ็ม.โอ.อาร์ บวก 1.25 ต่อปี แต่เขียนเป็นตัวเลขอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี แตกต่างกันเพราะอัตราดอกเบี้ย เอ็ม.โอ.อาร์ ตามประกาศโจทก์ในขณะนั้นเท่ากับอัตราร้อยละ 12 ต่อปี เมื่อคิดตามตัวอักษรจะต้องเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี เมื่อตัวอักษรกับตัวเลขไม่ตรงกันและมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ จึงต้องถือเอาอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นตัวอักษร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 12 และ 13
เมื่อต้องมีการคำนวณหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีกันใหม่โดยใช้ดอกเบี้ยตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนด จึงต้องนำเงินที่จำเลยนำเข้าชำระรวมทั้งสิ้น 7 ครั้งไปหักออกจากหนี้ที่ค้างชำระด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้พิพากษาให้หักเงินดังกล่าวออกไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13522/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยและการจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงาน โดยไม่ต้องรอการอุทธรณ์ภายในองค์กร
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง และขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างและเบี้ยเลี้ยงในระหว่างพักงานแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินโดยอาศัยสิทธิในทางแพ่ง อีกทั้งคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจในการนำคดีมาสู่ศาลของโจทก์หรืออำนาจในการออกคำสั่งของจำเลย คงโต้แย้งกันเฉพาะเนื้อหาของการกระทำความผิดของโจทก์ เนื่องด้วยกรณีของคดีนี้ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดบังคับให้โจทก์ต้องใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ตามข้อบังคับของจำเลยก่อนจึงจะนำคดีมาสู่ศาลได้ ขั้นตอนอุทธรณ์ตามข้อบังคับของจำเลยเป็นเพียงระเบียบบริหารงานภายในย่อมไม่อาจนำมาใช้เป็นเหตุตัดสิทธิในการนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล กรณีจึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคสอง โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยได้ แต่เมื่อศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีเกี่ยวกับมูลเหตุแห่งการกระทำความผิดที่ลงโทษโจทก์ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13302/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนข้าราชการตุลาการได้รับการคุ้มครองจากการบังคับคดี เนื่องจากมีลักษณะเช่นเดียวกับเงินเดือน
เงินประจำตำแหน่งและเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการถือได้ว่าเป็นรายได้อื่นลักษณะเดียวกันกับเงินเดือนของข้าราชการ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13209/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดอำนาจร้องขอเมื่อผู้ร้องพ้นสถานะและมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่เกี่ยวข้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอในนามของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการของนิติบุคคลอาคารชุด ท. อาคาร 1, 2, 3 มิใช่ฟ้องในฐานะทำการแทนนิติบุคคล ขณะยื่นคำร้องขอนั้นผู้ร้องยังอยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2544 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2547 เพื่อขอให้เพิกถอนการประชุม มติที่ประชุมและรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2546 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่ยกเลิกสัญญาจ้างผู้ร้อง ทั้งขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดในวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครด้วย อันถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง จึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอได้ แต่เมื่อขณะนี้ปรากฏว่า ผู้ร้องได้พ้นจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดตามวาระการดำรงตำแหน่ง และมิได้เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลอาคารชุดอีกต่อไปแล้ว ทั้งปรากฏว่ามีการแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดคนใหม่แทนผู้ร้องแล้ว ทั้งคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งที่ผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านทั้งสองกับพวกในฐานะคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมที่ให้ยกเลิกสัญญาจ้างผู้ร้องและให้ผู้ร้องพ้นจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดนั้น ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างผู้ร้องเป็นการกระทำโดยชอบแล้วซึ่งผู้ร้องมิได้อุทธรณ์ คำพิพากษาดังกล่าวจึงถึงที่สุดและผูกพันผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 จึงถือว่าปัจจุบันผู้ร้องไม่มีส่วนได้เสียโดยตรงในคดีนี้อีกต่อไป อำนาจร้องขอของผู้ร้องจึงหมดลง ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขออีกต่อไป ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามมาตรา 142 (5) ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13103/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องละเมิดสัญญาจ้างแรงงาน: การปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าของกรรมการสอบสวน
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 โจทก์มีคำสั่งที่ 388/2532 แต่งตั้งจำเลยเป็นประธานกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกรณีผลิตภัณฑ์นมของโจทก์สูญหาย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์ที่กำหนดให้ทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ประธานกรรมการสอบสวนรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ ถ้ายังสอบสวนไม่เสร็จต้องขออนุมัติขยายเวลาสอบสวนจากผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีกคราวละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องมิให้คดีขาดอายุความ และให้คณะกรรมการสอบสวนเสนอผลการสอบสวนต่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพร้อมเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นซึ่งต้องระบุด้วยว่าผู้ใดเป็นผู้รับผิดโดยตรงและผู้ใดร่วมรับผิด จำเลยสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอผู้อำนวยการของโจทก์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 อันเป็นเวลาหลังจากที่ได้รับแต่งตั้งถึง 4 ปีเศษ โดยไม่ปรากฏว่ามีการขอขยายระยะเวลาการสอบสวน และจำเลยไม่ได้ระบุว่าผู้ใดเป็นผู้ที่ต้องรับผิดโดยตรง ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามข้อบังคับของโจทก์ การที่ผู้อำนวยการของโจทก์ได้รับสำนวนสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากจำเลยย่อมเห็นเป็นประจักษ์ว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เนิ่นนานเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับซึ่งเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการสอบสวน จึงต้องถือว่าการทำผิดหน้าที่ของจำเลยเกิดขึ้นอย่างช้าในวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 อันเป็นเวลาที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ข้ออ้างของโจทก์ที่ให้จำเลยรับผิดมีมูลฐานมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะที่เป็นประธานกรรมการสอบสวน อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 พ้นระยะเวลา 10 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12896/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกันภัยรถยนต์: การแบ่งความคุ้มครองระหว่างประกันภัยภาคบังคับและภาคสมัครใจ
กรมธรรม์ประกันภัยของจำเลยระบุความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายหรืออนามัยไว้ว่า เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 250,000 บาท ต่อคน ซึ่งเท่ากับจำเลยจะต้องรับผิดก็เมื่อความเสียหายนั้นเกินกว่าวงเงินสูงสุดของความคุ้มครองในการประกันภัยภาคบังคับ โดยรับผิดในส่วนเกินนั้นไม่เกิน 250,000 บาท ต่อคน แต่หากความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เกินวงเงินสูงสุดของความคุ้มครองในการประกันภัยภาคบังคับ ย่อมไม่อยู่ในความรับผิดของจำเลย แต่เป็นเรื่องที่จะต้องเรียกร้องเอาจากผู้รับประกันภัยภาคบังคับ หรือเจ้าของรถ หรือผู้ทำละเมิด แล้วแต่กรณี เมื่อความเสียหายคดีนี้มีจำนวนเพียง 5,297 บาท ซึ่งอยู่ในวงเงินของความคุ้มครองในการประกันภัยภาคบังคับ จึงไม่อยู่ในความรับผิดของจำเลย ข้อตกลงของผู้เอาประกันภัยกับจำเลยเช่นว่านี้เป็นการกำหนดความคุ้มครองมิให้เกิดความซ้ำซ้อนกับการประกันภัยภาคบังคับ และเป็นการแบ่งความคุ้มครองออกเป็นคนละส่วน โดยมิได้ทำให้บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากการใช้รถต้องเสียสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายแต่ประการใด ทั้งแบบกรมธรรม์ประกันภัยก็เป็นไปตามที่กรมการประกันภัยกำหนดให้ใช้บังคับ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่ประการใด ส่วนโจทก์จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาเงินที่ได้จ่ายไปจากผู้ใดได้หรือไม่ เพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535
of 75