คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธีระพงศ์ จิระภาค

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 741 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12781/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงหนี้ เจ้าหนี้ต้องพิสูจน์ว่าการกระทำนั้นทำให้เสียเปรียบ
เมื่อพิจารณาทรัพย์สินต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์รวมกับโจทก์ และมีอยู่ก่อนอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ ทั้งมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทที่จำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยที่ 2 ประกอบกับรายได้ประจำของจำเลยที่ 1 ย่อมเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินฝากไปซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้กระทบกระเทือนถึงฐานะและความสามารถในการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด เช่นนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเพราะเป็นการกระทำที่ไม่ทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12442/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีหุ้น, การรับฟังพยานสำเนาต่างประเทศ, การเพิกถอนการแก้ไขรายชื่อผู้ถือหุ้น
จำเลยให้การรับว่าจำเลยดำเนินการเพิกถอนชื่อโจทก์กับพวกออกจากรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทแล้วใส่ชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทชุดเดิมกลับเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหม่อีกครั้งโดยไม่ปรากฏว่าเป็นการทำแทนบริษัท จึงเป็นการทำโดยพลการ โจทก์ไม่จำต้องฟ้องบริษัทเข้าเป็นจำเลยด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้โจทก์จะมิได้ระบุหนังสือแจ้งการแก้ไขการลงทุนเอกสารหมาย จ.15 ไว้ในบัญชีระบุพยาน แต่โจทก์ก็ได้นำเอกสารดังกล่าวมาประกอบการถามติงในการสืบตัวโจทก์อันเป็นการสืบพยานโจทก์ปากแรกซึ่งจำเลยและผู้ร้องสอดที่ 3 มีโอกาสอย่างเต็มที่ในการที่จะนำพยานมาสืบหักล้าง ประกอบกับจำเลยและผู้ร้องสอดที่ 3 ก็อ้างมาตลอดว่าหุ้นเป็นของจำเลยและผู้ร้องสอดที่ 3 มิใช่ของโจทก์และจำเลยไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัท ด. แต่อย่างใด เช่นนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจึงรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) ส่วนที่ว่าเอกสารหมาย จ.15 เป็นเพียงสำเนานั้น เห็นว่า เอกสารดังกล่าวได้มีการจัดทำในต่างประเทศทั้งต้นฉบับก็มิได้อยู่ในความครอบครองของโจทก์ พยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานสำคัญที่จะพิสูจน์ถึงผู้มีสิทธิในหุ้นของบริษัท ซ. กรณีจึงจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงนำสืบสำเนาเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (2) นอกจากนี้ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 โจทก์ก็ดำเนินการขอให้บริษัท ด. จัดทำหนังสือรับรองความมีอยู่จริงของสำเนาเอกสารหมาย จ.15 มาประกอบการพิจารณาของศาลด้วยแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับฟังเอกสารหมาย จ.15 มานั้น ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12387/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรื้อถอนบ้านของผู้อื่น แม้ไม่เสียหาย แต่ทำให้สิ้นสภาพการอยู่อาศัย ถือเป็นทำให้เสียทรัพย์ได้
แม้จำเลยที่ 1 สั่งให้รื้อถอนบ้านของโจทก์ร่วมด้วยความระมัดระวัง ไม่เป็นเหตุให้วัสดุที่รื้อถอนเสียหาย ทั้งนำไปเก็บรักษาไว้อย่างดีเพื่อให้โจทก์ร่วมนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้บ้านของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์สิ้นสภาพไม่เป็นที่อยู่อาศัยอีกต่อไป อันเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น การที่อำเภอบุณฑริกแต่งตั้งจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกำนันตำบลคอแลนเป็นประธานกรรมการกลางและประธานกรรมการปกครองเพื่อประกวดหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองนั้นไม่เป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 รื้อบ้านของโจทก์ร่วมโดยพลการได้ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์วัสดุที่รื้อถอนจากบ้านของโจทก์ร่วม โดยไม่ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วยเป็นเรื่องข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ถือว่าเป็นข้อแตกต่างกันในรายละเอียด มิใช่ข้อสาระสำคัญตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้
ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดอันยอมความได้ การที่โจทก์ร่วมทำหนังสือร้องทุกข์มีใจความสำคัญว่า โจทก์ร่วมขอร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวกที่ร่วมกันรื้อถอน ทำลายบ้านเรือน ทรัพย์สินและลักเอาทรัพย์สินของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต แม้ไม่มีข้อความระบุให้ชัดเจนว่าประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานใด ก็แปลเจตนาของโจทก์ร่วมได้ว่าประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 และ 121 วรรคสอง ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
จำเลยที่ 1 รื้อบ้านของโจทก์ร่วมซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมและไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยนานนับสิบปี แล้วสร้างศาลาที่พักสาธารณประโยชน์ขึ้นแทน เพื่อให้ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกันตามโครงการพัฒนาหมู่บ้าน แม้เป็นความผิดต่อกฎหมายที่ไม่ได้ขออนุญาตโจทก์ร่วมก่อน แต่พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงนัก จึงให้รอการกำหนดโทษตาม ป.อ. มาตรา 56

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11473/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำหน่ายยาเสพติด: ความรับผิดของผู้เกี่ยวข้องเมื่อไม่มีส่วนร่วมในการจำหน่ายโดยตรง
แม้ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับจะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วจึงนำไปจำหน่ายให้แก่สายลับ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นด้วย ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 192 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 215, 225
ความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายและเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11108/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาแจ้งความเท็จ และความรับผิดในละเมิดต่อชื่อเสียง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดโดยแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญาแก่พนักงานสอบสวนว่า โจทก์กับพวกร่วมกันปลอมเอกสารราชการหนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. และใช้เอกสารราชการปลอม อันเป็นความผิดและมีโทษตาม ป.อ. มาตรา 172 173 174 วรรคสอง และ 181 (1) ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งมีกำหนดอายุความทางอาญา 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งภายในกำหนด 10 ปี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ถอนคำร้องทุกข์คดีอาญา ถือว่าความผิดทางอาญาฐานแจ้งความเท็จยังไม่เกิดขึ้น จึงต้องใช้อายุความละเมิดทั่วไปในทางแพ่ง 1 ปี โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่รู้เหตุแห่งการทำละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ฟังไม่ขึ้น
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น นำข้อความอันเป็นเท็จแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหาปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม และจำเลยได้กล่าวหาต่อผู้บังคับบัญชาว่าโจทก์กระทำผิดวินัย โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณ มีผลกระทบถึงความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน โจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว แม้จำเลยจะถอนคำร้องทุกข์ และพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ ก็ไม่มีผลให้ความเสียหายของโจทก์ที่มีอยู่แล้วหมดสิ้นไปแต่อย่างใด จำเลยจึงคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10924/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพราง สัญญาเช่า และการปรับข้อกฎหมายตามเนื้อหาของสัญญา
นิติกรรมอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เป็นเรื่องคู่กรณีแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรม นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฏออกมาโดยไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับตามกฎหมาย ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งอำพรางปกปิดไว้โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่อำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้ ในเรื่องของนิติกรรมอำพรางจึงต้องมีสองนิติกรรม แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ โจทก์ตกลงทำนิติกรรมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงนิติกรรมเดียวคือสัญญาร่วมทุน จึงมิใช่เรื่องนิติกรรมอำพราง ส่วนการที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดตามสัญญาร่วมทุนแต่เนื้อหาของสัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องเช่าทรัพย์ เป็นเรื่องที่ศาลต้องปรับข้อกฎหมายให้เข้ากับเนื้อหาของสัญญา หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้ชื่อสัญญาจะไม่ตรงกับเนื้อหาที่แท้จริงของสัญญา ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ตามเนื้อหาของสัญญาได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีมิใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นแล้วมิได้วินิจฉัยฎีกาข้ออื่นต่อไป แต่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่ เช่นนี้ โจทก์ชอบที่จะเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์เป็นเงิน 200 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10879-10880/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขับไล่และการไม่เป็นฟ้องซ้อน กรณีจำเลยเป็นบริวารและบุคคลอื่น
จำเลยทั้งสองและบริวารอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์โดยไม่มีสิทธิ ย่อมเป็นการทำละเมิดโจทก์ด้วยกันทุกคน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารทั้งหมดให้ออกไปจากที่ดินได้ ไม่ว่าจะฟ้องรวมมาในคดีเดียวกันหรือแยกฟ้องเป็นรายบุคคล โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 สำนวนหลัง ซึ่งเป็นจำเลยคนละคนกับสำนวนแรกจึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
ประเด็นในคดีก่อนตามคำพิพากษาศาลฎีกามีว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ ส่วนคดีนี้ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองเป็นคำฟ้องเกี่ยวกับเรื่องละเมิด ซึ่งมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ประเด็นแห่งคดีจึงแตกต่างกัน ถือไม่ได้ว่าเป็นเรื่องเดียวกันไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10864/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กและการพรากผู้เยาว์เพื่ออนาจาร: การพิจารณาองค์ประกอบความผิดและขอบเขตการกระทำ
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โดยใช้นิ้วมือแหย่เข้าไปบริเวณรูทวารหนักและใช้อวัยวะเพศของจำเลยถูไถบริเวณอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อสนองความใคร่ แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยใช้นิ้วแหย่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ก็ตาม แต่การกระทำชำเราตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง บัญญัติให้หมายความถึงการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น ฉะนั้นการกระทำของจำเลยไม่ว่าจะกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้เสียหายที่ 1 ก็ตาม ก็เป็นการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว อีกทั้งจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่สำหรับความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารนั้น จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ออกจากบ้านบอลที่เล่นอยู่ไปที่บริเวณลูกกรงเหล็กที่กั้นสำหรับกันคนตก แล้วจึงใช้นิ้วแหย่อวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยเพียงเพื่อหาสถานที่ปลอดคนที่จะล่วงละเมิดทางเพศผู้เสียหายที่ 1 ได้โดยสะดวกและไม่มีใครรู้เห็นมากกว่าที่จะมีเจตนาพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปจากผู้ปกครอง และการกระทำของจำเลยก็ยังอยู่ในบริเวณสวนสนุกนั้นเอง ทั้งใช้เวลาไม่นาน การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9590/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทเรื่องสถานะลูกจ้าง/ตัวแทน: ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาจากสัญญาและพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยเจตนาที่แท้จริง
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยให้การว่าสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาตัวการตัวแทนขายประกัน ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จำเลยแถลงรับในรายงานกระบวนพิจารณาว่าโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทน สาระสำคัญของนิติสัมพันธ์จึงต้องพิจารณาทั้งจากข้อความที่แถลงด้วยวาจาและข้อสัญญาที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรประกอบกัน หากขัดแย้งกันต้องพิจารณาถึงเจตนาที่แท้จริงเป็นสำคัญ ตามรายงานกระบวนพิจารณาจำเลยว่าจ้างโจทก์โดยอาศัยสาระสำคัญของข้อตกลงตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทน ดังนั้นที่ศาลแรงงานภาค 4 พิจารณาข้อสัญญาตามสัญญาตั้งตัวแทนประกอบข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความของพยานจึงไม่ขัดแย้งกับรายงานกระบวนพิจารณาที่บันทึกไว้
เป็นอำนาจของศาลแรงงานที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงมาใช้พิจารณาพิพากษาคดีให้เกิดความเป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ที่ศาลแรงงานเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควรก็เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงและนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายโดยอาจนำ ป.วิ.พ. มาใช้โดยอนุโลม การนำ ป.วิ.พ. มาตรา 84 มาใช้โดยอนุโลมย่อมไม่เป็นการตัดอำนาจของศาลแรงงานที่จะใช้ดุลพินิจรับฟังพยานใดตามที่เห็นสมควรได้ ที่ศาลแรงงานภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงและพยานอื่นประกอบการวินิจฉัยประเด็นว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่จึงไม่เป็นการสืบพยานนอกประเด็นและไม่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9532/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องคดีประกันภัยค้ำจุนต้องระบุความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขับขี่ ผู้เอาประกันภัย และความรับผิดตามกฎหมาย
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายพร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาต แต่การที่จำเลยที่ 2 ได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน และศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา ถือได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ แล้ว
ประกันภัยค้ำจุนคือ สัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัยและผู้ทำละเมิดเกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันจะเป็นเหตุให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการบรรยายฟ้องเพื่อให้เห็นถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อโจทก์เท่านั้น โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องให้ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยไว้ไปทำละเมิดต่อโจทก์ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับผู้เอาประกันภัยอันเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้น และการบรรยายฟ้องถึงข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานี้ถือเป็นหลักเกณฑ์สำคัญ หาใช่เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะสามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยอย่างไร คำฟ้องโจทก์จึงมิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ
การระบุชื่อผู้ขับขี่ในกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ เป็นรูปแบบของกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งแต่ละแบบจะมีผลแตกต่างกันในเรื่องความเสี่ยงภัยของผู้รับประกันภัยและการได้รับความคุ้มครองในความเสียหายส่วนแรก อันเป็นผลถึงจำนวนเบี้ยประกันภัย ซึ่งเป็นทางเลือกของผู้เอาประกันภัยด้วย และแม้ว่ากรมธรรม์ประกันภัยจะเป็นชนิดไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่ ผู้รับประกันภัยก็จะต้องร่วมรับผิดเฉพาะกรณีผู้ขับขี่นั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องหรือได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยในทางใดทางหนึ่งเท่านั้น มิใช่ผู้ใดเป็นผู้ขับขี่ ผู้รับประกันภัยก็ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายทุกกรณีดังที่โจทก์อ้าง
of 75