คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธีระพงศ์ จิระภาค

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 741 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6925/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับระยะเวลาฟ้องคดีกรณีแจ้งคำวินิจฉัยทางไปรษณีย์ และการขยายระยะเวลาฟ้องคดีเนื่องจากคำพิพากษาเดิม
จำเลยส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ฉบับเดียวกันไปยังโจทก์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับโดยชอบ 2 ครั้ง ครั้งแรกส่งไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของโจทก์ มีผู้รับไว้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 ครั้งที่สองส่งไปยังสถานประกอบการของนายจ้างตามที่โจทก์แจ้งไว้ในคำอุทธรณ์ว่าเป็นสถานที่ติดต่อได้สะดวก มีผู้รับไว้เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 การนับเวลานำคดีไปสู่ศาลต้องตีความเป็นคุณแก่โจทก์ผู้ต้องเสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จึงให้เริ่มนับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ครั้งที่สอง
โจทก์ฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจำเลยพอแปลได้ว่า เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์นั่นเอง
โจทก์ฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจำเลยเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 ซึ่งอยู่ในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ (ครั้งที่สอง) ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยว่า สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่มีสภาพนิติบุคคลพิพากษายกฟ้องโดยไม่ให้ระยะเวลาโจทก์มาฟ้องคดีใหม่ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2553 อันเป็นกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เห็นสมควรขยายระยะเวลาการฟ้องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เพื่อให้โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6923/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาลแรงงาน: สถานที่ทำงานเป็นที่เกิดมูลคดี แม้มีสถานที่ทำงานหลายแห่ง
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานโดยมีสถานที่ทำงาน 2 แห่ง คือกรุงเทพมหานครและนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) จังหวัดระยอง จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านเกี่ยวกับสถานที่ทำงาน 2 แห่ง และศาลแรงงานภาค 2 ก็ดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยและโจทก์จนเสร็จ ทนายจำเลยเพิ่งแถลงคัดค้านเรื่องเขตอำนาจศาล ดังนั้น จังหวัดระยองที่โจทก์ทำงานอยู่ด้วยจึงเป็นสถานที่มูลคดีเกิดเช่นกัน ศาลแรงงานภาค 2 มีอำนาจรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6912/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล: คดีบุกรุกทางสาธารณประโยชน์เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ศาลจังหวัดมีอำนาจพิจารณา
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกและทำรั้วลวดหนามกับก่อสร้างอาคารห้องน้ำปิดกั้นทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งจำเลยอ้างว่าอยู่ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 19603 ของจำเลย โดยไม่ชอบ ขอให้บังคับห้ามจำเลยปิดกั้นทางสาธารณประโยชน์ ให้จำเลยรื้อถอนเสาคอนกรีต รั้วลวดหนามและอาคารห้องน้ำที่ปิดกั้นทางสาธารณประโยชน์ออกไป กับห้ามจำเลยเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าว เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัด แม้จำเลยให้การว่า ไม่มีทางสาธารณประโยชน์อยู่ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 19603 ของจำเลย ย่อมเท่ากับจำเลยต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทตามที่โจทก์ฟ้องว่าเป็นทางสาธารณประโยชน์เป็นที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท คดีจึงมิใช่เป็นกรณีที่จำเลยให้การต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ อันจะทำให้กลายเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท ส่วนที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 15,000 บาท นับแต่วันฟ้องนั้น ค่าเสียหายดังกล่าวถือเป็นค่าเสียหายในอนาคต ไม่อาจนำมาคำนวณเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทได้ คดีตามคำฟ้องจึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัด ศาลแขวงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงสุราษฎร์ธานีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6687/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งย้ายงานที่ไม่เป็นธรรมและการเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้สิทธิในการย้ายตำแหน่งหน้าที่การงานของลูกจ้าง จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างสามารถกระทำได้ตามความเหมาะสมเพราะเป็นอำนาจในการบริหารจัดการภายในองค์กรของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่การพิจารณาว่าคำสั่งย้ายงานดังกล่าวมีผลใช้บังคับเพียงใดคงต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำสั่งย้ายตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นกรณีไป เมื่อมูลเหตุในการออกคำสั่งเป็นคำสั่งที่บีบบังคับให้โจทก์ลาออกเพื่อจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินเกษียณอายุและไม่ต้องจ่ายค่าจ้างที่สูงเกินไปของโจทก์ซึ่งไม่คุ้มค่ากับกำลังการผลิตของจำเลยที่ 1 ที่ตกต่ำลง และการย้ายงานดังกล่าวไม่ก่อประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะโจทก์คงเหลือระยะเวลาทำงานอีกเพียง 2 เดือนเศษ ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก คำสั่งของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่โจทก์อย่างยิ่งแล้ว ยังมีมูลเหตุการออกคำสั่งโดยไม่สุจริตแก่ลูกจ้าง จึงมีลักษณะเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม ฉะนั้น การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรและจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6492/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแรงงาน: การเพิกถอนคำสั่งจ่ายค่าชดเชย และความรับผิดของหน่วยงานราชการ
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม โดยอ้างว่าคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายที่สั่งว่า ส. ไม่ได้กระทำผิดกรณีร้ายแรงตามมาตรา 119 และให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่ ส. ทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม ดังนี้ ฟ้องของโจทก์จึงมิใช่เป็นการฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ทำละเมิดต่อโจทก์ และการออกคำสั่งที่ 60/2553 ของจำเลยที่ 3 ได้กระทำไปโดยอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม หากโจทก์ไม่พอใจคำสั่งก็ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงโจทก์เพื่อส่งคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้แก่โจทก์ ก็เป็นการปฏิบัติราชการในส่วนงานสารบรรณของทางราชการเท่านั้น จำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกคำสั่งดังกล่าวแต่ประการใด เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ก็มิได้มีส่วนต้องร่วมรับผิด ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6270/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องซ้ำ: ศาลฎีกายืนคำพิพากษาศาลแรงงานกลางยกฟ้อง คดีซ้ำประเด็นสัญญาจ้างและละเมิดที่เคยวินิจฉัยแล้ว
เดิมโจทก์ฟ้องเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 6323/2548 ของศาลแรงงานกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ให้โจทก์คืนเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายให้แก่ลูกจ้าง (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่สามารถจัดหาบุคคลอื่นมารับมอบหน้าที่จากจำเลยที่ 1 ได้ ผู้บังคับบัญชาไม่เคยแจ้งให้จำเลยที่ 1 สะสางงานที่คั่งค้างหรือดำเนินการให้ค้นหาหรือชี้แจงเกี่ยวกับเอกสารที่อ้างว่าสูญหาย และไม่สามารถระบุได้ว่าเอกสารที่โจทก์อ้างว่าสูญหายนั้นคือเอกสารอะไร ลูกค้ารายใด จำนวนเงินเท่าใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามที่โจทก์อ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินประกันให้จำเลยที่ 1 คำพิพากษามีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายผู้ยื่นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11), 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่วันที่ศาลแรงงานกลางได้มีพิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรือให้งดเสียถ้าหากมี
คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ลาออกโดยมิได้สะสางและส่งมอบงานบัญชีที่อยู่ในความรับผิดชอบให้แก่ผู้จัดการฝ่ายบัญชีคนใหม่ ไม่ดูแลเอกสารของลูกหนี้ทำให้เอกสารสูญหายหลายรายการซึ่งเป็นเหตุอย่างเดียวกันกับที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 6323/2548 แม้คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดแต่โจทก์ก็ถูกผูกพันตามคำพิพากษานั้น จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 (ผู้ค้ำประกัน) จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6010/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับให้จำเลยออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้เพื่อจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด
โจทก์ซื้ออาคารชุดเชียงใหม่ทาวเวอร์จากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี เมื่อจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ย่อมต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุดจากจำเลยมาแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งหากไม่มีหนังสือรับรองการปลอดหนี้จากจำเลยมาแสดงโจทก์ย่อมไม่อาจที่จะดำเนินการเพื่อการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมาเป็นของโจทก์ได้ เช่นนี้การที่จำเลยจะต้องออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์ จึงถือเป็นการใด ๆ ซึ่งจำเลยต้องกระทำเพื่อให้มีผลที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิในการจดทะเบียนสิทธิในห้องชุด อันเป็นการทำนิติกรรมฝ่ายเดียวตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 แล้ว เมื่อจำเลยไม่ยอมออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้และโจทก์ได้ฟ้องขอให้ศาลสั่งบังคับให้จำเลยออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์ หากจำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการ จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยตามคำขอของโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5870/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้ในคดีล้มละลาย: การเลือกยื่นคำขอรับชำระหนี้จากลูกหนี้รายใด เป็นสิทธิของเจ้าหนี้ ไม่ถือเป็นการละเมิด
โจทก์เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ก. ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2544 ตามหนังสือแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บริษัท ก. เป็นลูกหนี้ของจำเลยโดยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 บริษัท ก. ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับค่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารโครงการ ค. ที่มีต่อบริษัท ค. ให้แก่จำเลยตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ซึ่งบริษัทดังกล่าวชำระเงินให้แก่จำเลยไม่ตรงตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง จำเลยจึงยื่นฟ้องบริษัท ค. ต่อศาลและเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัท ค. ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยตามสำเนาคำพิพากษา ต่อมาบริษัท ก. ถูกพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัท ก. ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในมูลหนี้ที่มีอยู่ตามสัญญากู้ยืมเงิน ขายลดตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด ทรัสต์รีซีท และจำนอง ตามสำเนาคำขอรับชำระหนี้และสัญญาจำนอง ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2546 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ค. เด็ดขาด ตามสำเนาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์แนวหน้าฉบับลงวันที่ 11 เมษายน 2546 และลงประกาศโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2546 ตามสำเนาประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สำเนาประกาศหนังสือพิมพ์และราชกิจจานุเบกษาซึ่งจำเลยไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ค. ปัญหาว่าการที่จำเลยไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินของบริษัท ค. เป็นการละเมิดต่อกองทรัพย์สินของบริษัท ก. จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องข้อ 2 ระบุว่าการโอนสิทธิเรียกร้องที่บริษัท ก. จำกัด มีต่อบริษัท ค. ให้แก่จำเลยเพื่อเป็นการประกันหนี้ต่าง ๆ ของบริษัท ก. ที่มีต่อจำเลย ซึ่งหากจำเลยได้รับชำระหนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องต่ำกว่าหนี้สิน บริษัท ก. ยังคงต้องรับผิดในส่วนที่ขาดต่อโจทก์ตามสัญญาข้อ 8 ทั้งยังต้องรับผิดในมูลหนี้เดิมตามสัญญาข้อ 9 ภาระหนี้ที่บริษัท ก. จะต้องรับผิดต่อจำเลยจึงเป็นไปตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งเกิดจากความสมัครใจของบริษัท ค. ที่จะตกลงผูกพันเช่นนั้น เมื่อทั้งบริษัท ค. และบริษัท ก. ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยในฐานะเจ้าหนี้ที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2493 มาตรา 91 จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทุกคน ส่วนจำเลยจะยื่นคำขอรับชำระหนี้คนใดไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้คนใดก็เป็นสิทธิของจำเลย และเมื่อไม่ปรากฏว่าการงดเว้นไม่ขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัทเป็นการงดเว้นการใช้สิทธิซึ่งมีความประสงค์ให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ก. การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นละเมิดต่อกองทรัพย์สินของบริษัท ก. จำเลยจึงไม่ต้องชดใช้รับผิดค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5649/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายยางธรรมชาติ: ลักษณะคำมั่นสัญญาฝ่ายเดียว มิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
ข้อความแห่งสัญญาซื้อขายเป็นข้อตกลงกำหนดล่วงหน้าว่า โจทก์และจำเลยตกลงซื้อขายยางธรรมชาติ จำนวนโดยประมาณ มิใช่เป็นการตกลงซื้อขายยางโดยมีจำนวนและราคาที่แน่นอนแล้ว และจำเลยต้องส่งมอบยางให้แก่โจทก์เมื่อใด อันจะก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ที่ทั้งสองฝ่ายพึงต้องปฏิบัติต่างตอบแทนกัน จำเลยยังจะต้องรอให้โจทก์มีคำสั่งซื้อและโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยเสียก่อน จำเลยจึงจะส่งยางให้แก่โจทก์ แสดงว่าข้อตกลงจะมีผลเป็นสัญญาซื้อขายก็ต่อเมื่อโจทก์บอกกล่าวความจำนงว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จไปยังจำเลยแล้ว จึงมีลักษณะเป็นเพียงคำมั่นที่จำเลยให้ไว้แก่โจทก์ก่อนที่จะมีการซื้อหรือขายว่า จำเลยจะขายยางให้แก่โจทก์ ซึ่งมีผลผูกพันจำเลยฝ่ายเดียวตาม ป.พ.พ. มาตรา 454 วรรคหนึ่ง มิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดหรือสัญญาจะขายหรือจะซื้อ
คำมั่นที่จำเลยให้ไว้แก่โจทก์มิได้มีกำหนดเวลา เมื่อจำเลยมิได้บอกกล่าวไปยังโจทก์ให้ตอบมาเป็นที่แน่นอนภายในกำหนดเวลาพอสมควรว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จตลอดไปหรือไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 454 วรรคสอง เสียก่อน จึงเป็นการบอกเลิกคำมั่นโดยมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5583/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ จากการซื้อขายหุ้นโดยอาศัยข้อมูลภายในและการให้ข้อมูลเท็จ
บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 239 และ 240 มีเจตนารมณ์เพื่อจะจัดระเบียบและกำกับดูแลตลาดทุน ตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อันเป็นมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม ความผิดทั้งสองฐานนี้จึงเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่จะดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด เอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเปิดบัญชีเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ไม่อาจเป็นโจทก์ร่วมได้ ก็ไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกา จึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วม
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ได้ค่าตอบแทนจากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายตามมูลค่าหลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาดอาวุโส มีหน้าที่ดูแลให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่ผู้ลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหน้าที่การตลาดจึงเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้ลงทุนและใกล้ชิดข้อมูลของหลักทรัพย์ ต้องติดต่อและให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ผู้ลงทุน คำปรึกษาและคำแนะนำดังกล่าวย่อมมีอิทธิพลต่อผู้ลงทุนที่จะตัดสินใจซื้อขายหรือไม่ซื้อขายหลักทรัพย์ใดในปริมาณเท่าใด ยิ่งผู้ลงทุนตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์มากย่อมทำให้มีมูลค่าการซื้อขายมาก ส่งผลให้จำเลยที่ 1 ได้ค่าตอบแทนมาก การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 จึงมีผลโดยตรงต่อกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงถือเป็นผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินกิจการของบริษัทหลักทรัพย์ตามบทบัญญัติมาตรา 239 การที่จำเลยที่ 2 พูดผ่านเครื่องขยายเสียงในสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 1 ว่า ให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 ซื้อหุ้นเอฟและหุ้นอาร์เนื่องจาก ส. จะมาไล่ราคาให้สูงขึ้น ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการสำนักงานบริการด้านหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ก็เดินไปเดินมาทักทายแนะนำลูกค้าให้ซื้อหุ้นทั้งสองตัวดังกล่าวในลักษณะสนับสนุนคำพูดของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดฐานแพร่ข่าวเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใดๆ อันอาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่า หลักทรัพย์ใดจะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง ตามมาตรา 239
การที่บุคคลใดจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 239, 296 จะต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นเป็นบริษัทหลักทรัพย์ หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินกิจการของบริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือผู้มีส่วนได้เสียในหลักทรัพย์ และบุคคลนั้นต้องแพร่ข่าวเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด ๆ อันอาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าหลักทรัพย์ใดจะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง และข้อเท็จจริงนั้นต้องมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้แจ้งไว้กับตลาดหลักทรัพย์แล้วด้วย ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของคำว่า "แพร่ข่าว" ไว้ หมายความว่า "กระจายข่าวออกไป" ซึ่งมีความหมายทำนองว่า เป็นการทำให้บุคคลโดยทั่วไปในวงกว้างที่ต่างๆ ได้ทราบข่าวนั้นในเวลาเดียวกัน การที่จำเลยที่ 2 พูดกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อหน้าจำเลยที่ 3 ที่สำนักงานสาขาของจำเลยที่ 1 ว่า วันนี้ให้ซื้อหุ้นเอฟและหุ้นอาร์ เนื่องจาก ส. จะมาไล่ราคาหุ้นทั้งสองตัวนี้ที่สำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 ราคาหุ้นก็จะสูงขึ้น แล้วให้เทขายหุ้นทั้งหมดในวันต่อมา โดยมีจำเลยที่ 3 พูดสนับสนุนให้ซื้อ ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวมิใช่เป็นการกระจายข่าวออกไป ซึ่งจะทำให้บุคคลโดยทั่วไปในวงกว้างที่ต่างๆ ได้ทราบข่าวในเวลาเดียวกัน อันเป็นความหมายของการแพร่ข่าวที่เป็นองค์ประกอบความผิดในมาตรา 239
การที่จำเลยที่ 2 แพร่ข่าวดังกล่าวอย่างเปิดเผยด้วยเครื่องขยายเสียง โดยมีเจตนาที่จะให้ลูกค้าทุกคนที่อยู่ในสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 1 และในงานเลี้ยงที่โรงแรมซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดในวันต่อมา ได้รับฟังการแพร่ข่าวอย่างชัดเจนทั่วถึง โดยมีกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ไปร่วมงานด้วย ถือว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำในนามของจำเลยที่ 1 เพราะการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำตามหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ทั้งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมตกได้แก่จำเลยที่ 1 โดยตรง คดีจึงฟังว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย
of 75