คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมชาติ ธัญญาวินิชกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 114 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17522/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องคัดค้านคำสั่งบังคับคดีซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.ม.144 หากเป็นประเด็นเดิมที่เคยถูกวินิจฉัยแล้ว
คำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 18 มกราคม 2553 ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว เป็นการคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่ดำเนินการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4692 ของจำเลยเช่นเดียวกับคำร้องนี้ แม้จะเป็นการคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีคนละคราวกัน แต่ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากโจทก์ยื่นคำแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแปลงเดียวกันโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่าทรัพย์จำนองไม่เพียงพอชำระหนี้โจทก์ ซึ่งคำร้องฉบับหลังโจทก์อ้างเพียงว่ามีภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นเท่านั้นอันมีผลสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ไม่รีบดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนอง โดยความรับผิดในส่วนดอกเบี้ยของจำเลยนี้มีมาแต่เดิมและมีอยู่แล้วในขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 18 มกราคม 2553 คำร้องของโจทก์จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16477/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ประมูลซื้อที่ดินแล้วไม่ชำระราคาต้องรับผิดในส่วนต่างของราคาเมื่อมีการขายทอดตลาดซ้ำ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516
จำเลยเป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ละเลยไม่ใช้ราคาส่วนที่เหลือ ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีเอาที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดซ้ำ ได้เงินจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาด จำเลยต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ที่จำเลยอ้างว่าไม่ต้องรับผิดเนื่องจากโจทก์และ ช. สมคบกันให้โจทก์ประมูลซื้อที่ดินพิพาทนั้น จำเลยมีเพียงตนเองเบิกความลอย ๆ และ ช. ก็มิได้เบิกความถึงข้อที่จำเลยอ้าง จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์และ ช. สมคบกันให้โจทก์ประมูลซื้อที่ดินพิพาทในราคาต่ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15948/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าปรับสัญญาจ้างแปรสภาพ: ศาลลดค่าปรับเมื่อผู้รับจ้างผิดสัญญา แต่ผู้ว่าจ้างละเลยไม่บำบัดทุกข์
สัญญาจ้างแปรสภาพมันสำปะหลัง ข้อ 11 เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีกำหนดเวลาการส่งมอบมันสำปะหลังเส้นตามที่โจทก์จะกำหนดให้ส่งมอบในแต่ละคราว หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบได้ทันตามเวลาที่โจทก์กำหนดหรือส่งมอบไม่ครบจำนวน และจำเลยที่ 1 มิได้บอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าปรับแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบมันสำปะหลังเส้นแก่โจทก์และไม่บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญา แม้โจทก์บอกเลิกสัญญาเมื่อล่วงเลยเกินกว่า 7 ปี จะถือว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาส่งมอบงานเป็นสาระสำคัญหาได้ไม่ เพราะตามสัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ก่อน จึงจะมีสิทธิเรียกค่าปรับได้ แต่ที่โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาภายในเวลาอันสมควรแต่ปล่อยปละละเลยจนค่าปรับมีจำนวนสูงเกินสมควร ถือว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยการละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหาย ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 223

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14025/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับชำระหนี้ ถือเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
การที่จำเลยที่ 2 รับโอนใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรและใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูปจากจำเลยที่ 1 มาเป็นของตน ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนามิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ยึดใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูปและใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักร ซึ่งเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของจำเลยที่ 1 มาบังคับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกับพวกโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12250/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายทรัพย์สินร่วมโดยไม่ได้รับความยินยอม และการโกงเจ้าหนี้หลังฟ้องคดีหย่า
โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม. จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอก ม. โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน และไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5649/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายยางธรรมชาติ: ลักษณะคำมั่นสัญญาฝ่ายเดียว มิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
ข้อความแห่งสัญญาซื้อขายเป็นข้อตกลงกำหนดล่วงหน้าว่า โจทก์และจำเลยตกลงซื้อขายยางธรรมชาติ จำนวนโดยประมาณ มิใช่เป็นการตกลงซื้อขายยางโดยมีจำนวนและราคาที่แน่นอนแล้ว และจำเลยต้องส่งมอบยางให้แก่โจทก์เมื่อใด อันจะก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ที่ทั้งสองฝ่ายพึงต้องปฏิบัติต่างตอบแทนกัน จำเลยยังจะต้องรอให้โจทก์มีคำสั่งซื้อและโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยเสียก่อน จำเลยจึงจะส่งยางให้แก่โจทก์ แสดงว่าข้อตกลงจะมีผลเป็นสัญญาซื้อขายก็ต่อเมื่อโจทก์บอกกล่าวความจำนงว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จไปยังจำเลยแล้ว จึงมีลักษณะเป็นเพียงคำมั่นที่จำเลยให้ไว้แก่โจทก์ก่อนที่จะมีการซื้อหรือขายว่า จำเลยจะขายยางให้แก่โจทก์ ซึ่งมีผลผูกพันจำเลยฝ่ายเดียวตาม ป.พ.พ. มาตรา 454 วรรคหนึ่ง มิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดหรือสัญญาจะขายหรือจะซื้อ
คำมั่นที่จำเลยให้ไว้แก่โจทก์มิได้มีกำหนดเวลา เมื่อจำเลยมิได้บอกกล่าวไปยังโจทก์ให้ตอบมาเป็นที่แน่นอนภายในกำหนดเวลาพอสมควรว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จตลอดไปหรือไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 454 วรรคสอง เสียก่อน จึงเป็นการบอกเลิกคำมั่นโดยมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเลือกตั้งใหม่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง: การใช้อำนาจตามกฎหมายและหนังสือมอบอำนาจ
ตามมาตรา 235 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 10 แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าประสงค์ให้โจทก์ดำเนินการเกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งทั้งหมด สอดคล้องกับมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ที่กำหนดให้โจทก์จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการจัดการเลือกตั้ง ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง กำหนดให้โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลทั้งในทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง โดยให้ถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. และกฎหมายอื่น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินค่าเสียหายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ส่วนที่ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 10 บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งทั้งหมด และมาตรา 99 วรรคสอง บัญญัติให้ค่าเสียหายที่ได้รับชดใช้จากผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้ตกเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น เป็นเพียงวิธีการเพื่อให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็ว และกำหนดหน่วยงานที่จะได้รับจัดสรรเงินในกรณีที่ได้รับชดใช้จากผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับอำนาจในการฟ้องร้องดำเนินคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 729/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ระยะเวลาผัดฟ้องคดีเยาวชนหลังฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เป็นผล
ผู้ต้องหาถูกจับกุมขณะบังคับใช้ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ซึ่งตามมาตรา 50 กำหนดให้เจ้าพนักงานผู้รับเด็กหรือเยาวชนมีหน้าที่ต้องแจ้งการจับกุมไปยังผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยไม่ชักช้า ดังนั้น ผู้อำนวยการสถานพินิจย่อมมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติดำเนินการจัดทำรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนได้ โดยไม่จำต้องรอรับตัวเด็กหรือเยาวชนมาควบคุมภายหลังการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เป็นที่พอใจ และพนักงานสอบสวนก็ต้องดำเนินการสอบสวนโดยกระทำควบคู่ไปพร้อมกับกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่ผู้ร้องขอผัดฟ้องบัญญัติว่า เมื่อมีการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบรีบดำเนินการสอบสวนและส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวให้ทันภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกจับกุม แต่หากเกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องได้ทันตามวรรคหนึ่ง พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณีจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในวรรคสองและวรรคสาม จึงเห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่ต้องการเร่งรัดให้มีการสอบสวนและฟ้องเด็กหรือเยาวชน ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนให้ได้รับการพิจารณาคดีโดยเร็ว นอกจากนั้น พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคสี่ บัญญัติว่า ในระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนคดีต่อไป เมื่อการสอบสวนเสร็จให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปยังพนักงานอัยการโดยไม่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาไปด้วย แม้มาตรา 19 วรรคท้าย บัญญัติว่า ในระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.บ.นี้ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่ต้องดำเนินการฝากขังหรือขอผัดฟ้องตามกฎหมายก็ตาม แต่การที่ไม่ต้องดำเนินการฝากขังหรือผัดฟ้องดังกล่าวย่อมหมายถึงว่าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยกำหนดระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอฝากขังหรือผัดฟ้องเฉพาะช่วงระยะเวลาที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดโดยไม่ต้องนำระยะเวลาระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมารวมเข้ากับระยะเวลาที่ต้องดำเนินการยื่นคำร้องขอผัดฟ้องหรือฝากขังเท่านั้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องระบุว่า พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งผลคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ต้องหาไม่เป็นที่พอใจตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 นับถึงวันที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอผัดฟ้องเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอผัดฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 30 วัน นับแต่ถูกจับกุม ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 51

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18324/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญาตัวการตัวแทน, เบี้ยปรับสัญญาจัดการกองทุน, ศาลลดเบี้ยปรับได้
สัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โจทก์ทำกับจำเลยนั้น จำเลยมีหน้าที่บริหารจัดการกองทุนและดำเนินการต่าง ๆ แทนโจทก์ ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นความผูกพันในฐานะตัวการกับตัวแทน หาใช่เป็นความผูกพันในฐานะผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของไม่ ซึ่งในเรื่องตัวการตัวแทนนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
การที่โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยตกลงกันไว้ว่า หากจำเลยบริหารจัดการกองทุนโจทก์ได้รับผลประโยชน์ในอัตราเฉลี่ยต่อปีของผลประโยชน์รวมทั้งหมดของกองทุนก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยไม่รวมเงินบริจาคต่ำกว่าอัตราผลประโยชน์ที่จำเลยรับประกัน จำเลยจะชดเชยเงินที่ขาดนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่จะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 379 นั่นเอง เมื่อถือว่าเป็นเบี้ยปรับแล้ว ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14973/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้า: ความรับผิดของผู้ใช้ไฟฟ้าและเจ้าของสถานที่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้ครอบครอง
เนื้อหาและเจตนารมณ์ของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและข้อบังคับของโจทก์ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญานั้น ไม่ได้มีเพียงในเรื่องสิทธิคู่สัญญาที่จะได้รับการจ่ายไฟฟ้าให้ถูกต้องและการได้รับชำระเงินค่าไฟฟ้าที่ครบถ้วนเท่านั้น แต่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายยังมีหน้าที่และความรับผิดเรื่องอื่นอีก โดยโจทก์ยังมีหน้าที่และความรับผิดด้านการดูแลการจ่ายไฟให้ถูกต้องและปลอดภัยตามวิสัยและพฤติการณ์ของผู้ประกอบการ ให้บริการสาธารณะด้านการจ่ายไฟฟ้า ส่วนจำเลยก็ยังมีหน้าที่และความรับผิดในฐานะผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ดูแลสถานที่ใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นฝ่ายที่รู้เห็นเพียงฝ่ายเดียวเกี่ยวกับพฤติการณ์การใช้ไฟฟ้าภายในบ้านในฐานะความเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครอง หรือผู้ดูแลบ้านที่ใช้ไฟฟ้าตามสัญญาที่โจทก์และจำเลยตกลงกันไว้ในข้อบังคับของโจทก์ข้อ 36 จึงตกลงกันไว้ชัดเจนว่า ถ้าผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ได้บอกเลิกการใช้ไฟฟ้า แต่มีผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้า ให้ถือว่าผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันในการชำระค่าไฟฟ้า เมื่อจำเลยซึ่งรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขายบ้านของตนแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยตามสภาพปกติแล้วโจทก์ไม่อาจรู้ข้อเท็จจริงนี้ได้ จำเลยจึงต้องอยู่ในฐานะคู่สัญญาที่ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของสัญญาให้ครบถ้วน การที่จำเลยไม่ดำเนินการบอกเลิกใช้ไฟฟ้าตามสัญญา แล้วต่อมามีผู้ใช้วิธีการตัดสายเช็คศูนย์ทางด้านไฟฟ้าเข้าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่บริเวณหัวเสาหน้าบ้าน และมีการนำไฟฟ้าเข้าไปใช้กับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านใช้ไฟฟ้าไปทั้งสิ้น 64,108 หน่วย แต่เครื่องวัดไฟฟ้าของจำเลยอ่านได้เพียง 29,660 หน่วย ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับชำระค่าไฟฟ้าตามที่ควรได้รับตามปกติ จำเลยจึงต้องรับผิดตามเงื่อนไขแห่งสัญญาดังกล่าว
การฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายเท่ากับค่าไฟฟ้าที่เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงหน่วยน้อยกว่าความเป็นจริง เป็นการฟ้องให้ชำระหนี้ให้ถูกต้องโดยโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์จัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชนอันมีลักษณะเป็นกิจการสาธารณูปโภค ไม่ใช่ผู้ประกอบการค้าที่จะต้องฟ้องคดีภายใน 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แต่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่ตกลงทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาให้ครบถ้วนเป็นเหตุให้มีผู้อื่นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเท่ากับค่าไฟฟ้าส่วนที่ขาดที่พึงได้ตามปกติ ซึ่งมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
of 12