คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 17

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 439 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7389/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาจ้างไม่บังคับต้องมีเอกสาร ศาลรับฟังพยานบุคคลประกอบเหตุผลได้
การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างไม่มีกฎหมายบังคับว่าผู้แสดงเจตนาจะต้องมีพยานเอกสารมาแสดง การแสดงเจตนาดังกล่าว อาจทำเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ การบอกเลิกสัญญาจ้างจึงมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 94 การที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจพิเคราะห์พยานบุคคลประกอบเหตุผลแวดล้อมต่าง ๆ แล้วฟังว่าจำเลยบังคับให้โจทก์ทำหนังสือลาออก จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4026/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าสำหรับลูกจ้างที่ทำงานตามปกติ แม้มีสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา
โจทก์ประกอบกิจการขุดและดูดทรายเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จเพื่อจำหน่าย โจทก์มีหน่วยงานบ่อดูดทรายที่ ต. ปลายนา อ. ศรีประจันต์ จ. สุพรรณบุรี ดังนั้น งานขุดและดูดทรายที่บ่อทรายรวมทั้งงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าว จึงเป็นงานตามปกติของธุรกิจหรือการค้าของโจทก์ การที่โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ขับรถบริการทำหน้าที่ส่งเอกสารและพัสดุประจำหน่วยงานดังกล่าว จึงต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติงานตามปกติของธุรกิจหรือการค้าของโจทก์ด้วย แม้การจ้างงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและโจทก์ได้เลิกจ้างจำเลยที่ 1 ตามกำหนดระยะเวลานั้นก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็มิใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่ เมื่อโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 ซึ่งทำงานมาเป็นเวลา 1 ปี 9 เดือน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดแน่นอนซึ่งจำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วและโจทก์ได้บอกเลิกจ้างจำเลยที่ 1 ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างโดยโจทก์ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1641-1642/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีรับค่าตอบแทนจากบริษัทอื่นขัดต่อหน้าที่และข้อบังคับของบริษัท
จำเลยที่ 1 มอบหมายให้โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการส่วนเรือขนส่ง มีหน้าที่กำกับดูแลการขนส่งทางทะเลและท่าเทียบเรือของจำเลยที่ 1 รับผิดชอบความปลอดภัยของเรือที่รับขนส่งน้ำมันให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งก่อนทำสัญญากับผู้รับขนส่ง โจทก์ต้องตรวจเรือที่มารับขนส่งให้ได้มาตรฐานเสียก่อน โดยจำเลยที่ 1 มีนโยบายให้ตรวจปีละครั้งโดยเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยในการขนส่งและเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์รับเงินค่าที่ปรึกษาจากบริษัท ป. ซึ่งนำเรือมารับขนส่งน้ำมันให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อตำแหน่งหน้าที่ อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการขนส่งน้ำมันในท่าเทียบเรือของจำเลยที่ 1 ทำให้ลูกค้าของจำเลยที่ 1 เสียความเชื่อถือในการให้บริการท่าเทียบเรือ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 8.1 (6) ของจำเลยที่ 1 ที่ระบุว่า "เสนอหรือรับของมีค่าหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อแลกกับการบรรจุเข้าทำงาน ตำแหน่งหน้าที่ การประมูลการเช่า การทำสัญญาหรือสิ่งอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยมิชอบผู้อื่น" เป็นความผิดซึ่งนับเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 1 ย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ประกอบ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคท้าย และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) ทั้งมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 871/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายของจำเลยในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลแรงงาน
หนี้ค่าจ้างค้างจ่าย เงินสะสม สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ล้วนแต่เป็นเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระอันเนื่องมาจากการที่จำเลยกับโจทก์มีนิติสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง ถือว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากรฯ มาตรา 40 (1) ซึ่งกำหนดให้เป็นเงินได้พึงประเมิน จำเลยผู้จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ตามคำพิพากษาย่อมมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 50 ประกอบด้วยมาตรา 3 จตุทศ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่จำเลยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แม้จำเลยจะมิได้อ้างเรื่องการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ในชั้นพิจารณา แต่เมื่อจำเลยจะต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาจำเลยก็สามารถหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 364/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่ฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้างซ้ำ และการมีเหตุอันสมควรในการเลิกจ้าง
วันที่ 2 เมษายน 2546 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ไปช่วยทำงานที่โรงแรมสีดา รีสอร์ท นครนายก มีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2546 และวันที่ 21 เมษายน 2546 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ไปทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาประจำตัวกรรมการผู้จัดการและช่วยงานผู้จัดการทั่วไปในการบริหารงานพนักงานฝ่ายขายที่โรงแรมดังกล่าว โดยให้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าเดิมและอัตราค่าจ้างเท่าเดิม แม้จะไม่ได้ค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์แต่ก็ไม่ได้ตัดค่าจ้าง เพราะเป็นเงินสวัสดิการที่พนักงานฝ่ายขายเท่านั้นมีสิทธิที่จะได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ทำงานอยู่ในฝ่ายขาย จึงไม่มีสิทธิได้ค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์ ส่วนอำนาจบังคับบัญชาสั่งงานผู้ใต้บังคับบัญชานั้นจะมีหรือไม่มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ทำ แม้จะมีอำนาจบังคับบัญชาลดน้อยลงก็มิใช่ข้อที่จะถือว่าเป็นการลดตำแหน่งเสมอไป การที่จำเลยย้ายโจทก์ไปทำงานดังกล่าว จึงเป็นอำนาจบริหารของจำเลยที่จะกระทำได้คำสั่งของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยออกคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานที่โรงแรมสีดา รีสอร์ท นครนายก ในช่วงสงกรานต์ซึ่งมีลูกค้ามาก จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม แต่โจทก์ไม่ยอมไปทำงานตามคำสั่งดังกล่าวจำเลยจึงออกหนังสือเตือนโจทก์ ต่อมาจำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาประจำตัวกรรมการผู้จัดการและช่วยทำงานผู้จัดการทั่วไป ในการบริหารงานฝ่ายขายที่โรงแรมดังกล่าว โดยให้สวัสดิการด้านที่พักและอาหารตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยด้วยซึ่งเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม แต่โจทก์ก็ไม่ยอมไปทำงานตามคำสั่งของจำเลยอีก เมื่อการฝ่าฝืนในครั้งหลังมีลักษณะเดียวกันกับการฝ่าฝืนตามหนังสือเตือนครั้งแรก จึงเป็นการกระทำผิดซ้ำหนังสือเตือนภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่โจทก์กระทำผิดครั้งแรก จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) และเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคท้าย
จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำผิดซ้ำหนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8800/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างทดลองงาน การบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย กรณีเลิกจ้างระหว่างทดลองงาน
ตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ตกลงจ้างจำเลยที่ 2 ทำงานโดยมีระยะเวลาการทดลองงาน 120 วัน หากผ่านการทดลองงานโจทก์จะจ้างต่อไป ถ้าไม่ผ่านการทดลองงานโจทก์สามารถเลิกจ้างได้ หรืออาจให้จำเลยที่ 2 ทดลองงานต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งไม่แน่นอนว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดเมื่อใด จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสอง ดังนี้ เมื่อครบกำหนดเวลาทดลองงาน 120 วัน แล้ว โจทก์ยังให้จำเลยที่ 2 ทำงานต่อไปอีก 20 วัน และต่อมาเลิกจ้างจำเลยที่ 2 ด้วยสาเหตุไม่ผ่านการทดลองงาน เท่ากับโจทก์ให้จำเลยที่ 2 ทดลองงานต่อไปอีก 20 วัน ตามสัญญานั่นเอง เมื่อโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 2 ในระหว่างทดลองงานอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 2 ไม่ผ่านการทดลองงาน โจทก์จึงต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้จำเลยที่ 2 ทราบเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญกันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป การที่โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 17 ตุลาคม 2545 บอกเลิกจ้างจำเลยที่ 2 โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 25 ตุลาคม 2545 จึงเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้จำเลยที่ 2 และเมื่อจำเลยที่ 2 ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุไม่ผ่านการทดลองงาน จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7922/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: นายจ้างนำพยานหลักฐานเหตุอื่นมาต่อสู้ได้ หากเหตุนั้นเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติลูกจ้าง
ข้อห้ามไม่ให้นายจ้างอ้างเหตุที่ไม่ได้ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างขึ้นต่อสู้ในภายหลังตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสาม นั้น จำกัดอยู่เฉพาะแต่ในเรื่องการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชย ไม่รวมถึงสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ดังนั้น แม้จำเลยจะระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้างว่า โจทก์ไม่สามารถขายสินค้าให้ได้ยอดตามเป้าหมายที่จำเลยกำหนดไว้จำเลยก็สามารถต่อสู้ว่า เพราะโจทก์ไปทะเลาะกับลูกค้าทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เพื่อให้เห็นว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้ และการที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ไม่ผ่านการทดลองงานนั้น ย่อมหมายความว่าโจทก์ไม่มีคุณสมบัติพอที่จำเลยจะให้เป็นพนักงานขายต่อไป ซึ่งรวมถึงความสามารถในการขายสินค้า ความอดกลั้นและการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกค้า จำเลยจึงสามารถนำสืบว่าระหว่างไปทวงหนี้ โจทก์ไปทะเลาะกับลูกค้าเพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ขาดความอดกลั้นและไม่มีมนุษยสัมพันธ์ในการเป็นพนักงานขายที่ดี ซึ่งอยู่ในประเด็นคำให้การของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4440/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นายจ้างสามารถยกเหตุผลขาดทุนแม้ไม่ได้ระบุในหนังสือเลิกจ้างได้
แม้จำเลยจะระบุเหตุในการเลิกจ้างโจทก์ไว้ในหนังสือเลิกจ้างว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร มีการยุบหน่วยงานบางหน่วยซึ่งรวมถึงหน่วยงานของโจทก์และไม่มีตำแหน่งว่างที่เหมาะสมกับคุณสมบัติของโจทก์ในหน่วยงานที่เหลืออยู่ โดยมิได้อ้างเหตุว่าจำเลยประสบภาวะการขาดทุนก็ตาม แต่ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุไว้ในหนังสือบอกเลิกจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสาม นั้น ข้อห้ามดังกล่าวไม่รวมถึงข้อต่อสู้ในกรณีลูกจ้างฟ้องว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมด้วย เนื่องจากการวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 นั้น ศาลจะต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างของนายจ้างว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่ซึ่งอาจไม่ใช่เหตุที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 ก็ได้ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะให้การต่อสู้ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากประสบภาวะการขาดทุน ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3753-3756/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งย้ายงานชอบด้วยกฎหมาย การเลิกจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อลูกจ้างละทิ้งหน้าที่
ก่อนที่จำเลยจะออกคำสั่งให้โจทก์ทั้งสี่ไปปฏิบัติงานที่สาขาโพนพิสัย จำเลยได้เสนอทางเลือกให้โจทก์ทั้งสี่ก่อนแล้วคือให้ไปทำงานกับบริษัทที่รับซื้อกิจการและรับโอนพนักงานของจำเลยที่กรุงเทพมหานครทั้งหมดโดยให้โจทก์ได้รับตำแหน่งเดิม รายได้เท่าเดิม และปฏิบัติงานอยู่สถานที่เดิม หรือย้ายไปประจำที่สาขาโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นกิจการเพียงแห่งเดียวของจำเลยที่เหลืออยู่ หรือลาออกจากบริษัทจำเลย แต่โจทก์ทั้งสี่ไม่เลือกทางใดทางหนึ่ง จำเลยจึงมีความจำเป็นต้องสั่งให้โจทก์ทั้งสี่ไปทำงานที่สาขาอำเภอโพนพิสัยในตำแหน่งเดิม อัตราเงินเดือนเดิม คำสั่งของจำเลยดังกล่าวมิได้เป็นการเลือกปฏิบัติหรือแกล้งโจทก์ทั้งสี่ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่ยอมไปทำงานตามคำสั่งดังกล่าวจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (5) และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1585/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและการเพิกถอนการเลิกจ้างภายหลังพบเหตุฝ่าฝืนสัญญา
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า บริษัท ด. เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นเหตุที่มีอยู่จริงและเป็นเจตนาของนายจ้างที่จะเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวถือไม่ได้ว่านายจ้างเลิกจ้างโจทก์โดยสำคัญผิด และแม้นายจ้างจะพบเหตุอื่นในภายหลังก็ไม่สามารถอ้างเหตุดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างได้อีก ถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้กลฉ้อฉลให้นายจ้างเลิกจ้าง ฉะนั้นการที่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานอุทธรณ์ว่าโจทก์ปกปิดข้อเท็จจริงอันเป็นการฉ้อฉลนายจ้างให้สำคัญผิดเป็นเหตุให้นายจ้างเลิกจ้างโจทก์โดยจ่ายค่าชดเชย จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลางในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54
บริษัท ด. เลิกจ้างโจทก์แล้วสัญญาจ้างแรงงานระหว่างบริษัท ด. กับโจทก์จึงสิ้นสุดลงและมีผลตามกฎหมายตามหนังสือเลิกจ้างเป็นต้นไป บริษัท ด. ไม่อาจใช้สิทธิเพิกถอนการเลิกจ้างนั้นได้อีก แม้ภายหลังบริษัท ด. จะพบเรื่องที่อ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงกรณีโจทก์ร่วมกับพวกก่อตั้งบริษัท อ. ประกอบกิจการแข่งขันกับนายจ้าง ก็จะยกมาเป็นเหตุเลิกจ้างอีกครั้งไม่ได้
of 44