คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 185 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 68 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6802/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บันดาลโทสะจากการพบเห็นชู้รัก ศาลยกเว้นความผิดฐานมีอาวุธปืนฯ
การที่จำเลยใช้อาวุธปืนที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูงและสามารถก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้โดยง่ายยิงผู้เสียหายในระยะใกล้ และยิงถูกร่างกายผู้เสียหายกระสุนปืนเข้าที่ปอดด้านซ้าย ช่องท้อง ถูกลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กอันเป็นอวัยวะส่วนสำคัญ แม้จำเลยจะอ้างว่ากระทำไปโดยอารมณ์ชั่ววูบด้วยความหึงหวงก็ต้องถือว่าจำเลยกระทำโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหาย
จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายเป็นเพราะนายดาบตำรวจ อ. สามีจำเลย ได้แสดงความรักใคร่ในทำนองพลอดรักกับผู้เสียหาย ซึ่งมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนายดาบตำรวจอ. สามีจำเลย ย่อมทำให้จำเลยได้รับความกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจอย่างรุนแรงและถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายไปในขณะนั้นโดยทันทีจึงเป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะ แม้จะไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายกับนายดาบตำรวจ อ. ทราบว่าจำเลยอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุขณะที่บุคคลทั้งสองพลอดรักกันก็ตาม แต่เมื่อการกระทำดังกล่าวมีผลเป็นการข่มเหงจำเลยแล้ว ก็มีเหตุที่จำเลยจะบันดาลโทสะได้หาจำต้องเป็นกรณีที่ผู้เสียหายกระทำโดยเจตนามุ่งที่จะข่มเหงจำเลยโดยตรงแต่ประการใดไม่
การที่จำเลยนำอาวุธปืนของกลางที่นายดาบตำรวจ อ. ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการติดตัวไปโดยมุ่งประสงค์จะนำไปมอบให้นายดาบตำรวจ อ. ใช้ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในงานกฐิน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองเพราะจำเลยมิได้เจตนาจะยึดไว้อย่างเป็นเจ้าของ ทั้งการที่จำเลยนำอาวุธปืนติดตัวไปเพื่อมอบให้นายดาบตำรวจ อ. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจไว้ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ที่จะพาอาวุธปืนของกลางไปได้ แม้จำเลยจะนำอาวุธปืนติดตัวไปที่บ้านที่เกิดเหตุก็เป็นการกระทำต่อเนื่องกันจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืน แม้ความผิดข้อหาดังกล่าวจะยุติไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ แต่เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 54/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รับของโจร - ลักทรัพย์ - ตัวการร่วม - อำนาจศาล - แก้ไขบท - จำเลยไม่ฎีกา
ในคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 พาเอาไปเสียซึ่งรองเท้าของกลางที่จำเลยที่ 1 ลักเอามาซุกซ่อนไว้ข้างโกดังเก็บสินค้าในโรงงานของผู้เสียหายแล้วนำไปเก็บไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 3 เพื่อแบ่งปันกันในภายหลัง ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการรับของโจร ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 โดยไม่ปรับบทมาตรา 83 มานั้น ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 เสียใหม่ให้ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ทั้งเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาแก้ไขปรับบทตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย
คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมา แต่เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ลักทรัพย์รองเท้าของกลางด้วย ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างในเวลากลางคืนตามลำพัง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) และ มาตรา 83 อีก ปัญหาข้อนี้แม้ศาลอุทธรณ์จะมิได้ยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้อง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 พ้นจากความผิดตามบทมาตราดังกล่าวได้ ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8946/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาทุจริตในการปล้นทรัพย์ – อายุความความผิดฐานทำร้ายร่างกาย – ศาลยกฟ้อง
การที่พวกของจำเลยได้กระชากสร้อยคอของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไปในระหว่างที่จำเลยกับพวกได้ร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสอง เป็นเจตนาทุจริตของพวกจำเลยที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำร้ายเฉพาะหน้าจำเลยอย่างปัจจุบันทันด่วนโดยจำเลยไม่คาดคิดมาก่อน และไม่ทราบว่าพวกของจำเลยมีอาวุธมีดที่ใช้ฟันผู้เสียหายที่ 2 ติดตัวมาด้วย ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นในการกระทำของพวกจำเลย จำเลยจึงไม่ได้ร่วมมีเจตนาทุจริตกับพวกจำเลยด้วย จำเลยไม่ต้องรับผลในการกระทำของพวกจำเลย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 340 โดยบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยกับพวกใช้กำลังชกต่อยผู้เสียหายทั้งสอง แม้ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้อง แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย แต่เนื่องจากความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าไม่ได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันกระทำผิด คดีย่อมขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) เมื่อคดีนี้จำเลยกระทำผิดวันที่ 3 กรกฎาคม 2537 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2540 ซึ่งเกินกว่า 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7571/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลอุทธรณ์พิจารณาข้อเท็จจริงใหม่ แม้จำเลยไม่ได้อุทธรณ์เรื่องความผิด
แม้จำเลยจะไม่ได้อุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้กระทำผิดตามฟ้องแต่คดีขึ้นมาสู่การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 3โดยโจทก์เป็นฝ่ายอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็มีอำนาจหยิบยกพยานหลักฐานในสำนวนขึ้นมาวินิจฉัยและฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดดังฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1140/2507

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยักยอกทรัพย์: การยอมรับเงินค่าทรัพย์สินผัดชำระ ไม่ถือเป็นการยักยอก
จำเลยรับฝากยาเส้นไว้จากผู้เสียหายแล้วเอาไปขาย แต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตยักยอกเอาเงินค่ายาเส้นไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว มิได้ฟ้องว่ายักยอกยาเส้น เมื่อทางพิจารณาฟังได้ว่า ผู้เสียหายได้ยอมตกลงรับเงินค่ายาเส้นจากจำเลย และยังยอมให้จำเลยผัดชำระเงินด้วยดังนี้ เมื่อจำเลยยังมิได้ชำระ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปฟ้องร้องกันในทางแพ่งการที่จำเลยยังไม่มีเงินค่ายาเส้นชำระให้ ไม่เป็นผิดทางอาญาฐานยักยอกดังฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2140/2499

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดฐานแสดงตนเป็นคนสนิทชิดชอบกับเจ้าพนักงานเพื่อผลประโยชน์
บุคคลจะพึงรับโทษตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 123 จะต้องประกอบด้วยองค์ความผิดคือ (1)แสดงตนว่าเป็นคนสนิทชิดชอบกับเจ้าพนักงานและ (2) รับหรือยอมให้เขาสัญญาว่าจะให้ลาภสักการแก่ตัวหรือแก่ผู้อื่นเพื่อที่จะไปวิงวอนว่ากล่าวให้เจ้าพนักงานให้คุณหรือให้โทษแก่ผู้ใด และจะให้และมิให้เจ้าพนักงานทำการในหน้าที่อย่างใดๆ
ถ้าฟ้องขาดความข้อ (2) ก็เป็นฟ้องที่บรรยายไม่ครบองค์ความผิดลงโทษจำเลยไม่ได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2500)
of 7