คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชัยรัตน์ เบ็ญจะมโน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,605 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3022/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีแรงงานและการเพิกถอนกระบวนพิจารณาเมื่อขาดนัดตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ
การพิจารณาคดีแรงงานมีวิธีพิจารณาต่างกับคดีแพ่งทั่วๆ ไป โดยมี พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ บัญญัติไว้เป็นพิเศษ กรณีที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ ได้บัญญัติไว้แล้วอย่างไรก็ต้องบังคับไปตามนั้น จะนำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 ให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานโดยอนุโลมได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ เท่านั้น
คดีนี้เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว ศาลแรงงานกลางได้กำหนดเวลานัดพิจารณาและสืบพยาน โดยออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในเวลานัด พร้อมกับส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายโดยชอบแล้วจึงต้องถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 37 แล้ว เมื่อจำเลยไม่มาตามกำหนด โดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานกลางทราบเหตุที่ไม่มา และศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาตัดสินคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา 40 จำเลยขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวจึงต้องปฏิบัติตามมาตรา 41 คือต้องดำเนินการภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดเมื่อจำเลยยื่นคำร้องพ้นกำหนด กรณีจึงต้องยกคำร้อง ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยโดยไม่ไต่สวนจึงเป็นการถูกต้องแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2563-2565/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้าง: สถานที่พักย่อยไม่ใช่สาระสำคัญ การเปลี่ยนแปลงสถานที่พักไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง
ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระบุเพียงว่า "บริษัท ฯ ตกลงจัดให้มีการพักย่อย 15 นาที เพิ่มเติมจากการหยุดพักปกติโดยให้หยุดช่วงแรกเวลา 9.45-10.00 น. และช่วงที่สองเวลา 15.00-15.15 น." เท่านั้น โดยไม่ได้จำกัดว่าจำเลยต้องจัดสถานที่พักย่อยให้เฉพาะที่โรงอาหาร จำเลยจึงอาจจัดสถานที่พักย่อยให้แก่ลูกจ้างได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ซึ่งอาจต้องพิจารณาถึงสถานที่ ลักษณะการทำงาน และจำนวนลูกจ้าง เพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้น แม้ว่าจำเลยจะเคยให้ลูกจ้างออกจากอาคารโรงงานไปพักย่อยที่โรงอาหาร แต่เมื่อลูกจ้างของจำเลยเกือบทั้งหมดประมาณ 300 คน สละสิทธิพักย่อยโดยขอรับเงินเพิ่มเดือนละ 60 บาทแทน ดังนั้น ในขณะที่โจทก์พักย่อย ลูกจ้างของจำเลยเกือบทั้งหมดจึงอยู่ระหว่างการทำงาน และเวลาพักย่อยแต่ละช่วงมีเพียง 15 นาทีเท่านั้น ทั้งเป็นเพียงการพักสายตาซึ่งสามารถพักในบริเวณที่นั่งทำงานได้ การที่จำเลยเปลี่ยนสถานที่พักย่อยให้โจทก์พักเฉพาะในบริเวณที่กำหนดจึงไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เมื่อจำเลยมีคำสั่งไม่ให้โจทก์ออกนอกอาคารโรงงาน แต่โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งจำเลยออกไปพักย่อยที่โรงอาหารจำเลยจึงมีคำสั่งลงโทษตักเตือนเป็นหนังสือ แต่โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวอีกจึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมซึ่งนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายบ้านพร้อมที่ดินเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยต้องสร้างสาธารณูปโภคตามที่โฆษณา หากไม่ทำตาม โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
สาธารณูปโภคที่โครงการจัดให้ตามแผ่นพับที่พิมพ์โฆษณาว่ามีคลับเฮ้าส์ ทะเลสาบ ลู่วิ่ง และสวนหย่อมเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญ แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจะมีข้อตกลงเฉพาะเกี่ยวกับแบบแปลนสิ่งปลูกสร้าง กำหนดเวลาการก่อสร้าง กำหนดเวลาการตรวจรับอาคารสิ่งปลูกสร้างเฉพาะตัวบ้านตามที่โจทก์จองซื้อก็ตาม แต่ตามสัญญาข้อ 16 ได้กำหนดให้ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคส่วนกลางจำนวน 30,000 บาท ซึ่งเมื่อดูจากแผ่นพับโฆษณาแล้ว ค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามที่กำหนดไว้นั้นน่าจะหมายถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลสวน ลู่วิ่ง รอบทะเลสาบและทะเลสาบซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ร่วมกัน แต่ขณะที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยสร้างบ้านเสร็จแต่พื้นที่รอบบ้านยังอยู่ในสภาพรกร้างว่างเปล่า ยังมิได้ดำเนินการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสาระสำคัญในการเอื้อต่อการเข้าอยู่อาศัยของผู้ซื้อบ้านซึ่งสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้ก่อสร้างสาธารณูปโภคอันเป็นส่วนสาระสำคัญของโครงการตามที่ได้โฆษณาในแผ่นพับในขณะโจทก์เข้าทำสัญญาจองซื้อบ้าน โจทก์จึงยังไม่จำต้องรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินและชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย ทั้งกรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมจำเลยจึงต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2348/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องซื้อขายของมหาวิทยาลัย: ไม่ตกภายใต้มาตรา 193/34 (2 ปี) แต่ใช้ 10 ปีตามมาตรา 193/30
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปะอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง" แต่โจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ.2533 มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงทำการสอน ทำการวิจัยให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับแปลงถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเป็นหลัก ส่วนการดำเนินภารกิจด้านฟาร์มธุรกิจก็เป็นเพียงเพื่อประโยชน์ในการเรียน การสอน และการวิจัย มิใช่เป็นการดำเนินธุรกิจเป็นเอกเทศเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าเป็นสำคัญและหากจะมีผลกำไรขึ้นมาบ้างก็เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า การซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ที่กำหนดอายุความ 2 ปี และกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2348/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีซื้อขายระหว่างมหาวิทยาลัยกับเอกชน ไม่ตกตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 193/34
โจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ.2533 มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นในการให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการ การเรียน การสอน การวิจัยและทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเป็นหลัก ส่วนการดำเนินภารกิจด้านฟาร์มธุรกิจเป็นเพียงเพื่อประโยชน์ในการเรียน การสอน และการวิจัย มิใช่เป็นการดำเนินธุรกิจเป็นเอกเทศเพื่อประโยชน์ทางการค้าเป็นสำคัญ และหากจะมีผลกำไรขึ้นมาบ้างก็เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า การซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ที่มีกำหนดอายุความ 2 ปี และกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1486/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังคำให้การในชั้นสอบสวนภายหลังการแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา: การใช้กฎหมายเดิมก่อนแก้ไข
ก่อนสอบคำให้การจำเลย พนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ประกอบด้วยมาตรา 7 ทวิ จึงชอบด้วยกฎหมายในขณะที่พนักงานสอบสวนทำการสอบคำให้การจำเลยแล้ว ส่วน ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 ซึ่งบัญญัติว่า ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า (1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ (2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้เป็นบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 22)ฯ ซึ่งมีผลใช้บังคับภายหลังวันที่เจ้าพนักงานสอบสวนทำการสอบคำให้การจำเลย ดังนั้น ถ้อยคำของจำเลยที่ให้ไว้แก่พนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาจึงเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ซึ่งเป็นบทบัญญัติของกฎหมายก่อนมีการแก้ไขให้ถ้อยคำของผู้ต้องหาใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในการพิจารณาได้ ประกอบกับ ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว ก็ไม่มีบทบัญญัติให้นำ มาตรา 134/4 มาใช้บังคับแก่คดีที่การสอบสวนเสร็จสิ้นไปก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์รับฟังคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1257/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาบุกรุกเคหสถานและทำร้ายร่างกาย การให้มีดสปาร์ต้าแก่ผู้อื่นถือเป็นความผิดร่วม
จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 3 เข้าไปในบ้านของจำเลยที่ 2 เพื่อจะทำร้ายฝ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งอยู่ในบ้าน แม้จำเลยที่ 4 จะไม่ได้ใช้มีดสปาร์ต้าที่ถือมาฟันเด็กชาย น. จำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่การที่จำเลยที่ 4 ให้มีดดังกล่าวแก่จำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 ใช้มีดนั้นฟันเด็กชาย น. จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย หลังจากนั้นก็หลบหนีไป ด้วยกัน จำเลยที่ 4 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 3 เข้าไปในบ้านของจำเลยที่ 2 เพื่อทำร้ายฝ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งอยู่ภายในบ้าน จึงมีความผิดฐานบุกรุกเคหสถานโดยมีอาวุธ และฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้มีเรื่องกับจำเลยที่ 4 แต่มีเรื่องกับจำเลยที่ 3 และผู้ตาย ทั้งในขณะนั้นจำเลยที่ 1 ก็อยู่ภายในบ้านของจำเลยที่ 2 มิได้ก่อให้เกิดภยันตรายแก่ผู้ใดอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายที่จะต้องป้องกัน การที่จำเลยที่ 4 ให้มีดสปาร์ต้าแก่จำเลยที่ 3 และเข้าไปในบ้านของจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ด้วย แล้วจำเลยที่ 3 ใช้มีดดังกล่าวฟันจำเลยที่ 1 ที่ 2 และเด็กชาย น. จึงเป็นการเข้าไปโดยมีเจตนาที่จะทำร้ายบุคคลที่อยู่ภายในบ้าน เป็นการเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร มิใช่มีเหตุสมควรอันจะทำให้การกระทำของจำเลยที่ 4 ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1086/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหมิ่นประมาท: การรับหนังสือแจ้งข้อร้องเรียนถือเป็นวันที่รู้ความผิด
โจทก์รับราชการตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง สถานที่ทำการตามตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์คือ วิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรงวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรงจึงเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ ซึ่งเป็นข้าราชการตาม ป.พ.พ. มาตรา 46
ผู้อำนวยการกองการศึกษาอาชีพมีหนังสือถึงโจทก์ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมกับแนบหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของจำเลยที่ 2 อันมีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ไปให้โจทก์ทราบด้วย หนังสือดังกล่าวได้ส่งถึงวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรงเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับหนังสือไว้แทนโจทก์ และได้ทำบันทึกนำเสนอโจทก์พร้อมลงวันที่กำกับในวันเดียวกัน โจทก์ไม่นำสืบว่าวันนั้นโจทก์ยังไม่ได้รับหนังสือตามที่เจ้าหน้าที่เสนอ และไม่นำสืบว่าเหตุใดจึงเพิ่งเกษียณส่งหนังสือในวันที่ 2 มีนาคม 2542 แม้โจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบและสั่งการให้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงในวันที่ 2 มีนาคม 2542 ก็เป็นวิธีการดำเนินการตามระบบราชการเท่านั้น ถือได้ว่าโจทก์รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 และโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันเดียวกัน คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์และฟ้องคดีนี้ภายใน 3 เดือน คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 581/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองแยกต่างหากจากค้ำประกัน เจ้าหนี้ไม่อาจยึดทรัพย์สินจำนองเพื่อหนี้ค้ำประกัน
สัญญาค้ำประกันเป็นบุคคลสิทธิซึ่งจำเลยเจ้าหนี้มีสิทธิบังคับเอาแก่โจทก์ผู้ค้ำประกันเมื่อ ป. ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ และเป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของโจทก์ผู้ค้ำประกันก่อนเจ้าหนี้อื่น แตกต่างไปจากสิทธิตามสัญญาจำนองที่ทำขึ้นเพื่อประกันหนี้เงินกู้ของโจทก์ที่ได้ทำขึ้นในภายหลังและไม่ได้มีข้อความระบุว่าต้องให้โจทก์รับผิดรวมไปถึงความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันด้วย ประกอบกับโจทก์กู้เงินจำเลยเพื่อนำไปซื้อห้องชุดพิพาทแล้วนำมาจำนองไว้แก่จำเลย แสดงว่าโจทก์มีเจตนาจดทะเบียนจำนองห้องชุดพิพาทเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ของโจทก์ที่มีแก่จำเลยเท่านั้น ดังนั้น สัญญาค้ำประกันจึงแยกต่างหากจากสัญญากู้เงินและสัญญาจำนอง นอกจากนี้ขณะที่โจทก์ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินให้แก่จำเลยครบถ้วน จำเลยยังไม่ได้ฟ้องโจทก์ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ความรับผิดต่อจำเลยตามสัญญาค้ำประกันจึงยังไม่เกิดขึ้น เมื่อหนี้เงินกู้ของโจทก์อันเป็นหนี้ประธานได้ระงับไปและโจทก์ผู้จำนองแสดงความจำนงไถ่ถอนจำนองแล้ว จำเลยจะไม่ยอมให้ไถ่ถอนโดยอ้างว่าโจทก์ยังมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันอยู่อีกหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 271/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลูกหนี้ร่วมบัตรเครดิต: การยินยอมเข้าร่วมรับผิดตามสัญญา
สัญญาการใช้บัตรเครดิตระบุไว้ว่า ในกรณีที่ธนาคารโจทก์อนุมัติให้ออกบัตรเสริมแก่ผู้ถือบัตรหลักรายใดผู้ถือบัตรทั้งสองจะต้องร่วมรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมในหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตนั้น ซึ่งข้อสัญญาดังกล่าวจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อรับทราบแล้วย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมตนเข้าร่วมรับผิดกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในการใช้บัตรเครดิตสมาชิกบัตรหลักด้วยตั้งแต่วันสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงมีฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมในหนี้ที่แต่ละคนเป็นผู้ก่อขึ้นจากการใช้บัตรเครดิตโดยไม่อาจแบ่งแยกได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 297
of 161