คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมชาติ ธัญญาวินิชกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 114 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15479/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บุริมสิทธิ, ฟ้องแย้ง, ความเกี่ยวพันของคำฟ้อง: ศาลตัดสินคดีบุริมสิทธิจากการรักษาและปรับปรุงที่ดิน และประเด็นฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม
ป.พ.พ. มาตรา 251 บัญญัติว่า "ผู้ทรงบุริมสิทธิย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้อันค้างชำระแก่ตนจากทรัพย์สินนั้นก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ โดยนัยดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ หรือบทกฎหมายอื่น" บุริมสิทธิจึงมีลักษณะเป็นสิทธิอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ กรณีจึงต้องมีหนี้ที่ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้ก่อน เจ้าหนี้จึงสามารถใช้สิทธิของตนในอันที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนเจ้าหนี้คนอื่น ดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จะเรียกร้องเอาค่ารักษาอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 274 วรรคหนึ่ง หรือเรียกเอาค่าจ้างทำของเป็นการงานทำขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 275 วรรคหนึ่ง ก็จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ที่โจทก์เรียกร้องให้ชำระหนี้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาททั้งสองแปลงและหนี้ที่เรียกร้องเอามีมูลมาจากการที่โจทก์ได้รักษาที่ดินพิพาทหรือได้ใช้จ่ายเงินไปเพื่อจะสงวนสิทธิหรือรับสภาพสิทธิหรือบังคับสิทธิอันเกี่ยวด้วยที่ดินพิพาททั้งสองแปลง หรือมีมูลจากการจ้างทำของเป็นการงานขึ้นบนที่ดินพิพาท เมื่อตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า ขณะโจทก์ก่อสร้างรั้วล้อมรอบที่ดินพิพาททั้งสองแปลงก็ดี ขณะก่อสร้างอาคาร วางระบบท่อน้ำ อุปกรณ์จ่ายน้ำ ขุดบ่อน้ำ เดินสายไฟและปลูกต้นไม้ในที่ดินพิพาท โจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง กรณีจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ได้ดูแลรักษาอสังหาริมทรัพย์ของ ท. หรือ บ. แล้วเรียกเอาค่ารักษาดูแลหรือได้ว่าจ้างให้โจทก์กระทำการต่าง ๆ ลงบนอสังหาริมทรัพย์ อันจะทำให้โจทก์มีบุริมสิทธิเหนือที่ดินพิพาททั้งสองแปลง
ตามข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะเรียกเอาค่ารักษาดูแลที่ดินพิพาทและค่าการงานที่ได้ทำลงในที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสองมาฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์และเรียกค่าเสียหายกับขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ 26998 ซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาค่ารักษาอสังหาริมทรัพย์และค่าการงานหรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นฟ้องแย้งที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม สำหรับคำขอท้ายคำฟ้องแม้เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง แต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะใช้เป็นข้อพิจารณาว่าฟ้องแย้งเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมหรือไม่
การที่จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การได้ ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม บัญญัติบังคับไว้ว่าฟ้องแย้งนั้นจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม หากเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า หากฟ้องแย้งที่จำเลยฟ้องมาในคำให้การไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ฟ้องแย้งนั้นก็ไม่ใช่ฟ้องแย้ง แม้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งนั้นไว้เป็นฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งนั้นก็เป็นฟ้องแย้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาว่าฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเป็นฟ้องแย้งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14938/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของคู่สัญญาและผู้ควบคุมงานในสัญญาจ้างก่อสร้าง กรณีงานล่าช้าและค่าล่วงเวลา
เมื่อความล่าช้าของงานก่อสร้างเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 สัญญาจ้างควบคุมงาน ข้อ 19 วรรคแรก ระบุกรณีที่ผู้รับจ้างของหมวดงานใดหมวดงานหนึ่งหรือหลายหมวดงานปฏิบัติงานล่วงเลยกำหนดเวลาตามสัญญาจ้างก่อสร้างเนื่องจากความผิดของผู้รับจ้างของหมวดงานนั้น ที่ปรึกษาจะได้รับค่าจ้างในอัตราตามที่ระบุไว้ในสัญญาของแต่ละหมวดงาน ตามจำนวนวันที่ได้ปฏิบัติล่วงเลยกำหนดเวลานั้นต่อเมื่อผู้ว่าจ้างได้เรียกร้องเอาจากผู้รับจ้างมาจ่ายให้ที่ปรึกษา จำเลยที่ 1 ได้หักเงินค่าจ้างที่ค้างจ่ายให้จำเลยที่ 2 ในกรณีที่โจทก์ทั้งสามได้ปฏิบัติงานเกินกำหนดเวลาตามสัญญาจ้างไว้แล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญากับโจทก์ทั้งสาม จึงต้องรับผิดชำระค่าควบคุมงานในส่วนที่จำเลยที่ 2 ทำงานเกินกำหนดเวลา 28 วัน ตามที่ระบุในสัญญาแก่โจทก์ทั้งสาม แต่สำหรับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้หักเงินหรือได้เรียกร้องค่าจ้างจากจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เพื่อนำมาจ่ายให้โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามจึงไม่อาจเรียกเงินส่วนนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ และในระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ข้อตกลงตามสัญญาจ้างแต่ละฉบับของคู่สัญญากำหนดไว้ว่าหากผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา และผู้ว่าจ้างยังมิได้บอกเลิกสัญญา ผู้รับจ้างจะต้องชำระค่าปรับให้แก่ผู้ว่าจ้างตามจำนวนเงินที่กำหนดและจะต้องชำระค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานในเมื่อผู้ว่าจ้างต้องจ้างผู้ควบคุมงานอีกต่อหนึ่ง อันมีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 เมื่อโจทก์ทั้งสามได้ทวงถามให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ชำระเงินดังกล่าวแล้ว ถือได้ว่าได้เข้ารับเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 จึงต้องผูกพันรับผิดตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง
โจทก์ทั้งสามเป็นเพียงตัวแทนจำเลยที่ 1 ในการควบคุมงานก่อสร้าง มีหน้าที่ควบคุมงานให้เป็นไปตามสัญญาก่อสร้าง และให้ถูกต้องตามหลักวิชาการทางด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 โดยตรง จึงไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในฐานะต้องรับผิดชอบหากจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ทำงานไม่เสร็จตามกำหนดเวลา ทั้งตามข้อกำหนดในสัญญาระบุว่าการทำงานล่วงเวลาต้องได้รับอนุมัติจากผู้ควบคุมงานก่อนทุกครั้งและต้องมีตัวแทนผู้ควบคุมงานอยู่ด้วยตลอดเวลา ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นผู้รับจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ต้องแจ้งความจำนงไปยังโจทก์ว่าจะทำงานล่วงเวลา มิใช่โจทก์เป็นผู้สั่งและการทำงานล่วงเวลาถ้าเป็นผลทำให้งานตามสัญญาจ้างของผู้รับจ้างทำเสร็จเร็วขึ้น ถือเป็นประโยชน์ของผู้รับจ้างโดยตรง ซึ่งตามสัญญาจ้างได้กำหนดให้ผู้รับจ้างซึ่งจะได้ประโยชน์โดยตรงจากการทำงานล่วงเวลามีหน้าที่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้ผู้ควบคุมงาน จำเลยที่ 1 จึงหาต้องร่วมรับผิดชำระค่าล่วงเวลาด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14291/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องขับไล่ของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม และประเด็นการครอบครองปรปักษ์ที่ต้องห้าม
ปัญหาว่า โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ก็ย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 บัญญัติว่า "เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก..." โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมแต่ผู้เดียวย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยโดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของรวมรายอื่นอีก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ประเด็นว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยโดยชอบแล้วหรือไม่นั้นไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จำเลยย่อมไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์ได้
จำเลยให้การโดยบรรยายมาในคำให้การข้อ 3 ว่า จำเลยได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ก็โดยที่ดินพิพาทและบริเวณใกล้เคียงที่ดินพิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่า สภาพของที่ดินเป็นที่ลุ่ม มีน้ำฝนขังในหน้าฝนและแห้งแล้งในหน้าแล้ง มีต้นหญ้ากกต้นวัชพืชขึ้นรกเต็มพื้นที่ ไม่มีการทำประโยชน์ในที่ดินแต่ประการใด จำเลยได้สอบถามชาวบ้านใกล้เคียงต่างบอกว่าไม่เห็นมีใครทำประโยชน์และไม่ทราบว่าเป็นที่มีเจ้าของ จำเลยเห็นว่าสภาพของที่ดินพอเป็นที่เลี้ยงสัตว์ได้ถ้าได้ถากถางต้นหญ้าต้นไม้ที่ขึ้นรกออก จำเลยจึงได้เข้าไปทำประโยชน์ โดยไม่ได้ขออนุญาตผู้ใดและไม่มีผู้ใดขัดขวางห้ามปราม ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โดยจำเลยเป็นผู้แผ้วถางที่ดินพิพาทซึ่งในขณะนั้นยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่า แล้วเข้าครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2529 การที่จำเลยให้การในตอนหลังว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์จึงขัดกับคำให้การในตอนแรก รูปคดีตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยให้การดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฎีกาของจำเลยในประเด็นการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม)
จำเลยให้การในตอนหนึ่งว่า โจทก์ได้แสดงความเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาท เมื่อปี 2542 พร้อมกับแจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท แต่จำเลยไม่ยอมออกไป ตามคำให้การดังกล่าว แม้จะถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แต่เมื่อนับตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงวันฟ้องก็ยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13293/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการอนุญาตถอนฟ้อง, ดุลพินิจศาล, ฟ้องไม่สมบูรณ์, การต่อสู้คดี
โจทก์ขอถอนฟ้องคดีภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 5 ยื่นคำให้การแล้วซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 175 วรรคสอง บัญญัติว่า "...ศาลจะอนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ (1) ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาต โดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอด ถ้าหากมี ก่อน..." ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาสั่งได้ ดังนั้น แม้โจทก์ขอถอนฟ้องอ้างว่าฟ้องไม่สมบูรณ์ และจำเลยที่ 1 และที่ 5 จะคัดค้านการถอนฟ้องเหตุตามคำร้องโจทก์ดังกล่าว ก็อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งอนุญาตได้ และศาลไม่อาจนำข้อที่โจทก์อ้างตามคำร้องขอถอนฟ้องว่าฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์มาเป็นเงื่อนไขในการสั่งคำร้องขอถอนฟ้องด้วย เพราะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ก็ไม่ได้ห้ามโจทก์ที่ถอนฟ้องยื่นฟ้องคดีใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ดังนี้ การถอนฟ้องของโจทก์เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้าและทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ พ. เป็นคดีใหม่ จำเลยทั้งห้าก็ยังมีสิทธิต่อสู้คดีได้เต็มที่เช่นเดิม จึงฟังไม่ได้ว่าการถอนฟ้องคดีของโจทก์ไม่สุจริต ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 เสียเปรียบในการต่อสู้คดีตามจำเลยที่ 1 และที่ 5 คัดค้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13049/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลื่อนคดีและการขาดนัดพิจารณา: เหตุผลความจำเป็นและผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม
ศาลได้กำหนดวันนั่งพิจารณาและแจ้งให้คู่ความทราบแล้ว การที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะขอเลื่อนการนั่งพิจารณาหรือขอเลื่อนคดี คู่ความฝ่ายนั้นจะต้องยื่นคำขอเข้ามาก่อนหรือในวันนัดและแสดงเหตุผลให้ปรากฏว่ามีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้และหากศาลไม่อนุญาตจะทำให้เสียความยุติธรรม ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ในวันนัดไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยานนัดแรกวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 คู่ความแถลงว่า คดีพอมีทางตกลงกันได้ ประกอบกับทนายจำเลยทั้งสามติดว่าความที่ศาลอื่นและขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นจึงให้เลื่อนไปนัดไกล่เกลี่ยที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยในวันที่ 18 มีนาคม 2557 เวลา 9 นาฬิกา เมื่อถึงวันนัด จำเลยทั้งสามไม่ประสงค์จะไกล่เกลี่ย ศาลชั้นต้นจึงออกนั่งพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสองในวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 นัดสืบพยานจำเลยทั้งสามในวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสอง ทนายจำเลยทั้งสามมอบฉันทะให้ ส. เสมียนทนายนำคำร้องมายื่นอ้างว่า ทนายจำเลยทั้งสามเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ซึ่งเป็นคู่สัญญากับธนาคาร อ. เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ธนาคาร อ. มีหนังสือเชิญประชุมเพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าจ้างฉบับใหม่ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ทนายจำเลยทั้งสามจำต้องเข้าร่วมประชุมและลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าจ้างฉบับใหม่กับธนาคาร อ. ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงขอเลื่อนการสืบพยานออกไปอีกสักครั้ง นั้น ทนายจำเลยทั้งสามทราบนัดล่วงหน้าแล้วเกือบ 2 เดือน ที่ทนายจำเลยทั้งสามอ้างเหตุที่จะต้องไปเข้าร่วมประชุมกับลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าจ้างฉบับใหม่กับธนาคาร อ. คงเป็นไปเพื่อกิจการในเรื่องส่วนตัวของทนายจำเลยทั้งสามโดยแท้และทนายจำเลยทั้งสามได้ทราบเหตุก่อนถึงวันนัดหลายวันเพียงพอที่ทนายจำเลยทั้งสามจะแจ้งให้จำเลยทั้งสามทราบและจัดทนายความคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนเพื่อมิให้กระบวนพิจารณาในศาลที่นัดไว้ล่วงหน้าต้องเสียหายแต่มิได้กระทำ จึงมิใช่กรณีที่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ ในอันที่จำเลยทั้งสามจะนำมาอ้างเป็นเหตุเพื่อขอเลื่อนคดี
ในวันสืบพยานโจทก์วันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ทนายจำเลยทั้งสามมอบฉันทะให้ ส. เสมียนทนายนำคำร้องมายื่นขอเลื่อนคดี ฟังคำสั่งศาลและกำหนดวันนัดแทน ส. ย่อมอยู่ในฐานะเป็นคู่ความ มิใช่คู่ความฝ่ายจำเลยทั้งสามไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาโดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาล อันจะให้ถือว่าจำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณาในคดีมโนสาเร่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 193 ทวิ วรรคสอง การไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสามเลื่อนคดี คงมีผลเพียงทำให้จำเลยทั้งสามเสียสิทธิในการซักค้านพยานโจทก์ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 เท่านั้น จำเลยทั้งสามยังคงมีสิทธินำพยานเข้าสืบในนัดวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ตามที่นัดไว้แล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถือว่าจำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณาและให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12436/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำขอพิจารณาคดีใหม่ต้องแสดงเหตุที่อาจชนะคดี มิได้แค่เหตุขาดนัด
ศาลชั้นต้นไต่สวนและวินิจฉัยคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของโจทก์ว่า คำขอของโจทก์บรรยายเพียงเหตุที่โจทก์ขาดนัดพิจารณา แต่มิได้บรรยายข้อคัดค้านว่า หากศาลพิจารณาคดีใหม่แล้วโจทก์จะเป็นฝ่ายชนะคดี ถือว่าคำขอพิจารณาคดีใหม่ของโจทก์มิได้บรรยายให้ครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 จัตวา โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น จึงเป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ ดังนั้น ไม่ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะมีคำพิพากษาเป็นประการใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 เบญจ วรรคสี่ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฎีกาอีกต่อไป ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246, 142 (5) ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ย่อมไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำนอง vs. ครอบครองปรปักษ์: ผู้รับจำนองมีสิทธิเหนือที่ดิน แม้ผู้ครอบครองอ้างสิทธิ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ป. ที่จดทะเบียนจำนองไว้ต่อผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง ผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้านหรือผู้คัดค้านซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล คำร้องขอครอบครองปรปักษ์ของผู้ร้องจึงเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องนั้น มิได้ทำให้สิทธิจำนองของผู้คัดค้านในฐานะผู้รับจำนองเสื่อมเสียหรือระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้จากการขายทอดตลาดในการบังคับคดีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ผู้คัดค้านจึงมิได้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลง การที่ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้ศาลรับรองว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยการครอบครองปรปักษ์จึงมิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิจำนองของผู้คัดค้านที่จะเข้ามาในคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10504/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดสัญญาเช่าและการใช้สิทธิของเจ้าของทรัพย์สินในการเข้ายึดคืน กรณีผู้เช่าไม่ปฏิบัติตามสัญญา
เมื่อสัญญาเช่าทรัพย์สินพิพาทสิ้นสุดลง ผู้เช่าก็ย่อมสิ้นสิทธิที่จะอยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าอยู่แล้ว ดังนั้น ข้อตกลงในสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมที่ระบุว่า หากผู้เช่ายังคงอยู่ในทรัพย์สินที่เช่าต่อไปโดยไม่มีสิทธิตามสัญญาเช่า และผู้ให้เช่าได้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าออกไปจากทรัพย์สินที่เช่าภายใน 30 วัน ก็ให้ผู้ให้เช่ามีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าได้ทันทีนั้น มิได้ทำให้คู่สัญญาฝ่ายใดเสียเปรียบหรือมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก จนอาจก่อให้เกิดปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่ประการใด แต่กลับเป็นการย้ำเตือนให้คู่สัญญาต้องประพฤติปฏิบัติตามสัญญาเช่าเพื่อมิให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง ข้อตกลงดังกล่าวหาได้มีลักษณะเป็นการส่งเสริมหรือชี้นำให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้กำลังบังคับและให้มีการทำร้ายกันโดยพลการไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิได้มีวัตถุประสงค์ที่เป็นการขัดต่อกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
จำเลยร่วมได้ขายทรัพย์สินที่เช่าให้แก่บุคคลภายนอก อันเป็นเหตุให้สัญญาเช่าสิ้นสุดลงตามข้อตกลงในสัญญาเช่า โดยจำเลยร่วมมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าแจ้งให้โจทก์ออกจากทรัพย์สินที่เช่าแล้ว โจทก์ก็ควรจะต้องปฏิบัติตามสัญญาเช่าโดยยินยอมออกไปจากทรัพย์สินที่เช่าโดยดี เมื่อโจทก์ประพฤติผิดสัญญาเช่าโดยไม่ยินยอมออกไป จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซึ่งมีสิทธิใช้สอย ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองใช้กลุ่มบุคคลประมาณ 50 คน เข้ายึดถือครอบครองโรงแรมพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิที่จะครอบครองและใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าต่อไปได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10008/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ถือเป็นการระงับหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์บุตรจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนรถยนต์ที่ อ. ขับซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ เป็นเหตุให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย พนักงานสอบสวนทำบันทึกตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า อ. ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด โดยคู่กรณีลงลายมือชื่อเป็นหลักฐาน จึงเป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไป มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 เป็นผลให้ อ. ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้อีก ที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้ อ. เป็นการปฏิบัติตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัย ข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้จำกัดสิทธิ์ อ. หรือผู้เสียหายที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเนื่องจากมูลหนี้ละเมิดระงับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10008/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นผลระงับหนี้
จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์ โดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์ที่มี อ. เป็นคนขับและเอาประกันภัยไว้กับโจทก์เป็นเหตุให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย หลังเกิดเหตุ อ. และจำเลยที่ 1 ไปพบพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจและทำบันทึกเกี่ยวกับรถเฉี่ยวกันมีข้อความส่วนที่เป็นสาระสำคัญว่า "อ. ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจาก ป. (ป. คือจำเลยที่ 1) แต่อย่างใด" ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายชัดเจนในตัว เมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ปรากฏว่า อ. ทราบก่อนทำเอกสารแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายขับรถประมาทและเป็นฝ่ายกระทำละเมิดซึ่งต้องรับผิดในเรื่องค่าเสียหาย แต่ อ.ยังคงตกลงยินยอมที่จะไม่เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนใด ๆ จากจำเลยที่ 1 และลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน เช่นนี้เป็นการสละสิทธิเรียกร้องเพื่อระงับข้อพิพาทให้เสร็จไปโดยยอมผ่อนผันให้แก่กัน เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ซึ่งเป็นผลให้มูลหนี้ละเมิดจากการที่รถเฉี่ยวชนกันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 โจทก์ไม่อาจรับช่วงสิทธิของ อ. ผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องค่าเสียหายรถเฉี่ยวชนกันจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้
of 12