คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธีระพงศ์ จิระภาค

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 741 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8879/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ข้อเท็จจริงต้องห้ามในคดีแรงงาน: การโต้แย้งดุลพินิจศาลชั้นต้นเกี่ยวกับงานที่จำเลยมอบหมาย
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่างานของบริษัท ด. ที่จำเลยมอบหมายให้โจทก์ทำนั้นเป็นงานที่มิใช่เกี่ยวกับกิจการของจำเลย เพราะบริษัทดังกล่าวนี้มิใช่เป็นบริษัทในเครือของจำเลยหรือบริษัท ก. ก็ดี ข้อตกลงในการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยมิได้กำหนดให้โจทก์ต้องทำงานให้แก่บริษัท ด. แม้โจทก์ยอมรับในคำฟ้องว่าจำเลยมอบให้ปฏิบัติงานกับบริษัทดังกล่าวก็ตามก็ไม่เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่บังคับให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งการมอบหมายงานให้โจทก์ทำงานนอกเหนือจากงานที่เป็นกิจการของจำเลยเป็นการใช้สิทธิบังคับลูกจ้างนอกจากที่กฎหมายแรงงานบัญญัติไว้ จึงเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะก็ดี จำเลยปรับตำแหน่งและขึ้นค่าจ้างให้แก่โจทก์ภายหลังจากที่งานในส่วนของบริษัท ด. ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว จึงมิใช่เหตุผลที่จำเลยใช้ปรับค่าจ้างและเลื่อนตำแหน่งแก่โจทก์ก็ดี ล้วนแต่เป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังว่าการรับทำและดูแลงานด้านเอกสารและด้านบุคคลให้บริษัท ด. เป็นงานของจำเลยซึ่งมอบหมายให้โจทก์ดูแลงานดังกล่าวจนเป็นสาเหตุให้จำเลยปรับเลื่อนตำแหน่งและค่าจ้างแก่โจทก์ เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงดังที่โจทก์อุทธรณ์ให้แตกต่างไปจากที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8726/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี: ศาลฎีกาตัดสินว่าไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา ทำให้การอุทธรณ์ไม่ขาดอายุ
คำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ มีผลทำให้คดีเสร็จไปจากศาล การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี จึงไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8532/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หุ้นส่วนประกอบธุรกิจแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนจำกัด: ความรับผิดทางแพ่งและการสั่งให้หยุดประกอบกิจการ
ป.พ.พ. มาตรา 1066 บัญญัติห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วน ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ซึ่งการฝ่าฝืนค้าขายแข่งกับห้างหุ้นส่วนมีกฎหมายบัญญัติความรับผิดของผู้ฝ่าฝืนไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามมาตรา 1067 วรรคหนึ่งและวรรคสาม โดยวรรคหนึ่งบัญญัติให้ห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนนั้นชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรอันผู้นั้นหาได้ทั้งหมดหรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายซึ่งห้างหุ้นส่วนได้รับเพราะเหตุนั้น และวรรคสามบัญญัติไว้ความว่า การที่ห้างหุ้นส่วนเรียกเอาผลกำไรหรือค่าสินไหมทดแทนนั้นไม่ลบล้างสิทธิของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายในอันจะเรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วน ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติกรณีฝ่าฝืนนี้ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจบังคับผู้ฝ่าฝืนให้หยุดประกอบกิจการที่ฝ่าฝืนนั้น ซึ่งอาจเป็นเหตุให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตได้รับความเสียหาย จึงต้องยกคำขอของโจทก์ทั้งห้าที่ขอให้จำเลยทั้งสองหยุดประกอบกิจการในบริษัท ท. อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8509/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุผลทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นเหตุจำเป็นให้นายจ้างหยุดกิจการบางส่วนได้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ไม่ได้บัญญัติว่าเหตุสุดวิสัยที่เป็นเหตุให้นายจ้างต้องหยุดกิจการนั้นจะต้องเป็นเหตุรุนแรงถึงขนาดให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้โดยสิ้นเชิงเท่านั้น เพียงแต่บัญญัติว่าในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุสำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ นายจ้างอาจหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้การที่โจทก์หยุดกิจการชั่วคราวเฉพาะลูกจ้างในแผนกผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์ด้วยเหตุโรงงาน ผลิตชิ้นส่วนที่โจทก์ต้องสั่งซื้อเพื่อนำมาประกอบการผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์ประสบอุทกภัยน้ำท่วมจนไม่สามารถประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนนำส่งแก่โจทก์ได้ ซึ่งเป็นเหตุที่มีผลกระทบโดยตรงต่อวิกฤตทางเศรษฐกิจในกิจการของโจทก์ ถือว่าโจทก์มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8107/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนเงินทดแทน กรณีบาดเจ็บร้ายแรงและนายจ้างทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล
กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 กำหนดในข้อ 5 ว่าในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 4 สำหรับลูกจ้างรายใดไม่เพียงพอให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่รวมทั้งสิ้นต้องไม่เกินสามแสนบาท โดยให้คณะกรรมการการแพทย์พิจารณาและคณะกรรมการให้ความเห็นชอบ เมื่อคดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยขอให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์เป็นเงิน 474,219 บาท และสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 มีคำสั่งจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์เกินกว่า 45,000 บาท แต่ไม่เกิน 110,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ซึ่งต่อมามีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยมีคำสั่งให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ ไม่เกิน 110,000 บาท จึงถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยโดยคณะกรรมการการแพทย์และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพิจารณาและไม่ให้ความเห็นชอบในการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 4 (3) และข้อ 5 แล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 4 (3) และข้อ 5 หรือไม่ เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การประสบอันตรายของ ฉ. ลูกจ้างเป็นการประสบอันตรายตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 4 (3) โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล 300,000 บาท ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 5
เมื่อโจทก์ชำระเงินค่ารักษาพยาบาล ฉ. แทนจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินไป จึงเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดโดยไม่จำต้องทวงถาม จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 อันเป็นวันที่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินแก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงกำหนดให้ตามขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7990/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องละเมิด/ผิดสัญญาจ้างแรงงาน: กฎหมายพิเศษ (พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่) ไม่กระทบอายุความทั่วไป (ป.พ.พ.)
จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ระงับการจำหน่ายน้ำนมดิบให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. จึงไม่มีประเด็นแห่งคดีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หรือไม่ ทั้งไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดได้เอง จำเลยจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานภาค 1 วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว และแม้ศาลแรงงานภาค 1 จะวินิจฉัยให้ ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี ดังนั้น จำเลยอุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานภาค 1 ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
โจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างเดียว แต่โจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่าขณะจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานผลิตและจำหน่ายพันธุ์โคนมและรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานส่งเสริมกิจการโคนม มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารจัดการตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ และควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา จำเลยไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ซึ่งเป็นผู้ซื้อได้ จึงเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดทั้งมูลละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้คือวันที่จำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 และ 193/30
มาตรา 10 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะซึ่งขัดหรือแย้งกับมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป จึงมีผลยกเว้นมาตรา 448 วรรคหนึ่งเฉพาะในส่วนที่กำหนดให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดขาดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น แต่ไม่มีผลยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 448 วรรคหนึ่งในส่วนที่กำหนดว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายขาดอายุความเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด
จำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับของโจทก์ในช่วงเวลานับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2544 และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือว่ามูลเหตุผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดเกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งอายุความในมูลหนี้ผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดเริ่มนับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2544 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 25 ตุลาคม 2554 จึงเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7810/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรในการลงโทษทางวินัยพนักงาน ต้องเป็นไปตามข้อบังคับขององค์การ
พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ.2517 มาตรา 21 บัญญัติว่า "ผู้อำนวยการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย คือ (1) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือนและค่าจ้าง ตลอดจนลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและลูกจ้าง ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดไว้..." ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจผู้อำนวยการจำเลยเป็นผู้ลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและลูกจ้าง และการลงโทษทางวินัยต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดไว้ ซึ่งข้อบังคับของจำเลยเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัย คือ ข้อบังคับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ฉบับที่ 1 ว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง ประกาศ ณ วันที่ 16 มีนาคม 2544 ตามข้อบังคับดังกล่าวกำหนดเรื่องการสอบสวนและการลงโทษไว้ในหมวด 9 ตั้งแต่ข้อ 59 ถึงข้อ 70 โดยข้อ 62 กำหนดเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและการเสนอรายงานการสอบสวนและความเห็นพร้อมสำนวนการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยเร็วเท่านั้น ส่วนอำนาจในการสั่งลงโทษทางวินัยพนักงานหรือลูกจ้างโดยทั่วไปก็มิได้จำกัดอำนาจผู้อำนวยการจำเลยไว้ คงมีข้อบังคับข้อ 66 กำหนดว่าในกรณีที่ผู้อำนวยการจำเลยจะลงโทษทางวินัยพนักงานตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ที่ปรึกษา ผู้อำนวยการฝ่าย หรือตำแหน่งซึ่งเทียบเท่า ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน ผู้อำนวยการจำเลยจึงสั่งได้เท่านั้น อันแสดงว่าตามข้อบังคับให้อำนาจผู้อำนวยการใช้ดุลพินิจลงโทษทางวินัยพนักงานและลูกจ้างทั่วไปได้โดยลำพัง เว้นแต่กรณีเป็นพนักงานหรือลูกจ้างระดับสูงต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อนตามข้อ 66 เท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ใช่พนักงานที่ดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดในข้อ 66 และข้อบังคับไม่ได้กำหนดถึงกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเสนอรายงานและความเห็นต่อผู้อำนวยการแล้วต่อมาผู้อำนวยการได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพิ่มเติมและมีการเสนอรายงานการสอบสวนโดยมีความเห็นในครั้งแรกกับครั้งหลังไม่ตรงกันดังเช่นกรณีของโจทก์ว่าให้ผู้อำนวยการดำเนินการอย่างไร การที่ อ. รักษาการแทนผู้อำนวยการจำเลยในขณะนั้นพิจารณาสำนวนการสอบสวนทั้งหมดแล้วเห็นว่าโจทก์ทุจริตและฝ่าฝืนระเบียบโดยเจตนาเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้ลงโทษไล่ออกและลดโทษเป็นให้ออก โดยไม่ได้เสนอให้คณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรพิจารณาก่อนจึงชอบด้วย พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ.2517 มาตรา 21 และข้อบังคับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ฉบับที่ 1 ว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง ประกาศ ณ วันที่ 16 มีนาคม 2544

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7807/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: คดีส่วนแพ่งในคดีอาญา ไม่ถือเป็นการรื้อฟ้องเดิม หากศาลวินิจฉัยเฉพาะอำนาจฟ้อง มิได้ตัดสินเนื้อหา
ในคดีก่อนโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้เสียหายผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 5 (2) และ 44/1 ซึ่งถือเป็นคำฟ้องในคดีส่วนแพ่ง แต่ศาลพิพากษายกคำร้องโดยวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่พนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายมีส่วนกระทำความผิดขับรถโดยประมาทด้วย ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์เป็นมารดาผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ซึ่งเป็นการวินิจฉัยเรื่องอำนาจในการจัดการแทนผู้ตายของโจทก์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยศาลยังไม่ได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีตามประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีส่วนแพ่ง จำเลยที่ 2 ไม่ได้ถูกฟ้องในคดีก่อน จึงไม่ได้เป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อน การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ จึงไม่ใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7120/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การจ่ายค่าชดเชย และสิทธิในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
โจทก์เป็นวิศวกรมีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ได้จ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. ดำเนินการก่อสร้าง การที่โจทก์รับเงินจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. เนื่องจากห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวจ่ายเงินให้โจทก์เป็นค่าตอบแทนในการจ้างโจทก์ออกแบบงานระบบประปา ไฟฟ้า สุขาภิบาล ทำช็อปดรออิ้งขยายรายละเอียดในการก่อสร้าง และควบคุมงานก่อสร้างบ้านของเรืออากาศ อ. ซึ่งเป็นการรับเงินตามปกติของการว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. และแม้โจทก์มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างอาคารของจำเลยที่จ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. ดำเนินการก่อสร้าง แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์เบียดบังเวลาการทำงานของจำเลยไปใช้ทำงานก่อสร้างบ้านของเรืออากาศ อ. ตามที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. จ้างให้โจทก์ทำงาน ดังนั้น การที่โจทก์ได้รับเงินจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. ด้วยเหตุข้างต้นจึงไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ถือไม่ได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่
ตามประกาศเรื่องการจ่ายเงินรางวัลพิเศษเพิ่มเติมระบุว่าจำเลยจะจ่ายเงินรางวัลพิเศษประจำปี 2548 ให้แก่ลูกจ้างจำเลย จึงแปลว่า จำเลยมีเจตนาจ่ายเงินรางวัลพิเศษและเงินรางวัลพิเศษเพิ่มเติมแก่ผู้มีสถานะเป็นลูกจ้างของจำเลยเท่านั้น
การที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยไปก่อนจำเลยจ่ายเงินรางวัลพิเศษประจำปี 2548 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัลพิเศษประจำปี 2548
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยซึ่งจดทะเบียนแล้ว เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 คณะกรรมการกองทุนหรือผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่จ่ายเงินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง หากโจทก์มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนตามมาตรา 23 จำเลยไม่มีอำนาจจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อให้จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6980/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความหลังประกาศกระทรวงแรงงาน: ผลกระทบต่อความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
วันที่ 3 ธันวาคม 2546 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในวงเงินคนละ 250,000 บาท วันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับ ซึ่งกำหนดให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานด้วยการค้ำประกันด้วยบุคคลไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ย หากมีการค้ำประกันเกินกำหนดดังกล่าวให้นายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันใหม่ไม่เกินจำนวนตามที่กำหนด ต่อมาโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันการทำงาน วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมชำระหนี้ให้โจทก์คนละ 250,000 บาท ศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม
การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามสัญญาค้ำประกันการทำงานระงับสิ้นไป และทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850, 852 สัญญาประนีประนอมยอมความทำขึ้นหลังจากที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 แล้ว ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 สัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551
of 75