พบผลลัพธ์ทั้งหมด 114 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6664/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญากู้เงินและการยึดทรัพย์ประกัน แม้ไม่มีสิทธิยึดตามกฎหมาย แต่ข้อตกลงในสัญญาเป็นผลบังคับได้
แม้จำเลยในฐานะผู้ให้กู้ยืมจะไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 เพราะหนี้เงินกู้ไม่เกี่ยวกับตัวทรัพย์พิพาท แต่เมื่อข้อตกลงตามสัญญากู้ระบุให้ผู้ให้กู้มีสิทธิยึดทรัพย์พิพาทไว้เป็นประกันจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้เป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาสมัครใจทำกันไว้ ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลบังคับ ผู้ให้กู้จึงมีสิทธิยึดถือทรัพย์ที่นำมาประกันไว้จนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้ตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอโฉนดที่ดิน และหนังสือสัญญากู้เงินคืนจนกว่าโจทก์จะได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6306/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขอรับรองสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้องหลังมรณะ: ทายาทไม่อาจเป็นคู่ความแทนได้
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ส. ผู้ตาย จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายขอให้ศาลพิพากษาว่าผู้ตายเป็นบุตร เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลรับรองสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้องโดยแท้ เมื่อสิทธิตามคำร้องของผู้ร้องมิใช่สิทธิอันเป็นมรดกที่จะตกทอดแก่ทายาทได้ แม้ต่อมาผู้ร้องถึงแก่ความตายระหว่างไต่สวนคำร้อง และ ภ. ซึ่งเป็นทนายความของ ป. และ ส. ทายาทโดยธรรมของผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ ก็ไม่อาจเข้าเป็นคู่ความแทนผู้ร้องที่มรณะได้ ศาลชอบที่จะยกคำร้องของ ภ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6215/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สนับสนุนผู้อื่นกระทำชำเราเด็ก – เจตนาพาไปเพื่อกระทำชำเรา – ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 283
จำเลยที่ 1 บอกผู้เสียหายที่ 1 ว่าจะขับรถจักรยานยนต์พาไปส่ง แล้วกลับให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของ จ. พวกของจำเลยที่ 1 พาไปพักที่โรงแรม เมื่อผู้เสียหายที่ 1 เดินออกจากโรงแรม จำเลยที่ 1 พาผู้เสียหายที่ 1 กลับเข้าไปในห้องพักภายในโรงแรมโดยมี จ. ซึ่งไปด้วยรออยู่แล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นเป็นใจกับพวกที่ไปด้วยกัน เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ถูกพวกของจำเลยที่ 1 ที่ไปด้วยกันกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และสนับสนุนผู้อื่นในการกระทำความผิดฐานกระทำอนาจารและกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี แต่ความผิดฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารนั้น จำเลยที่ 1 กับพวกมีเจตนาเดียวคือพาผู้เสียหายที่ 1 ไปให้พวกของตนกระทำชำเรา จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานสนับสนุนผู้อื่นในการกระทำความผิดฐานกระทำอนาจารและกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี หาใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่โจทก์ฟ้องไม่
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ต้องเป็นกรณีที่เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น ถ้าเป็นกรณีที่กระทำไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำนั้นเอง หรือร่วมกันกระทำเพื่อผู้ใดในบรรดาผู้ร่วมกระทำด้วยกันแล้ว ก็หาเป็นความผิดตามมาตรานี้ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 และ จ. กับพวกร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อสนองความใคร่ของ จ. ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 283
แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 เดิม และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ต้องเป็นกรณีที่เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น ถ้าเป็นกรณีที่กระทำไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำนั้นเอง หรือร่วมกันกระทำเพื่อผู้ใดในบรรดาผู้ร่วมกระทำด้วยกันแล้ว ก็หาเป็นความผิดตามมาตรานี้ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 และ จ. กับพวกร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อสนองความใคร่ของ จ. ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 283
แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 เดิม และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5185/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การช่วยเหลือคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง: ข้อหาครบองค์ประกอบตามฟ้องหรือไม่
โจทก์บรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยกับพวกร่วมกันซ่อนเร้น ช่วยเหลือหรือช่วยด้วยประการใด ๆ แก่คนต่างด้าว โดยให้ที่พำนักพักพิงที่หลบซ่อน ก่อนนำขึ้นรถยนต์กระบะเพื่อขนพาคนต่างด้าวจากบ้านทุ่งมะกอก ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปส่งที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม เป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 แล้ว ส่วนข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความว่า จำเลยขับรถยนต์โดยสารพาคนต่างด้าวจำนวน 7 คน ไปส่งที่สวนมะม่วงของ ป. เพื่อรอส่งต่อไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ก็ถือเป็นการกระทำที่เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือหรือช่วยด้วยประการใด ๆ ตามองค์ประกอบบทบัญญัติดังกล่าว หาใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องและไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ อันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5095/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องคดีค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ การเริ่มต้นนับอายุความเมื่อผู้แทนของนิติบุคคลทราบการละเมิด
ร้อยเอก อ. รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาคือผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ให้ร้อยเอก อ. ในฐานะนายทหารพระธรรมนูญร่วมฟังการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนเท่านั้น โดยร้อยเอก อ. ไม่ใช่ผู้รับมอบอำนาจโดยตรงจากผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นผู้แทนสูงสุดของโจทก์ และที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ร้อยเอก อ. ได้เสนอผลการเจรจาค่าเสียหายต่อผู้บัญชาการทหารบก ร้อยเอก อ. ก็ไม่ได้เบิกความเช่นนั้น โดยร้อยเอก อ. เบิกความแต่เพียงว่า ไม่สามารถตัดสินใจได้ต้องเสนอผู้บังคับบัญชาทราบก่อน ซึ่งในที่นี้หมายความถึง ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของร้อยเอก อ. และที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า อย่างช้าโจทก์ย่อมรู้เหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2540 ที่กองทัพภาคที่ 1 ได้ส่งหนังสือทั้งดำเนินการเกี่ยวกับคดีนี้ไปยังกรมพระธรรมนูญ แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงเอกสารที่พลตรี ส. รองแม่ทัพภาคที่ 1 ทำการแทนแม่ทัพภาคที่ 1 ทำบันทึกถึงกรมสารบรรณทหารบก เสนอแนวทางให้นำเสนอเรื่องต่อผู้บัญชาการทหารบก ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหาย อันเป็นการนำเสนอตามขั้นตอนเป็นลำดับขั้นจนถึงผู้บัญชาการทหารบก จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้บัญชาการทหารบกได้ทราบแล้ว กรณีนี้โจทก์เป็นนิติบุคคลมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้แทนและเป็นผู้แสดงเจตนาอันเป็นความประสงค์ของนิติบุคคล อายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้บัญชาการทหารบกซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จะถือเอาการที่ข้าราชการของโจทก์คนใดคนหนึ่งรู้มาเป็นวันเริ่มนับอายุความไม่ได้ กรณีนี้พลตรี ป. เจ้ากรมสารบรรณทหารบกมีหนังสือถึงผู้บัญชาการทหารบก ผ่านผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2541 เสนอให้ดำเนินการฟ้องดำเนินคดีแก่ผู้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนและผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการทหารบกให้เป็นผู้แทนดำเนินคดีในทางแพ่ง และรับคำสั่งผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 ถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 ยังไม่พ้นระยะเวลา 1 ปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2668/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจปกครองบุตรหลังการหย่า: ศาลใช้ดุลพินิจคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้เยาว์
แม้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา" แต่ก็มีข้อยกเว้นตามบทบัญญัติมาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (5) ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจสั่งให้บิดาหรือมารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวได้ หากผู้ใช้อำนาจปกครองประพฤติตนไม่สมควรหรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์และความผาสุกของผู้เยาว์เป็นสำคัญ โดยไม่ถือว่าเป็นการสั่งเพิกถอนอำนาจปกครองของผู้ใช้อำนาจปกครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2271/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด: รถยนต์, โทรศัพท์, เงินสด และการพิจารณาความเชื่อมโยงกับการกระทำผิด
จำเลยที่ 3 ใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะไปซื้อผักกาดขาวมาใช้ซ่อนเร้นเมทแอมเฟตามีนของกลาง และพาจำเลยที่ 5 และที่ 6 ซึ่งมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไปส่งที่ศาลาพักผู้โดยสาร อันเป็นการใช้รถยนต์ของกลางในการกระทำความผิดหรือให้ได้รับผลในการกระทำความผิดโดยตรงอันจะพึงริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1230/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดตาม พ.ร.บ.เลือกตั้ง: การเตรียมเงินและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจในการลงคะแนน
การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยก่อนวันเลือกตั้งเพียง 1 วัน พร้อมยึดธนบัตรฉบับละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 933,000 บาท และบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งกับรายชื่อหัวคะแนนบรรจุในห่อใหญ่ 9 ห่อ ซึ่งมีบัญชีรายชื่อภายในแต่ละห่อมีห่อย่อย 37 ห่อ แต่ละห่อย่อยมีซองจดหมายบรรจุธนบัตร 2 ซอง แต่ละซองระบุเลขรหัสและชื่อบุคคลกำกับไว้อยู่ภายในกระเป๋าผ้าร่ม แม้ไม่ปรากฏว่าผู้ที่ไปพบบรรดาหัวคะแนนและแกนนำชาวบ้านเพื่อให้สนับสนุนโดยหาคนมาช่วยลงคะแนนให้ อ. ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหมายเลข 9 มีการให้สิ่งตอบแทนแก่คนเหล่านั้นแล้ว แต่ขณะจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดของกลางทั้งหมดไว้ มีการจัดทำธนบัตรของกลางไว้พร้อมโดยแยกเป็นห่อและเป็นซองย่อยพร้อมที่จะนำไปแจกจ่ายให้แก่หัวคะแนนหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อในตำบลขุนยวมและตำบลเมืองปอน โดยลักษณะของการกระทำดังกล่าวถือว่าจำเลยจัดเตรียมเพื่อจะให้ธนบัตรของกลาง ซึ่งเป็นทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้น หรือผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองใดหรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด แม้จำเลยจะยังไม่ได้แจกจ่ายหรือให้ธนบัตรนั้นแก่บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหลาย จำเลยก็กระทำความผิดสำเร็จตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 44 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาหลังหย่า มีผลผูกพันได้หากมีพฤติการณ์สนับสนุน แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ
ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอาจกระทำในขณะจดทะเบียนหย่า โดยให้นายทะเบียนบันทึกไว้หรือไม่ก็ได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติใด ๆ กำหนดให้ความตกลงในการแบ่งสินสมรสต้องกระทำต่อหน้านายทะเบียนหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การจะฟังว่ามีข้อตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาจากพยานทั้งสองฝ่ายประกอบกับพฤติการณ์ของแต่ละคดีไป พฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยต่างครอบครองสินสมรสแต่ละรายการต่างหากจากกัน และมีภาระการผ่อนชำระหนี้ในทรัพย์สินที่ตนถือครองกรรมสิทธิ์อยู่ภายหลังการหย่าจนถึงเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีเป็นเวลาเกือบ 5 ปี แม้ไม่มีหลักฐานข้อตกลงแบ่งสินสมรสในขณะจดทะเบียนหย่าแต่ฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาโดยให้สินสมรสทั้งสองรายการรวมทั้งหนี้สินตกแก่จำเลย การที่โจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างกัน มีผลให้แต่ละฝ่ายได้รับทรัพย์สินและมีภาระหนี้ต้องชำระหนี้สินซึ่งเป็นหนี้ร่วมมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งผิดแผกแตกต่างจาก ป.พ.พ. มาตรา 1533 และมาตรา 1535 บัญญัติไว้ แต่มิใช่บทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลบังคับและไม่ตกเป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 173/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การมีอาวุธปืนของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนในที่สาธารณะ ศาลพิพากษาลงโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน
แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เคยพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีก่อน เพราะเหตุโจทก์ไม่ลงลายมือชื่อในฟ้อง ทำให้ฟ้องโจทก์ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 (7) ก็ตาม แต่โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้และขอให้ศาลชั้นต้นนำสำนวนคดีเดิมซึ่งโจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐานมาผูกโยงเข้ากับสำนวนคดีนี้ พยานเอกสารทั้งหมดจึงถือว่าเป็นพยานเอกสารที่โจทก์อ้างในคดีนี้ ระหว่างสืบพยานโจทก์ศาลชั้นต้นได้ให้จำเลยตรวจสอบพยานเอกสาร จำเลยมิได้โต้แย้งความถูกต้องแต่อย่างใด เมื่อในสำนวนคดีมีเอกสารเกี่ยวกับการที่เจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจสอบข้อมูลทะเบียนอาวุธปืนจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยว่าจำเลยเคยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนหรือไม่ ซึ่งได้รับแจ้งว่า ไม่พบรายการตามที่ขอตรวจสอบ แสดงว่าจำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ทั้งพนักงานสอบสวนเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ว่า บิดาของจำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของกลาง จึงมีความหมายชัดเจนว่าจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของกลาง นอกจากนี้ตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยปรากฏว่าจำเลยรับว่าไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนจริง โดยพนักงานสอบสวนเบิกความรับรองเอกสาร เช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์ได้นำพยานหลักฐานมาสืบแล้วว่า จำเลยมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และพาติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ได้