คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 27

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 121 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4667/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ภาษีในคดีล้มละลาย เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมหากลูกหนี้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีถูกต้อง
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ได้ก็แต่โดยการยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91 ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจที่จะตรวจคำขอรับชำระหนี้ และสอบสวนพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องว่ามูลหนี้นั้นเจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่ แล้วทำความเห็นเสนอต่อศาล และศาลมีอำนาจตามมาตรา 106, 107 ที่จะพิจารณามีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือให้ยกคำขอรับชำระหนี้นั้นตามที่ได้ความจากการสอบสวนก็ได้ เจ้าหนี้จะดำเนินการแจ้งการประเมินตามวิธีการที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรเพื่อเรียกให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หาได้ไม่
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 82/2542 ข้อ 9 ให้เริ่มใช้บังคับสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2542 จึงไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะจากรายรับของเดือนภาษี ธันวาคม 2541 และมกราคม 2542
การที่ลูกหนี้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะโดยมีฐานภาษีจากรายรับการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ก่อนหักรายจ่ายซึ่งเป็นราคาซื้อขายกันในขณะนั้น จึงเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะในราคาตลาดตามความหมายของ ป.รัษฎากร มาตรา 91/16 และมาตรา 91/1 (3) แล้ว ประกอบกับการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้เป็นการดำเนินการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินซึ่งเป็นองค์การของรัฐและดำเนินการในช่วงเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศกำลังถดถอย จึงอาจขายได้ราคาไม่เท่ากับในภาวะเศรษฐกิจปกติ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการสมรู้ในการประมูลราคาแล้ว จึงต้องฟังว่าเป็นการขายทอดตลาดในราคาตลาดโดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2771/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายคดีแพ่งเมื่อมีการฟ้องล้มละลาย และเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้ว
เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น เมื่อจำเลยถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและโจทก์ในคดีนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้แล้ว ทั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ประสงค์จะเข้าว่าคดี หากศาลฎีกาจะพิจารณาพิพากษาคดีไปในชั้นนี้และในที่สุดโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยเป็นฝ่ายชนะคดี ก็ไม่ผูกพันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลในคดีล้มละลาย นอกจากนี้การอ้างสิทธิในการหักกลบลบหนี้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ย่อมดำเนินการได้ในคดีล้มละลายอยู่แล้วตามมาตรา 102 การที่จะพิจารณาคดีนี้ต่อไปจึงไม่เป็นประโยชน์ กรณีเช่นนี้มาตรา 25 ให้อำนาจศาลที่จะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ ศาลฎีกาจึงให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5272/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของทายาทในกองมรดก: เจ้าหนี้มีสิทธิบังคับคดีได้โดยตรง แม้มีการพิทักษ์ทรัพย์
กองมรดกของ ส. ที่ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง ได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของ ส. ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ซึ่งมิได้มีกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของ ส. โดยแท้ตามมาตรา 1600 จำเลยที่ 3 และที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ส. จึงต้องรับทั้งสิทธิและหน้าที่ตลอดทั้งความรับผิดต่าง ๆ ในกองมรดกของ ส. โดยผลของกฎหมาย อันเป็นเหตุให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของ ส. จำต้องฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 5 ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ สิทธิและหน้าที่ตลอดทั้งความรับผิดต่าง ๆ ของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมย่อมเป็นคนละส่วนกับสิทธิและหน้าที่โดยส่วนตัวซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 5 มีอยู่ก่อนถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ฉะนั้น บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 จะนำมาบังคับใช้แก่หน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ ส. ซึ่งยังมิได้มีการแบ่งอันพึงมีต่อโจทก์มิได้ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้ศาลออกคำบังคับแก่จำเลยที่ 3 และที่ 5 ซึ่งต้องรับผิดตามคำพิพากษาในฐานะทายาทโดยธรรมของ ส.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3960/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้และผลกระทบต่อการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แม้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ น. เข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทนโจทก์เดิมเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางสั่งรับฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คดีจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลาย จึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายที่จะสั่งคำร้องของ น. ที่จะเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลล้มละลายกลางไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ น. เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์
มูลหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาขายลดตั๋วเงินซึ่งอาจใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระเงินตามสิทธิที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์มีอยู่ตามตราสารและสัญญาตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2532 แต่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์กลับนำหนี้ที่มีอยู่มาฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2543 จึงขาดอายุความฟ้องร้องในมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีกำหนดเวลา 3 ปีและมูลหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินที่มีกำหนดเวลา 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 และมาตรา 193/30 แล้ว แม้ศาลล้มละลายกลางจะได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดโดยมิได้มีการยกเหตุเรื่องอายุความขึ้นมาพิจารณาวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ก็ตาม ก็หาใช่ว่าศาลล้มละลายกลางได้วินิจฉัยยอมรับรองว่าเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ไม่ อีกทั้งกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 27 ในส่วนของการขอรับชำระหนี้เป็นกระบวนพิจารณาที่แยกต่างหากจากกระบวนพิจารณาคดีและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ เมื่อบทบัญญัติในมาตรา 91,94,106,107 และ 108 ได้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลที่จะต้องพิจารณาในชั้นขอรับชำระหนี้อีกครั้งหนึ่งด้วยว่าหนี้ที่เจ้าหนี้แต่ละรายยื่นคำขอรับชำระหนี้ เป็นหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่ แม้หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้มานั้นจะเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้นำมากล่าวอ้างฟ้องเป็นคดีล้มละลายจนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วก็ตาม แต่ก็หาผูกพันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลให้จำต้องถือตามไม่ เมื่อหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระเป็นหนี้ที่ขาดอายุความ จึงต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 94(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3960/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้และการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แม้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เจ้าหนี้ต้องพิสูจน์หนี้ที่ชอบด้วยกฎหมาย
ภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางสั่งรับฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ย่อมเป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายที่จะสั่งคำร้องของ น. ที่จะเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลล้มละลายกลางไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาต
เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ขอรับชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาขายลดตั๋วเงินซึ่งอาจใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระเงินได้ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2532 แต่เจ้าหนี้กลับนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2543 จึงขาดอายุความในมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีกำหนด 3 ปี และมูลหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินที่มีกำหนด 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001และมาตรา 193/30 แล้ว แม้ศาลล้มละลายจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยมิได้ยกเหตุเรื่องอายุความขึ้นมาวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ ก็หาใช่ว่าศาลล้มละลายได้ยอมรับรองว่าเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ไม่ อีกทั้งกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย ในส่วนของการขอรับชำระหนี้เป็นกระบวนพิจารณาที่แยกต่างหากจากกระบวนพิจารณาคดีและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ เมื่อในมาตรา 91,94,106,107 และ 108 ได้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลที่จะต้องพิจารณาในชั้นขอรับชำระหนี้อีกครั้งหนึ่งด้วยว่าหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่ แม้หนี้นั้นจะเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้นำมากล่าวอ้างฟ้องเป็นคดีล้มละลายจนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ก็หาผูกพันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลให้จำต้องถือตามไม่ เมื่อเป็นหนี้ที่ขาดอายุความจึงต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5737/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องชดใช้ค่าเสียหายจากสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันยังคงอยู่ แม้จะมีการเรียกร้องค่าสินไหมจากประกันภัย
แม้โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยรถยนต์ที่เช่าซื้อจะเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย ด้วยการยื่นคำขอรับชำระหนี้ของบริษัทผู้รับประกันภัยในคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 27,91 ก็เพื่อเป็นการรักษาสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยไว้เท่านั้น และเป็นการไม่แน่นอนว่าจะได้รับชำระหนี้ เพราะคำขออาจถูกยกหรืออนุญาตทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ตามมาตรา 107 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การเข้าถือเอาประโยชน์ของโจทก์จึงมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5737/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ, ประกันภัย, ล้มละลาย: สิทธิเรียกร้องชดใช้ค่าเสียหายยังคงอยู่แม้มีการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถไปจากโจทก์ โดยโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เอาประกันภัยระบุให้โจทก์เป็น ผู้รับผลประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยนั้น สัญญาประกันภัยดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาเช่าซื้อตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้ออันมีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 เพื่อทดแทนความเสียหายให้แก่โจทก์อีกทางหนึ่ง ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเพื่อให้ได้รับชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวนจากข้อผูกพันตามสัญญาฉบับใดฉบับหนึ่งหรือทั้งสองฉบับจนกว่าจะได้รับครบถ้วน การที่รถที่เช่าซื้อประสบอุบัติเหตุเสียหายจนซ่อมแซมไม่ได้ และโจทก์ได้เข้าถือเอาผลประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัย แต่ผู้รับประกันภัยถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย โจทก์จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ดังกล่าว ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าการเข้าถือเอาประโยชน์ของโจทก์ตามสัญญาประกันภัยได้รับชดใช้ค่าเสียหายแล้ว เพราะการยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเพียงการปฎิบัติตามขั้นตอนที่บังคับไว้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายเพื่อรักษา สิทธิเรียกร้องเอาไว้และเป็นการไม่แน่นอนว่าจะได้รับชำระหนี้ เพราะคำขออาจถูกยกหรืออนุญาตทั้งหมดหรือ แต่บางส่วนก็ได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4851/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำนองหลังล้มละลาย: นิติกรรมเป็นโมฆะ เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้โดยตรง
ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 24 และ 25 การที่บุคคลล้มละลายจำนองที่ดินของตนแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของผู้อื่นภายหลังที่ศาลได้พิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว เป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้อันมีผลผูกพันในที่ดินที่จะต้องถูกบังคับคดีในที่สุดหากไม่ชำระหนี้ และฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะไม่ได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ นิติกรรมจำนองจึงตกเป็นโมฆะ มิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องเข้าว่าคดีแพ่งอันเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย แม้หากการกระทำของลูกหนี้จะเป็นการละเมิดต่อโจทก์และมีหนี้ที่จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่หนี้ดังกล่าวก็เกิดขึ้นภายหลังที่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์ไม่มีอาจนำมาขอยื่นรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 27,91 และ 94 โจทก์ชอบที่จะฟ้องลูกหนี้เป็นจำเลยโดยตรง โจทก์จะฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นจำเลยแทนลูกหนี้หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1242/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีแพ่งที่จำหน่ายคดีเนื่องจากล้มละลาย ศาลต้องคืนค่าขึ้นศาลเพื่อบรรเทาภาระแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความเนื่องจากจำเลยถูกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลาย ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมด้วย บทบัญญัติของกฎหมายในมาตราดังกล่าวมีเจตนารมณ์ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควร ซึ่งต่างจากกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลต้องมีคำสั่งให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด หรือในกรณีที่มีการถอนคำฟ้องหรือได้มีการ ตัดสินให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ หรือเมื่อคดีได้เสร็จเด็ดขาดลงโดยสัญญาหรือ การประนีประนอม ยอมความ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดหรือบางส่วนแก่คู่ความได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับ จำเลยทั้งหกเป็นพับจึงชอบแล้ว
อย่างไรก็ตาม การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความ ซึ่งเกิดจากเหตุที่จำเลยทั้งหก ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น โจทก์ทั้งสองก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายอีกด้วย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่คืน ค่าธรรมเนียมให้โจทก์ทั้งสองเลยนั้น น่าจะเป็นภาระแก่โจทก์ทั้งสองที่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน คือ ค่าธรรมเนียมในการยื่นฟ้องคดีนี้และค่าธรรมเนียมในการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ซึ่งเป็นหนี้จำนวนเดียวกันที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้อง ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6555/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการตรวจสอบมูลหนี้ แม้เป็นหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเหตุให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และผลของการขาดอายุความ
แม้หนี้ที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้จะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาหรือหนี้ที่เป็นมูลให้ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ก็หาผูกพันให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลต้องถือตามไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลจึงมีอำนาจจะฟังข้อเท็จจริงว่า หนี้สินตลอดจนหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งยื่นขอรับชำระนั้นมีมูลหนี้อันจะพึงอนุญาตให้รับชำระหนี้ตามคำขอหรือไม่
เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์นำหนี้ซึ่งสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วมาขอรับชำระหนี้ จึงต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 94(1)แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
of 13