คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 225

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,295 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7409/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขึ้นศาลคำฟ้องบังคับจำนอง: ศาลฎีกาตัดสินอัตราค่าขึ้นศาลตามจำนวนหนี้ที่เรียกร้องโดยไม่เกิน 100,000 บาท
คำร้องขอให้บังคับจำนองของผู้ร้องซึ่งเป็นคำฟ้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละเท่าใด เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ร้องจะมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มไว้ ซึ่งเท่ากับว่าผู้ร้องมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น ผู้ร้องก็มีสิทธิยกขึ้นอ้าง ซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นในอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225วรรคสอง อันเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 226(2) และถึงแม้ว่าผู้ร้องจะอุทธรณ์ในเรื่องค่าขึ้นศาลเพียงอย่างเดียวแต่ก็เป็นการอุทธรณ์โดยยกเหตุว่าศาลชั้นต้นมิได้กำหนดค่าฤชาธรรมเนียมให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่ต้องห้ามผู้ร้องอุทธรณ์ตามที่มาตรา 168บัญญัติไว้
ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองได้ยื่นคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำฟ้องบังคับจำนองจำเลยนั่นเอง ตามตาราง 1 ข้อ 1(ค) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ระบุไว้ว่า ให้เรียกค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 1 ต่อเมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดีจึงให้เรียกค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 2.5 แต่คดีนี้จำเลยผู้จำนองไม่ได้ให้การต่อสู้คดีหรือคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 ข้อ 1(ค) ในอัตราร้อยละ 1ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้อง แม้โจทก์จะได้ยื่นคำคัดค้านก็ถือว่าเป็นเพียงการโต้แย้งในชั้นบังคับคดีของโจทก์เท่านั้น ถือไม่ได้ว่าคำคัดค้านของโจทก์เป็นคำให้การต่อสู้คดีแทนจำเลยตามความหมายของตาราง 1 ข้อ 1(ค)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6765/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมาย 'LAUFEN' ดีกว่าจำเลย แม้ยังมิได้จดทะเบียนในไทย ศาลยืนเพิกถอนเครื่องหมาย 'UMI-LAUFEN'
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 ที่บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใน 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 40 นั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง มิใช่บทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องและเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น แม้จำเลยจะไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นกล่าวในชั้นอุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 38ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง
กำหนดระยะเวลา 5 ปี ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 ให้นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ตามมาตรา 40 มิใช่นับแต่วันที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอันจะมีผลให้ถือเอาวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นวันที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN และเครื่องหมายการค้าคำว่า UMILAUFEN เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2537 และวันที่ 19 เมษายน 2539 ตามลำดับ โจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 เมษายน2542 จึงเป็นการฟ้องภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN ดีกว่าจำเลย และขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN ที่จำเลยได้รับโอนจากบริษัท ส. และเครื่องหมายการค้าคำว่า UMI-LAUFEN ที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้ โจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามสัญญาผู้ถือหุ้น และมิได้ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN ที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้ตามสัญญาให้ใช้เครื่องหมายการค้า ทั้งมิได้ขอให้บังคับตามสิทธิในสัญญาให้ความช่วยเหลือและบริการทั่วไปทางเทคนิค คำฟ้องของโจทก์จึงมิได้เกิดจากกรณีพิพาทกันตามข้อสัญญาข้อใดข้อหนึ่งหรืออาศัยสิทธิตามสัญญาข้อใดข้อหนึ่งตามสัญญาทั้งสามฉบับดังกล่าวอันจะต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดก่อน โจทก์จึงจะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN และ UMI-LAUFEN สำหรับสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์โดยอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN และใช้กับสินค้าสุขภัณฑ์มาก่อนจำเลยจึงมีสิทธิดีกว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งสองที่ได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าสุขภัณฑ์ ดังนี้ โจทก์ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ทั้งนี้ตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนปัญหาว่าจำเลยมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN ตามสัญญาที่โจทก์ให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าหรือไม่ เป็นอีกปัญหาหนึ่งและเป็นคนละเรื่องกับการฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสอง ทั้งโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาให้ใช้เครื่องหมายการค้า และห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN ตามสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้
โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN โดยใช้กับสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์มาก่อนที่จำเลยจะใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ของจำเลย แม้โจทก์จะยังมิได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย โจทก์ก็เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "LAUFEN" สำหรับสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ดีกว่าจำเลย ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า UMI-LAUFEN ที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์นั้นเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFENของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เมื่อโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN กับสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์มาก่อนจำเลยแม้ยังมิได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้านั้นในประเทศไทยโจทก์ย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า UMI-LAUFEN ใช้กับสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ดีกว่าจำเลย
โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN และคำว่า UMI-LAUFEN ซึ่งใช้กับสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ดีกว่าจำเลย และเครื่องหมายการค้าคำว่า UMI-LAUFEN ก็มีคำว่า LAUFEN อันเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายเหมือนกับเครื่องหมายการค้าคำว่าLAUFEN ของโจทก์อันอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ดังนั้น แม้คำว่า UMI-LAUFEN จะเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยซึ่งประกอบกิจการผลิตและขายสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ แต่เมื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า UMI-LAUFEN ซึ่งใช้กับสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ดีกว่าจำเลย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่าUMI-LAUFEN ของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5670/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องลาภมิควรได้ กรณีคืนภาษีสรรพสามิต: การได้รับเงินคืนโดยไม่มีสิทธิภายหลังถือเป็นลาภมิควรได้
ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยไว้ว่าฟ้องโจทก์บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาสำหรับเหตุที่ไม่ได้มีการเติมน้ำมันให้แก่เรือและรายละเอียดของกฎกระทรวงตามวรรคสองของพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตพ.ศ. 2527 มาตรา 102(4) ไม่ใช่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักในข้อหาที่โจทก์ฟ้อง จึงสามารถนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไปได้ แต่อุทธรณ์ของจำเลยไม่ปรากฏเลยว่าเหตุใดจำเลยจึงเห็นว่ากรณีดังกล่าวมิใช่รายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ และเหตุใดจำเลยจึงถือว่ารายละเอียดของกฎกระทรวงเป็นข้ออ้างที่โจทก์ต้องอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา อุทธรณ์ของจำเลยไม่มีข้อโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29
จำเลยฟ้องแย้งขอให้บังคับกรมสรรพสามิตโจทก์คืนค่าภาษีคนละเที่ยวเรือกับที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยคืนค่าภาษีที่จำเลยขอรับคืนไปจากโจทก์แล้ว ซึ่งการนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือแต่ละเที่ยวเรือตามคำฟ้องและฟ้องแย้งไม่มีความเกี่ยวข้องกันเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน ตามคำฟ้องของโจทก์มีประเด็นว่า จำเลยจะต้องคืนเงินค่าภาษีที่จำเลยขอรับคืนไป ให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยมีประเด็นว่าจำเลยมีสิทธิเรียกให้โจทก์คืนเงินค่าภาษีที่จำเลยชำระไว้หรือไม่เพียงใด ดังนั้น แม้ตามคำฟ้องของโจทก์และคำฟ้องแย้งของจำเลยจะเป็นเรื่องของการขอคืนภาษีสรรพสามิตตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตในมาตราเดียวกัน แต่ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามคำขอของโจทก์กับฟ้องแย้งของจำเลยก็แตกต่างตรงข้ามกันและไม่มีความเกี่ยวพันกันฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์
คำฟ้องโจทก์มิได้ยืนยันว่าการที่จำเลยขอรับคืนภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยไปจากโจทก์เป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายหรือจำเลยได้ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับคืนภาษีก็เป็นผลมาจากการที่โจทก์ตรวจสอบพบว่าไม่มีการเติมน้ำมันแก่เรือตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 102(4) แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2537 กรณีตามฟ้องของโจทก์จึงไม่ใช่เรื่องจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ ไม่อาจนำอายุความเรื่องละเมิดมาบังคับแก่คดีได้
จำเลยใช้สิทธิจากการที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตหรือขายหรือจำหน่ายน้ำมันนำน้ำมันที่จำเลยชำระภาษีแล้วเติมให้แก่เรือที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ และพนักงานศุลกากรได้ปล่อยให้ไปต่างประเทศแล้ว ขอรับคืนค่าภาษีจากกรมสรรพสามิตโจทก์ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 102(4) ต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งจากกรมศุลกากรว่ามิได้มีการเติมน้ำมันตามชนิดและปริมาณให้แก่เรือซึ่งมีชื่อที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับคืนภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยจากโจทก์ การที่จำเลยได้รับเงินค่าภาษีคืนไปแม้ในชั้นแรกจะมีมูลที่จะอ้างกฎหมายได้ แต่ต่อมาปรากฏว่าจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินก็ถือว่าไม่มีมูลที่จะอ้างกฎหมายได้เช่นกัน จึงเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เป็นลาภมิควรได้จำเลยจึงต้องคืนให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406แต่โจทก์ต้องฟ้องคดีใช้สิทธิเรียกเงินดังกล่าวภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419
โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนเงินภาษีที่จำเลยขอรับคืนไปแก่โจทก์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2539 จึงฟังได้ว่าโจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนซึ่งค่าภาษีจากจำเลยตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2542 พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ต้องห้ามตามมาตรา 225 วรรคหนึ่ง การโต้แย้งต้องอาศัยประเด็นที่ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น
ข้อที่ว่ากันมาแล้วหรือมิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การ และประเด็นข้อพิพาทในคดีเป็นสำคัญ ไม่ใช่พิจารณาจากข้อเท็จจริงและการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณา แม้จำเลยจะได้ถามค้านพยานโจทก์ไว้โดยชัดแจ้ง แต่เมื่อไม่ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ก็มิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
อุทธรณ์ของจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าฟ้องโจทก์ไม่แจ้งชัดและเคลือบคลุมอย่างไร แต่กลับไปอ้างการนำสืบพยานของโจทก์ว่าไม่ถูกต้องไม่ตรงกับฟ้องมาเป็นเหตุทำให้ฟ้องเคลือบคลุม เมื่อข้อเท็จจริงที่นำมาอ้างโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามอุทธรณ์ และการที่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การโดยแจ้งชัดว่าเอกสารท้ายฟ้องไม่ถูกต้องและเป็นเหตุให้ฟ้องโจทก์ไม่แจ้งชัดอย่างไร อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์: การทำซ้ำ ดัดแปลง และจำหน่ายหนังสือโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้มีวัตถุประสงค์ทางการศึกษา ก็ไม่เข้าข้อยกเว้น
ขณะที่โจทก์เขียนหนังสือ "คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา" และหนังสือ "คู่มือการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา" โจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดสำนักงานก.พ. มีหน้าที่โดยตรงในการประเมินผลการฝึกอบรม แต่ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องจัดทำเอกสารหรือเขียนตำราทางวิชาการเพื่อใช้ในการฝึกอบรม การที่โจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวขึ้นจึงไม่ถือว่าเป็นงานที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ในกรอบงานของโจทก์ และสำนักงานก.พ. ซึ่งโจทก์สังกัดก็มิได้มีคำสั่งให้โจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวหรือมีการจ่ายค่าตอบแทนให้ โจทก์เขียนหนังสือทั้งสองเล่มนอกเวลาราชการ โจทก์ได้กำหนดเค้าโครงการเขียนและสารบัญรวมทั้งได้เขียนอธิบายเนื้อหาสาระและรายละเอียดต่าง ๆ แต่ละประเด็นโดยใช้ถ้อยคำและคำอธิบายของโจทก์ใหม่ทั้งหมดตามความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ของโจทก์โดยตรง จึงเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ทำขึ้นโดยไม่ได้ลอกเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โจทก์เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมในหนังสือดังกล่าวจึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ มิใช่สำนักงาน ก.พ. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 14
แนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้ไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 6 วรรคสอง บุคคลสามารถที่จะนำแนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ตราบเท่าที่การใช้ประโยชน์ของบุคคลนั้นไม่เป็นการทำซ้ำ ดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่น หากจำเลยที่ 1 นำแนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมของบุคคลอื่นรวมทั้งของโจทก์ไปสร้างสรรค์งานวรรณกรรมของตน จำเลยที่ 1 จะต้องสร้างงานนั้นขึ้นมาโดยมีเนื้อหารายละเอียดและลักษณะการแสดงออกซึ่งความคิดของจำเลยที่ 1 เอง ไม่ใช่เพียงแต่คัดลอกหรือเลียนแบบงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นในส่วนอันเป็นสาระสำคัญซึ่งถือว่าเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามมาตรา 15(1) ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 27(1)
หนังสือ "กลยุทธ์ในการฝึกอบรม" ของจำเลยที่ 1 มีข้อความที่เหมือนและคล้ายกับข้อความที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ "คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา" และ "คู่มือการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา" ของโจทก์ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของงานประมาณ 30 หน้า จากจำนวนประมาณ 150 หน้า ข้อความบางตอนมีลักษณะเกือบเหมือนกันคำต่อคำบางตอนมีลักษณะดัดแปลงให้ต่างกันเล็กน้อย และบางตอนก็เพียงแต่ปรับเปลี่ยนหัวข้อเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งยากที่จะเกิดขึ้นได้โดยบังเอิญ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการทำซ้ำและดัดแปลงงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดพิมพ์หนังสือขึ้นโดยมิได้แสวงหากำไรทางการค้า แต่จำเลยที่ 1 กลับอ้างในอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการของมหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ จึงเป็นอุทธรณ์นอกเหนือคำให้การและเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
มหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 เผยแพร่ตำราและสิ่งตีพิมพ์ตั้งราคาจำหน่ายหนังสือใกล้เคียงกับต้นทุน ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอาจารย์สังกัดจำเลยที่ 2 ได้รับค่าตอบแทนจากงานเขียน แสดงว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำเพื่อหากำไรแล้ว แม้จะไม่ได้หากำไรเท่าธุรกิจเอกชนก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำซ้ำและดัดแปลงงานวรรณกรรมอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ การจำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งหนังสือ "กลยุทธ์ในการฝึกอบรม" ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยรู้อยู่แล้วว่างานนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์
ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ (1) เป็นการกระทำต่าง ๆ ตามที่มาตรา 32 วรรคสอง และมาตรา 33 บัญญัติไว้ (2) การกระทำนั้นต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และ (3) การกระทำนั้นต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร แม้จำเลยที่ 1 เขียนหนังสือ"กลยุทธ์ในการฝึกอบรม" เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการสอนและเป็นผลงานทางวิชาการที่จำเลยที่ 1 ใช้ประกอบการพิจารณาขอรับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ อันอาจถือได้ว่าเป็นการวิจัยงานหรือทำซ้ำและดัดแปลงโดยผู้สอนเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา โดยไม่ได้หากำไรซึ่งจะเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 32 วรรคสอง (1) และ (7) แต่จำเลยที่ 1 ได้กระทำการถึงขั้นจัดพิมพ์เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป โดยจำเลยที่ 1 ได้รับค่าตอบแทนงานเขียนดังกล่าว แม้จะได้รับในอัตราต่ำสุดก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อหากำไรแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว
การคัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันอาจจะเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะต้องเป็นการกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์บางตอนตามสมควรและมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะคัด ลอกหรือเลียนงานวรรณกรรมของโจทก์จำนวนประมาณ 30 หน้า จากจำนวนทั้งหมดประมาณ 150 หน้า อันถือได้ว่าเป็นงานบางตอนแต่การนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์มาบางตอนดังกล่าวล้วนเป็นส่วนของเนื้อหาสาระที่สำคัญและมีปริมาณงานเป็นจำนวนมาก จึงถือได้ว่าเป็นการคัด ลอก หรือเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเกินสมควร
หนังสือ "กลยุทธ์ในการฝึกอบรม" ของจำเลยที่ 1 เป็นหนังสือคำอธิบายเกี่ยวกับการฝึกอบรมขนาด 8 หน้ายก ซึ่งจำเลยที่ 1 สามารถที่จะแสดงการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำเชิงอรรถหรือกล่าวถึงเจ้าของลิขสิทธิ์เมื่อจำเลยที่ 1 นำข้อความของงานนั้นมาเขียนไว้ในหนังสือของจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 1ได้กระทำแล้วในส่วนอื่น ๆ ของหนังสือดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 เพียงแต่อ้างอิงถึงชื่อโจทก์และบุคคลอื่นพร้อมงานเขียนรวม 26 รายการ ไว้ในหัวข้อเอกสารอ้างอิงที่ท้ายเล่มผู้อ่านย่อมไม่สามารถที่จะทราบได้ว่าข้อความส่วนใดของงานดังกล่าวเป็นงานเขียนของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 คัดลอกมา จึงยังไม่เป็นการเพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ อันจะถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 33
หนังสือ "กลยุทธ์ในการฝึกอบรม" มีการจัดพิมพ์จำหน่ายรวม 2 ครั้ง ครั้งที่ 1จำนวน 500 เล่ม และครั้งที่ 2 จำนวน 1,000 เล่ม มีวางจำหน่ายที่ร้านขายหนังสือในราคาเล่มละ 165 บาท โดยจำเลยที่ 1 ได้ทำซ้ำและดัดแปลงข้อความและสาระสำคัญต่าง ๆ จากหนังสือของโจทก์จำนวนประมาณ 30 หน้า จากจำนวนทั้งหมดประมาณ 150 หน้า เมื่อจำเลยที่ 1 จัดทำหนังสือซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นออกจำหน่าย จึงเป็นการแบ่งตลาดของผู้บริโภคซึ่งจะซื้อหนังสือประเภทดังกล่าวออกไปส่วนหนึ่ง อันเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของโจทก์และกระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เกินสมควร การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537มาตรา 32 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1894/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิยึดถือโฉนดที่ดินต่างจากสิทธิยึดหน่วง ต้องมีหนี้อันเป็นคุณแก่ผู้ครอบครองเกี่ยวกับทรัพย์สิน
จำเลยผู้เป็นลูกหนี้เงินกู้มอบโฉนดที่ดินให้ผู้ร้องยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืนโดยอาศัยข้อตกลงดังกล่าวนั้นเอง แต่สิทธิยึดถือโฉนดที่ดินเป็นเพียงบุคคลสิทธิบังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญาไม่สามารถใช้ยันแก่บุคคลอื่นได้ ส่วนสิทธิยึดหน่วงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 หมายถึง การที่ผู้ครอบครองได้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณแก่ผู้ครอบครองเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองนั้นหนี้ที่ผู้ร้องมีเป็นเพียงหนี้เงินกู้ที่ผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้คืนเท่านั้นหาได้เป็นคุณแก่ผู้ร้องเกี่ยวด้วยที่ดินโฉนดดังกล่าวไม่ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดิน
ข้อเท็จจริงที่ว่าจะมีการนำโฉนดที่ดินที่มอบให้ผู้ร้องยึดถือไปจำนองเป็นประกันการกู้เงินตามหนังสือสัญญากู้นั้นด้วย เป็นข้ออ้างว่าผู้ร้องมีหนี้อันเป็นคุณแก่ผู้ร้องเกี่ยวด้วยโฉนดที่ดิน ซึ่งจะทำให้ผู้ร้องมีสิทธิยึดหน่วงตามกฎหมาย ที่จะสนับสนุนว่าผู้ร้องมีสิทธิยึดหน่วง ผู้ร้องต้องอ้างมาในคำร้องด้วย จะนำสืบในชั้นไต่สวนคำร้องหาได้ไม่ เพราะมิใช่ข้อเท็จจริงอันเป็นเพียงรายละเอียดหรือข้อเท็จจริงที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงที่กล่าวมาในคำร้องของผู้ร้องแม้จะเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยก็ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1646/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนรับขนส่งสินค้าทางทะเล: ความรับผิดตามสัญญา แม้ไม่ใช่ผู้ขนส่งโดยตรง
โจทก์ว่าจ้างผู้ขนส่งซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศโดยติดต่อผ่านจำเลย เมื่อจำเลยได้รับสินค้าไปจากโจทก์แล้ว จำเลยได้มอบใบตราส่งซึ่งระบุชัดว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งให้แก่โจทก์ ทั้งเมื่อโจทก์ชำระค่าระวางการขนส่งให้แก่จำเลย จำเลยก็ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่โจทก์โดยระบุในใบเสร็จรับเงินว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ขนส่ง พฤติการณ์ดังกล่าวแม้จำเลยจะไม่ได้ลงลายมือชื่อหรือประทับตราของจำเลยในใบตราส่งก็รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งและได้ทำสัญญารับขนส่งสินค้าให้แก่โจทก์แทนผู้ขนส่งซึ่งเป็นตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศมิใช่เป็นเพียงนายหน้าในการรับของระวางเรือ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาแต่ลำพังตนเอง เมื่อผู้ขนส่งผิดสัญญาไม่ส่งสินค้าให้ถึงเมืองปลายทาง จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายจากการขนส่งไปยังเมืองท่าปลายทาง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
ข้อจำกัดความรับผิดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 58จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียง 10,000 บาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่งนั้นใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ของที่ได้รับมอบหมายสูญหายหรือเสียหายเท่านั้น แต่กรณีผู้ขนส่งผิดสัญญาไม่ส่งของไปยังเมืองท่าปลายทาง หาใช่เป็นกรณีของสูญหายหรือเสียหายไม่ จึงไม่อาจนำข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวมาใช้บังคับได้
ส่วนข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงกันว่าเมื่อจำเลยสามารถจัดส่งสินค้าที่ตกค้างไปยังเมืองท่าปลายทางได้เสร็จเรียบร้อยจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นจำเลยมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้ในคำให้การ เพิ่งยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์จึงมิใช่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ซึ่งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เลิกจ้างไม่เป็นธรรม: การฝ่าฝืนระเบียบร้ายแรงเป็นเหตุชอบธรรม
การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาของธนาคารจำเลยทำรายการซื้อตั๋วแลกเงินแทนลูกค้า จากนั้นเก็บตั๋วแลกเงินที่ขายให้ลูกค้าไว้แล้วออกสมุดเงินฝากให้แก่ลูกค้าโดยที่ลูกค้ามิได้ฝากเงินไว้กับจำเลย เป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบการทำงานของจำเลยซึ่งให้สาขาออกคู่ฉบับใบลงรับมอบให้ลูกค้าไว้เป็นหลักฐาน อาจเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายได้ เพราะหากลูกค้านำสมุดเงินฝากมาขอเบิกเงินจากจำเลย จำเลยอาจต้องรับผิดจ่ายเงินตามสมุดเงินฝากแก่ลูกค้า แม้จะยังไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยเนื่องจากโจทก์กระทำไปโดยได้รับความยินยอมจากลูกค้าและเพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยโจทก์มิได้ทุจริตต่อหน้าที่ ก็ต้องถือว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยอันเป็นกรณีร้ายแรงแล้ว จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องตักเตือนและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4)
อุทธรณ์ของโจทก์ที่อ้างพยานบุคคล พยานเอกสารและเหตุผลต่าง ๆ เพื่อให้ศาลฎีการับฟังว่า พยานหลักฐานจำเลยยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้แทนนิติบุคคลไม่ยินยอมให้ใช้ชื่อนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ซื้อตั๋วแลกเงินก็ดี จ. เป็นผู้เก็บส่วนต่างของดอกเบี้ยจากการจำหน่ายตั๋วแลกเงินให้แก่ลูกค้าก็ดี ล้วนแต่เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54วรรคหนึ่ง
ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและคณะกรรมการสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนทางวินัยโจทก์แล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า คณะกรรมการที่จำเลยแต่งตั้งขึ้นมิได้มีการสอบสวนทางวินัยและลงโทษโจทก์ จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ศาลแรงงานกลางมิได้รับฟังข้อเท็จจริงว่า ท. กับ จ. กระทำการฝ่าฝืนต่อระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยและจำเลยอนุมัติให้บุคคลทั้งสองลาออกดังที่โจทก์อ้างมาในอุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการเพิ่มเติมข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5738-5739/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมซื้อขายที่ดินที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเป็นโมฆะ แม้จะมีการโอนสิทธิ
โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องทั้งสองสำนวนโดยตั้งประเด็นใหม่ว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นโมฆะซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตตามคำร้องของโจทก์นั้นแล้ว และจำเลยทั้งห้าก็ได้ขอแก้ไขคำให้การทั้งสองสำนวนแล้วว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไม่เป็นโมฆะ แต่ศาลชั้นต้นยังคงชี้สองสถานโดยตั้งประเด็นในเรื่องนี้ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ อันเป็นคนละเรื่องกับคำฟ้องและคำให้การที่โจทก์และจำเลยทั้งห้าแก้ไขซึ่งเป็นการผิดพลาด ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 183 ศาลสูงไม่จำต้องถือตามและมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปตามประเด็นที่ถูกต้องได้ เมื่อโจทก์อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยให้โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาต่อมา
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจากจำเลยที่ 1 โดยทราบจากเจ้าพนักงานที่ดินแล้วว่าโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 กับพวกโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยังคงยืนยันให้เจ้าพนักงานที่ดินรับจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้ตามคำขอ การกระทำของจำเลยทั้งห้าเช่นนี้เห็นได้ว่าจำเลยทั้งห้ามีเจตนาโอนและรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อขัดขวางมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดตามที่โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไว้แล้ว นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้โดยไม่จำต้องใช้สิทธิในเรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตาม มาตรา 237
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหรือทำลายนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินสองแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 12 กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และขอบังคับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันแก้ไขทางทะเบียนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เพื่อจดทะเบียนให้แก่โจทก์โดยให้จำเลยทั้งห้าเสียค่าใช้จ่ายร่วมกัน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนั้นแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อกลับมีชื่อเป็นเจ้าของในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) สำหรับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยอัตโนมัติ ไม่จำต้องบังคับจำเลยทั้งห้าตามคำขอของโจทก์ดังกล่าว และคำขอดังกล่าวโจทก์เป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้เพราะเพียงแต่ขอให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิมเท่านั้น มิได้เรียกร้องเอาที่ดินทั้งสองแปลงเป็นของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5687/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า การปลอมแปลงเครื่องหมายการค้า และการจำหน่ายสินค้าปลอม โดยศาลฎีกาได้พิจารณาแก้ไขโทษและยกฟ้องบางข้อหา
ตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2542 ซึ่งมาตรา 3 ให้ยกเลิก พระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 กับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงฉบับที่ 2 พ.ศ. 2496 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2508 ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2520 และฉบับที่ 5พ.ศ. 2530 เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2543 หลังวันที่พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ใช้บังคับแล้ว 1 ปีเศษ โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันมีเก็บไว้เพื่อจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไม่น่ากลัวอันตราย มีปริมาณเกินกว่า 10,000 ลิตร ไว้ในสถานที่เก็บน้ำมันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน และขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474ซึ่งถูกยกเลิกไปก่อนแล้ว โดยมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ที่บัญญัติขึ้นใช้ในภายหลัง แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็รับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยในระหว่างเวลาที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 ยังมีผลใช้บังคับอยู่นั้นยังคงเป็นความผิดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ต้องถือว่าจำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ส่วนการกระทำของจำเลยนับแต่วันที่ พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 บัญญัติขึ้นใช้ภายหลังและยกเลิก พระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 แล้ว โจทก์ยังบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดและขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 ซึ่งถูกยกเลิกไป จึงมีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้อ้างบทกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำของจำเลยระหว่างวันเวลาดังกล่าวเป็นความผิดจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 26ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) ต้องยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยหลอกลวงให้ผู้ซื้อสินค้าเข้าใจผิดว่าสินค้าที่จำเลยผลิตขึ้นนั้นเป็นของบริษัท ส. และบริษัท ฮ. ผู้เสียหาย โดยใช้ป้ายโฆษณาที่มีตราเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายติดที่สินค้า อันเป็นการใช้ฉลากซึ่งมีเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายในการขายสินค้าเพื่อลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดนั้นถือว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวกันในความผิดฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม กับฐานใช้ฉลากในการขายสินค้าเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณของสินค้าดังกล่าว เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกัน
of 130