คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วัชรินทร์ สุขเกื้อ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 40 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8887/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายที่ดินผิดกฎหมาย การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยอายุความ
ย. ตกลงขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้พันเอก พ. เมื่อปี 2519 ต่อมาปี 2520 เมื่อมีการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่เนื่องจากติดข้อกำหนดที่ห้ามมิให้ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นภายใน 10 ปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน ย. และพันเอก พ. จึงทำสัญญาจำนองโดยไม่มีการกู้ยืมเงินจริง แต่ทำเพื่ออำพรางสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่ยังไม่อาจโอนสิทธิในที่ดินได้เพราะมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ สัญญาจำนองจึงเป็นนิติกรรมอำพราง ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 เมื่อสัญญาจำนองเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยได้
การทำสัญญาการซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามกฎหมาย เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น การที่ ย. ทำสัญญาการซื้อขายและมอบให้พันเอก พ. ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท พันเอก พ. ก็หาได้สิทธิครอบครองตามกฎหมายไม่เพราะอยู่ในกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อพ้นระยะเวลาห้ามโอนคือวันที่ 24 สิงหาคม 2530 พันเอก พ. และทายาทครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างต่อเนื่องและเป็นผู้ชำระภาษีบำรุงท้องที่มาโดยตลอดตั้งแต่ พ.ศ.2528 ถึง พ.ศ.2559 โดยไม่ปรากฏว่า ย. หรือทายาทเข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ย. หรือทายาทได้สละการครอบครองที่พิพาทให้แก่พันเอก พ. แล้ว ย่อมถือว่าพันเอก พ. ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนต่อแต่นั้นมา พันเอก พ. ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ.มาตรา 1367 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3431/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ครูพรากเด็กจากความปกครองมารดาเพื่อข่มขืน การกระทำผิดฐานพรากเด็กเป็นความผิด
แม้ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 1 นั่งเล่นโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ในโรงเรียนหน้าห้องทำงานของจำเลย โดยจำเลยมิได้นัดแนะหรือพาโจทก์ร่วมที่ 1 มา ก็ถือว่าขณะนั้นโจทก์ร่วมที่ 1 อยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา จำเลยไม่มีสิทธิพาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปยังที่ใดโดยโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่รู้เห็นยินยอม การที่จำเลยเข้ามากอดแล้วลากโจทก์ร่วมที่ 1 เข้าไปข่มขืนกระทำชำเราในห้องทำงานของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยพาไปหรือแยกโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากความปกครองดูแลของโจทก์ร่วมที่ 2 โดยปราศจากเหตุอันสมควรแล้ว มิใช่เป็นเพียงการกระทำเพื่อมิให้บุคคลอื่นพบเห็นจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3379/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาบทลงโทษคดีจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและอาวุธปืน รวมถึงการจ่ายสินบนจากเงินค่าปรับ
ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติแต่เพียงว่า คำฟ้องต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาและสถานที่อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น ส่วนรายละเอียดที่ว่า ใครจะเป็นผู้นำจับ ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณาโดยไม่จำเป็นต้องกล่าวในคำฟ้องโดยละเอียด เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญแห่งการกระทำผิดของจำเลย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยระบุว่าในการจับกุมความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มีผู้นำจับนำความมาแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้จับกุมคดีนี้และมีคำขอท้ายฟ้องให้จ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับแล้ว การที่จำเลยให้การรับสารภาพย่อมแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 บัญญัติให้จ่ายสินบนและเงินรางวัลจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบไม่อาจขายได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล เมื่อของกลางคดีนี้เป็นทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดไม่อาจนำออกขายได้ และศาลใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่ปรับ กรณีจึงไม่มีเงินที่ได้จากการขายของกลางหรือเงินค่าปรับที่จะสั่งจ่ายสินบนและเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8 ได้
ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 36, 56 วรรคหนึ่ง นั้น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 มาตรา 20 และมาตรา 31 ให้เพิ่มเติมมาตรา 29/9 วรรคสอง และมาตรา 56/4 ทั้งมาตรา 37 ยังบัญญัติให้คำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ออกตามมาตรา 36 และมาตรา 38 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีคำสั่งใหม่หรือมีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ดังนั้น การกระทำความผิดฐานขายสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า โดยฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ยังบัญญัติให้เป็นความผิดอยู่ แต่โทษจำคุกตามกฎหมายใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2958/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารประมาทเลินเล่อจ่ายเช็คปลอม, โจทก์ละเลยการตรวจสอบ, ศาลลดค่าเสียหาย
จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการที่ประชาชนให้ความไว้วางใจย่อมต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละเอียดรอบคอบ การที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทซึ่งมีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมและผิดเงื่อนไขการสั่งจ่ายเช็ค จึงเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ถือว่าจำเลยผิดสัญญาฝากทรัพย์ จำเลยจะยกข้ออ้างว่า พนักงานของจำเลยโทรศัพท์สอบถามผู้จัดการของโจทก์เกี่ยวกับการลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเกินจำนวน และยกพฤติการณ์ในการเก็บรักษาเช็คพิพาทว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ตลอดจนอ้างว่าโจทก์ผู้รับรองการถอนเงินตามเช็คเป็นการรับสภาพหนี้ ขึ้นอ้างเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานะผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คปลอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดหาได้ไม่ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์มอบให้ผู้จัดการของโจทก์เป็นผู้เก็บรักษาสมุดเช็คของโจทก์ไว้ผู้เดียว ซึ่งไม่ชอบด้วยข้อบังคับของโจทก์ที่ให้คณะกรรมการของโจทก์เก็บรักษาสมุดเช็คโจทก์ และการยอมให้กรรมการผู้มีอำนาจบางคนลงลายมือชื่อในเช็คไว้ล่วงหน้าทั้งการสั่งจ่ายเช็คพิพาทซึ่งเป็นเงินจำนวนมากกลับจ่ายเป็นเช็คผู้ถือ โดยไม่ระบุชื่อผู้รับเงินและไม่ขีดคร่อมเช็คตามข้อบังคับของโจทก์รวมทั้งไม่ตรวจสอบรายการเดินบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยส่งให้ทราบทุกเดือน จนทำให้มีผู้นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินจากบัญชีโจทก์ถึง 44 ฉบับ ในช่วงระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่า โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันของกรรมการและบริษัทจากการกระทำผิดสัญญาจองห้องพักและการจัดการบัญชีที่ไม่โปร่งใส
การปรับข้อเท็จจริงตามฟ้องว่าจะเข้าลักษณะมูลหนี้สัญญาหรือมูลหนี้ละเมิดนั้น เป็นข้อหารือบทซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลที่จะปรับบทกฎหมายเอง โดยโจทก์ต้องบรรยายข้อเท็จจริงที่จำเลยได้กระทำ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิก็เพียงพอแล้ว
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 บัญญัติให้ความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทน ดังนั้น หากกรรมการของบริษัทกระทำการในขอบอำนาจของบริษัท การกระทำของกรรมการย่อมผูกพันบริษัทซึ่งเป็นตัวการ กรรมการไม่ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเป็นส่วนตัว แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงได้ความว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 3 ในการทำธุรกรรมทางการเงินส่อไปในทางไม่โปร่งใส โดยมุ่งประสงค์ให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดแต่เพียงผู้เดียว ย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่สุจริต จำเลยที่ 2 จึงหาหลุดพ้นความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 แต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1857/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่ไม่ได้สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาต และการรอการลงโทษสำหรับนักกีฬายิงปืน
แม้คำฟ้องของโจทก์จะบรรยายว่า จำเลยมีกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร ) จำนวน 11 นัด และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร จำนวน 100 นัด ซึ่งเป็นเครื่องกระสุนปืนตามกฎหมายแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และผู้ชำนาญการที่ตรวจพิสูจน์จะมีความเห็นว่า กระสุนปืนทั้งสองขนาดเป็นเครื่องกระสุนปืนแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ก็ตาม แต่กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 3 กำหนดว่า "เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามมาตรา 7 หรือมาตรา 24 ต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนตามข้อ 2 ที่ได้รับอนุญาต แต่ต้องไม่เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง" ซึ่งหมายความว่า เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ ต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 2 เว้นแต่ เครื่องกระสุนปืนนั้น แม้จะเป็นเครื่องกระสุนปืนขนาดที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ก็ตาม หากเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิงแล้วเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ เมื่อเครื่องกระสุนปืนของกลางมีขนาดเพียง .223 (5.56 มิลลิเมตร) และขนาดเพียง 7.62 มิลลิเมตร ไม่เกินขนาดอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 2 (1) และ ข้อ 2 (2) (ก) กับ (ข) จึงเห็นได้ว่า เครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ เครื่องกระสุนปืนของกลาง จึงเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้เช่นกัน เว้นแต่เครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร ของกลาง จะเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง จึงจะเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 3 ตอนท้าย ดังนั้น แม้จะรับฟังว่า เครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร ของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับปืนกลซึ่งใช้ในทางการทหารเพื่อใช้ในการสงครามดังเช่นที่โจทก์ฎีกา แต่คำฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า เครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) จำนวน 11 นัด และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร จำนวน 100 นัด ของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 3 ตอนท้าย ที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ และจำเลยรับข้อเท็จจริงว่าเครื่องกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) และเครื่องกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร ไม่เป็นกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือกระสุนเพลิง การที่จำเลยมีเครื่องกระสุนปืนของกลางจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
แม้กระสุนปืนเล็กขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) ของกลาง จะสามารถใช้ยิงได้กับปืนยาวไรเฟิล (REMINGTON) และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร ของกลาง จะสามารถใช้ยิงได้กับปืนยาวไรเฟิล (SAKO) ที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้ก็ตาม ก็เป็นเพียงการดัดแปลงเพื่อนำไปใช้เท่านั้น ทั้งจำเลยรับข้อเท็จจริงตามคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้ตรวจพิสูจน์เครื่องกระสุนปืนของกลางว่า หากนำเครื่องกระสุนปืนของกลางไปใช้ ปืนอาจได้รับความเสียหายและคนยิงอาจได้รับอันตราย ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า เครื่องกระสุนปืนของกลางมิใช่เครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง ย่อมรวมถึงการมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ด้วย ถือได้ว่าความผิดที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง จึงไม่ใช่เป็นกรณีความผิดที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ แม้ พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ จะบัญญัติความผิดทั้งสองฐานไว้คนละมาตราก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า จำเลยมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ ซึ่งมีบทลงโทษเบากว่าได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 29/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานในคดีข่มขืน: พยานเบิกความล่าช้า, พยานบอกเล่า, และการชั่งน้ำหนักพยาน
ผู้เสียหายที่ 1 และ จ. มาเบิกความหลังเกิดเหตุเป็นเวลาเกือบสิบปี โดยผู้เสียหายที่ 1 ยอมรับว่าได้รับเงินจากจำเลย 30,000 บาท ส่วน จ. ไม่ยอมไปเบิกความจนศาลชั้นต้นต้องออกหมายจับจึงมาเบิกความได้ พฤติการณ์เช่นนี้เชื่อว่าผู้เสียหายที่ 1 และ จ. ย่อมเบิกความให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรในชั้นพิจารณาคดีนี้ที่จะรับฟังคำเบิกความของ จ. ในคดีอาญาคดีอื่นที่พวกของจำเลยถูกฟ้องในการกระทำความผิดเดียวกันนี้ประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีนี้ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4928/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำนองที่ดินโดยความยินยอมของผู้ให้จำนอง แม้จะฟ้องเพิกถอนสัญญาจำนองไม่ได้ ผู้ฟ้องไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอยืมที่ดินพิพาทเพื่อไปกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงถือสิทธิครอบครองที่ดินแทนโจทก์ กับทำหนังสือมอบอำนาจให้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนขายคืนแก่โจทก์ภายใน 1 ปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดิน และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินตามที่ตกลงกันไว้ โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะซื้อขายที่ดินกันจริง แต่เพื่อนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวถือว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 จะนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินแก่จำเลยที่ 2 และโจทก์เบิกความตอบทนายความจำเลยที่ 1 ถามค้านรับว่า เงินที่ได้จากการจำนอง 4,500,000 บาท โจทก์นำไปซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายธนาคาร ก. จำนวน 3,000,000 บาท ชำระค่าที่ดินที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซื้อจาก พ. โดยมีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ในใบคำขอซื้อเช็ค ตรงกับบันทึกท้ายหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จำเลยที่ 1 เขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์ มีข้อความว่า "นำเงินที่ได้จากการจำนองที่ดิน 3,000,000 บาท ไปชำระค่าซื้อที่ดิน เนื้อที่ 58 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา ที่ลงทุนร่วมกัน" และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงเขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจาก พ. และ ด. โดยโจทก์เป็นผู้ชำระเงินให้แก่ผู้จะขาย 2,750,000 บาท และชำระด้วยแคชเชียร์เช็คให้แก่ธนาคาร ก. จำนวนเงิน 3,000,000 บาท สนับสนุนให้เห็นว่าการจำนองที่ดินพิพาทนั้นเป็นความประสงค์ของโจทก์ที่ต้องการเงินไปชำระค่าที่ดินที่ซื้อร่วมกับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองธนาคาร ส. สาขาแหลมฉบัง จำนวนเงิน 4,500,000 บาท ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเพื่อให้โจทก์นำเช็คไปชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 ดังนี้ โจทก์ย่อมทราบดีว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จำนอง โจทก์อาจนำหนังสือมอบอำนาจและเช็คดังกล่าวไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจากจำเลยที่ 2 ได้เอง ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ก็ยอมรับว่าประสงค์จะชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ด้วย พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวบ่งชี้ชัดแจ้งว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันโจทก์เสมือนหนึ่งว่าโจทก์เป็นผู้จำนองเอง การที่โจทก์มาฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เพื่อที่โจทก์ไม่ต้องชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 นั้น ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3583/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทนและหนังสือค้ำประกัน: ความรับผิดของคู่สัญญา, เบี้ยปรับ, และการชำระหนี้
ตามหนังสือค้ำประกันมีข้อตกลงว่าโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินตามสิทธิเรียกร้องของผู้ว่าจ้างจำนวนไม่เกิน 179,447,022 บาท ในกรณีที่กิจการร่วมค้าซึ่งเป็นผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้าง โดยโจทก์จะไม่อ้างสิทธิใด ๆ เพื่อโต้แย้งและผู้ว่าจ้างไม่จำต้องเรียกร้องผู้รับจ้างชำระหนี้นั้นก่อน การค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวไม่ใช่การผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระ แต่เป็นการค้ำประกันที่โจทก์มีความผูกพันจะต้องชำระเงินให้แก่ผู้ว่าจ้างโดยเคร่งครัดอย่างลูกหนี้ชั้นต้นเมื่อมีการทวงถามตามเงื่อนไข โดยไม่อาจอ้างเหตุใด ๆ ระหว่างผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าหรือจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้รับจ้างขึ้นปลดเปลื้องความรับผิดได้และความรับผิดของโจทก์ในกรณีนี้จะไม่ขึ้นอยู่กับความรับผิดของกิจการร่วมค้า สิทธิและหน้าที่ความรับผิดของผู้ว่าจ้างและโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเป็นเอกเทศและต้องพิจารณาแยกต่างหากจากสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตามวิธีทางธนาคาร ส่วนผลแห่งการบังคับตามสัญญาค้ำประกันจะกระทบถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอย่างไร เป็นเรื่องที่คู่สัญญาจะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก ดังนั้น ข้อตกลงตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
ข้อตกลงตามคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันเป็นสัญญาที่กิจการร่วมค้าแสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรงมิใช่การค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 แต่เป็นสัญญาธรรมดาซึ่งต้องบังคับตามข้อตกลงในสัญญาจะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่าด้วยลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับมิได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนของกิจการร่วมค้าจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงในคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันด้วย เมื่อผู้ว่าจ้างมีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้าชำระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมงานก่อสร้างส่วนที่ชำรุดเสียหายและแจ้งให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน โจทก์มีหนังสือแจ้งกิจการร่วมค้าให้ชำระเงินแก่ผู้ว่าจ้าง กิจการร่วมค้าปฏิเสธ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ว่าจ้าง เมื่อโจทก์ชำระเงิน 179,447,022 บาท ให้แก่ผู้ว่าจ้างไปแล้ว กิจการร่วมค้าจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินเป็นต้นไป โจทก์นำเงินฝากมาหักชำระหนี้ดังกล่าว คงเหลือต้นเงินที่กิจการร่วมค้าต้องชำระแก่โจทก์ 141,358,355.91 บาท แต่ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี เป็นข้อตกลงการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ที่ศาลชั้นต้นปรับลดดอกเบี้ยลงเหลืออัตราร้อยละ 13 ต่อปี จึงเหมาะสมแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนในนามกิจการร่วมค้าจึงต้องร่วมกันรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2222/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: คดีเรียกค่าเสียหายจากเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายเดิม ย่อมเป็นฟ้องซ้อนหากฟ้องคดีใหม่ระหว่างคดีเดิมยังพิจารณาอยู่
คดีสองสำนวนก่อนกับคดีนี้เป็นเรื่องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายฉบับเดียวกันในคราวเดียวกัน จึงมีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นเดียวกัน แม้คดีนี้จะมีคำขอที่แตกต่างกันไปโดยอ้างข้อตกลงในสัญญาตัวแทนจำหน่ายว่าภายหลังเลิกสัญญากันแล้ว จำเลยมีหน้าที่รับคืนสินค้าแต่จำเลยไม่รับคืน ทำให้โจทก์เสียหาย ก็เป็นคำขอที่สามารถขอได้ในสองคดีก่อนอยู่แล้ว เพราะการเรียกค่าเสียหายเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุที่จำเลยเลิกสัญญาฉบับเดียวกัน และจำเลยมีหนังสือแจ้งการไม่ต่อสัญญาตัวแทนจำหน่ายไปยังโจทก์ พร้อมกับแจ้งสิทธิหน้าที่ตามสัญญาตัวแทนจำหน่ายให้โจทก์ส่งมอบสินค้าในคลังสินค้าคืนแก่จำเลยตามราคาที่สั่งซื้อไปถึงสองครั้งแต่โจทก์เพิกเฉยและกลับไปฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นสองคดีก่อน แสดงได้ชัดเจนว่ามีข้อโต้แย้งเรื่องคืนสินค้ากันก่อนฟ้องสองคดีก่อน และค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกในคดีนี้สามารถเรียกได้ในสองคดีก่อนอยู่แล้ว หรือหากมีความเสียหายเพิ่งปรากฏภายหลังฟ้องสองคดีก่อน โจทก์ก็สามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเรียกค่าเสียหายในสองคดีก่อนได้ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันใหม่เป็นคดีนี้ ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
of 4