คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 249 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 177 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6679/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความยินยอมในการวิวาทและผลกระทบต่อการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายกับพวกและจำเลยที่ 1 กับพวกต่างสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยยอมรับอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดจากการวิวาทต่อสู้ทำร้ายกัน ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในทางอาญา ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งต่อจำเลยที่ 1 เพราะความยินยอมไม่ก่อให้เกิดละเมิด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสอง และกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ที่จะนำมาอ้างเป็นเหตุมิให้ยกเว้นความรับผิดทางละเมิด อันเป็นบทกฎหมายเฉพาะข้อสัญญาซึ่งเป็นนิติกรรมโดยตรง ที่มีต่อกันในทางธุรกรรมเกี่ยวกับอำนาจต่อรองในทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งเป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสองอยู่แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรไม่หยิบยกขึ้นแก้ไข

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4582/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับบริษัท และอำนาจฟ้องของผู้ถือหุ้น/กรรมการ
ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่าการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและฝ่าฝืนข้อบังคับของผู้คัดค้าน โดยไม่มีการขอเรียกประชุมจากจำนวนผู้ถือหุ้นครบตามข้อบังคับ ไม่มีคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นไม่ว่าโดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ หรือส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้น ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านเพียงว่า ได้ส่งหนังสือเรียกประชุม และแจ้งทางโทรศัพท์แก่กรรมการทุกคนแล้ว มิได้คัดค้านโดยชัดแจ้งเลยว่าการประชุมดังกล่าวมิใช่การประชุมผู้ถือหุ้นแต่เป็นเพียงการประชุมคณะกรรมการผู้คัดค้าน ซึ่งไม่ต้องดำเนินการส่งคำบอกกล่าวต่อผู้ถือหุ้นตามข้อบังคับของผู้คัดค้าน คดีจึงไม่มีประเด็นว่าการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมคณะกรรมการบริษัทผู้คัดค้านหรือไม่
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องแม้ผู้คัดค้านมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านจึงยกขึ้นในชั้นฎีกาได้
ป.พ.พ. มาตรา 1195 บัญญัติว่า การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกันฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย เมื่อการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นตามฟ้องเป็นการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น การที่ผู้คัดค้านไม่ได้ส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ หรือส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของผู้คัดค้าน ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของผู้คัดค้านย่อมมีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องแย้งและการครอบครองที่ดิน: ผลของการจำนองและเจตนาสละการครอบครอง
ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้องแย้ง แม้เป็นปัญหาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องแย้งเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาหรือวินิจฉัยในส่วนข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในประเด็นเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลยจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงอันนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเสียเองโดยไม่ต้องย้อนสำนวน
ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ของจำเลยมีข้อกำหนดห้ามโอนภายในสิบปีตาม มาตรา 31 แห่ง ป.ที่ดิน และที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าว จำเลยเคยนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ ส. โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อพ้นกำหนด 10 ปีแล้ว ให้ที่ดินหลุดเป็นสิทธิแก่ผู้รับจำนอง เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการไถ่ถอนจำนอง จึงถือว่าจำเลยเจตนาสละการครอบครองและส่งมอบการครอบครองที่ดินแก่ ส. แล้ว นับแต่วันพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนอง ส. ย่อมมีอำนาจนำที่ดินพิพาทไปขายให้โจทก์ได้ ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ของจำเลยอีกต่อไป จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22089/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ไม่สมบูรณ์ และเช็คพิพาทโอนได้โดยส่งมอบ ผู้ทรงมีสิทธิเรียกร้อง
ปัญหาว่าหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่แม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลล่างทั้งสองและเพิ่งยกขึ้นโต้แย้งคัดค้านในชั้นฎีกา แต่ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
ป.รัษฎากร มาตรา 103 นิยามคำว่า ขีดฆ่า หมายความว่า การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยมีเจตนารมณ์เพื่อมิให้นำแสตมป์นั้นมาใช้อีกอันเป็นการหลีกเลี่ยงค่าอากร เมื่อปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจว่ามีการขีดเส้นคร่อมฆ่าอากรแสตมป์แล้ว แม้จะไม่ได้ลงวันเดือนปีที่ขีดเส้นคร่อมฆ่าอากรแสตมป์ และไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้บนอากรแสตมป์นั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการขีดฆ่าที่สมบูรณ์ สอดคล้องกับเจตนารมณ์แห่งกฎหมายแล้ว จึงรับฟังหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้
เช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ย่อมโอนไปด้วยการส่งมอบให้แก่กันตาม ป.พ.พ. มาตรา 918 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนเช็คพิพาทมา จึงเป็นผู้ถือย่อมเป็นผู้ทรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเนื้อความในเช็คได้ จำเลยผู้ถูกฟ้องในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทไม่อาจต่อสู้โจทก์ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อน เว้นแต่การโอนจะมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 916 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15995/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีค่าธรรมเนียมโรงแรม: ต้องเป็นนายทะเบียนตาม พ.ร.บ.โรงแรมเท่านั้น
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งนายทะเบียนตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครเป็นนายทะเบียน ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองจึงเป็นนายทะเบียนในเขตท้องที่จังหวัดระยองตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 และมีอำนาจหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ทั้งไม่มีกฎหมายใดให้บุคคลอื่นใช้อำนาจหน้าที่แทนได้
คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งประกอบธุรกิจโรงแรมในจังหวัดระยองชำระค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรมที่ค้างชำระ แต่โจทก์ไม่ใช่นายทะเบียนตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ให้การในประเด็นนี้ไว้โดยชัดแจ้ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13956/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความละเมิดจากการยึดทรัพย์โดยมิชอบ โจทก์ต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่รู้ถึงการละเมิด
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในศาลล่างทั้งสองก็มีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศยึดบ้านโจทก์ที่ 2 ทั้งที่โจทก์ที่ 2 มิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จำเลยที่ 1 นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศยึดทรัพย์โจทก์ที่ 2 วันที่ 7 กรกฎาคม 2547 โดยประกาศดังกล่าวระบุชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีที่ขอให้ยึดทรัพย์ไว้โดยชัดแจ้ง โจทก์ที่ 2 จึงควรรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2547 แล้ว โจทก์ที่ 2 มาฟ้องคดีนี้วันที่ 10 มกราคม 2550 จึงเกินกำหนด 1 ปี คดีโจทก์ที่ 2 จึงขาดอายุความ การที่โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขัดทรัพย์และศาลมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ไม่เป็นเหตุให้อายุความละเมิดสะดุดหยุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12758/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีทรัพย์สินจำนองหลังมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์: สิทธิเจ้าหนี้มีประกัน & อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดี
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (2) บัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวในการเก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น แม้ทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในระหว่างการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ยังต้องปฏิบัติตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น เว้นแต่การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 110 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 112 ทั้งนี้ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาแบ่งเฉลี่ยให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเสมอภาคตามส่วน แต่อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 110 วรรคท้าย
คดีนี้หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 และมีคำพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 แล้ว ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับทรัพย์จำนอง หรือมอบหมายให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในคดีนี้แทน หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือสอบถามไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่ยึดไว้อันถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย แต่กลับปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในคดีนี้ต่อไปในวันที่ 8 มิถุนายน 2548 และเพิ่งมามีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2551 ว่าให้สอบถามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับทรัพย์ของจำเลยในคดีนี้ ซึ่งเป็นการสอบถามภายหลังจากที่ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปแล้ว จึงมีผลเท่ากับว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปตามอำนาจหน้าที่ของตนในการบังคับคดีแพ่ง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หาใช่เป็นการขายทอดตลาดในคดีล้มละลายอันเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือถือได้ว่าได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ ประกอบกับทรัพย์จำนองเป็นหลักประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เดิม แม้ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว แต่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ย่อมไม่กระทบถึงสิทธิของโจทก์เดิมในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในการที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้นต่อไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายดังที่ศาลล่างวินิจฉัย โจทก์ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีนี้ได้ โดยหาจำต้องไปยื่นคำร้องในคดีล้มละลายดังที่ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7681/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์และฎีกาในคดีพิพาทที่ดิน: การยื่นเอกสารใหม่ และทุนทรัพย์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ได้ไปยื่นคำขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยทั้งห้าจึงมิใช่เป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แล้วงดวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทอื่นและพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยอ้างเหตุผลว่า โจทก์และผู้มีชื่อใน ส.ค.1 เคยไปติดต่อกับเจ้าพนักงานที่ดินตามต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายอุทธรณ์ แสดงว่าโจทก์และผู้มีชื่อใน ส.ค. 1 ได้ติดต่อขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ยอมออกให้ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ฟังข้อเท็จจริงในประเด็นพิพาทข้อนี้เช่นเดียวกับศาลชั้นต้นและวินิจฉัยว่า ข้อที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่งไม่รับวินิจฉัยให้ พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่าเอกสารท้ายอุทธรณ์ของโจทก์นั้น โจทก์ไม่อาจนำมาสู่ศาลชั้นต้นได้เพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยนำเอกสารบางส่วนออกไปจากสารบบที่ดินที่เป็นของโจทก์ หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงนำมามอบให้โจทก์ เอกสารดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่าโจทก์เคยติดต่อขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือขอออกโฉนดที่ดินหรือไม่ อันเป็นข้อกฎหมายทำนองว่า มีพฤติการณ์ที่ไม่เปิดช่องให้โจทก์นำเอกสารนี้มาแสดงตั้งแต่ในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง แต่คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง เพราะมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเพียง 88,000 บาท แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายข้อนี้ให้เป็นคุณแก่โจทก์ อันทำให้โจทก์สามารถโต้แย้งข้อเท็จจริงต่อไปได้ว่า เคยยื่นขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไว้ตั้งแต่ปี 2517 แต่เมื่อคดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว ข้อกฎหมายข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1506/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สัญญากู้ยืมเงินเป็นพยานหลักฐาน แม้สำเนาไม่ติดแสตมป์ แต่ต้นฉบับติดแสตมป์แล้ว ย่อมใช้ได้
ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติเพียงว่า ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้น ไม่ได้บังคับถึงเวลาที่ปิด ดังนั้น แม้สำเนาสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นฉบับภาพถ่ายที่โจทก์แนบมาเป็นเอกสารท้ายคำฟ้องจะไม่ปรากฏการปิดแสตมป์ แต่เมื่อต้นฉบับสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาได้ปิดแสตมป์ครบถ้วนบริบูรณ์มาก่อนแล้วขณะโจทก์อ้างส่งเป็นพยานต่อศาล จึงย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ทั้งนี้ โดยโจทก์ไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากศาลให้ปิดแสตมป์อีก เพราะมิใช่เป็นกรณีขออนุญาตปิดแสตมป์ภายหลังอ้างส่งเอกสารเป็นพยานโดยเอกสารนั้นยังไม่ได้ปิดแสตมป์ ที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังสัญญากู้ยืมเงินเป็นพยานหลักฐานจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15984/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหย่าใหม่หลังข้อตกลงเดิมไม่เป็นผล และการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต รวมถึงอำนาจฟ้องแย้ง
คดีก่อน โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงจะไปจดทะเบียนหย่ากันและต่างฝ่ายจะถอนฟ้องและถอนฟ้องแย้งซึ่งกันและกัน โดยศาลชั้นต้นจดข้อตกลงดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาแล้ว และโจทก์จำเลยที่ 1 ได้ถอนฟ้องแล้วตามข้อตกลง แต่ต่อมาโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนหย่า ภายหลังกลับมาฟ้องหย่าเป็นคดีนี้ ไม่ถือว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องโดยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะมีเหตุใหม่และเป็นคนละประเด็นกับคดีเดิม ปัญหาว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ ก็มีสิทธิยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และ 249 วรรคสอง
ศาลชั้นต้นบันทึกข้อเท็จจริงหรือการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการนั่งพิจารณาไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 48 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นบันทึกว่าโจทก์ตกลงหย่ากับจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่า รายงานกระบวนพิจารณาเป็นหนังสือหย่าโดยความยินยอม และผู้พิพากษาหรือผู้พิพากษาสมทบที่ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ก็เป็นลงลายมือชื่อตามที่กฎหมายบัญญัติ ถือไม่ได้ว่าเป็นการลงลายมือชื่อในฐานะพยาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1514 วรรคสอง
of 18