คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 109

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 36 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 972/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า ต้องพิจารณาลักษณะโดยรวม ไม่ใช่เพียงเสียงเรียกขาน
ในการพิจารณาเครื่องหมายการค้าว่าคล้ายกันหรือไม่ต้องพิจารณาลักษณะโดยรวมของเครื่องหมาย เครื่องหมายของโจทก์และของจำเลยมีเพียงเสียงเรียกขานที่พ้องกัน โดยของโจทก์เรียกและอ่านติดกันไปว่า สกาเจล ส่วนของจำเลยเรียกและอ่านแยกคำกันว่า สการ์ เจล เครื่องหมายของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าและจดทะเบียนได้เนื่องจากนำคำว่า SCAR ซึ่งแปลว่าแผลเป็น มาตัดตัว R ออก แล้วเชื่อมติดกับคำว่า GEL ที่แปลว่า สารแขวนลอย วุ้น ทำให้มีลักษณะบ่งเฉพาะและไม่ให้มีความหมายเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าทาร่างกายโดยตรง แต่ชื่อสินค้าของจำเลยซึ่งถือเป็นเครื่องหมายใช้คำว่า SCAR และ GEL อันเป็นคำพรรณนาถึงคุณสมบัติและคุณภาพของสินค้า ซึ่งเจ้าของสินค้าทั่วไปมีสิทธิจะใช้ได้เพื่อให้ลูกค้าทราบว่าเป็นสินค้าเกี่ยวกับอะไรแต่ไม่เป็นเครื่องหมายการค้าเพราะเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าทาร่างกายเพื่อรักษาแผลเป็นโดยตรง คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้ชื่อสินค้ากับประกาศหรือประชาสัมพันธ์สินค้าโดยมีลักษณะเป็นเครื่องหมายเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงควรพิจารณาเฉพาะชื่อสินค้าของจำเลยว่าเลียนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วของโจทก์หรือไม่เท่านั้น เมื่อพิจารณาตัวอักษรเครื่องหมายการค้าของโจทก์เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ติดกัน แต่ของจำเลยเขียนตัวแรก S ด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ส่วน CAR เป็นตัวพิมพ์ใหญ่แต่ขนาดเท่าตัวพิมพ์เล็ก ซึ่งเห็นชัดว่าแตกต่างกัน หากพิจารณาเปรียบเทียบไปถึงหลอดและกล่องสินค้าของโจทก์และจำเลยก็เห็นว่าแตกต่างกัน ทั้งสีพื้นและสีตัวอักษร นอกจากนี้ตลาดที่จำหน่ายสินค้าของโจทก์และจำเลยก็เป็นคนละตลาดกัน โดยของโจทก์วางขายในโรงพยาบาลและร้านขายยา ส่วนของจำเลยขายตรงแก่สมาชิกของจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้สาธารณชนผู้บริโภคสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ การที่ชื่อสินค้าของจำเลยซึ่งเป็นเครื่องหมายใช้พรรณนาคุณสมบัติและคุณภาพสินค้ามีเสียงเรียกขานพ้องกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วของโจทก์เพียงอย่างเดียว ไม่เป็นการละเมิดโดยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8995/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าไม่คล้ายกัน และไม่มีการใช้ชื่อ/รูป/รอยประดิษฐ์เดียวกัน การฟ้องร้องฐานละเมิด/เลียนแบบเครื่องหมายการค้าจึงไม่สำเร็จ
เมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้า ของจำเลยทั้งสองกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเครื่องหมายการค้า แล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีภาพวงกลมประดิษฐ์ขนาดเล็กอยู่เหนืออักษรโรมันคำว่า "genufood" และด้านล่างเป็นอักษรจีน ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นภาพวงกลมประดิษฐ์ขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางและปลายเส้นรอบวงทั้งด้านบนและด้านล่างไม่ติดกัน ตรงกลางมีอักษรโรมันคำว่า "genufood" แม้จะมีอักษรโรมันเป็นคำเดียวกัน แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายแล้วจะเห็นได้ว่าแตกต่างกัน ทั้งจำเลยทั้งสองยังใช้กับสินค้าสบู่สมุนไพรผสมโสมไข่มุกและกาแฟขจัดปัญหาไขมันส่วนเกินซึ่งเป็นคนละจำพวกและรายการสินค้ากับสินค้าอาหารเสริมทำมาจากธัญพืชใช้บำรุงร่างกายตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองจึงไม่คล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 และเมื่อไม่เป็นความผิดตามมาตรา 109 แล้ว การที่จำเลยทั้งสองจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 ด้วย
องค์ประกอบความผิดของ ป.อ. มาตรา 272 (1) จะต้องเป็นการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ และมาตรา 275 เป็นการจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าอันเป็นสินค้าที่มีชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 272 (1) โดยจะต้องเป็นการนำมาใช้ในชื่อหรือข้อความเดียวกันหรือในรูปรอยประดิษฐ์ที่ตั้งใจให้เหมือนกันในลักษณะปลอม ไม่ใช่เพียงแต่เลียนแบบ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์คือ และ กับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยทั้งสอง จะเห็นได้ว่าไม่เหมือนกัน จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้เป็นชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) เมื่อไม่เป็นความผิดตามมาตรา 272 (1) แม้จำเลยทั้งสองจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าดังกล่าว จำเลยทั้งสองก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) อีกเช่นกัน
เครื่องหมายการค้าบนวัตถุพยานคือคำว่า "genufood" และมีคำว่า "VICTOR" กับเครื่องหมายคล้ายรวงข้าวประกอบ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ใช้เครื่องหมายการค้า ในการโฆษณาขายสินค้าซึ่งไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "genugood" และมีคำว่า "VICTOR" เป็นการทำเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ใช้หรือทำให้ปรากฏเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่สินค้าของจำเลยทั้งสองและเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่สินค้าตามวัตถุพยานจึงเป็นข้อที่โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในฟ้อง คำวินิจฉัยในส่วนนี้ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14617/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำหน่ายสินค้าควบคุมฉลากผิดกฎหมายเป็นความผิดต่างกรรมกันจากละเมิดเครื่องหมายการค้า ศาลแก้คำพิพากษาเพิ่มโทษปรับ
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยขาย เสนอขาย สินค้าเครื่องสำอางชิเซโดจำนวน 2 กล่อง เครื่องสำอางปัดคิ้วยี่ห้อแม็กจำนวน 1 กล่อง อันเป็นสินค้าควบคุมฉลากตามกฏหมาย โดยเสนอขายต่อผู้มาติดต่อซื้อ ซึ่งฉลากของสินค้าดังกล่าวไม่มีข้อความแสดงวิธีใช้และข้อแนะนำการใช้หรือข้อห้าม ไม่ถูกต้องตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง อันเป็นความผิดอีกกระทงหนึ่งต่างหากจากความผิดฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายที่แท้จริงของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักรโดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14615/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่างประเทศก่อน การฟ้องร้องละเมิดเครื่องหมายการค้าในไทย
การกระทำของจำเลยทั้งสี่จะมีมูลครบองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 และมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 พยานหลักฐานของโจทก์จะต้องมีมูลเพียงพอให้รับฟังได้ว่าสินค้าที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายนั้น เป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่มีบุคคลใดทำขึ้นโดยปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักรของโจทก์ด้วย เมื่อไม้กอล์ฟอุปกรณ์เล่นกอล์ฟ และถุงกอล์ฟจำนวน 25 ชิ้น ของกลาง เป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นโดยบริษัท ค. ซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "KAMUI" ไว้ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2540 ส่วนโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวไว้ในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2553 อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่บริษัทดังกล่าวได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ที่ประเทศญี่ปุ่นกว่าสิบปี ทั้งในฟ้องอ้างว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทไม้กอล์ฟแต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "KAMUI" ไว้โดยชอบในประเทศญี่ปุ่นด้วย เมื่อสินค้าของกลางทั้งหมด เป็นสินค้าที่ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "KAMUI" ซึ่งมีบริษัทดังกล่าวเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าที่ได้รับการจดทะเบียนไว้อยู่ก่อนแล้วในประเทศญี่ปุ่น จึงหาใช่สินค้าที่มีบุคคลใดจัดทำขึ้นโดยปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักรไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8811/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลียนแบบเครื่องหมายการค้า: ศาลฎีกาตัดสินให้จำเลยมีความผิดและปรับ พร้อมริบสินค้า
เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีภาคส่วนที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หลายประการ คือ ประการแรก มีวงกลมสีฟ้าซึ่งด้านบนมีสีฟ้าอ่อนและด้านล่างมีสีฟ้าแก่และมีเส้นรอบวงเป็นสีขาวกับมีรูปประดิษฐ์ลายเส้นสีเขียวอ่อนและสีเขียวแก่รอบเส้นรอบวงสีขาวอีกชั้นหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งภาคส่วนดังกล่าวมีความคล้ายกันมากจนยากที่บุคคลใดจะคิดประดิษฐ์ขึ้นเองได้โดยไม่ได้ลอกเลียนมาและเป็นภาคส่วนที่สำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ ประการที่สอง ภายในวงกลมมีเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 อยู่ในวงกลมเหมือนกัน เสียงเรียกขานมีความคล้ายคลึงกัน แม้ในส่วนของคำภาษาอังกฤษแม้โจทก์จะใช้อักษรโรมันคำว่า "CRYSTAL" ส่วนของจำเลยที่ 1 ใช้คำว่า "KISS" แตกต่างกัน แต่สำหรับคนไทยที่ไม่คุ้นเคยภาษาอังกฤษอาจไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ ในส่วนที่เป็นอักษรไทยของโจทก์ใช้คำว่า "คริสตัล" ส่วนของจำเลยที่ 1 ใช้คำว่า "คิสส์" มีความคล้ายคลึงกัน จำเลยที่ 1 เลือกใช้อักษร "ค" เป็นอักษรตัวแรกซึ่งเป็นอักษรสำคัญของเครื่องหมายการค้าเหมือนของโจทก์ และเลือกใช้ลักษณะตัวอักษร "ค" และ "ส" คล้ายคลึงกับของโจทก์และมีขนาดใกล้เคียงกับของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 ทั้งในส่วนภาษาอังกฤษและภาษาไทยเป็นการใช้เสียงทับศัพท์ภาษาอังกฤษซึ่งล้วนเป็นภาษาต่างประเทศ ผู้ซื้อคนไทยซึ่งไม่มีความคุ้นเคยกับความหมายคำดังกล่าวย่อมไม่อาจแยกความแตกต่างได้ แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จะแตกต่างจากของโจทก์บางส่วนโดยไม่มีรูปดาวอยู่ในวงกลมที่ด้านบนและด้านล่าง แต่มีรูปริมฝีปากสีแดงอยู่ภายในวงกลมด้านล่างแต่รูปรอยดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยและมีขนาดเล็กไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้อย่างชัดเจน ประการที่สาม การวางโครงสร้างหรือวางตำแหน่งเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 อยู่ตรงกลางเช่นเดียวกับโจทก์ทั้งยังใช้พื้นตัวอักษรเป็นสีขาวเหมือนกัน ประการที่สี่ ลักษณะของขวดบรรจุภัณฑ์ของจำเลยที่ 1 คล้ายคลึงกับของโจทก์โดยมีลักษณะของขวดและลวดลายคล้ายกับของโจทก์กับมีฝาขวดเป็นสีฟ้าเช่นเดียวกันกับฝาขวดของโจทก์ ประการที่ห้า จำพวกสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นน้ำดื่มเช่นเดียวกับโจทก์ และมีช่องทางจำหน่ายเช่นเดียวกับของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีสาระสำคัญคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์เกือบทุกประการ เมื่อจำเลยที่ 1 เคยผลิตน้ำดื่มโดยใช้เครื่องหมายการค้าอื่นซึ่งไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อน การที่จำเลยที่ 1 เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีมูลเหตุจากน้ำดื่มของโจทก์เป็นน้ำดื่มที่มีภาพลักษณ์ที่ดีและยอดจำหน่ายสูง จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้า "คิสส์" และ "KISS" ภายในรูปวงกลมสีฟ้าโดยมีเจตนาเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นนั้นอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109
จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 กับมีอำนาจสั่งการและควบคุมดูแลการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดซึ่งมีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดและต้องรับโทษสำหรับความผิดที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้กระทำตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 114
ที่โจทก์ขอให้จำเลยระงับหรือละเว้นการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำหน่ายสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น เป็นการขอตามมาตรา 116 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดมาตรการการป้องกันความเสียหายโดยให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือจำหน่ายสินค้าที่เลียนเครื่องหมายค้าของโจทก์อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 หรือมาตรา 110 ระงับหรือละเว้นการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือจำหน่ายสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพื่อป้องกันความเสียหายแก่โจทก์ที่จะเกิดการเลียนเครื่องหมายการค้าและจำหน่ายสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของตน มิใช่บทกำหนดโทษแก่ผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 18 แต่อย่างใด ซึ่งการที่โจทก์จะขอให้ศาลบังคับตามมาตรา 116 นี้ ก็ต้องปรากฏในขณะที่ยื่นคำขอว่า มีหลักฐานแจ้งชัดว่า จำเลยได้กระทำหรือกำลังจะกระทำการเลียนเครื่องหมายการค้า หรือจำหน่ายสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า หลังจากมีการฟ้องคดีแล้วจำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์หยุดการขายน้ำดื่มภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสอง จึงไม่มีกรณีที่จะขอให้บังคับตามมาตรา 116 อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5707/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิด พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า: เจตนาจำหน่ายสินค้าเลียนแบบต่างจากผู้เลียนแบบ
องค์ประกอบความผิดของ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) แตกต่างจากความผิดตามมาตรา 109 ซึ่งผู้เลียนเครื่องหมายการค้าต้องมีเจตนาพิเศษ คือ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าที่ตนเลียนนั้นเป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นด้วย แต่การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 110 (1) ผู้กระทำเพียงมีเจตนาธรรมดา คือ รู้ว่าสินค้าที่ตนนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ก็เป็นความผิดตามมาตรา 110 (1) แล้ว โดยไม่จำต้องมีเจตนาพิเศษดังกล่าวอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5707/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายสินค้าเลียนแบบเครื่องหมายการค้า: องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 110(1) ประกอบมาตรา 109
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจำหน่าย เสนอจำหน่าย และมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้ารองเท้ากีฬาที่มีตราเครื่องหมายการค้าอันเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีผู้ทำเลียนเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายให้แก่ประชาชนทั่วไป ทั้งนี้โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสินค้าที่มีผู้ทำเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร อีกทั้งโจทก์ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 109, 110, 115, 117 ย่อมแสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษการกระทำผิดของจำเลยฐานจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) แต่เหตุที่การปรับบทลงโทษต้องนำมาตรา 109 มาประกอบด้วยเนื่องจากองค์ประกอบของมาตรา 110 (1) เป็นการจำหน่าย เสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้ตามมาตรา 108 หรือจำหน่าย เสนอจำหน่ายสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นตามมาตรา 109 ซึ่งมีลักษณะเป็นการนำสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นไปหาประโยชน์อันเป็นการส่งเสริมให้สินค้าดังกล่าวแพร่หลายหรือกระจายไปสู่ประชาชนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 ว่า บุคคลใด (1) เข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมปลอมตามมาตรา 108 หรือที่เลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นตามมาตรา 109 ..." องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 110 (1) จึงแตกต่างจากความผิดตามมาตรา 109 ซึ่งผู้เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรต้องมีเจตนาพิเศษ คือ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าที่ตนเลียนนั้นเป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นด้วย ดังนั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 110 (1) ผู้กระทำเพียงมีเจตนาธรรมดา คือ รู้ว่าสินค้าที่ตนนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ก็เป็นความผิดตามมาตรา 110 (1) แล้วโดยไม่จำต้องมีเจตนาพิเศษว่าเพื่อทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นอีก คดีจึงรับฟังได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบตามมาตรา 110 (1) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3377/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีทรัพย์สินทางปัญญาต้องแสดงรายละเอียดการกระทำผิดที่ชัดเจน มิฉะนั้นศาลอาจยกฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ไซยาโนเทค ไบโอแอสติน (Bioastin) เมื่อประมาณต้นปี 2555 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันถึงวันฟ้อง จำเลยได้ลงโฆษณาสินค้าทางอินเทอร์เน็ท ชื่อเว็บไซต์ www.เจ้าแม่อาหารเสริม.com อ้างว่าจำเลยเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมประเภทสาหร่ายแดงไบโอแอสติน (Bioastin) ซึ่งเป็นความเท็จ รายละเอียดปรากฏตามคำโฆษณาของจำเลยในเว็บไซต์ แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเอาชื่อ รูป และรอยประดิษฐ์ ไซยาโนเทค ไบโอแอสติน (Bioastin) ในการประกอบการค้าของบริษัทไซยาโนเทค จำกัด และโจทก์มาใช้หรือทำให้ปรากฏที่สินค้าหีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน โดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าไซยาโนเทค ไบโอแอสติน (Bioastin) หรือการค้าของบริษัทไซยาโนเทค จำกัด และโจทก์ และจำเลยไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความเท็จอย่างไรเพื่อให้เสียความเชื่อถือในสถานที่การค้า สินค้า อุตสาหกรรมหรือพาณิชย์การของบริษัทไซยาโนเทค จำกัด และโจทก์ โดยมุ่งประโยชน์แก่การค้าของจำเลยซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) (3) และ 275 และโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า สินค้าที่จำเลยจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของบริษัทไซยาโนเทค จำกัด และโจทก์ และจำเลยเป็นผู้ปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108, 109 และ ป.อ. มาตรา 273, 274 หรือจำเลยเป็นผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมตามมาตรา 108 หรือที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นตามมาตรา 109 อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 หรือ 109 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า บริษัทไซยาโนเทค จำกัด เป็นเจ้าของสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีใด และสินค้าที่จำเลยจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นหรือใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรของบริษัทไซยาโนเทค จำกัด อย่างไรอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 36, 38 และ 85 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ซึ่งโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยมาอีกเช่นกัน ฟ้องโจทก์จึงมิได้แสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับการกระทำนั้นๆ พอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาความผิดดังกล่าวได้ดีตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15705-15706/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลียนแบบเครื่องหมายการค้า: การใช้ชื่อและที่อยู่ผู้ส่งออกบนกระสอบ ไม่ถือเป็นการเลียนแบบเพื่อสร้างความเข้าใจผิด
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 นั้น ต้องเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วกับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าที่เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นนั้นได้รับการจดทะเบียนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนทั้งนี้ โดยผู้กระทำการเลียนเครื่องหมายการค้านั้นมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนของบุคคลอื่น
โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ที่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรกับสินค้าจำพวก 30 รายการสินค้า ข้าว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2543 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค179957 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 10 นาฬิกา บริษัทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กำลังจะส่งออกไปต่างประเทศซึ่งสินค้าข้าวสารนึ่งบรรจุกระสอบจำนวน 3,491 กระสอบ ปรากฏว่าที่ด้านหลังกระสอบบรรจุข้าวดังกล่าว ตรงลูกศรชี้ข้างล่างมีชื่อและที่อยู่บริษัทโจทก์ที่ 2 พร้อมตราสัญลักษณ์ที่คล้ายกับรูปประดิษฐ์นกอินทรีบนลูกโลกและช่อรวงข้าวผูกริบบิ้นในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้า ดังภาพ ซึ่งเห็นได้ว่าตราสัญลักษณ์ ที่คล้ายกับรูปประดิษฐ์ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับตราเครื่องหมายการค้าที่ปรากฏอยู่ที่ด้านหน้ากระสอบ ชื่อและที่อยู่ของบริษัทโจทก์ที่ 2 ที่ปรากฏอยู่บนกระสอบด้านหลังข้างล่างนั้นเป็นชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออกซึ่งต้องระบุไว้ที่สินค้าที่ส่งออกตามระเบียบของกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งการระบุชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวไม่ถูกต้องตามใบอนุญาตให้ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ข้าว) (เพื่อกิจการที่เป็นการค้า) ซึ่งระบุชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งออก ประกอบกับโจทก์ทั้งสองก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าการที่มีตราเครื่องหมายขนาดเล็กที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค179957 ปรากฏติดกับชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 ที่ด้านล่างกระสอบวัตถุพยาน โจทก์ที่ 2 ก็ได้ใช้ตราเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ติดกับชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 ในลักษณะทำนองเดียวกันดังกล่าวกับสินค้าข้าวที่โจทก์ที่ 2 ส่งออกอย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อทำหน้าที่แยกแยะความแตกต่างของสินค้าข้าวของโจทก์ที่ 2 กับสินค้าข้าวของบุคคลอื่นโดยมิใช่เพื่อแสดงถึงชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออก ดังนี้ การที่มีตราเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค179957 ปรากฏอยู่ติดกับชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 บนกระสอบ จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ส่วนประกอบส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทผู้ส่งออกเท่านั้น การใช้ตราเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อแสดงถึงชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออกดังกล่าวมิใช่การใช้ตราเครื่องหมายนั้นอย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าข้าวที่ส่งออกแตกต่างกับสินค้าข้าวที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เครื่องหมายที่ทำหน้าที่เครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าข้าวที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ส่งออกในวันเกิดเหตุเพื่อแยกแยะความแตกต่างของสินค้าว่าเป็นของผู้ใดหรือมีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใดนั้นปรากฏอยู่เต็มพื้นที่ด้านหน้ากระสอบ คือเครื่องหมาย ซึ่งไม่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้เครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามที่ปรากฏอยู่หน้าชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 อย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อระบุว่าสินค้าข้าวนั้นเป็นของผู้ผลิตรายใดและเพื่อแยกแยะสินค้าข้าวนั้นว่าแตกต่างจากสินค้าข้าวของบุคคลอื่น การที่ปรากฏเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ที่กระสอบด้านหลังข้างล่างที่มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ปรากฏอยู่เต็มพื้นที่ด้านหน้ากระสอบ ซึ่งเป็นกระสอบที่ใช้บรรจุสินค้าข้าวเพื่อส่งออกไปต่างประเทศในวันเกิดเหตุ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้เครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 ที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรโดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 อันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109
เมื่อสินค้าข้าวจำนวน 3,491 กระสอบ ของกลางมิใช่สินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีไว้เพื่อจำหน่าย จึงไม่อาจริบตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115 ได้ ส่วนรถยนต์บรรทุกพร้อมหางพ่วงจำนวน 5 คัน ของกลางที่ใช้บรรทุกข้าวสารนึ่งจำนวน 3,491 กระสอบ ของกลาง และอุทธรณ์ขอให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 นั้น เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เป็นความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของบุคคลอื่นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 รถยนต์บรรทุกพร้อมหางพ่วงจำนวน 5 คัน ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ไม่อาจริบตาม ป.อ. มาตรา 33 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22195/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาเจตนาเลียนแบบและความแตกต่างของเครื่องหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าว เหตุเกิดระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2549 ต่อเนื่องมาจนถึงวันฟ้องคดีนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์จึงยังมีสิทธิได้รับความคุ้มครองสิทธิในเครื่องหมายการค้าในวันเกิดเหตุคดีนี้ จึงมีอำนาจฟ้อง
สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 คือ คำว่า I - VISON ซึ่งเครื่องหมายการค้าของฝ่ายโจทก์มีรูปวงรีแบบเปิดอยู่เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติม และเครื่องหมายการค้าของฝ่ายจำเลยที่ 1 มีคำว่า by SAMART เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมเช่นกัน ดังนั้น หากเมื่อพิจารณาในส่วนอักษรโรมัน I และคำว่า VISION แล้ว รูปลักษณะเครื่องหมายทั้งสองมีถ้อยคำสาระสำคัญเหมือนกันและเสียงเรียกขานเป็นอย่างเดียวกัน บุคคลธรรมดาทั่วไปหากไม่ใช้ความสังเกตย่อมมีความเห็นไปได้ว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ตัวอักษรโรมัน I และคำว่า VISION ต่างเป็นถ้อยคำสามัญ โจทก์ไม่มีสิทธิหวงกันเอาไว้ใช้เพียงผู้เดียว และโจทก์ยังได้แสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมัน I แล้ว เมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 ได้ดัดแปลงประดิษฐ์ตัวอักษร S ตรงกลางเครื่องหมาย และยังเพิ่มคำว่า by SAMART ด้านล่างของเครื่องหมาย เพื่อให้แตกต่างจากของโจทก์ และหากจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะแสวงหาประโยชน์ในการใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับของโจทก์แล้วก็ไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะต้องลงทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะอ้างอิงแสวงหาประโยชน์ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ นอกจากนี้การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้จะอยู่ระหว่างอุทธรณ์แต่ก็แสดงให้เห็นว่ายังมีข้อโต้เถียงเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าหรือคำว่า ว่า I - VISION ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 โดนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 มีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์
of 4