คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 225

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,295 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10758/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์คำสั่งแก้ฟ้องและเหตุอันควรในการแก้ไขฟ้องอาญา
ป.วิ.อ. มาตรา 196 บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญและมีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย โดยมิได้บัญญัติให้คู่ความต้องโต้แย้งไว้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 226 ฉะนั้น เมื่อจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้แม้จะมิได้โต้แย้งไว้ก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และไม่รับวินิจฉัยนั้นไม่ชอบ
ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อมีเหตุอันควร โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตามคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์อ้างเหตุว่าคำฟ้องของโจทก์ผิดพลาดในรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อยในการพิมพ์ ขอแก้คำฟ้องจาก ร่วมกันลักเอารถจักรยานยนต์ เป็น ร่วมกันลักเอารถยนต์ ดังนี้ เหตุที่โจทก์อ้างมานั้นถือได้ว่าเป็นเหตุอันควรอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้เนื่องจากเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาด และการที่โจทก์ขอแก้ฟ้องดังกล่าวเป็นการแก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำความผิดซึ่งต้องแถลงในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 ฉะนั้นจึงไม่ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 164 และมิใช่เป็นการแก้ฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่สมบูรณ์ให้เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือสมบูรณ์ดังที่จำเลยฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9488/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภาษีอากร: วินิจฉัยเฉพาะประเด็นที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้เท่านั้น
ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์มีเงินได้จากการขายอาหารและมีเงินได้จากการรับเดินโพยพนันบอลในปีภาษีพิพาท แต่โจทก์อุทธรณ์การประเมินเฉพาะเงินได้จากการรับเดินโพยพนันบอลเท่านั้น การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยถือเอาเงินได้จากการขายอาหารเป็นเงินได้จากการรับเดินโพยพนันทั้งหมด แม้จะเป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินไว้ก็ตาม แต่หาได้เป็นการวินิจฉัยตามประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์ไว้ไม่ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนที่ถือว่าเงินได้จากการขายอาหารเป็นเงินได้จากการรับเดินโพยพนันบอลทั้งหมดจึงไม่ชอบ
โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินในประเด็นค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้จากการรับเดินโพยพนันบอล คงอุทธรณ์เฉพาะจำนวนเงินได้จากการรับเดินโพยพนันบอลเท่านั้น จึงถือว่าโจทก์ไม่ติดใจอุทธรณ์การประเมินในประเด็นค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้จากการรับเดินโพยพนันบอลตามจำนวนที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิยกประเด็นที่ถือว่าโจทก์ได้สละแล้วมาฟ้องต่อศาลได้อีก ปัญหานี้แม้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ว่ากันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลางโดยชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17194/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงที่ไม่ยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้น และข้อยกเว้นความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง เฉพาะวิธีพิจารณาในส่วนที่ว่า ข้อเท็จจริงที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและในส่วนที่ว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับเท่านั้น ส่วนบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ที่ว่าปัญหาข้อเท็จจริงอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น คู่ความมีสิทธิยกขึ้นอ้างได้นั้นมิได้นำมาใช้บังคับด้วย เนื่องจาก ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่าให้อุทธรณ์ได้เฉพาะข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10786/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อบังคับบริษัทจำกัดสิทธิลูกจ้างในการแต่งกายเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน ไม่ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
ผู้ร้องประกอบธุรกิจผลิตอัญมณี เครื่องประดับที่ทำด้วยทองเคและเงินเพื่อการส่งออก จึงเป็นเหตุผลให้ต้องมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ระบุว่า "พนักงานต้องไม่สวมใส่เครื่องประดับ หรือประดับกายด้วยสิ่งที่เป็นโลหะ รวมถึงการสวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่มีโลหะตกแต่ง หรือยึดเกาะ เข้า - ออกอาคารผลิต หากพนักงานรักษาความปลอดภัยตรวจพบถือเป็นความผิดร้ายแรง" เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานนำชิ้นงานอัญมณีรวมทั้งเศษทองเคและเงินซุกซ่อนออกจากโรงงาน ซึ่งหากพนักงานสวมใส่สิ่งที่มีโลหะประกอบอยู่ด้วยก็จะเป็นการยากต่อการตรวจสอบ การที่ผู้คัดค้านสวมสร้อยคอเชือกสายร่มและห้อยพระเนื้อดิน แม้จะไม่มีสิ่งที่เป็นโลหะประกอบอยู่ด้วย แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการสวมใส่เครื่องประดับที่อาจใช้ซุกซ่อนอัญมณีหรือชิ้นงานมีค่าอื่น ๆ ของผู้ร้องออกไปได้ จึงเป็นการขัดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อดังกล่าว
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อดังกล่าวเป็นการกำหนดให้ลูกจ้างปฏิบัติเกี่ยวกับการแต่งกายในการทำงาน ในระหว่างเวลาทำงานและเฉพาะในสถานประกอบการของนายจ้างเท่านั้น มิได้จำกัดหรือห้ามลูกจ้างไปถึงนอกเวลาทำงานหรือในพื้นที่ทั่วไปแต่ประการใด และมิได้มีส่วนที่จำกัดเสรีภาพของลูกจ้างในการนับถือศาสนาแต่ประการใด จึงมิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9162/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเด็นข้อพิพาทจำกัดตามคำฟ้อง การอุทธรณ์นอกประเด็น และการนำสืบพยานนอกประเด็น
การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยทั้งสองกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายหรือไม่ ก็มีความหมายเพียงว่าลูกจ้าง หรือตัวแทนของจำเลยทั้งสองกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ได้ตรวจดูบัตรจอดรถที่ออกให้แก่ ช. ซึ่งขับรถยนต์คันดังกล่าวเข้าไปจอดบริเวณที่จอดรถของห้างสรรพสินค้า เป็นเหตุให้คนร้ายลักรถยนต์คันนั้นไปเท่านั้น มิได้มีความหมายรวมถึงเหตุที่รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยสูญหาย เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ที่ไม่จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเดินตรวจบริเวณลานจอดรถที่โจทก์มิได้อ้างเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามฟ้องแต่อย่างใดไม่ และแม้ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นจะมีการสืบพยานกล่าวอ้างถึงเหตุดังกล่าวก็เป็นการนำสืบนอกประเด็นข้อพิพาทอันเป็นการไม่ชอบ เมื่ออุทธรณ์ของโจทก์นั้นเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างคนละเหตุกับคำฟ้องของโจทก์ จึงถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8331-8332/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษจำเลยในคดีเช็คหลายฉบับ ศาลไม่เกินคำขอแม้ไม่ได้ขอให้นับโทษต่อกัน
ป.วิ.อ.มาตรา 158 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ไม่ได้ระบุให้โจทก์ต้องบรรยายฟ้องเกี่ยวกับการขอให้นับโทษจำคุกในแต่ละกระทงติดต่อกันหรือขอให้รวมโทษในแต่ละกระทง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องระบุวันที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็คทั้งเจ็ดฉบับต่างวันกัน และจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ แสดงว่าจำเลยทั้งสองเจตนาสั่งจ่ายเช็คแต่ละฉบับชำระหนี้แต่ละส่วนแยกกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องหรือมีคำขอให้ศาลพิพากษานับโทษจำคุกแต่ละกระทงติดต่อกันหรือขอให้รวมโทษในคำฟ้องแต่ละสำนวน ศาลก็ลงโทษจำเลยทั้งสองในแต่ละสำนวนทุกกรรมเป็นกระทงความผิดและรวมโทษในแต่ละสำนวนได้ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง จึงต้องนำ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 มาใช้บังคับ เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499กับกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำ ป.วิ.พ. มาตรา 225 มาใช้บังคับกับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6248/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงชำระหนี้ตามคำพิพากษา ถือเป็นการกระทำละเมิด ผู้กระทำต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แต่เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์และพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยไม่วินิจฉัยในประเด็นฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยแก้อุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โดยมิได้แก้อุทธรณ์ในปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจยกประเด็นเรื่องอายุความขึ้นวินิจฉัย เพราะไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ยกประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ และโจทก์ฎีกาปัญหาข้อนี้มา โดยคู่ความทั้งสองฝ่ายได้สืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่
จำเลยย่อมทราบดีว่าการขายทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัท บ. ให้แก่บุคคลอื่น จะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่อาจบังคับเอาทรัพย์สินของบริษัท บ. มาชำระหนี้ได้ เป็นการจงใจทำโดยผิดกฎหมาย โจทก์ย่อมเสียหายทางทรัพย์สินแล้ว การกระทำผิดกฎหมายดังนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 422 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้ผิดคือได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ การกำหนดจำนวนค่าเสียหายศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 400,000 บาท และโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 เมื่อฟังว่า การโอนทรัพย์สินของจำเลยเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นการกระทำละเมิดจำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 นับแต่วันดังกล่าวตามฟ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11699/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขนส่งสินค้าทางทะเล: ความรับผิดของผู้ขนส่งต่อความเสียหายของสินค้า และการพิสูจน์เหตุสุดวิสัย
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะที่เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามสัญญารับขนสินค้าตามฟ้อง ไม่ได้ฟ้องให้รับผิดในมูลละเมิด คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว การที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ผู้กระทำละเมิดทำให้สินค้าเสียหายเป็นคนขับเรือลากจูง จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้ทำละเมิด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อที่ไม่ได้ยกว่ากันมาแล้วโดยชอบ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225
จำเลยที่ 1 รับจ้างขนส่งสินค้าเหล็กม้วนรีดเย็นให้กับบริษัท ท. จากท่าเรือกรุงเทพไปยังโรงพักสินค้าของบริษัทดังกล่าวที่จังหวัดสมุทรปราการ อันเป็นการขนส่งภายในประเทศ ที่ต้องใช้บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 บังคับ ซึ่งมาตราดังกล่าวบัญญัติให้ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าความเสียหายเกิดแต่เหตุสุดวิสัย เมื่อปรากฏว่าสินค้าที่รับขนส่งได้รับความเสียหาย จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะต้องพิสูจน์นำสืบพยานหลักฐานแสดงข้อเท็จจริงให้รับฟังได้ว่าความเสียหายของสินค้าเกิดจากเหตุสุดวิสัย
แม้ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องว่า เรือมีรูรั่วบริเวณด้านบนกาบขวาเรือ แต่โจทก์นำสืบรับว่าเรือของจำเลยทั้งสองมีรูรั่วอยู่บริเวณใต้น้ำ ซึ่งแตกต่างไปจากคำฟ้อง ก็ไม่ใช่เป็นการคลาดเคลื่อนในสาระสำคัญแต่อย่างใด ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 เพราะสาระสำคัญของข้อเท็จจริงที่จะมีผลให้จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดอยู่ที่เรื่องเหตุสุดวิสัยเท่านั้น เมื่อรับฟังไม่ได้ว่ารูรั่วเกิดจากเหตุสุดวิสัยแล้ว จำเลยทั้งสองก็ยังคงต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. 616 อยู่ดี
ลักษณะความเสียหายของสินค้าเหล็กม้วนรีดเย็นเกิดเป็นสนิมทั้งหมด ซึ่งเหล็กดังกล่าวจะนำไปจำหน่ายแก่ลูกค้าที่ซื้อไปผลิตส่วนประกอบชิ้นส่วนเครื่องยนต์หรือตัวถังรถยนต์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ หากเกิดสนิมหรือเกิดความชื้นเพียงเล็กน้อยก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้ ถือว่าเป็นความเสียหายโดยสิ้นเชิง การเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ จึงไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11490/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม อุทธรณ์/ฎีกาประเด็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อเป็นการนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเรื่องเขตอำนาจศาล เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยในเรื่องนี้มิได้มีการยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยยังคงฎีกาต่อมาฎีกาของจำเลยก็เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10852/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่ง และการรับผิดในฐานะนายจ้าง กรณีสินค้าเสียหาย
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งและมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุกของตนนำสินค้าไปส่งตามสัญญารับขน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกพลิกคว่ำระหว่างทาง ทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 2 อ้างเหตุสุดวิสัยเพื่อไม่ให้ตนต้องรับผิดจากความเสียหายดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าการเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 616
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นอกจากจำเลยที่ 3 จะดำเนินการพิธีการศุลกากรแล้ว ยังได้จองรถและออกค่าเช่ารถให้แก่จำเลยที่ 2 แทนบริษัท อ. ผู้เอาประกันภัยไปก่อน รวมทั้งเป็นผู้ออกใบตราส่งด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อประสานงานอำนวยความสะดวกให้ทั้งบริษัท อ. และจำเลยที่ 2 ด้วยเพื่อให้การขนส่งสินค้าลุล่วงไป ดังนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่งตามฟ้อง แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นผู้ออกใบตราส่ง แต่ก็ได้ความว่าจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ติดต่อจัดหาผู้ขนส่งให้แก่บริษัท อ. โดยทำธุรกิจเช่นนี้มานานแล้ว แสดงว่าการจองรถของจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2 เป็นการติดต่อว่าจ้างผู้ขนส่ง แทนบริษัท อ. ผู้ส่งนั่นเอง จำเลยที่ 3 จึงไม่ใช่ผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 3 ได้ทำใบจองรถบรรทุกโดยขีดเครื่องหมายในช่องเลือกแบบการขนส่งที่คุ้มครองความเสียหายในวงเงิน 20,000 บาท ต่อครั้ง ย่อมถือได้ว่าบริษัท อ. ในฐานะตัวการเลือกแบบการขนส่งโดยตัวแทนแล้ว จึงถือได้ว่าบริษัท อ. ได้แสดงความตกลงชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งไว้ไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งมีผลบังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 และเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 และ 617 บัญญัติให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า รวมถึงความเสียหายอันเกิดแต่ความผิดของบุคคลอื่นที่ตนได้มอบหมายของไปอีกทอดหนึ่งด้วย การที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้าอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่งหรือลูกจ้างของผู้ขนส่ง ย่อมเป็นการผิดสัญญารับขนและเป็นการละเมิดด้วย แต่เมื่อมีการทำสัญญาตกลงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ก็เท่ากับว่าผู้ส่งและผู้ขนส่งมีเจตนาที่จะถือเอาความรับผิดต่อกันให้เป็นไปตามสัญญารับขนแล้ว ย่อมต้องบังคับกันไปตามเจตนาของคู่สัญญาตามที่ได้ตกลงกันจำกัดความรับผิดกันไว้ ผู้ส่งย่อมไม่อาจขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในมูลละเมิดในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดให้ผิดไปจากข้อตกลงได้ สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ได้ความว่าเหตุใดจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่คู่สัญญาจึงได้รับประโยชน์จากสัญญาขนส่งด้วยแต่อย่างใด ย่อมเป็นอุทธรณ์ไม่ชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
of 130