คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 608

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 69 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8695/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งและผู้รับขนส่งในการขนส่งสินค้าทางทะเล การแบ่งแยกความรับผิดชอบตามช่วงการขนส่ง
ผู้เอาประกันภัยสั่งซื้อสินค้าเมล็ดถั่วเหลืองจากผู้ขายในราคาค่าสินค้ารวมค่าระวางขนส่ง ผู้ขายว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าทางทะเลเพื่อส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง ตัวแทนของกัปตันเรือของจำเลยที่ 1 ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ขายที่ประเทศบราซิล โดยมีข้อความระบุว่า ให้ใช้ประกอบสัญญาจ้างเหมาระวางบรรทุกของเรือ เช่นนี้จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นผู้ขนส่งตามสัญญาจ้างเหมาระวางบรรทุกของเรือ หน้าที่และสิทธิของจำเลยที่ 1 จึงเป็นไปตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 5 เมื่อใบตราส่งระบุว่าเป็นการขนส่งจากท่าเรือต้นทางเมืองซานโตส ประเทศบราซิล ถึงท่าเรือปลายทางเกาะสีชัง ประเทศไทย หน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงเมื่อมีการส่งมอบสินค้าที่ท่าเรือเกาะสีชัง ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 39 ส่วนจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยว่าจ้างให้ดำเนินการขนถ่ายและขนส่งสินค้าจากเกาะสีชังต่อไปยังท่าเรือของผู้เอาประกันภัยที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม การขนส่งทอดนี้จึงเป็นการขนส่งในราชอาณาจักรซึ่งไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 จำเลยที่ 2 จึงมีฐานะเป็นผู้รับขนส่งของเพื่อบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 608 จึงเห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองขนส่งสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้คนละช่วงคนละตอน หน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยทั้งสองแยกกันอย่างเด็ดขาดและอยู่ภายใต้บังคับของบทกฎหมายคนละฉบับ หากมีความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นในช่วงการขนส่งที่จำเลยใดครอบครองดูแล จำเลยนั้นก็ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยเพียงลำพัง มิใช่รับผิดร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วม
ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้สินค้าในความดูแลของจำเลยที่ 1 สูญหาย แม้จำนวนน้ำหนักสินค้าต้นทางที่แน่นอนจะเป็นอย่างที่โจทก์กล่าวอ้างหรือจำเลยที่ 1 กล่าวอ้างก็มิใช่สาระสำคัญ และต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบสินค้าตามจำนวนที่ได้รับมาแก่ผู้เอาประกันภัยถูกต้องครบถ้วนแล้ว พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 วรรคสอง มิได้บกพร่องขาดจำนวนแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้า ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะนำสืบขั้นตอนการขนถ่ายสินค้าแต่ละช่วงแต่ละตอนประกอบรายงานการกำกับดูแลการขนถ่ายเมื่อเรือลำเลียงของจำเลยที่ 2 มาถึงท่าขนถ่ายสินค้าระบุว่า ตราผนึกอยู่ในสภาพสมบูรณ์ สินค้าอยู่ในสภาพปกติไม่ปรากฏความเสียหายก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าเมื่อมีการชั่งน้ำหนักของสินค้าทั้งหมดที่โรงงานของผู้เอาประกันภัยสินค้าปรากฏว่าขาดหายไปกว่า 1,000 เมตริกตัน และมีการจับกุมและการตรวจยึดเรือลำเลียงอื่นซึ่งบรรทุกเมล็ดถั่วเหลืองและรถบรรทุกเมล็ดถั่วเหลืองเต็มกระบะอีก 4 คัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการขนถ่ายสินค้าลงเรือลำเลียงของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้าง พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า มีการลักลอบขนถ่ายสินค้าของผู้เอาประกันภัยไปจากความครอบครองดูแลของจำเลยที่ 2 โดยทุจริต จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่สูญหายไปดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10156/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าในสัญญาประกันภัยและการจำกัดความรับผิดตามใบรับขน
แม้ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสาขาในประเทศราชอาณาจักรสวีเดน ขั้นตอนในการดำเนินการขนส่งจะต้องอาศัย Agent หรือผู้รับขนส่งที่ประเทศต้นทาง ตามใบวางบิลของจำเลยที่ 2 มีการหักส่วนของกำไรที่เป็นของจำเลยที่ 1 ออกด้วย จำเลยที่ 1 มีกำไรจากค่าขนส่งส่วนหนึ่ง ค่าธรรมเนียมใบสั่งปล่อยสินค้า และค่าเงินที่ผันผวน เมื่อตรวจดูการโต้ตอบทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างพนักงานฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ขายระวางกับเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 แล้ว เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ผลประโยชน์ในส่วนที่เป็นค่าระวาง (Air Freight) ด้วย เมื่อ ม. ติดต่อว่าจ้างจำเลยที่ 1 เพื่อการขนส่งสินค้าพิพาทตามภาระที่เกิดจากเงื่อนไขการส่งมอบแบบ FCA และต่อมาเมื่อการขนส่งเสร็จสิ้นจำเลยที่ 1 ได้รับค่าตอบแทนส่วนหนึ่งจากค่าระวางทั้งหมดที่เกิดขึ้นดังกล่าวจาก ม. แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทเอง กรณีก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญาขนส่งกับ ม. ผู้ส่งที่แท้จริงตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 608 และ 610 แล้ว หากสินค้าพิพาทเสียหายในระหว่างการขนส่ง จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามมาตรา 616 และเมื่อจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ขนส่งอื่นที่ต้องรับผิดด้วยหากว่าสินค้าพิพาทเสียหายในระหว่างการขนส่ง ทั้งนี้ ตามมาตรา 617 และ 618
จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าพิพาทแต่จำเลยที่ 2 มอบหมายต่อไปให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำเลยที่ 3 จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ขนส่งอื่นในการขนส่งที่มีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามความหมายในมาตรา 617 และ 618 แม้ใบรับขนของทางอากาศจะไม่มีชื่อของ ม. ปรากฏอยู่ แต่ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทที่แท้จริง และถ้าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสินค้าเสียหายในระหว่างการขนส่งโดยจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ย่อมมีความรับผิดต่อ ม. ผู้ซื้อในเงื่อนไขส่งมอบแบบ FCA นอกจากนั้นตามใบรับขนของทางอากาศของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของ แม้จะระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ส่งและจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับตราส่ง แต่ก็ระบุในช่อง Nature and Quantity of Goods ว่า CONSOLIDATED CARGO AS PER ATTACHED MANIFEST โดยมี Cargo Manifest แนบอยู่ในช่อง House Airway Bill/Consignee ระบุชื่อ ม. เป็นผู้รับตราส่งไว้ด้วย เช่นนี้ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ประกอบกิจการขนส่งย่อมรู้และเข้าใจอยู่แล้วว่าผู้รับสินค้าพิพาทที่ปลายทางที่แท้จริงคือ ม. ผู้รับตราส่งที่แท้จริงตามมาตรา 627 เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยแล้วย่อมรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ 3 ได้
ตามใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยที่ 3 ออกด้านหน้ามีช่องระบุข้อความให้ผู้ส่งทราบว่า ผู้ส่งสามารถกำหนดเพิ่มจำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งได้มากกว่าที่ผู้ขนส่งจำกัดความรับผิดไว้ ด้วยการชำระค่าระวางขนส่งเพิ่มเติมแก่ผู้ขนส่ง และที่ด้านหลังมีข้อความพิมพ์ไว้ ซึ่งมี Notice Concerning Carrier's Limitation of Liability กำหนดจำนวนจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 3 ไว้ที่ 19 SDR ต่อน้ำหนักสินค้าที่เสียหายหรือสูญหาย 1 กิโลกรัม เมื่อด้านหน้าของใบรับขนของทางอากาศไม่ปรากฏว่ามีการระบุมูลค่าของสินค้าพิพาทไว้ในช่อง Value for Carriage ดังนี้ จำเลยที่ 3 ย่อมจำกัดความรับผิดไว้ได้ตามที่ปรากฏหลังใบรับขนของทางอากาศ
เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างการดูแลของจำเลยทั้งสาม และโจทก์จ่ายเงินชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13102/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าทางอากาศ, การจำกัดความรับผิด, การรับช่วงสิทธิจากสัญญาประกันภัย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่างใช้ชื่อ ยูพีเอส (UPS) และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ใช้ชื่อยูพีเอส เอสซีเอส (UPS SCS) เช่นเดียวกัน ทั้งพยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทผู้สำรวจเหตุความเสียหายเบิกความว่าจำเลยที่ 3 ได้ส่งเอกสารการเรียกร้องของผู้เอาประกันภัยไปยังจำเลยที่ 1 ตามแบบพิมพ์การเรียกร้องของลูกค้ายูพีเอส เอสซีเอส ซึ่งแบบพิมพ์นี้นอกจากจะใช้เครื่องหมาย UPS เหมือนกับเครื่องหมายในใบรับขนทางอากาศของจำเลยที่ 1 แล้ว ในรายละเอียดก็ยังมีข้อความในลักษณะเกี่ยวกับเครือข่ายการทำธุรกิจของกลุ่มบริษัทยูพีเอส เอสซีเอส โดยมีข้อความตอนล่างสุดระบุถึงการให้บริการรวมทั้งความรับผิดของจำเลยที่ 1 เป็นไปตามข้อความและเงื่อนไขการให้บริการของยูพีเอส เอสซีเอส ที่สามารถตรวจดูได้ทางเวปไซต์ www.ups-scs.com แสดงว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นกลุ่มบริษัทในเครือข่ายเดียวกันที่ให้บริการเป็นระบบเครือข่ายในประเทศต่างๆ เชื่อว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นบริษัทในเครือข่ายเดียวกันกับที่ร่วมกันประกอบกิจการรับขนของเป็นเครือข่ายร่วมกัน จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ร่วมกันรับขนส่งสินค้าตามฟ้อง
แม้ผู้รับประกันภัยจะไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ถ้าทรัพย์สินอันได้เอาประกันภัยไว้นั้นได้คืนมา แต่เมื่อสินค้าดังกล่าวเป็นอะไหล่ที่ใช้ประกอบกับเครื่องจักรในโรงงานของผู้เอาประกันภัยซึ่งต้องมีสำรองไว้ใช้ในโรงงานประกอบกับในการซื้อสินค้า ผู้เอาประกันภัยตกลงซื้อในเทอม เอฟซีเอ ท่าอากาศยานซูริค ซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องเสียค่าขนส่งจากท่าอากาศยานดังกล่าวมายังท่าอากาศยานกรุงเทพเอง การที่ผู้เอาประกันภัยยอมเสียค่าขนส่งทางอากาศซึ่งย่อมมีค่าขนส่งสูงแต่ขนส่งได้รวดเร็ว ก็เป็นเหตุผลแสดงถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องได้รับสินค้าไว้ใช้โดยเร็ว ในการขนส่งครั้งนี้ควรขนส่งสินค้าถึงในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2550 แต่สินค้านี้ไม่ได้ขนส่งถึงตามกำหนดดังกล่าว จนต้องมีการเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายของสินค้า ทั้งยังมีการเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ด้วย และในที่สุดผู้เอาประกันภัยก็ต้องซื้อสินค้าดังกล่าวใหม่ ดังนี้แม้จะมีการพบสินค้าที่ขนส่งตามฟ้องนั้นในภายหลังก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัยอีกต่อไป และการหาสินค้าดังกล่าวพบก็เป็นเวลาหลังจากที่สินค้าควรขนส่งถึง 6 เดือนเศษ พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมก่อความเสียหายในลักษณะอันถือได้ว่ามีผลทำนองเดียวกันหรือเสมือนกับสินค้าสูญหายนั่นเอง แม้จะค้นหาพบในภายหลังก็ถือได้ว่าเป็นกรณีผู้รับตราส่งเสียหายจากความสูญหายของสินค้าแล้ว จึงชอบที่จะปฏิเสธการรับสินค้าที่หาพบ การที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยจึงชอบแล้ว
ใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ออกให้ ด้านหลังต่างก็มีข้อความจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เป็นเงินไม่เกิน 20 ดอลลาร์ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม โดยด้านหน้าของใบรับขนของทางอากาศมีช่องว่างสำหรับเติมข้อความเพื่อการแสดงราคาสินค้าเพื่อการขนส่ง และมีข้อความอธิบายให้ผู้ส่งตรวจดูข้อจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ โดยหากประสงค์จะให้เพิ่มจำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามที่ระบุไว้ ก็ให้แสดงราคาและชำระเงินเพิ่มได้ แต่ปรากฏว่าในช่องแสดงราคาเพื่อการขนส่งระบุข้อความว่า เอ็นวีดี หรือการไม่แสดงราคา อันแสดงว่าผู้ส่งยอมรับข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าว จำเลยทั้งสี่จึงจำกัดความรับผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11191/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนขนส่งต่างประเทศ: ความรับผิดของผู้แทนในประเทศที่รับมอบอำนาจเฉพาะการรับส่งสินค้า
โจทก์มีเพียง ท. ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทผู้เอาประกันภัยมาเบิกความเกี่ยวกับการทำข้อตกลงสัญญาขนส่งระหว่างผู้เอาประกันภัยกับจำเลยที่ 1 แต่ก็ไม่ยืนยันข้อเท็จจริงให้แน่ชัดว่าผู้เอาประกันภัยตกลงทำสัญญาขนส่งกับจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งหรือทำสัญญาขนส่งกับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 หรือตกลงให้ร่วมกันขนส่งอย่างใดแน่ ทั้งตามใบรับขนของทางอากาศของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แสดงให้เห็นว่า ผู้รับมอบหมายให้จัดการขนส่งทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่ง แต่จำเลยที่ 2 จ้างจำเลยที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการขนส่งและใบรับขนของทางอากาศของจำเลยที่ 3 ระบุให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับตราส่งก็เพื่อให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 ในการรับสินค้าตามใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออก ทั้งรายงานการสำรวจความเสียหายก็ระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนผู้เอาประกันภัยในการดำเนินพิธีศุลกากร เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่แสดงว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งหรือร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 1 กับที่ 2 จะเป็นบริษัทในเครือเดียวกันใช้ชื่อเหมือนกัน แต่ก็เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันและต่างประกอบการขนส่งในแต่ละประเทศต่างหากจากกัน เมื่อตามพฤติการณ์จะต้องขนส่งจากสาธารณรัฐประชาชนจีนอันเป็นที่ตั้งบริษัทจำเลยที่ 2 ก็มีเหตุผลที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับขนส่งเพื่อให้ได้ประโยชน์จากค่าระวางเอง โดยไม่จำเป็นต้องให้จำเลยที่ 1 ที่ประกอบกิจการในประเทศไทยร่วมขนส่งแต่อย่างใด พยานหลักฐานต่าง ๆ ล้วนมีเหตุผลแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นคู่สัญญาขนส่งกับผู้ขายที่เป็นผู้ส่งสินค้านั้นเอง โดยมีจำเลยที่ 1 บริษัทในเครือกันเป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 เฉพาะเพียงการรับสินค้าเพื่อส่งมอบแก่ผู้เอาประกันภัยที่ปลายทางในประเทศไทยและช่วยเรียกเก็บค่าระวางจากผู้เอาประกันภัยแทนจำเลยที่ 2 เพื่อส่งไปให้จำเลยที่ 2 เท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 2 รวมทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ตัวแทนในประเทศไทยที่เข้าทำสัญญาขนส่งแทนจำเลยที่ 2 ตัวการในต่างประเทศแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9541/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลและทางบก กรณีสินค้าสูญหายหรือเสียหาย และขอบเขตความรับผิดจำกัดตามกฎหมาย
ผู้ขายติดต่อจำเลยที่ 1 เพื่อการขนส่งสินค้า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ขนส่ง แต่จำเลยที่ 2 ว่าจ้างจำเลยที่ 4 ขนส่งอีกต่อหนึ่ง ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ต่างรับจ้างขนส่งสินค้าในฐานะเป็นผู้ขนส่ง ส่วนจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้เงินส่วนต่างค่าขนส่งเป็นของตนเอง จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างขนส่งเพื่อบำเหน็จทางการค้าปกติของตนอันถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 608 และเมื่อจำเลยที่ 1 ว่าจ้างผู้ขนส่งคนอื่นคือ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ว่าจ้างจำเลยที่ 4 ผู้ขนส่งอื่นอีกทอดหนึ่ง จึงเป็นกรณีที่ผู้ขนส่งมอบหมายสินค้าให้ผู้ขนส่งอื่นขนส่ง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงต้องรับผิดร่วมกันในความสูญหายของสินค้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 และมาตรา 618 ส่วนจำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย
ส่วนที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยไปร้อยละ 110 ของราคาสินค้านั้น เป็นความผูกพันตามสัญญาประกันภัยที่บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญาและผู้รับประโยชน์เท่านั้น แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ที่ต้องรับผิดตามสัญญาขนส่งไม่ต้องผูกพันตามสัญญาประกันภัย ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่า การสูญหายของสินค้าทำให้ผู้ส่งของหรือผู้รับตราส่งต้องเสียหายมากกว่าราคาสินค้าที่รวมค่าประกันภัยและค่าระวางการขนส่งแล้วแต่อย่างใด
จำเลยที่ 5 ออกใบตราส่งและประทับชื่อจำเลยที่ 5 ในฐานะผู้ขนส่ง ทั้งได้ความว่าจำเลยที่ 7 ออกใบรับขนของ (WAYBILL) ระบุว่า จำเลยที่ 5 เป็นผู้ส่งของโดยให้ตัวแทนของจำเลยที่ 5 รับสินค้าเพื่อส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง อันเป็นการทำหน้าที่ผู้ขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลทุกประการ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้ขนส่งโดยมีจำเลยที่ 7 เป็นผู้ขนส่งอื่น ดังนั้นเมื่อเหตุแห่งความสูญหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 7 ผู้ขนส่งอื่น จำเลยที่ 5 และที่ 7 ย่อมต้องร่วมกันรับผิดในความสูญหายของสินค้าดังกล่าวตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39, 43, 44 และ 45 สำหรับจำเลยที่ 6 แม้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 7 แต่จำเลยที่ 6 ไม่ได้ทำสัญญาขนส่งแทนจำเลยที่ 7 จึงไม่ต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 824
ความรับผิดตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 58 เว้นแต่จะเป็นกรณีตามมาตรา 60 (1) ถึง (4) คดีนี้เป็นกรณีตามมาตรา 60 (1) ซึ่งผู้ขนส่งไม่อาจจำกัดความรับผิดตามมาตรา 58 ได้ เมื่อการสูญหายเกิดขึ้นจากการที่ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำหรืองดเว้นกระทำการโดยมีเจตนาที่จะให้เกิดการสูญหาย หรือโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่ตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 หรือที่ 7 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 5 หรือที่ 7 เป็นผู้ลักเอาสินค้าที่สูญหายไป หรือจำเลยที่ 5 หรือที่ 7 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดที่มีเจตนาจะให้เกิดการสูญหาย หรือมีพฤติการณ์อย่างใดที่ถือได้ว่าจำเลยที่ 5 หรือที่ 7 ละเลยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายจะเกิดขึ้นแต่อย่างใด จึงฟังไม่ได้ว่ามีกรณีตามมาตรา 60 (1) ที่ทำให้จำเลยที่ 5 และที่ 7 ต้องรับผิดโดยไม่จำกัดความรับผิด จำเลยที่ 5 และที่ 7 ย่อมรับผิดเพียงจำนวนจำกัดตามมาตรา 58

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5597/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้บริการขนส่งเพื่อยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องมีลักษณะเป็นการรับขนส่งเพื่อบำเหน็จที่เป็นค่าระวางพาหนะ
ป.รัษฎากรมิได้บัญญัติว่า การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรหมายความว่าอย่างไร จึงต้องถือความหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 608 และมาตรา 610 จากบทบัญญัติดังกล่าว การให้บริการขนส่งจึงหมายถึงการรับขนส่งของหรือคนโดยสารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเพื่อบำเหน็จคือค่าระวางพาหนะเป็นทางค้าปกติของผู้ขนส่ง ฉะนั้น หากบำเหน็จที่ได้รับมิใช่ค่าระวางพาหนะแล้ว การให้บริการนั้นก็ไม่ถือเป็นการให้บริการขนส่ง ซึ่งค่าระวางพาหนะจะมากหรือน้อยย่อมขึ้นอยู่กับระยะทาง ความยากง่ายและระยะเวลาขนส่งเป็นสำคัญ เมื่อบำเหน็จที่โจทก์ได้รับจากลูกค้าเป็นค่าตอบแทนการที่โจทก์ส่งพนักงานไปส่งเอกสารให้ลูกค้าตามที่ลูกค้าสั่ง เป็นค่าตอบแทนที่โจทก์ได้รับเป็นรายเดือนจำนวนแน่นอนตามที่ตกลงในสัญญาจ้างบริการโดยมิได้คำนึงถึงระยะทาง ความยากง่ายและระยะเวลาขนส่งในแต่ละคราวเป็นสำคัญ ค่าบำเหน็จที่โจทก์ได้รับจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นค่าระวางพาหนะ การให้บริการของโจทก์ในลักษณะดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นการให้บริการขนส่งอันจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ณ) แม้จะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักรก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1530/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับขนสินค้าระหว่างประเทศทางบก: ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล และการประเมินค่าเสียหายจากสินค้าชำรุด
การรับขนของทางบกระหว่างประเทศเข้าลักษณะของการับขนตาม ป.พ.พ บรรพ 3 ลักษณะ 8 ว่าด้วยการรับขนและตามบทบัญญัติว่าด้วยการรับขนดังกล่าวก็ไม่ได้บัญญัติเป็นการยกเว้นไว้ดังที่ป.พ.พ. มาตรา 609 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 4 บัญญัติให้การรับขนของทางทะเลระหว่างประเทศอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ดังนั้น จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาปรับใช้กับการขนส่งสินค้าทางบกระหว่างประเทศได้
การเอาประกันภัยหรือไม่เอาประกันภัยในสินค้าของโจทก์เป็นสิทธิของโจทก์ไม่เกี่ยวพันใดๆ กับการเกิดความเสียหายของสินค้าจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2843/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาขนส่ง: ความรับผิดของผู้ส่งเมื่อเรียกเก็บค่าระวางจากผู้ซื้อไม่ได้
โจทก์และจำเลยตกลงกันขนส่งสินค้าโดยให้เก็บค่าระวางและค่าใช้จ่ายส่วนที่ 2จากผู้ซื้อที่ปลายทาง แต่ไม่ได้ตกลงกันว่าในกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขนส่งเรียกเก็บไม่ได้โจทก์สิ้นสิทธิที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลย ในใบตราส่งก็ไม่มีเงื่อนไขว่าหากเรียกเก็บจากผู้ซื้อไม่ได้แล้วโจทก์หมดสิทธิเรียกเอาจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ส่ง ดังนั้น โจทก์จึงฟ้องจำเลยในฐานคู่สัญญาให้รับผิดชดใช้ค่าระวางและค่าใช้จ่ายส่วนที่ยังไม่ได้รับชำระได้ และเมื่อโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันผิดนัดแก่โจทก์อีกด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5751/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากการรักษาพยาบาล และการกำหนดดอกเบี้ยมูลละเมิดที่เหมาะสม
การรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 9 ไม่สามารถส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นต่อไปได้เพราะมีรถไฟตกรางอยู่ข้างหน้าจำเลยที่ 9 ย่อมมีหน้าที่จัดหายานพาหนะอื่นขนส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นไปให้ถึงจุดหมายปลายทางอันเป็นการรับขนส่งผู้โดยสารตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 608,609 และพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 9(7)การขนถ่ายผู้โดยสารของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 จากขบวนรถไฟของจำเลยที่ 9 ที่ปรากฏแก่โจทก์ทั้งสองและบุคคลภายนอกซึ่งไปมาระหว่างสถานีรถไฟ ล. กับสถานีรถไฟ ค. จึงเป็นการทำแทนจำเลยที่ 9นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 9 กับจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 จึงอยู่ในฐานะตัวการและตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797
ความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 446 หมายความว่า ความเสียหายอันไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้แต่ความเสียหายเช่นว่านี้ต้องเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำละเมิดจำเป็นต้องเยียวยาหรือทดแทนความเสียหายให้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมีความเสียหายมากยิ่งกว่าความเสียหายต่อร่างกายอีกด้วย ความเสียหายที่มิใช่ตัวเงิน เช่น ความเจ็บปวดทนทุกขเวทนาระหว่างการรักษาพยาบาลหรือต้องทุพพลภาพพิการต่อไป ความเสียหายเช่นว่านี้กฎหมายให้ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด เพราะค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินย่อมจะนำสืบคิดเป็นจำนวนเงินเท่าใดไม่ได้อยู่ในตัว เมื่อพิจารณาจากลักษณะบาดแผลกับวิธีการรักษาบาดแผลของโจทก์ที่ 1 ซึ่งต้องผ่าตัดและเข้าเฝือกหลายครั้ง ต้องรับการรักษาเป็นเวลานานร่วม 3 ปี ต้องทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บปวดของบาดแผลในระหว่างการรักษาอันเป็นเวลานานยิ่งกว่านั้นสภาพแขนซ้ายของโจทก์ที่ 1 ต้องทุพพลภาพตลอดชีวิตทั้งเสียบุคลิกภาพเนื่องจากผลของการผ่าตัดทำให้แขนซ้ายสั้นกว่าแขนขวา ถือว่าเป็นความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินที่โจทก์ที่ 1ชอบจะเรียกร้องได้
โจทก์ที่ 2 ต้องออกจากงานมาดูแลโจทก์ที่ 1 โดยตลอด ซึ่งก็ต้องขวนขวายหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโจทก์ที่ 1 รวมทั้งการดำรงชีพของโจทก์ที่ 1 ตลอดมาในระหว่างดำเนินคดีจนถึงที่สุดเป็นเวลานานกว่า 10 ปี นอกจากนี้ในคดีละเมิด โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้นับแต่วันละเมิดเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 206 แต่โจทก์ที่ 1 ก็มิได้เรียกร้องดอกเบี้ยก่อนฟ้องมาด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 9 เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(6) นั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5751/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากอุบัติเหตุทางรถไฟ การเยียวยาความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ รวมถึงค่าทดแทนความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเงินได้
การรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 9 มีหน้าที่ขนส่งผู้โดยสารเพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทางตามที่ตกลงไว้กับผู้โดยสาร เมื่อไม่สามารถส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นต่อไปได้ เพราะมีรถไฟตกรางอยู่ข้างหน้า จำเลยที่ 9 ย่อมมีหน้าที่จัดหายานพาหนะอื่นขนส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง อันเป็นการรับขนส่งผู้โดยสารตาม ป.พ.พ. มาตรา 608, 609 และ พ.ร.บ. การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 9 (7) จำเลยที่ 9 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่งโดยสารทางรถยนต์รับขนถ่ายผู้โดยสารจากขบวนรถไฟของจำเลยที่ 9 ที่ปรากฏแก่โจทก์ทั้งสองและบุคคลภายนอกซึ่งไปมาระหว่างสถานีรถไฟ ล. กับสถานีรถไฟ ค. จึงเป็นการทำแทนจำเลยที่ 9 นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 9 กับจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 8 จึงอยู่ในฐานะตัวการและตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 797
ความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 หมายความว่า ความเสียหายอันไม่อาจคิดคำนวณเป็นเงินได้ แต่ความเสียหายเช่นว่านี้ต้องเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำละเมิด จำเป็นต้องเยียวยาหรือทดแทนความเสียหายให้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมีความเสียหายมากยิ่งกว่าความเสียหายต่อร่างกายอีกด้วย ความเสียหายที่มิใช่ตัวเงิน เช่น ความเจ็บปวดทนทุกขเวทนาระหว่างการรักษาพยาบาล หรือต้องทุพพลภาพพิการต่อไป ความเสียหายเช่นว่านี้กฎหมายให้ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด เพราะค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินย่อมจะนำสืบคิดเป็นจำนวนเงินเท่าใดไม่ได้อยู่ในตัว เมื่อพิจารณาจากสภาพทางร่างกายและอาการของโจทก์ ซึ่งต้อง ผ่าตัดและเข้าเฝือกหลายครั้ง ต้องรับการรักษาเป็นเวลานานร่วม 3 ปี และต้องทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บปวดของ บาดแผลในระหว่างการรักษาอันเป็นเวลานาน ยิ่งกว่านั้นสภาพแขนซ้ายของโจทก์ต้องทุพพลภาพตลอดชีวิต ทั้งเสียบุคลิกภาพเนื่องจากผลของการผ่าตัดทำให้แขนซ้ายสั้นกว่าแขนขวาดังนี้ถือว่าเป็นความเสียหายอันมิใช่ตัวเงิน ที่โจทก์ชอบจะเรียกร้องได้
of 7