คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 185 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 68 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5347/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกฟ้องอาญา แม้จำเลยรับสารภาพ หากไม่มีความผิดตามฟ้อง
คดีนี้โจทก์ฟ้องด้วยวาจาโดยขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องในความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานจราจร ฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถในระหว่างถูกยึดใบอนุญาตขับรถ และฐานใช้ยานพาหนะบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องทั้งสามฐาน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถในระหว่างถูกยึดใบอนุญาตขับรถ แม้จะได้ความว่าจำเลยให้การรับสารภาพก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ย่อมพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยจำนนต่อหลักฐาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9502/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายก๊าซปิโตรเลียมเหลวโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.น้ำมันเชื้อเพลิง
ตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 บัญญัติให้การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 3 (1) ได้แก่ "การผลิต การจำหน่าย การขนส่ง การมีไว้ในครอบครอง การสำรองและการส่งออกนอกราชอาณาจักรและนำเข้ามาในราชอาณาจักร..." เท่านั้น ดังนั้น คดีนี้ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาว่า "...จำเลยร่วมกันซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว... จากผู้อื่นซึ่งมิได้เป็นผู้ค้าน้ำมัน โดยที่ก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่บรรจุใส่ถังก๊าซหุงต้ม... ดังกล่าว ไม่มีอุปกรณ์ปิดผนึกลิ้นถังก๊าซหุงต้ม (Valve) และไม่มีเครื่องหมายประจำตัวแสดงไว้ที่อุปกรณ์ปิดผนึกลิ้น ถังก๊าซหุงต้ม (Seal)..." การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมิใช่การกระทำที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด เมื่อ พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 มาตรา 3 (1) มิได้บัญญัติว่าการซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นความผิด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องได้ แม้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพก็ไม่สามารถลงโทษจำเลยทั้งสองได้ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว (ก๊าซหุงต้ม) จากผู้อื่นที่มิใช่ผู้ค้าที่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเครื่องหมายประจำตัวผู้บรรจุก๊าซแสดงไว้ที่อุปกรณ์ปิดผนึกลิ้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่คู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำหน่ายหุ้นมรณะ-ฉ้อโกง: การกระทำของภริยาผู้จัดการมรดกไม่ถึงขั้นฉ้อโกง-ศาลมีอำนาจยกฟ้องได้
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกขอให้ลงโทษในความผิดฐานยักยอก ชั้นไต่ส่วนมูลฟ้องศาลชั้นต้นให้ประทับรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานฉ้อโกง และยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์และยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 3 สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่โต้แย้งว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นการหลอกหลวงโจทก์อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงนั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานฉ้อโกง เมื่อข้อหายักยอกตามฟ้องและข้อหาฉ้อโกงที่โจทก์อุทธรณ์ทั้งสองข้อหามีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของ ป.วิ.อ. มาตรา 170 วรรคหนึ่ง, 193 วรรคหนึ่ง และมาตรา 193 ทวิ ซึ่งนำมาปรับใช้กับคดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้เช่นเดียวกับในชั้นพิจารณา คดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกอุทธรณ์ของโจทก์ จึงชอบแล้ว
ส่วนคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่า แม้ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนมูลฟ้องแตกต่างจากฟ้องก็มิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลมีอำนาจใช้ ป.วิ.อ. 192 ได้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนมูลฟ้องฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานฉ้อโกง คดีจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายตามที่โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ แม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 บัญญัติว่าคำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด ซึ่งหมายถึงคู่ความไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลได้ แต่หากคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 ตามทางไต่สวนมูลฟ้องไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14391/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบรถยนต์ที่ใช้ในการกระทำผิดป่าไม้ และความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ที่ไม่เข้าข่ายต้องมีใบอนุญาต
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 ทวิ บัญญัติว่า "บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา 11 มาตรา 48 มาตรา 54 หรือมาตรา 69 ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่" โจทก์บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสองพร้อมกับยึดของกลางต่าง ๆ รวมทั้งรถยนต์กระบะ อันเป็นเครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องใช้ เครื่องจักรกล และยานพาหนะที่จำเลยทั้งสองใช้และมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานทำไม้และแปรรูปไม้ บรรทุกไม้และอุปกรณ์เครื่องมือดังกล่าวเป็นของกลาง เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง และไม่ได้ขอนำพยานเข้าสืบในส่วนรถยนต์กระบะของกลางให้เชื่อได้ว่า รถยนต์กระบะของกลางเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยทั้งสองใช้เดินทางไปรับจ้างแปรรูปไม้และจอดอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ กรณีจึงต้องฟังว่ารถยนต์กระบะของกลางเป็นยานพาหนะซึ่งจำเลยทั้งสองใช้บรรทุกไม้ด้วย และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, มาตรา 48 รถยนต์กระบะของกลางจึงเป็นยานพาหนะซึ่งได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 อันเป็นทรัพย์สินที่ต้องริบตามมาตรา 74 ทวิ แห่งกฎหมายดังกล่าว
ความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 นั้น นอกจากโจทก์ไม่ได้อ้างกฎกระทรวงที่กำหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดนั้นมาในคำขอท้ายฟ้องแล้ว ยังปรากฏอีกด้วยว่ากฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้ "เลื่อยโซ่ยนต์" หมายความว่า (1) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่ผลิตและประกอบสำเร็จรูปเพื่อการใช้งานที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว อันเป็นการกำหนดไว้ว่าเฉพาะการมีเลื่อยโซ่ยนต์ที่มีลักษณะเช่นนี้เท่านั้นที่ต้องมีใบอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ ถ้าไม่มีใบอนุญาตจึงจะมีความผิดฐานดังกล่าว แต่ฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏว่าเลื่อยโซ่ยนต์ที่จำเลยทั้งสองมีไว้ในครอบครองมีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดไว้ ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และ (6) การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง ต้องพิพากษายกฟ้องความผิดฐานนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11119/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหมิ่นประมาททางออนไลน์: การกระทำโดยสุจริตเพื่อป้องกันตนเองเป็นข้อยกเว้น
การที่จำเลยทั้งสามมิได้ยกข้อต่อสู้ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า การกระทำนั้นเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิด ก็ชอบที่จะวินิจฉัยคดีไปตามนั้นและพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันลงข้อความในเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อร้องขอความเป็นธรรมไปที่หน่วยงานราชการหลายแหล่ง แม้จะเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมก็ตาม แต่มิใช่เป็นการใส่ความโจทก์ร่วม เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริงว่าจำเลยทั้งสามไม่ยอมขายที่ดินให้โจทก์ร่วม เป็นเหตุให้เกิดความหวาดกลัวว่าโจทก์ร่วมเป็นข้าราชการทหารจะใช้อิทธิพลข่มขู่ รังแกจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นชาวบ้านและผู้หญิง จำเลยทั้งสามมีสิทธิที่จะเข้าใจได้โดยสุจริตว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประพฤติตนของโจทก์ร่วม อีกทั้งการที่จำเลยทั้งสามระบุชื่อจริงนามสกุลจริงของโจทก์ร่วมและของจำเลยทั้งสามตลอดจนที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสามไว้โดยชัดแจ้ง ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามนำข้อความลงในเว็บไซต์ต่าง ๆ ด้วยเจตนาสุจริตตามเรื่องที่เกิดขึ้นแก่จำเลยทั้งสาม การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียของตนตามคลองธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6450/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทในการขับรถ: ผู้ขับแซงตัดหน้าเป็นเหตุให้ชนและเสียหลัก ชนอีแต๋น ผู้ขับไม่ประมาท
ตามฟ้องที่จำเลยให้การรับสารภาพฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์บรรทุกพ่วงในทางเดินรถของจำเลย จำเลยไม่ได้ขับล้ำเข้าไปในทางเดินรถสวน ส่วน ร. ขับรถจักรยานยนต์สวนทางมาโดยขับตามหลังรถอีแต๋นที่ บ. เป็นผู้ขับ แต่ ร. ขับแซงขึ้นหน้ารถอีแต๋นล้ำเข้าไปในทางเดินรถของจำเลย เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ที่ ร. ขับชนกับรถจำเลย หาก ร. ไม่ขับรถล้ำเข้าไปในทางเดินรถของจำเลย เหตุรถทั้งสองคันชนกันก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ แม้จะฟังว่าจำเลยมิได้ขับรถชิดขอบทางด้านซ้าย แต่ก็ยังขับอยู่ในทางเดินรถของจำเลย และตามรายงานชันสูตรพลิกศพเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องระบุว่า ร. ขับรถตัดหน้ารถจำเลยเป็นเหตุให้ชนกัน แล้วรถจำเลยเสียหลักไปชนรถอีแต๋น แสดงว่า ร. ขับแซงขึ้นหน้ารถอีแต๋นในระยะกระชั้นชิดขณะที่รถจำเลยใกล้จะสวนทางกับรถอีแต๋น การที่รถจำเลยเสียหลักพุ่งชนรถอีแต๋น จึงเป็นผลโดยตรงจาก ร. ขับแซงขึ้นหน้าในระยะกระชั้นชิดเข้าไปในทางเดินรถของจำเลย มิใช่ผลโดยตรงที่จำเลยมิได้ขับรถชิดขอบทางด้านซ้ายหรือไม่ชะลอความเร็ว จะถือว่าจำเลยมีส่วนประมาทด้วยหาได้ไม่ เพราะการที่รถจำเลยเสียการควบคุมไปชนรถอีแต๋นเป็นผลจากความประมาทอย่างร้ายแรงของ ร. ที่ขับแซงขึ้นหน้าในระยะกระชั้นชิด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและรับอันตรายแก่กาย ศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่การที่จำเลยขับรถยนต์บรรทุกพ่วงซึ่งเป็นรถขนาดใหญ่บรรทุกหินเต็มคันรถด้วยความเร็วสูงในทางแคบ ถือได้ว่าเป็นการขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419-4420/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลอุทธรณ์ในการรับอุทธรณ์คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการวินิจฉัยประเด็นความรับผิดทางแพ่งร่วมกับคดีอาญา
แม้คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ในแต่ละฐานความผิดไม่ได้กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งศาลจะพิพากษาคดีไปโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บังคับว่าศาลจะต้องพิพากษาคดีไปตามคำรับสารภาพของจำเลยโดยไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์เสมอไปไม่ เพราะในคดีอาญาเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 174 คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และโจทก์ร่วมทั้งสามขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเป็นต้องสืบพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามต่อไปเพื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ประกอบการกำหนดค่าสินไหมทดแทน ซึ่งพยานหลักฐานที่นำสืบคดีในส่วนแพ่งย่อมเกี่ยวพันกับคดีในส่วนอาญา ดังนั้นหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิด ศาลย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ และต้องพิพากษายกฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ว่าไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ร่วมทั้งสามตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 สำหรับโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เกินคนละ 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีส่วนแพ่งมาไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ย่อมไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าว กรณีเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และมาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพและการพิสูจน์ความผิดทางอาญา ศาลต้องฟังพยานหลักฐานจนพอใจก่อนลงโทษ
บทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 176 มิได้หมายความว่า เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแล้วศาลจะต้องพิพากษาลงโทษจำเลยเสมอไป ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง โดยเฉพาะข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่า จำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ คดีนี้ศาลชั้นต้นสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้วจึงพิพากษาคดี เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจนเป็นที่น่าพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 ดังนี้ จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14508/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีอาญาโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ แม้จะมีการถอนฟ้องภายหลัง
การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 5 นำเช็คพิพาทฟ้องโจทก์ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ไม่เป็นการเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา ไม่มีมูลเป็นความผิดฐานฟ้องเท็จตาม ป.อ. มาตรา 175 และเมื่อเหตุดังกล่าวเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีและเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 5 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ามีมูลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11473/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำหน่ายยาเสพติด: ความรับผิดของผู้เกี่ยวข้องเมื่อไม่มีส่วนร่วมในการจำหน่ายโดยตรง
แม้ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับจะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วจึงนำไปจำหน่ายให้แก่สายลับ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นด้วย ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 192 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 215, 225
ความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายและเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายตาม ป.อ. มาตรา 90
of 7