คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ม. 24

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 20 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5449/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินย้อนหลังที่ไม่สมเหตุสมผล โดยอ้างอิงราคามาตรฐานที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและราคาตลาด
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 30 บัญญัติว่า การแจ้งคำชี้ขาดไปยังผู้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติให้มีแบบพิมพ์หรือต้องทำในลักษณะใด เมื่อพิจารณาหนังสือของจำเลยฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2558 เป็นเรื่องแจ้งผลการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ถึงผู้จัดการของโจทก์ แม้หนังสือฉบับดังกล่าวลงชื่อโดยปลัดเทศบาลของจำเลย แต่ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการลงชื่อในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนนายกเทศมนตรีของจำเลย เมื่อหนังสือฉบับนี้ได้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าจำเลยได้พิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่แล้วมีมติให้จัดเก็บตามการแจ้งประเมิน จึงถือได้ว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการแจ้งคำชี้ขาดที่นายกเทศมนตรีของจำเลยแจ้งไปยังโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรตามมาตรา 30 และถือได้ในทำนองเดียวกันว่าได้?มีการวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านหรือคำอุทธรณ์นั้นเสร็จสิ้นแล้ว อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องยื่นฟ้องคดีนี้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา 31 ส่วนที่นายกเทศมนตรีของจำเลยมีหนังสือในครั้งหลังแจ้งคำชี้ขาดพร้อมกับส่งใบแจ้งคำชี้ขาด ตามมาตรา 30 อันเป็นการแจ้งคำชี้ขาดที่มีการนำแบบพิมพ์ ภ.ร.ด. 11 มาใช้ แต่หาได้มีการยกเลิกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขความที่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบตามหนังสือฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2558 ในครั้งแรกนั้นไม่ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดตามใบแจ้งคำชี้ขาดฉบับแรกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8941/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: กรอบเวลา 10 ปี, การแจ้งเหตุผลเพิ่มเติม, และการประเมินค่ารายปี
โรงเรียนที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (3) จะต้องเป็นโรงเรียนสาธารณะ ซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล และต้องใช้ในการศึกษาเท่านั้น โรงเรียนของโจทก์เก็บค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าธรรมเนียมอื่นและค่าใช้จ่ายอื่น ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล โรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กของโจทก์จึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลและใช้เฉพาะในการศึกษาจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามมาตรา 9 (3)
ศาสนสมบัติที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (4) จะต้องใช้เฉพาะในศาสนกิจเท่านั้นไม่อาจใช้ในการอื่นได้ โรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กของโจทก์ได้สอนความรู้ทางวิชาการด้วย ไม่ได้ใช้เฉพาะด้านศาสนกิจเพียงอย่างเดียว โรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กของโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามมาตรา 9 (4)
โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ประจำปีภาษี 2538 ถึงปีภาษี 2547 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2547 ซึ่งตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18 และ 19 กำหนดให้ผู้รับประเมินมีหน้าที่ยื่นแบบแจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ยื่นแบบพิมพ์แสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (1) ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นแบบพิมพ์ตามมาตรา 19 คือนับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ในแต่ละปี พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินไปถึงโจทก์เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2548 แม้โจทก์เคยฟ้องจำเลยเกี่ยวกับการประเมินดังกล่าวมาแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 81/2555 ของศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งศาลดังกล่าวพิพากษาให้เพิกถอนการแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน เนื่องจากใบแจ้งรายการประเมินขาดรายละเอียด เหตุผล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาดังกล่าวแล้วก็ตาม ก็เห็นได้ว่า ศาลภาษีอากรกลางมิได้พิพากษาเพิกถอนการประเมินอันเป็นคำสั่งทางปกครองแต่อย่างใด และแม้การประเมินภาษีโรงเรือนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จะไม่ได้จัดให้มีเหตุผลตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางดังกล่าว ก็มีผลให้จำเลยที่ 1 สามารถจัดให้มีเหตุผลและแจ้งให้โจทก์ทราบในภายหลังได้ โดยไม่มีข้อจำกัดที่ต้องกระทำก่อนจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดที่ถูกเพิกถอนไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 จัดให้มีเหตุผลและแจ้งให้โจทก์ทราบภายหลังย่อมมีผลให้ถือว่า การประเมินครั้งแรกที่แจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2548 ที่ขาดเหตุผลมาแต่เดิมนั้นไม่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่สมบูรณ์ ถือได้ว่าการประเมินดังกล่าวสมบูรณ์มาแต่เดิมแล้ว การนับระยะเวลาในการประเมินย้อนหลังไม่เกิน 10 ปี ตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (1) จึงนับจากวันที่ประเมินภาษีครั้งแรก ทั้งระยะเวลาย้อนหลังได้ไม่เกิน 10 ปี ก็เป็นเพียงระยะเวลาที่เป็นกรอบเวลาในการใช้อำนาจในการประเมินของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิใช่อายุความ การประเมินภาษีสำหรับปีภาษี 2538 จึงเกินกำหนด 10 ปี แล้ว ส่วนปีภาษี 2539 ถึงปีภาษี 2547 นั้น ไม่เกินกำหนดเวลาตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (1) พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจประเมินย้อนหลังได้
มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มิใช่บทบัญญัติบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามทุกกรณีไป เพียงแต่หากพนักงานเจ้าหน้าที่ประสงค์จะได้รับความสะดวกตามสมควรในการตรวจตรา ก็ควรจะแจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประเมินทราบก่อน
เมื่อศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 81/2555 แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งรายการประเมินมายังโจทก์เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 และต่อมาได้มีการแจ้งเหตุผลเพิ่มเติมตามใบแจ้งรายการประเมินลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 เมื่อคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางดังกล่าวมิได้เพิกถอนการประเมินอันเป็นคำสั่งทางปกครอง และมีผลให้จำเลยที่ 1 สามารถจัดให้มีเหตุผลและแจ้งให้โจทก์ทราบในภายหลังได้ โดยไม่มีข้อจำกัดที่ต้องกระทำก่อนจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดที่ถูกเพิกถอนไปแล้ว ใบแนบใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.8) เพิ่มเติมดังกล่าวจึงเป็นการจัดให้มีเหตุผลในภายหลังโดยกระทำก่อนสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ ตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ใบแจ้งรายการประเมินตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 (ภ.ร.ด.8) จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 แล้ว
การกำหนดค่ารายปีต้องเป็นไปตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เมื่อโรงเรือนของโจทก์เป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมประเมินค่ารายปีโดยเทียบเคียงกับโรงเรือนเลขที่ 70/32 ซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนเช่นเดียวกับโรงเรือนของโจทก์และอยู่ในทำเลที่ใกล้เคียงกับโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5430/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน: การประเมินค่ารายปีต้องเป็นไปตามกฎหมาย และการท่าเรือฯ ต้องดำเนินการตามขั้นตอนก่อนฟ้อง
โจทก์ฟ้องขอคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยอ้างว่า ท่าเทียบเรือบี 3 เป็นทรัพย์สินของ กทท. ที่ใช้ในกิจการสาธารณะโดยตรง ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในภาค 1 ของ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ จึงเป็นหน้าที่ของ กทท. ในฐานะผู้รับประเมินที่จะต้องจัดทำคำขอยกเว้นภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อที่พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนให้แน่นอนก่อนว่าทรัพย์สินที่พิพาทควรได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่ หากพนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งยกคำขอ กทท. ก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาชี้ขาดและฟ้องคดีต่อศาลตามลำดับตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 และมาตรา 31 เมื่อไม่ปรากฏว่า กทท. ได้ยื่นคำร้องขอยกเว้นภาษี พนักงานเจ้าหน้าที่จึงยังมิได้สอบสวนว่าทรัพย์สินนั้นควรจะได้รับยกเว้นหรือไม่ และการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ในคดีนี้ก็เป็นการโต้แย้งการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 24 มิใช่การยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาคำชี้ขาดของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 และมาตรา 26 ที่สืบเนื่องมาจากการขอยกเว้นค่าภาษีตามมาตรา 33 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยกปัญหานี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางเพื่อโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่พิพาทได้รับยกเว้นภาษีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 33 และมาตรา 34 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และมาตรา 246
ปัญหาว่าค่ารายปีควรเป็นเท่าใดนั้น เป็นกรณีที่โจทก์เห็นว่า จำนวนเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินและจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดยืนตามการประเมินนั้นมีจำนวนสูงเกินสมควร กทท. จึงต้องนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 31 วรรคท้าย แต่ไม่ปรากฏว่า กทท. นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ดังนั้น เมื่อ กทท. ยังไม่ดำเนินการตามมาตรา 31 วรรคท้าย กทท.และโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1442/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินเกิน 5 ปีนับจากวันยื่นแบบฯ เป็นการประเมินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับห้องชุดพิพาทประจำปี 2540 ถึง 2549 ต่อกรุงเทพมหานครจำเลยตามกำหนดเวลาของกฎหมาย จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2548 โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2548 สำหรับห้องชุดพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลย พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจสอบสมุดทะเบียนภาษีโรงเรือนและที่ดินแล้วปรากฏว่าห้องชุดพิพาทยังไม่เคยมีการยื่นเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน คำให้การในตอนแรกนี้จำเลยเพียงแต่ต่อสู้ว่า โจทก์ยังมิได้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินเท่านั้น มิได้ต่อสู้ว่าโจทก์ยังไม่ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน นอกจากนี้จำเลยยังให้การต่อไปว่า ในเดือนธันวาคม 2549 สำนักงานเขตคลองเตยได้จัดกิจกรรมทำความสะอาดครั้งใหญ่จึงพบเอกสารแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ก่อนปีภาษี 2548 บางปี โดยจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินก่อนปีภาษี 2548 ที่พบเป็นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีใด และมิใช่ปี 2540 ถึง 2544 ที่พิพาทหรือไม่ คำให้การของจำเลยจึงเป็นคำให้การที่ไม่ชอบ ถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับห้องชุดพิพาทประจำปีภาษี 2540 ถึง 2544 ต่อจำเลยตามกำหนดเวลาของกฎหมายแล้ว คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉันว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2540 ถึง 2544 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีภาษีหรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะอุทธรณ์ตามกฎหมาย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีพิพาทภายในกำหนดเวลาตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 19 แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องประเมินค่ารายปีและค่าภาษีแจ้งไปยังโจทก์ภายใน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปีที่โจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไว้ ไม่ว่าการประเมินนั้นจะเป็นเพราะโจทก์แจ้งค่ารายปีไม่ถูกต้อง หรือมีทรัพย์สินบางรายการต้องนำมาคำนวณเพิ่มเติม หรือเพราะโจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไว้ถูกต้อง แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยยังมิได้ดำเนินการประเมิน
สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรแม้จะมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 แต่การที่จำเลยจะใช้สิทธิเรียกร้องเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจากโจทก์ กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการแจ้งรายการประเมินไปยังโจทก์ก่อน การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยแจ้งรายการประเมินไปยังโจทก์ย้อนหลังเกิน 5 ปี นับแต่วันสุดท้าของเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปีภาษีพิพาทที่โจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไว้เป็นการประเมินเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (2) เป็นผลให้การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำชี้ขาดยืนตามการประเมินของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่จำเลยแม้จะยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1442/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินต้องแจ้งประเมินภายใน 5 ปี นับจากวันยื่นแบบพิมพ์ หากเกินกำหนด การประเมินเป็นโมฆะ
จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินก่อนปี 2548 ที่พบเป็นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีใด และมิใช่ปี 2540 ถึง 2544 ที่พิพาทหรือไม่ คำให้การของจำเลยจึงไม่แสดงโดยชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือบางส่วนเป็นคำให้การที่ไม่ชอบ ถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับห้องชุดพิพาทประจำปีภาษี 2540 ถึง 2544 ต่อจำเลยตามกำหนดเวลาของกฎหมายแล้ว คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉันว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีพิพาทต่อจำเลยภายในกำหนดหรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะอุทธรณ์ตามกฎหมายอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีพิพาทภายในกำหนดเวลาตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 19 แล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องประเมินค่ารายปีและค่าภาษีแจ้งไปยังโจทก์ภายใน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปีที่โจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไว้ ไม่ว่าการประเมินนั้นจะเป็นเพราะโจทก์แจ้งค่ารายปีไม่ถูกต้อง หรือมีทรัพย์สินบางรายการต้องนำมาคำนวณเพิ่มเติมหรือเพราะโจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไว้ถูกต้อง แต่จำเลยยังมิได้ดำเนินการประเมินก็ตาม แม้สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรจะมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 แต่การที่จำเลยจะใช้สิทธิเรียกร้องเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจากโจทก์ในกรณีนี้ได้ กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการแจ้งรายการประเมินไปยังโจทก์ก่อน เมื่อจำเลยแจ้งรายการประเมินไปยังโจทก์เกิน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปีภาษีพิพาทที่โจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไว้ เป็นการประเมินเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (2) เป็นผลให้การประเมินและคำชี้ขาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4402/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการยื่นคำร้องขอพิจารณาภาษีโรงเรือนและที่ดินสงวนไว้สำหรับผู้รับประเมิน เจ้าของทรัพย์สิน การชำระภาษีตามสัญญาเช่าไม่ทำให้มีอำนาจดังกล่าว
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 25 บัญญัติให้ผู้รับประเมินที่ไม่พอใจในการประเมินอาจยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า บริษัท ซ. เจ้าของโรงเรือนและที่ดินดังกล่าวเป็นผู้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีพิพาท และพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งรายการประเมินไปยังบริษัท ซ. อันเป็นการแจ้งรายการประเมินแก่ผู้รับประเมินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 24 แล้ว ดังนั้นผู้รับประเมินที่อาจยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จึงหมายถึงบริษัท ซ. แม้โจทก์จะมีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามสัญญาเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โจทก์ก็ไม่เป็นผู้รับประเมินในกรณีนี้และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ทั้งตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 37 ก็บัญญัติให้ผู้รับประเมินที่จะต้องลงนามในแบบพิมพ์ใดจะให้ตัวแทนลงนามแทนก็ได้ โดยต้องมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อโจทก์ยื่นแบบพิมพ์คำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 9) ในนามของตนเองโดยบริษัท ซ. ผู้รับประเมินไม่ได้มอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ลงนามแทนได้ จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ และถือว่าไม่มีการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 25 จำนวนเงินที่ประเมินจึงเป็นจำนวนเด็ดขาด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3542/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งทางปกครองต้องมีเหตุผล การประเมินภาษีต้องแจ้งเหตุผลชัดเจน
ใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดเป็นคำสั่งทางปกครองตามความหมายในคำนิยามมาตรา 5 ที่ต้องอยู่ในบังคับตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 จะต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย เมื่อใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดไม่มีเหตุผลอันประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจของจำเลยทั้งสอง โจทก์ย่อมไม่สามารถทราบเหตุผลในการประเมินและคำชี้ขาดได้ รายละเอียดในแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นสำหรับให้จำเลยที่ 1 กำหนดประเภทแห่งทรัพย์สิน ค่ารายปีและค่าภาษีที่โจทก์ต้องเสีย โจทก์ย่อมทราบเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์เท่านั้น แต่ไม่อาจทราบเหตุผลในการประเมินและคำชี้ขาด ดังนั้นใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องแสดงเหตุผลตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคสาม (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1901/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินย้อนหลังต้องเป็นไปตามกรอบเวลา 5 ปีนับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นแบบ
พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 19 บัญญัติให้ ผู้รับประเมินจะต้องยื่นแบบพิมพ์เพื่อแจ้งรายการทรัพย์สินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่ซึ่งทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยมาตรา 24 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดประเภทแห่งทรัพย์สิน ค่ารายปี และค่าภาษีที่จะต้องเสียให้พนักงานเก็บภาษีแจ้งรายการประเมินไปให้ผู้รับประเมินโดยไม่ชักช้า นอกจากนี้ มาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (2) ยังบัญญัติว่า ผู้รับประเมินผู้ใดยื่นแบบพิมพ์ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นแบบพิมพ์ ดังนั้น การแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินย้อนหลังในกรณีที่ผู้รับประเมินยื่นแบบพิมพ์แล้ว จะต้องกระทำภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ในปีภาษีที่ผู้รับประเมินยื่นแบบพิมพ์ โจทก์ยื่นแบบพิมพ์แจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2532 ถึง 2536 ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 19 แล้ว พนักงานของจำเลยจึงมีหน้าที่ประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโดยไม่ชักช้า หากเห็นว่าโจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไม่ถูกต้อง หรือไม่บริบูรณ์ ก็ต้องประเมินภาษีย้อนหลังภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ในแต่ละปีที่โจทก์ยื่นแบบพิมพ์ ไม่ใช่ประเมินภายในกำหนด 10 ปี ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้รับประเมินไม่ยื่นแบบพิมพ์ จำเลยแจ้งรายการประเมินให้โจทก์ชำระค่าภาษีสำหรับปีภาษี 2532 ถึงปีภาษี 2536 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 ซึ่งโจทก์ได้รับแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2541 จึงเกินกำหนด 5 ปีแล้ว การประเมินและคำชี้ขาดการประเมินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1092/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการต่อหนี้ภาษีของห้างหุ้นส่วน และอำนาจศาลในการบังคับคดี
เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินแก่โจทก์ ส่วนจำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างดังกล่าวมิใช่ผู้ที่ถูกประเมิน จึงไม่มีเหตุที่เจ้าพนักงานประเมินจะแจ้งการประเมินให้แก่จำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ให้ชำระหนี้ดังกล่าว ซึ่งเป็นหนี้ของห้างได้โดยไม่ต้องแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยก่อน
ป.พ.พ.มาตรา 1071 ประกอบมาตรา 1080 ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในการบังคับคดีโดยจะให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดก่อน หรือจะให้บังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นลูกหนี้ก็ได้ ซึ่งแตกต่างกับกรณีเป็นผู้ค้ำประกันที่ผู้ค้ำประกันสามารถจะใช้สิทธิเรียกร้องให้เจ้าหนี้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 688 อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดห้ามโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดมิให้ฟ้องร้องหุ้นส่วนผู้จัดการโดยต้องไปบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7938/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยการระบุประเภททรัพย์สินและค่าใช้จ่ายครบถ้วน
ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 24บัญญัติให้เจ้าพนักงานเก็บภาษีแจ้งรายการประเมิน มีรายการตามที่กฎหมายกำหนดไว้3 ประการ คือ ประเภทแห่งทรัพย์สิน ค่ารายปีแห่งทรัพย์สิน และค่าภาษีที่จะต้องเสียไปให้ผู้รับประเมินทราบ และตามใบแจ้งรายการประเมินที่โจทก์ได้รับมีข้อความระบุว่าทรัพย์สินเป็นคลังน้ำมันเอสโซ่ สาขาสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่เลขที่ 63 หมู่ที่ 4 ตำบลบางกุ้งอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีค่ารายปีเป็นเงิน 1,875,600 บาทและค่าภาษีเป็นเงิน 234,450 บาท ดังนั้นใบแจ้งรายการประเมินดังกล่าวเป็นการแจ้งรวม เจ้าพนักงานได้แจ้งรายการทรัพย์สินของโจทก์ว่าเป็นคลังน้ำมันซึ่งเป็นประเภทสิ่งปลูกสร้างต้องถูกจัดเก็บภาษีตามมาตรา 24 ประกอบด้วยมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ครบถ้วนชัดเจนแล้ว หาจำต้องระบุรายละเอียดแยกแต่ละรายการของประเภททรัพย์สินที่จะต้องถูกจัดเก็บไม่ ทั้งนี้ ในแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2539 ของโจทก์ ก็ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับโรงเรือนและที่ดินที่จะต้องชำระภาษีไว้ครบถ้วน โจทก์ก็ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าใบแจ้งรายการประเมินที่เจ้าพนักงานแจ้งให้โจทก์ทราบ เป็นการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินที่โจทก์ได้ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยนั่นเอง ซึ่งโจทก์เข้าใจดีอยู่แล้ว ดังนั้นใบแจ้งรายการประเมินของเจ้าพนักงานเก็บภาษีของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
of 2