คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สรศักดิ์ วาจาสิทธิศิลป์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 74 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9456/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อสันนิษฐานตามกฎหมายเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินและเอกสารสิทธิ การพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐาน
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ก็บัญญัติว่า เอกสารมหาชนซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง หรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร ที่ดินตามโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน และโฉนดที่ดินกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นเอกสารมหาชน จึงได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เมื่อโจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างและนำสืบว่า โฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามฟ้องออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องมีภาระพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานตามข้อกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8572/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่
แม้ขณะเกิดเหตุดาบตำรวจ ช. จะคอยอยู่ที่ตู้ยามพิชัยรักษ์ แต่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าเขตงานตู้ยามพิชัยรักษ์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพียงคนเดียวที่จะต้องควบคุมการทำหน้าที่ของผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานหลายคน ทั้งดาบตำรวจ ช. ยังเตรียมพร้อมที่จะออกไปสนับสนุนการทำหน้าที่ของผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ย่อมถือได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานที่กำลังกระทำการตามหน้าที่ ส่วนผู้ตายและผู้เสียหายนอกจากจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ตามคำสั่งสถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานีแล้ว ในวันเกิดเหตุผู้ตายและผู้เสียหายได้แต่งกายในชุดผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานซึ่งบุคคลที่พบเห็นย่อมทราบว่าเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน และยังได้รับมอบหมายจากดาบตำรวจ ช. ให้ออกตรวจท้องที่และกวาดล้างกลุ่มวัยรุ่นที่กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงฟังได้ว่าผู้ตายและผู้เสียหายเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่ การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้เสียหาย 1 นัด จากนั้นจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธมีดดาบฟันผู้ตายและผู้เสียหายหลายครั้ง เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าและร่วมกันพยายามฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6913-6914/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินพิพาทในเขตอุทยานฯ สิทธิครอบครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย รัฐมีสิทธิออกพระราชกฤษฎีกา
โจทก์มีเพียงเอกสารใบ ภ.บ.ท. 5 แสดงว่าโจทก์มีสิทธิเหนือที่ดินพิพาท แต่เอกสารฉบับนี้ไม่ใช่เอกสารสิทธิแสดงว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองเหนือที่ดินที่พิพาทแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัย น. ครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อประมาณ ปี 2494 ก่อนบังคับใช้ประมวลกฎหมายที่ดินและรัฐยังไม่ได้จัดที่ดินเป็นอุทยานแห่งชาตินั้น ไม่ปรากฏว่า น. มีเอกสารใด ๆ แสดงกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินพิพาทหรือได้แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน 180 วัน ตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 5 แสดงให้เห็นว่าตนมีสิทธิครอบครองเหนือที่ดินพิพาทอย่างไร ทั้งการครอบครองเป็นระยะเวลานานมากขนาดนี้น่าที่ผู้ครอบครองต้องมีเอกสารสิทธิเหนือที่ดินพิพาทบ้าง แต่ก็ไม่ปรากฏ และโจทก์ก็เพิ่งแจ้งเสียภาษีบำรุงท้องที่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2545 โดยบุคคลที่ครอบครองก่อนหน้าโจทก์ก็ไม่ปรากฏหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ข้อนำสืบดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยง่าย ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ไม่น่าเชื่อว่า น. ครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินจริง แม้ฝ่ายจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบโต้แย้งเรื่องโจทก์ครอบครองที่ดินต่อเนื่องกันมาก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองก็นำสืบอยู่ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งโจทก์ต้องมีภาระพิสูจน์สิทธิของตนว่ามีอยู่จริง เมื่อไม่ปรากฏว่า น. มีสิทธิใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายเหนือที่ดินพิพาท น. จึงไม่มีสิทธิโดยชอบเหนือที่ดินพิพาทที่จะโอนต่อ ๆ มาจนถึงโจทก์ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองเหนือที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทไม่มีบุคคลใดถือกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย รัฐจึงออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติได้ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 6 โจทก์ยึดถือครอบครองอาคารบ้านพักและอาคารอเนกประสงค์ในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองสั่งให้โจทก์รื้อถอนแล้วโจทก์ไม่รื้อถอน จำเลยทั้งสองจึงมีอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจรื้อถอนอาคารบ้านพักและอาคารอเนกประสงค์กับต้นมะพร้าวซึ่งปลูกอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติได้เองตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 21, 22 ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์จึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5995/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญต่อศาลยุติธรรม: ประเพณีการปกครองและฐานะเทียบเท่าศาลรัฐธรรมนูญ
องค์ประกอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มีที่มาจากองค์กรตุลาการคือศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมและจากศาลปกครองสูงสุดซึ่งเป็นศาลปกครอง ในส่วนขององค์คณะในการพิจารณาพิพากษา วิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยก็มีข้อกำหนดของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรฐานในการพิจารณาพิพากษาคดีไม่ต่ำไปกว่ามาตรฐานการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดอันเป็นการประกันความเป็นธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดีของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ดังนี้ จึงถือได้ว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีฐานะเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 จะมิได้บัญญัติถึงผลบังคับของคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไว้ แต่โดยผลของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มาตรา 38 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 268 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 216 วรรคห้า ก็ถือได้ว่าคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 มีผลผูกพันศาลยุติธรรมเนื่องจากเป็นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4998/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หมิ่นประมาทจากการร้องเรียนและแจกหนังสือพิมพ์: การใส่ความให้เสียชื่อเสียงถือเป็นความผิด
การนำหนังสือพิมพ์ไปแจกโดยทราบว่ามีเนื้อหาข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ถือได้ว่าเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไปแล้ว จึงเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4815/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนภาระจำยอมหลังมติถูกเพิกถอน & การฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนที่ต้องมีคู่สัญญาเป็นจำเลยร่วม
แม้การจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินสาธารณูปโภคและบริเวณสาธารณะตามโฉนดเลขที่ 2603 ที่จำเลยรับโอนมาจากบริษัท บ. ผู้จัดสรร ให้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2346 ของบริษัท บ. ผู้จัดสรร จะเป็นมติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญของจำเลย ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมตินี้แล้วก็ตาม แต่เมื่อก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องคดีนี้ จำเลยได้จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินที่รับโอนมาให้แก่ที่ดินของบริษัท บ. ตามมติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวเสียแล้วสภาพแห่งคดีจึงไม่เปิดช่องที่จะมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมตามคำขอของโจทก์ได้ และแม้จะอนุเคราะห์ให้ถือว่าคำขอของโจทก์เป็นการขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมระหว่างจำเลยกับบริษัท บ. ก็ดี แต่การจะเพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมดังกล่าวโจทก์จำต้องฟ้องบริษัท บ. เจ้าของสามยทรัพย์ผู้เป็นคู่สัญญากับจำเลยเข้ามาเป็นจำเลยด้วย ลำพังแต่เพียงฟ้องจำเลยเพื่อให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมนั้น ไม่อาจทำได้ เพราะคำพิพากษาย่อมผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง คดีจึงไม่อาจบังคับจำเลยตามคำขอของโจทก์ได้
โจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญของจำเลย โดยประกอบด้วยสภาพแห่งข้อหาหลายข้อด้วยกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ช. พ้นจากตำแหน่งจากการเป็นกรรมการตามข้อบังคับของจำเลยแล้ว การที่ ช. ในนามประธานกรรมการของจำเลยทำหนังสือเชิญประชุมและดำเนินการประชุมมีการลงมติในวาระต่างๆ จึงเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยข้อบังคับ อันนำไปสู่การบังคับตามคำขอของโจทก์ได้แล้ว การที่ยังจะต้องวินิจฉัยข้อหาอื่นเพื่อนำไปสู่การบังคับตามคำขอเดียวกันนี้อีกจึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดี เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในข้อหาที่เหลืออีก กรณีเช่นนี้หาใช่ว่าศาลไม่ได้ตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ไม่ หากโจทก์เห็นว่าข้อหาที่เหลือยังมีการกระทำที่ทำให้โจทก์ต้องเสียหายก็ชอบที่จะต้องว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4815/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอม: การจดทะเบียนหลังฟ้องคดี และการฟ้องไม่ครบถ้วนคู่ความ ทำให้ศาลไม่สามารถบังคับตามคำขอได้
แม้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินที่จำเลยรับโอนมาจากบริษัท บ. ผู้จัดสรร ให้แก่ที่ดินของบริษัท บ. ผู้จัดสรร แต่เมื่อก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยได้จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินให้แก่บริษัท บ. ตามมติของที่ประชุมใหญ่เสียแล้ว สภาพแห่งคดีจึงไม่เปิดช่องที่จะมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมตามคำขอของโจทก์ได้ และแม้จะอนุเคราะห์ให้ถือว่าคำขอของโจทก์เป็นการขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมระหว่างจำเลยกับบริษัท บ. แต่การจะเพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมดังกล่าว โจทก์ต้องฟ้องบริษัท บ. ผู้เป็นคู่สัญญากับจำเลยเข้ามาเป็นจำเลยด้วย ลำพังแต่เพียงฟ้องจำเลยเพื่อให้เพิกถอนภาระจำยอมนั้น ไม่อาจทำได้ เพราะคำพิพากษาย่อมผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4780/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดทางละเมิด, ค่ารักษาพยาบาล, ค่าอุปการะเลี้ยงดู และอำนาจฟ้องในคดีละเมิด
ค่าเสียหายเบื้องต้นตามนิยามของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 4 หมายถึงค่าปลงศพด้วย เหตุที่จำเลยที่ 3 ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นก็เพราะจำเลยที่ 2 นายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 3 ค่าเสียหายเบื้องต้นจึงเป็นค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 2 มีภาระต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ 3 ชำระค่าเสียหายเบื้องต้นแก่โจทก์ทั้งสองจึงเป็นการชำระค่าปลงศพ รวมถึงค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วยแก่โจทก์ทั้งสองแทนจำเลยที่ 2 ผู้ต้องรับผิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างและทำละเมิดในทางการที่จ้าง
ล. เป็นภริยาของ ห. ผู้ตายมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง ขณะ ห. มีชีวิตเป็นผู้ออกค่ารักษาพยาบาลซึ่งถือเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่ ล. ตลอดมา เมื่อ ห. ถึงแก่ความตายจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ล. จึงมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะในส่วนนี้ได้ แต่ก่อนถึงแก่ความตาย ล. ยังมิได้ฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ แม้โจทก์ทั้งสองจะเป็นทายาทโดยธรรมของ ล. แต่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องเพียงว่าเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของ ห. มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ล. ด้วย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้แทน ล.
คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดค่าขาดรายได้จากการประกอบอาชีพของ ห. ผู้ตาย แต่มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวในฐานะทายาทโดยธรรมของ ล. และ ห. ผู้ตายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมแก่ ล. อย่างไร โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามฟ้อง
ผู้ที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจะต้องเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 คือ สามีกับภริยา หรือบิดามารดากับบุตร แต่ อ. และ ธ. มิใช่บุตรของ ห. ผู้ตาย แม้ในความเป็นจริงผู้ตายจะอุปการะเลี้ยงดูเด็กทั้งสองอยู่ก็ตาม จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยทั้งสามและไม่ก่อสิทธิให้แก่ผู้อื่นฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4560/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งความและร้องทุกข์ในคดีฉ้อโกง: การมีอำนาจสอบสวนและฟ้องคดี
แม้ในเบื้องต้นโจทก์ร่วมที่ 1 ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี แต่หลังจากนั้นโจทก์ร่วมที่ 1 ไปให้การต่อพนักงานสอบสวนพร้อมกับร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงรถคันดังกล่าว ตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษหรือพยาน ซึ่งในการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 123 วรรคสาม บัญญัติว่า คำร้องทุกข์จะทำเป็นหนังสือหรือร้องด้วยปากก็ได้ ถ้าเป็นหนังสือต้องมีวันเดือนปีและลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ถ้าร้องด้วยปาก ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปีและลงลายมือชื่อผู้บันทึกกับผู้ร้องทุกข์ในบันทึกนั้น เมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษ หรือพยาน ระบุว่า วันที่ 16 ตุลาคม 2554 โจทก์ร่วมที่ 1 ไปให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเขาสมิงพร้อมกับร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงรถ โดยในคำให้การดังกล่าวปรากฏชื่อและที่อยู่ของโจทก์ร่วมที่ 1 ในฐานะผู้ร้องทุกข์ ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ต่างๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับและชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้ เข้าลักษณะเป็นคำร้องทุกข์ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ประกอบมาตรา 123 แล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 และมาตรา 120 ตามลำดับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4339/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตในพื้นที่ห้าม โรงงานประเภท 3 ผิดตาม พ.ร.บ.โรงงาน
โจทก์ระบุข้อหาของจำเลยมาในช่องฐานความผิดที่หน้าฟ้องว่า ตั้งและประกอบกิจการโรงงาน (ในท้องที่ห้ามตั้งโรงงาน) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 12, 32 (1), 50 โดยบทบัญญัติแห่งมาตรา 50 นี้มีความว่า "ผู้ใดประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง หรือตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคสอง ต้องระวางโทษ...ในกรณีที่โรงงานตามวรรคหนึ่ง เป็นโรงงานประเภทหรือชนิดที่กำหนดจำนวนหรือขนาดที่จะให้ตั้งหรือไม่ให้ตั้งในท้องที่ใดตามประกาศที่ออกตามมาตรา 32 (1) ผู้กระทำต้องระวางโทษ..." ดังนี้ แม้โจทก์จะไม่ได้ใช้ถ้อยคำในกฎหมายว่า "โดยไม่ได้รับใบอนุญาต" มาในฟ้อง ก็ตาม แต่ตามฟ้องโจทก์ก็ได้กล่าวมาแล้วว่า จำเลยบังอาจตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานทำการดูดทราย...โดยใช้เครื่องจักรเป็นเรือดูดทรายขนาดประมาณ 50 ถึง 60 แรงม้า 1 ลำ ทำการดูดทราย อันเป็นการตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ซึ่งโรงงานของจำเลยเป็นโรงงานประเภทหรือชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดจำนวนหรือขนาดที่ไม่อาจให้ตั้งในท้องที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ และไม่เป็นโรงงานที่เข้าข้อยกเว้นที่ให้ตั้งได้ โดยได้แนบประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่จะให้ตั้งหรือไม่ให้ตั้งในเขตท้องที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางปะอิน และอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ.2550 ซึ่งออกตามมาตรา 32 (1) แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มาท้ายฟ้องด้วย และกล่าวสรุปในตอนท้ายว่า อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงเท่ากับยืนยันมาในฟ้องว่าการตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ของจำเลยได้กระทำไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายนั่นเอง ไม่ใช่ไม่ชัดแจ้งว่าการกระทำของจำเลยฝ่าฝืนต่อกฎหมายในเรื่องใดดังฎีกาของจำเลยแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ครบองค์ประกอบความผิด
of 8