คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พฤษภา พนมยันตร์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 131 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12772/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเช่าเป็นสินสมรส การโอนสิทธิเช่าช่วงไม่จำเป็นต้องมียินยอมจากคู่สมรส
สิทธิการเช่าที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าจาก ป. เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่การโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทด้วยการนำออกให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วง หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะต้องจัดการร่วมกันหรือจะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) ถึง (8) ไม่ เพราะ ป.พ.พ. มาตรา 1476 (3) ห้ามจัดการสินสมรสเพียงฝ่ายเดียวเฉพาะการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรส ซึ่งไม่รวมถึงการจัดการสิทธิการเช่าซึ่งไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์และไม่เป็นทรัพยสิทธิอันจะถือว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ในตัวเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 ด้วย จึงเป็นอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่จะจัดการได้ตามลำพังโดยมิต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 วรรคสอง ดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 จะโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมก็ตาม โจทก์ก็ไม่อาจจะเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11702/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516(4/1) ต้องพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างที่จำเลยถูกจำคุก และต้องฟ้องภายในระยะเวลาที่ความเสียหายนั้นยังคงอยู่
เหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/1) ที่ว่า "สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้" ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควรในระหว่างระยะเวลาที่จำเลยต้องโทษจำคุกและได้ถูกจำคุกเกิน 1 ปี หากจำเลยพ้นโทษจำคุกแล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควรเพราะเหตุจำเลยต้องถูกจำคุกอีกต่อไป เมื่อคดีดังกล่าวจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและต้องโทษจำคุกเป็นเวลาเกิน 1 ปีมาแล้ว โดยความผิดดังกล่าวโจทก์มิได้มีส่วนก่อให้เกิดหรือยินยอมรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ดังนั้นโจทก์ย่อมฟ้องจำเลยด้วยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/1) ได้ แต่โจทก์ฟ้องคดีหลังจากที่จำเลยถูกจำคุกเกิน 1 ปี และพ้นโทษมาแล้วเป็นเวลาถึง 5 ปี ดังนั้นความเสียหายหรือเดือดร้อนของโจทก์จึงยุติลงแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11692/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแลกเปลี่ยนทรัพย์สินระหว่างสมรสมีผลสมบูรณ์ แม้มีบุคคลภายนอกเกี่ยวข้อง และโจทก์ไม่สามารถบอกล้างสัญญาได้
โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายแก่กัน กรณีแม้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในทางทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 อันเป็นคดีครอบครัว แต่การพิจารณาพิพากษาคดีก็ต้องอาศัยหลักกฎหมายในเรื่องนิติกรรมสัญญาและหลักกฎหมายอื่นตาม ป.พ.พ. มาพิจารณาประกอบกัน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์โอนที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นมารดา โดยให้ทำเป็นนิติกรรมซื้อขายกันระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 และโจทก์ทำนิติกรรมขายที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 แล้วถือได้ว่าการแลกเปลี่ยนสินส่วนตัวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีผลสมบูรณ์ แม้รถยนต์ที่ตกลงแลกเปลี่ยนยังคงมีชื่อจำเลยที่ 1 ในทางทะเบียน แต่รถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ต้องจดทะเบียนโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อคู่กรณีมีการตกลงโอนกรรมสิทธิ์แก่กันก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว
แม้การแลกเปลี่ยนทรัพย์สินกันนี้จะมีลักษณะเป็นสัญญาระหว่างสมรส ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันได้ตามป.พ.พ. มาตรา 1469 ก็ตาม แต่สัญญาดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตามมาตรา 374 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้วตามมาตรา 374 วรรคสอง โจทก์จึงไม่อาจบอกล้างสัญญาดังกล่าวซึ่งจะมีผลให้เป็นการระงับสิทธิของจำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11691/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้สินสมรส: การฟ้องซ้ำในประเด็นที่เคยมีคำวินิจฉัยแล้ว
หนี้ระหว่างสมรสที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยร่วมรับผิดคดีนี้เป็นหนี้อันเกิดจากการที่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถว 3 ชั้น เมื่อปี 2532 เพื่อให้จำเลยและบุตรอยู่อาศัยซึ่งระหว่างนั้นโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า ต่อมาเดือนตุลาคม 2543 โจทก์ยืมเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ ตราด จำกัด และเดือนตุลาคม 2546 ยืมเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ ระยอง จำกัด เพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าว ดังนั้น ที่ดินพร้อมตึกแถวจึงเป็นสินสมรสและหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมดังกล่าวถือว่าเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรสที่โจทก์และจำเลยเป็นลูกหนี้ร่วมกันและต้องรับผิดร่วมกัน ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องแย้งให้จำเลยร่วมรับผิดในคดีก่อนได้อยู่แล้ว เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องในเรื่องเกี่ยวกับการแบ่งสินสมรสในคดีก่อนที่โจทก์อาจดำเนินคดีได้ไปในคราวเดียวกัน การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขณะที่คดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10194/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คพิพาท - สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไม่ปิดอากรแสตมป์ ไม่กระทบความผิดอาญา
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานไม่ได้ ซึ่งห้ามเฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้นำตราสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อขายที่ดินส่วนที่เหลือ โดยมีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาแสดง ก็ถือว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ความประสงค์หรือเจตนาแสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคล คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อที่ดิน โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เป็นการร่วมกันกระทำความผิด จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างได้ว่าไม่มีเจตนาออกเช็คพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8980/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้เช่าซื้อร้องทุกข์คดียักยอกรถ และอำนาจฟ้องของโจทก์ร่วม
แม้โจทก์ร่วมเป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถ แต่ผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อและมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องส่งคืน เมื่อมีผู้ยักยอกรถนั้นไป โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหาย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อ และการที่ผู้ให้เช่าซื้อมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ก็ถือได้ว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย ดังนั้น ไม่ว่าผู้ลงชื่อในฐานะผู้ให้เช่าซื้อในหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์จะเป็นผู้มีอำนาจลงชื่อหรือเป็นเจ้าของรถที่แท้จริงหรือไม่ และหนังสือมอบอำนาจมีข้อความถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่มีผลลบล้างการที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหาย แม้โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำบันทึกและหลักฐานการรับคำร้องทุกข์มานำสืบ แต่จำเลยก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์จริง กรณีจึงถือได้ว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์โดยชอบ พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7462/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกตามพินัยกรรม: พินัยกรรมฉบับแรกยังสมบูรณ์ แม้มีพินัยกรรมฉบับหลัง ทายาทโดยธรรมไม่มีสิทธิในทรัพย์สินที่ระบุในพินัยกรรม
ในคดีก่อนซึ่งโจทก์ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและจำเลยกับ พ. คัดค้านนั้น มีประเด็นสำคัญในคดีเพียงว่า ผู้ใดสมควรเป็นผู้จัดการมรดก ไม่ได้พิพาทเรื่องข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินในพินัยกรรม แม้โจทก์จำเลยจะเป็นคู่ความเดียวกัน คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวก็ไม่ผูกพันคดีนี้ และศาลในคดีนี้ก็พิจารณาพิพากษาได้ว่า ข้อกำหนดในพินัยกรรมฉบับแรกถูกเพิกถอนไปแล้วหรือไม่
พินัยกรรมฉบับแรก ผู้ทำพินัยกรรมยกที่ดิน 4 แปลง และบ้านให้แก่จำเลยกับพี่น้องของผู้ทำพินัยกรรม และระบุตัดทายาทอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมไม่ให้รับมรดก พินัยกรรมฉบับที่ 2 ผู้ทำพินัยกรรมยกที่ดินอีก 3 แปลง ซึ่งไม่ใช่ที่ดินที่ระบุในพินัยกรรมฉบับแรกให้พี่น้องของผู้ทำพินัยกรรม เมื่อพินัยกรรมฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นพินัยกรรมฉบับหลังไม่มีข้อความให้เพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรกหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมฉบับแรก จึงต้องถือว่าพินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมฉบับแรกยังคงมีอยู่ และกรณีไม่ใช่พินัยกรรมฉบับก่อนและฉบับหลังขัดกัน เมื่อพินัยกรรมฉบับแรกสมบูรณ์ ทรัพย์สินในพินัยกรรมฉบับแรกจึงไม่ใช่ทรัพย์สินนอกพินัยกรรมฉบับที่ 2 แต่เป็นการที่ผู้ตายกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินแต่ละรายไว้ในพินัยกรรมแต่ละฉบับ โจทก์แม้เป็นทายาทโดยธรรมแต่ไม่ใช่ผู้รับพินัยกรรมจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ทำพินัยกรรมในส่วนที่ไม่ได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6838/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันบันทึกข้อตกลงแบ่งมรดกต่อทายาทและบุคคลภายนอก กรณีการทำนิติกรรมโดยผู้เยาว์
หลังจากที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ว. ทายาทคนหนึ่งของเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของ ว. จึงตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้สืบสิทธิชั้นบุตรและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยา หลังจากนั้นได้มีการทำข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกระหว่างผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 2 โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของเจ้ามรดกให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาท ว. ซึ่งในวันที่ทำบันทึกแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ปรากฏว่าผู้จัดการมรดกกระทำโดยมิชอบหรือทำผิดหน้าที่หรือทำเกินอำนาจหน้าที่ผู้จัดการมรดกแต่ประการใด จึงเป็นสิทธิของผู้จัดการมรดกที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกทำกิจการในขอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1724 บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงมีผลผูกพันทายาททั้งหมดของเจ้ามรดก รวมทั้งโจทก์ด้วย จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นทายาทของเจ้ามรดกทั้งไม่ใช่ทายาทผู้เข้ารับมรดกแทนที่ ว. เป็นเพียงทายาทของ ว. ซึ่งมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกที่ตกได้แก่ ว. เท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1724
แม้บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกจะมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) ที่ผู้แทนโดยชอบธรรมจะกระทำแทนผู้เยาว์ไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต และจำเลยที่ 2 ได้กระทำบันทึกดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์โดยไม่ได้ขออนุญาตศาลอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม แต่การขออนุญาตศาลหรือไม่ ไม่ใช่แบบของนิติกรรมและกฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะกรรม ทั้งการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้แทนโดยชอบธรรมทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามมาตรา 1574 ไม่ได้ เว้นแต่ศาลอนุญาตนั้น เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์ให้ศาลเป็นผู้กำกับดูแลผลประโยชน์ส่วนได้เสียของผู้เยาว์ โดยดูแลให้ผู้แทนโดยชอบธรรมปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์อย่างถูกต้องแท้จริงเท่านั้น นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ถึงขนาดตกเป็นโมฆะกรรม คงมีผลเพียงไม่ผูกพันผู้เยาว์ที่บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) เมื่อบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ตกเป็นโมฆะอันจะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดก็สามารถยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง แต่มีผลเพียงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่จะยกการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างเพื่อมิให้ตนต้องผูกพันตามบันทึกดังกล่าวได้ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อเพิกถอนบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1044/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวความผิดหลายบท: การพิจารณาโทษอาญาจากพฤติการณ์ต่อเนื่อง
แม้โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืนโดยใช้กำลังประทุษร้ายกับความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ เป็นความผิดหลายกรรม และจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ซึ่งศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตามที่จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดหลายกรรมโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์สืบพยานหลักฐานในข้อหาพยายามฆ่าแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายที่ 4 แล้วทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ทันที ซึ่งเป็นการกระทำต่อเนื่องในคราวเดียวกันอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 90 มิใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาตามที่พิจารณาได้ ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10957/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเฉลี่ยทรัพย์หลังยึดทรัพย์ชำระหนี้: ศาลพิจารณาจากทรัพย์สินที่ลูกหนี้มีจริงและสิทธิในการรับชำระหนี้
ในวันนัดไต่สวนคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความแล้วจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าผู้ร้องแถลงว่า จำเลยมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก ส่วนโจทก์แถลงว่า จำเลยมีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องสามารถยึดทรัพย์มาชำระหนี้ได้ ปรากฏตามคำแถลงบัญชีรายละเอียดที่โจทก์ได้ยื่นประกอบคำคัดค้านไว้ เมื่อเอกสารที่โจทก์อ้างดังกล่าวเป็นเอกสารที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินต่าง ๆ ของฝ่ายจำเลย ประกอบด้วยสำเนาโฉนดที่ดิน สำเนาหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดและภาพถ่ายอาคารจำนวนมาก ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความและนำรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งหมดในเอกสารมาประกอบการพิจารณาแล้ววินิจฉัยทำคำสั่งไปนั้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการไต่สวนแล้ว มิใช่แต่เฉพาะว่าการสืบพยานบุคคลเท่านั้นที่จะเป็นการไต่สวน และหากจะให้คู่ความนำพยานเข้าไต่สวนก็จะไม่ได้ข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากการสอบถามของศาลดังกล่าว และไม่อาจทำให้ประเด็นที่มีคำสั่งเปลี่ยนไป ศาลชั้นต้นจึงย่อมมีอำนาจนำข้อเท็จจริงที่ได้มารับฟังประกอบดุลพินิจทำคำสั่งได้ตามที่เห็นสมควรโดยไม่จำต้องสืบพยาน
of 14