คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ม. 45

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 137 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1273/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลกรณีสินค้าเสียหายจากตู้สินค้าชำรุด ผู้ขนส่งไม่อาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดได้
การขนส่งสินค้าแบบ ซีเอฟเอส/ซีเอฟเอส ซึ่งผู้ขนส่งเป็นผู้รับสินค้าจากผู้ส่งทำการตรวจนับและบรรจุสินค้าเข้าตู้ที่ท่าเรือต้นทาง ผู้ขนส่งต้องตรวจสอบตู้สินค้าว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับสินค้าที่ใช้บรรจุแล้ว และเมื่อขนส่งสินค้าไปถึงท่าเรือปลายทางผู้ขนส่งจะเป็นผู้เปิดตู้เพื่อขนถ่ายสินค้าออกจากตู้เพื่อเตรียมส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง เมื่อความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นจากการที่หลังคาตู้ที่ใช้บรรจุสินค้าพิพาทมีรูรั่ว ซึ่งเป็นความบกพร่องของผู้ขนส่งที่ละเลยไม่จัดเตรียมตู้สินค้าให้ดีเหมาะสมกับสภาพสินค้าที่ตนรับขน แต่กลับนำตู้สินค้าที่ชำรุดมีรูรั่วมาใช้บรรจุสินค้าพิพาท ทั้งที่รู้ว่าอาจเกิดความเสียหายกับสินค้าที่บรรจุภายในตู้นั้นได้ จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขนส่งจึงไม่อาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 60 (1) ประกอบ มาตรา 58 มาเป็นประโยชน์แก่ตนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมการบริษัทไม่ต้องรับผิดส่วนตัวในสัญญาซื้อขาย หากทำหน้าที่ตามอำนาจและสัญญาทำในนามบริษัท
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2548 โจทก์สั่งซื้อสินค้าเป็นกล่องใส่ซีดีทำด้วยดีบุก จำนวน 5,000,000 ใบราคา 1,470,432 ดอลลาร์สหรัฐ และของเล่นเป็นรถไฟฟ้าทำด้วยไม้ระบบโซนิค จำนวน 5,501,500 ชิ้น ราคา 1,603,429 ดอลลาร์สหรัฐ จากจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ชำระเงินมัดจำร้อยละ 20 ของราคาสินค้าในแต่ละประเภทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบสินค้าทั้งสองประเภทและไม่คืนเงินมัดจำ จึงเป็นการผิดสัญญาต้องคืนเงินและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น แม้ในการติดต่อซื้อขายสินค้ากับโจทก์ โจทก์ติดต่อผ่านจำเลยที่ 2 โดยการส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่ได้อ้างถึงจำเลยที่ 1 แต่ข้อความดังกล่าวจำเลยที่ 2 เขียนเพื่อแจ้งรายละเอียดของวันเวลาตามแผนงานการผลิตกล่องใส่ซีดีตั้งแต่วันเริ่มออกแบบจนถึงวันที่จัดส่งสินค้าเสร็จสิ้น และแจ้งราคาค่าเครื่องมือสำหรับผลิตกล่องใส่ซีดีและรถไฟไม้ให้โจทก์ทราบ รวมถึงการนัดหมายเชื้อเชิญให้โจทก์มาเยี่ยมชมโรงงาน ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับสินค้าที่โจทก์สั่งซื้อจากจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ไม่ปรากฏข้อความตอนใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 กระทำไปในฐานะส่วนตัว อีกทั้งหลักฐานการโอนเงินก็เป็นชื่อบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินแต่ผู้เดียว มิใช่จำเลยที่ 2 ประกอบกับการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 นิติบุคคลย่อมจะต้องกระทำโดยผ่านจำเลยที่ 2 ที่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน พยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายสินค้าที่พิพาทกับโจทก์ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเพราะกระทำละเมิดแอบอ้างชื่อจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ นั้น ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามมูลหนี้สัญญาซื้อขาย โดยไม่ได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิด ข้ออ้างดังกล่าวถือเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินฯ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14093/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องอาญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและองค์ประกอบความผิด ศาลมีอำนาจยกฟ้องได้แม้จำเลยรับสารภาพ
โจทก์บรรยายฟ้องนำข้อความในบทบัญญัติในมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มากล่าวในฟ้องเท่านั้น ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดในการกระทำความผิดของจำเลยว่า จำเลยประกอบกิจการให้เช่า หรือแลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์อย่างไร ภาพยนตร์ที่ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายนั้นมีลักษณะหรืออยู่ในรูปแบบใด สถานที่ประกอบกิจการอยู่บริเวณใด พอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องของโจทก์ส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
การที่โจทก์นำแต่เพียงข้อความอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์มาบรรยายในฟ้อง โดยไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ชอบ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาฯ โดยศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้พิพากษาลงโทษหรือยกฟ้องในข้อหานี้ แม้คำพิพากษาตอนท้ายจะระบุว่า "คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก" และจะแปลความได้ว่าพิพากษายกฟ้องในข้อหาดังกล่าวแต่ศาลต้องระบุเหตุผลในการตัดสินยกฟ้องด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) (8) การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ได้พิพากษาในข้อหานี้เป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาทางอาญา ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์ไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1)
ความผิดฐานให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายซึ่งภาพยนตร์ที่ยังไม่ผ่านการตรวจพิจารณาฯ ตามมาตรา 25 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ย่อมหมายถึงการตรวจเนื้อหาของภาพยนตร์ที่บันทึกในวัสดุต่างๆ ก่อนจะอนุญาตให้นำออกฉาย ให้เช่าแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายในราชอาณาจักร เพื่อไม่ให้มีการเผยแพร่ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมออกสู่สาธารณะ โจทก์จึงต้องบรรยายข้อเท็จจริงในฟ้องให้ชัดเจนว่าจำเลยนำภาพยนตร์เรื่องใดบ้างที่ไม่ผ่านการตรวจออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่าย การที่โจทก์บรรยายฟ้องโดยระบุเพียงจำนวนแผ่นของภาพยนตร์ จึงเป็นฟ้องที่มิได้บรรยายถึงรายละเอียดที่เกี่ยวกับสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี ย่อมเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12082/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์ต้องกระทำต่อ 'งานที่ละเมิดลิขสิทธิ์' การซื้อของละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์
การละเมิดลิขสิทธิ์งานของผู้อื่น ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 31, 70 ต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น แต่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องนั้น ไม่ปรากฏกว่าแผ่นวีซีดีและซีดีเอ็มพี 3 ตามฟ้องที่จำเลยซื้อไว้เพื่อขายต่อนั้นเป็นแผ่นวีซีดีและซีดีเอ็มพี 3 ที่ได้มีการทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์แต่อย่างใด จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามบทมาตราดังกล่าว แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาฯ มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10675/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์ต้องระบุองค์ประกอบความผิดครบถ้วน แม้จำเลยรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษได้
โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานภาพยนต์ที่จำเลยนำออกขายได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสอง อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่นเพื่อการค้าตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง ฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10221/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องไม่ชัดเจน ละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมเกม ศาลฎีกายกฟ้อง แม้จำเลยรับสารภาพ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมโปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายโดยนำวรรณกรรมโปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์บรรจุลงในหน่วยประมวลผลกลาง (ซีพียู) ที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแล้วนำออกบริการให้เช่าแก่บุคคลทั่วไป ตามฟ้องดังกล่าวยังไม่แน่ชัดว่า โปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์ที่มีการบรรจุลงในหน่วยประมวลผลกลางเป็นโปรแกรมเกมที่มีลิขสิทธิ์หรือเป็นโปรแกรมเกมที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย และจำเลยหรือผู้อื่นนั้นกระทำการอันละเมิดลิขสิทธิ์แก่งานของผู้เสียหายในลักษณะอย่างไรแน่ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10217/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความลับทางการค้า: มาตรการรักษาความลับที่เหมาะสม และการบรรยายฟ้องที่ชัดเจน
ตามนิยาม "ความลับทางการค้า" และ "ผู้ควบคุมความลับทางการค้า" ในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 ข้อมูลการค้าซึ่งเป็นความลับทางการค้าต้องเป็นข้อมูลที่เจ้าของหรือผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้เป็นความลับ การที่มีข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งสองกับพนักงานที่ห้ามมิให้พนักงานนำข้อมูลความลับของบริษัทไปเปิดเผยแก่บุคคลภายนอกซึ่งหากฝ่าฝืนอาจถูกลงโทษได้นั้น ไม่เพียงพอที่จะถือว่าเป็นมาตรการที่เหมาะสมในการรักษาข้อมูลดังกล่าวไว้เป็นความลับตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้
โจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายฟ้องว่า ข้อมูลตามใบเสนอราคาเป็นความลับทางการค้าที่จำเลยทั้งสองนำไปเปิดเผย แม้โจทก์ทั้งสองจะนำสืบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับทางการค้าของโจทก์ทั้งสองก็เป็นเรื่องนอกฟ้อง ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10208/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแปลงหนี้เป็นทุนในแผนฟื้นฟูและการรับผิดของผู้ค้ำประกัน โดยคำนึงถึงราคาตลาดที่แท้จริงของหุ้น
การที่ผู้ทำแผนฟื้นฟูกำหนดวิธีการชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุน แม้เป็นการหักหนี้กับค่าหุ้นของบริษัทต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1119 วรรคสอง แต่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 วรรคท้าย บัญญัติว่า มิให้นำมาตรา 1119 แห่ง ป.พ.พ. มาใช้บังคับแก่แผนตามมาตรานี้เมื่อในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการมีบทบัญญัติยกเว้นบทบัญญัติของ ป.พ.พ. ส่วนนี้ ผู้ทำแผนจึงสามารถทำแผนเพิ่มทุนโดยการแปลงหนี้มาเป็นทุนได้
กรณีมีการชำระหนี้ด้วยหุ้น เนื่องจากราคาที่จดทะเบียนไว้อาจมิได้เป็นราคาที่แท้จริงของหุ้นดังกล่าวในวันที่มีการชำระแก่เจ้าหนี้ จำนวนหนี้ที่เจ้าหนี้ได้รับชำระอันจะมีผลให้หนี้ระงับย่อมมีจำนวนเท่ากับราคาตลาดที่แท้จริงอันเจ้าหนี้ได้รับโอนได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ
ความรับผิดของจำเลยทั้งสามตามฟ้องเป็นเพียงผู้ค้ำประกันซึ่งผูกพันตนเพื่อชำระหนี้เมื่อ ศ. ลูกหนี้ชั้นต้นไม่ชำระหนี้ ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ โดยมิได้นำเงินที่ ศ. ชำระหนี้ให้แก่โจทก์มาหักออกจึงไม่ถูกต้อง เห็นสมควรระบุฐานะของจำเลยทั้งสามให้ชัดเจน และแก้ไขความรับผิดของจำเลยทั้งสามให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5399/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท กรณีหลีกเลี่ยงภาษีอากรจากบุหรี่ลักลอบเข้า และโทษปรับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร
การที่จำเลยช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใดๆ ซึ่งบุหรี่ซิกาแรตของกลางที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร แล้วมีไว้ในครอบครองและมีไว้เพื่อขายซึ่งบุหรี่จำนวนเดียวกันอันเป็นยาสูบที่มีน้ำหนักเกินกว่าห้าร้อยกรัมซึ่งมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมาย แม้การกระทำนั้นจะผิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายหลายฉบับแต่ก็มุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันคือการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
ความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งยาสูบที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ กำหนดให้ลงโทษปรับแก่ผู้กระทำความผิดเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ซึ่งแม้มาตรา 27 ทวิ จะมิได้บัญญัติข้อความเจาะจงลงไปว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเช่นเดียวกับมาตรา 27 ก็ตาม แต่มาตรา 27 ทวิ เป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27 ดังนั้น ในเรื่องโทษนี้ก็ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ นั่นเอง ไม่ใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่าๆ กัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4747/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาโทษซ้ำซ้อนจากความผิดเดิม, ผลกระทบจากกฎหมายใหม่ที่ยกเลิกกฎหมายเก่า, และขอบเขตความผิดฐานจำหน่ายวีดิทัศน์
ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 73 บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตาม พ.ร.บ. นี้ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปี กระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.นี้อีก ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น" แม้จำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ภายในระยะเวลาที่ศาลรอการกำหนดโทษจำเลยในคดีก่อน การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้ก็ไม่ใช่การกระทำความผิดเมื่อพ้นโทษในคดีก่อนแล้ว จึงไม่อาจจะวางโทษจำเลยในคดีนี้เป็นสองเท่าได้
นอกจากนี้เมื่อมี พ.ร.บ.ภาพยนต์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ออกใช้บังคับแล้ว แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นได้ชัดเจนว่า แผ่นวิดีโอซีดีเพลง (คาราโอเกะ) และแผ่นซีดีรอมเพลง (เอ็มพี 3) รวมทั้งสิ้น 113 แผ่น ตามฟ้องเข้าลักษณะของวัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องตามนิยามของคำว่าภาพยนต์ หรือเข้าลักษณะของวัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น หรือคาราโอเกะที่มีภาพประกอบตามนิยามคำว่าวีดิทัศน์ แม้ในส่วนที่บรรยายฟ้องเกี่ยวกับแผ่นวิดีโอซีดีเพลง (คาราโอเกะ) จำนวน 16 แผ่นนั้น อาจจะเข้านิยามของวีดิทัศน์ในส่วนที่เกี่ยวกับ "คาราโอเกะ" แต่ตามกฎหมายใหม่ก็บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าต้องเป็น "คาราโอเกะที่มีภาพประกอบ" เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ชัดเจนว่า เป็นคาราโอเกะที่มีภาพประกอบหรือไม่ กรณีจึงไม่อาจสันนิษฐานไปเองว่าเป็นคาราโอเกะที่มีภาพประกอบดังนิยามคำว่าวีดิทัศน์ตามกฎหมายใหม่ ดังนั้น การกระทำของจำเลยตามคำบรรยายฟ้องในส่วนที่อ้างว่าประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน และจำหน่ายแผ่นวิดีโอซีดีเพลง (คาราโอเกะ) และแผ่นซีดีรอมเพลง (เอ็มพี 3) ซึ่งบันทึกภาพและเสียงงานดนตรีกรรมต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 113 แผ่น อันเป็นเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงไม่อาจเป็นการประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายใหม่ได้ เมื่อตามกฎหมายใหม่มาตรา 3 (4) ให้ยกเลิกกฎหมายเก่า การกระทำของจำเลยซึ่งเดิมเป็นความผิดตามกฎหมายเก่าจึงถูกยกเลิกความผิดไปทั้งยังไม่เป็นความผิดตามกฎหมายใหม่อีกด้วย จึงต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า หรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
of 14