คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ม. 23

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8941/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: กรอบเวลา 10 ปี, การแจ้งเหตุผลเพิ่มเติม, และการประเมินค่ารายปี
โรงเรียนที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (3) จะต้องเป็นโรงเรียนสาธารณะ ซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล และต้องใช้ในการศึกษาเท่านั้น โรงเรียนของโจทก์เก็บค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าธรรมเนียมอื่นและค่าใช้จ่ายอื่น ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล โรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กของโจทก์จึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลและใช้เฉพาะในการศึกษาจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามมาตรา 9 (3)
ศาสนสมบัติที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (4) จะต้องใช้เฉพาะในศาสนกิจเท่านั้นไม่อาจใช้ในการอื่นได้ โรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กของโจทก์ได้สอนความรู้ทางวิชาการด้วย ไม่ได้ใช้เฉพาะด้านศาสนกิจเพียงอย่างเดียว โรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กของโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามมาตรา 9 (4)
โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ประจำปีภาษี 2538 ถึงปีภาษี 2547 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2547 ซึ่งตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18 และ 19 กำหนดให้ผู้รับประเมินมีหน้าที่ยื่นแบบแจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ยื่นแบบพิมพ์แสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (1) ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นแบบพิมพ์ตามมาตรา 19 คือนับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ในแต่ละปี พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินไปถึงโจทก์เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2548 แม้โจทก์เคยฟ้องจำเลยเกี่ยวกับการประเมินดังกล่าวมาแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 81/2555 ของศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งศาลดังกล่าวพิพากษาให้เพิกถอนการแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน เนื่องจากใบแจ้งรายการประเมินขาดรายละเอียด เหตุผล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาดังกล่าวแล้วก็ตาม ก็เห็นได้ว่า ศาลภาษีอากรกลางมิได้พิพากษาเพิกถอนการประเมินอันเป็นคำสั่งทางปกครองแต่อย่างใด และแม้การประเมินภาษีโรงเรือนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จะไม่ได้จัดให้มีเหตุผลตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางดังกล่าว ก็มีผลให้จำเลยที่ 1 สามารถจัดให้มีเหตุผลและแจ้งให้โจทก์ทราบในภายหลังได้ โดยไม่มีข้อจำกัดที่ต้องกระทำก่อนจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดที่ถูกเพิกถอนไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 จัดให้มีเหตุผลและแจ้งให้โจทก์ทราบภายหลังย่อมมีผลให้ถือว่า การประเมินครั้งแรกที่แจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2548 ที่ขาดเหตุผลมาแต่เดิมนั้นไม่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่สมบูรณ์ ถือได้ว่าการประเมินดังกล่าวสมบูรณ์มาแต่เดิมแล้ว การนับระยะเวลาในการประเมินย้อนหลังไม่เกิน 10 ปี ตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (1) จึงนับจากวันที่ประเมินภาษีครั้งแรก ทั้งระยะเวลาย้อนหลังได้ไม่เกิน 10 ปี ก็เป็นเพียงระยะเวลาที่เป็นกรอบเวลาในการใช้อำนาจในการประเมินของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิใช่อายุความ การประเมินภาษีสำหรับปีภาษี 2538 จึงเกินกำหนด 10 ปี แล้ว ส่วนปีภาษี 2539 ถึงปีภาษี 2547 นั้น ไม่เกินกำหนดเวลาตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (1) พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจประเมินย้อนหลังได้
มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มิใช่บทบัญญัติบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามทุกกรณีไป เพียงแต่หากพนักงานเจ้าหน้าที่ประสงค์จะได้รับความสะดวกตามสมควรในการตรวจตรา ก็ควรจะแจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประเมินทราบก่อน
เมื่อศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 81/2555 แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งรายการประเมินมายังโจทก์เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 และต่อมาได้มีการแจ้งเหตุผลเพิ่มเติมตามใบแจ้งรายการประเมินลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 เมื่อคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางดังกล่าวมิได้เพิกถอนการประเมินอันเป็นคำสั่งทางปกครอง และมีผลให้จำเลยที่ 1 สามารถจัดให้มีเหตุผลและแจ้งให้โจทก์ทราบในภายหลังได้ โดยไม่มีข้อจำกัดที่ต้องกระทำก่อนจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดที่ถูกเพิกถอนไปแล้ว ใบแนบใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.8) เพิ่มเติมดังกล่าวจึงเป็นการจัดให้มีเหตุผลในภายหลังโดยกระทำก่อนสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ ตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ใบแจ้งรายการประเมินตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 (ภ.ร.ด.8) จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 แล้ว
การกำหนดค่ารายปีต้องเป็นไปตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เมื่อโรงเรือนของโจทก์เป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมประเมินค่ารายปีโดยเทียบเคียงกับโรงเรือนเลขที่ 70/32 ซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนเช่นเดียวกับโรงเรือนของโจทก์และอยู่ในทำเลที่ใกล้เคียงกับโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3899/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน การพิจารณาคำร้อง และการคืนค่าขึ้นศาลที่ชำระเกิน
โจทก์ผู้รับประเมินนำค่ารายปีของทรัพย์สินที่ใช้ในปี 2545 มายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2546 ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการประเมินและแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระมายังโจทก์ตาม มาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ภาษีดังกล่าวเรียกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2546
ในปีภาษี 2546 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่าภาษีห้องพักและบ้านพักตามอัตราค่าเช่าที่โจทก์ระบุในแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ซึ่งเท่ากับค่าภาษีของห้องพักและบ้านพัก ตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ประจำปี 2545 ถือว่าจำเลยที่ 1 นำค่าภาษีที่ล่วงแล้วมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีที่จะต้องเสียภาษีในปีต่อมาตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475
มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มิใช่บทบัญญัติบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามทุกกรณี เพียงแต่หากพนักงานเจ้าหน้าที่ประสงค์ที่จะได้รับความสะดวกตามสมควรในการตรวจตรา ก็ควรจะแจ้งให้ผู้รับประเมินผู้เช่าหรือผู้ครองทราบก่อน
จำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ประจำปี 2546 ซึ่งจำเลยที่ 2 ประธานกรรมการบริหารส่วนตำบลจำเลยที่ 1 แต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณากลั่นกรองตรวจสอบและเสนอข้อคิดเห็นและพิจารณาความเห็นอื่นตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย จำเลยที่ 2 ประธานกรรมการบริหารจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจแจ้งคำชี้ขาดแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 25 ถึง 30 แสดงว่า การเข้าร่วมประชุมของจำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นการที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ เป็นการช่วยกลั่นกรองตรวจสอบและเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย ไม่มีผลบังคับผูกพันประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลให้ต้องถือตามและกฎหมายดังกล่าวก็มิได้กำหนดองค์ประกอบ หรือองค์ประชุมของคณะกรรมการดังกล่าวไว้ แม้จำเลยที่ 4 จะมิได้เข้าร่วมประชุม แต่รับว่าได้ลงลายมือชื่อเป็นกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่และรับรองรายงานการประชุมโดยมิได้โต้แย้ง จึงไม่ถึงกับทำให้ความเห็นของคณะกรรมการตามรายงานการประชุมเสียไป จำเลยที่ 2 มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจและตัดสินใจที่จะชี้ขาดด้วยตนเองโดยไม่จำต้องชี้ขาดตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องชุดดังกล่าว คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยกฎหมาย
ปัญหาว่าหนังสือแจ้งการประเมินและคำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือจะต้องแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หรือไม่นั้นต้องพิจารณาถึงกรณีอันเป็นเหตุให้คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือไม่ต้องแสดงเหตุผลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 37 วรรคสาม (1) ถึง (4) ประกอบด้วยโดยเฉพาะกรณีตาม (2) ที่ว่า เหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก การที่เหตุผลนั้นจะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริงแต่โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง และมิใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 225 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่วินิจฉัยให้
อนี่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินแลคะคำชี้ขาดที่ให้โจทก์ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 เป็นเงิน 988,017.45 บาท อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะสูงเกินไป โดยโจทก์เห็นว่าควรมีค่าภาษีเพียง 385,146 บาท และขอให้คืนส่วนที่เกินจำนวน 602,871.45 บาท แก่โจทก์จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์จำนวน 602,871.45 บาท คิดเป็นค่าขึ้นศาล 15,072.50 บาท แต่โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลในชั้นศาลภาษีอากรกลางและชั้นอุทธรณ์มาศาลละ 24,700 บาท เกินมาทั้งสองชั้นศาล รวมเป็นเงิน 19,255 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนจำเลยทั้งห้า คืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาจำนวน 19,255 บาท แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3899/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: การพิจารณาข้อเท็จจริงและดุลพินิจของเจ้าพนักงาน
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 18 และ 19 กำหนดให้ผู้รับประเมินหรือบุคคลผู้พึงชำระค่าภาษีมีหน้าที่ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ โดยนำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วนับเป็นหลักในการคำนวณภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา เมื่อโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินซึ่งพิมพ์ข้อความว่าประจำปีภาษี 2546 โดยโจทก์ผู้รับประเมินแจ้งรายการทรัพย์สินที่โจทก์ใช้ในปี 2545 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ทำการประเมินและแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระ ภาษีดังกล่าวเรียกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 ดังนั้น ที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 สำหรับทรัพย์สินที่ใช้ในปี 2545 นั้น จึงชอบแล้ว
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 23 บัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะเข้าไปตรวจตราทรัพย์สินได้ด้วยตนเองต่อหน้าผู้รับประเมิน ผู้เช่าหรือผู้ครองหรือผู้แทน... ในการนี้ผู้รับประเมิน ผู้เช่า หรือผู้ครองจะต้องได้รับแจ้งความเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบไม่ต่ำกว่าสี่สิบแปดชั่วโมงก่อนตรวจนั้น มิใช่บทบัญญัติบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามทุกกรณีไป เพียงแต่หากพนักงานเจ้าหน้าที่ประสงค์ที่จะได้รับความสะดวกตามสมควรในการตรวจตราก็ควรจะแจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประเมินทราบก่อนทำการตรวจ ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามมาตราดังกล่าว จึงไม่ถึงกับทำให้การประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจและตัดสินใจที่จะชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีใหม่นั้นด้วยตนเองโดยไม่จำต้องชี้ขาดตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ที่ทำหน้าที่ช่วยกลั่นกรองตรวจสอบและเสนอข้อคิดเห็นอันเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมายซึ่งไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยกฎหมาย
กรณีคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือจะต้องแสดงเหตุผลตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 37 วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงกรณีอันเป็นเหตุให้คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือไม่ต้องแสดงเหตุผลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 37 วรรคสาม (1) ถึง (4) ประกอบด้วยกรณีที่ว่าเหตุผล (ที่ต้องแสดง) นั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก การที่เหตุผลนั้นจะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วหรือไม่ย่อมเป็นปัญหาข้อเท็จจริง กรณีนี้โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ทั้งมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1527/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินตามหลักเกณฑ์กฎหมายและหนังสือสั่งการของกรุงเทพมหานคร
ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพุทธศักราช 2475 มาตรา 18 หมายความถึงค่ารายปี ของปี ก่อนถัดจากปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำลังประเมิน มิใช่ หมายความ ถึงค่ารายปีของปีก่อน ๆ นั้นขึ้นไป ทั้งกฎหมายก็มิได้ มีความหมายว่าให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นค่ารายปีของปีต่อมาโดยตรงเป็นเพียงแต่นำมาเป็นหลักการคำนวณเท่านั้นเพราะค่ารายปีในปีต่อมาอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงแล้วแต่พฤติการณ์และความเป็นจริง การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของโรงงานโจทก์พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินได้ปฏิบัติไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และตามหนังสือสั่งการของกรุงเทพมหานคร ทั้งเป็นการให้ความ เป็นธรรมแก่โจทก์โดยส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบเกี่ยวกับขนาด สภาพโรงงานของโจทก์เพื่อจะนำมาพิจารณาเทียบกัน พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินมิได้กระทำการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์เพิ่มขึ้นตามใจชอบ โดยไม่มีหลักเกณฑ์และการปรับค่ารายปีนั้นพนักงานประเมินก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นแต่ละปีมิได้เพิ่มขึ้นครั้งเดียวให้ถึงอัตราที่อยู่ในอัตราเดียวกับบริษัทอื่น ๆ เมื่อพนักงานประเมินปรับค่ารายปีของโจทก์อยู่ในระดับเดียวกับบริษัทอื่น ๆ แล้วพนักงานประเมินก็มิได้เพิ่มค่ารายปีและจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์เพิ่มขึ้น ดังนั้นการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์เพิ่มขึ้นทุกปีดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อพิรุธทำให้เห็นว่าการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินเป็นไปโดยมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1527/2531 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน การปรับค่ารายปีตามหลักเกณฑ์และสภาพจริง
ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพุทธศักราช 2475 มาตรา 18 หมายความถึงค่ารายปีของปีก่อนถัดจากปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำลังประเมิน มิใช่หมายความถึงค่ารายปีของปีก่อน ๆ นั้นขึ้นไป ทั้งกฎหมายก็มิได้มีความหมายว่าให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นค่ารายปีของปีต่อมาโดยตรงเป็นเพียงแต่นำมาเป็นหลักการคำนวณเท่านั้น เพราะค่ารายปีในปีต่อมาอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงแล้วแต่พฤติการณ์และความเป็นจริง
การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของโรงงานโจทก์ พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินได้ปฏิบัติไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และตามหนังสือสั่งการของกรุงเทพมหานคร ทั้งเป็นการให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์โดยส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบเกี่ยวกับขนาด สภาพโรงงานของโจทก์เพื่อจะนำมาพิจารณาเทียบกัน พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินมิได้กระทำการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์เพิ่มขึ้นตามใจชอบ โดยไม่มีหลักเกณฑ์และการปรับค่ารายปีนั้นพนักงานประเมินก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นแต่ละปีมิได้เพิ่มขึ้นครั้งเดียวให้ถึงอัตราที่อยู่ในอัตราเดียวกับบริษัทอื่น ๆ เมื่อพนักงานประเมินปรับค่ารายปีของโจทก์อยู่ในระดับเดียวกับบริษัทอื่น ๆ แล้ว พนักงานประเมินก็มิได้เพิ่มค่ารายปีและจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์เพิ่มขึ้น ดังนั้นการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์เพิ่มขึ้นทุกปีดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อพิรุธทำให้เห็นว่าการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินเป็นไปโดยมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 109/2517

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: เจ้าหน้าที่สามารถปรับค่ารายปีตามพฤติการณ์จริงได้ แม้มีค่ารายปีเดิม
การคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดินซึ่งต้องเสียในปีต่อมานั้นไม่จำต้องถือค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วแต่อย่างเดียวเป็นหลักพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินมีอำนาจที่จะแก้หรือคำนวณค่ารายปีของปีต่อมาเสียให้ถูกต้องตามพฤติการณ์และความเป็นจริงได้เมื่อโจทก์ได้ใช้ประโยชน์อาคารเพิ่มขึ้นจากชั้นเดียวเป็นสามชั้นค่ารายปีแห่งทรัพย์สินก็ย่อมเพิ่มขึ้นตามตัว
อาคารของโจทก์ โจทก์ใช้ประโยชน์เองโดยมิได้ให้ผู้อื่นเช่าการที่จะทราบถึงจำนวนเงินซึ่งอาคารของโจทก์สมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ อันถือเป็นค่ารายปีนั้นจะต้องพิจารณาเทียบเคียงกับทรัพย์สินอื่นที่มีผู้เช่าอยู่และอยู่ใกล้เคียงกัน ทั้งมีสภาพและลักษณะคล้ายคลึงกันด้วย