คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 90

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,721 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16789/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกเคหสถาน ทำร้ายร่างกาย และทำให้เสียทรัพย์ ศาลอุทธรณ์แก้ไขโทษจำคุกและยืนตามคำพิพากษาเดิมบางส่วน
จำเลยทั้งสี่นำสืบว่า จำเลยที่ 1 เรียกให้ผู้เสียหายกับพวกออกมาที่หน้าบ้านเกิดเหตุ และจำเลยที่ 1 ชกต่อยกับผู้เสียหายกับพวกที่บริเวณหน้าบ้าน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เข้าห้ามปรามโดยจำเลยทั้งสี่ไม่ได้เข้าไปในบ้านเกิดเหตุ ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ที่ว่า จำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านเกิดเหตุโดยขาดเจตนาในการกระทำความผิด จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ไม่มีความผิดฐานบุกรุกด้วยเพราะเป็นเหตุในลักษณะคดี จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตามพฤติการณ์เชื่อว่าผู้เสียหายกับพวกครอบครองบ้านเกิดเหตุอยู่โดยอาศัยสิทธิของ จ. และขณะเกิดเหตุบ้านเกิดเหตุยังอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายกับพวก แม้จะรับฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสี่นำสืบและฎีกาว่า จ. เคยฟ้องมารดาของจำเลยทั้งสามกับพวกเกี่ยวกับที่ดินที่ปลูกสร้างบ้านที่เกิดเหตุ และศาลมีคำพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ของ จ. ก็ตาม แต่ตามสำเนาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ปรากฏว่า จ. ซึ่งถูกมารดาของจำเลยทั้งสามฟ้องขับไล่ยังคงโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่บ้านเกิดเหตุตั้งอยู่ และศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพิ่งมีคำพิพากษาภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ให้ยกอุทธรณ์ของ จ. ดังนี้ ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับพวกจึงยังมีสิทธิอยู่ในบ้านเกิดเหตุ และเมื่อฟังว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำให้เสียหาย ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ย่อมมีสิทธิร้องทุกข์ในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวได้
ฟ้องโจทก์บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่กับพวกในข้อหาร่วมกันบุกรุกและข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนมาในข้อเดียวกันคือ ข้อ ค. โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องแยกแยะการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่กับพวกให้ปรากฏชัดแจ้งพอที่จะเห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องข้อ ค. ในแต่ละข้อหาเป็นแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันบุกรุกและร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายเป็นสองกรรมเกินจากที่ได้กล่าวในฟ้องหาได้ไม่ เพราะเป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
จำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านเกิดเหตุเพื่อถามหาน้องชายของผู้เสียหาย แต่เมื่อไม่พบจึงได้ร่วมกันทำลายทรัพย์ของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจตนาแยกต่างหากจากเจตนาแรกที่บุกรุกเข้าไปถามหาน้องชายของผู้เสียหาย ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกจึงเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16352/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมแปลงเอกสารและรอยตรา, การฉ้อโกง, และการลงโทษกรรมเดียว
ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้ศาลล่างทั้งสองจึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง เมื่อโจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 7,655,000 บาท แก่โจทก์ร่วม การที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 7,655,000 บาท แก่โจทก์ร่วมจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 43 แล้ว
ความผิดฐานร่วมกันปลอมขึ้นซึ่งรอยตราของทบวงการเมืองหรือเจ้าพนักงานและฐานร่วมกันใช้รอยตราที่ทำปลอมขึ้น อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 251 และ 252 เมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดฐานร่วมกันปลอมขึ้นซึ่งรอยตราของทบวงการเมืองหรือเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 251 ได้กระทำความผิดฐานร่วมกันใช้รอยตราที่ทำปลอมขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 252 จึงต้องลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 251 แต่กระทงเดียวตาม ป.อ. มาตรา 263
การที่จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมเอกสารสัญญาที่จะออกหนังสืออนุญาตการทำงานสำหรับชาวต่างชาติ ปลอมเอกสารการอนุญาตให้คนหางานเดินทางเข้าไปในสาธารณรัฐโปแลนด์ (วีซ่า) ของสถานเอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐโปแลนด์ ปลอมหนังสือของกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล ถึง กรมการจัดหางาน ปลอมรอยตราประทับของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ ขึ้น แล้วนำรอยตราปลอมที่ทำขึ้นดังกล่าวไปใช้ประทับลงในเอกสารหนังสือความต้องการลูกจ้าง หนังสือมอบอำนาจ และหนังสือสัญญาจ้างแรงงานของบริษัท ซ. จากนั้นนำเอกสารปลอม เอกสารราชการปลอม และเอกสารที่มีรอยตราปลอมดังกล่าวไปแสดงแก่โจทก์ร่วม เป็นการกระทำที่ล้วนมีจุดประสงค์เพียงอย่างเดียวคือหลอกลวงโจทก์ร่วมให้หลงเชื่อแล้วจ่ายเงินเป็นค่าดำเนินการเพื่อจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 251 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16161-16162/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักทรัพย์โดยใช้เอกสารปลอม: เจตนาทุจริตตั้งแต่ต้นเป็นลักทรัพย์ ไม่ใช่ฉ้อโกง
การที่ ท. พนักงานขายของผู้เสียหายส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสามมิได้เกิดจากการที่จำเลยทั้งสามหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหาย แต่เกิดจากเชื่อว่าจำเลยทั้งสามสามารถชำระราคารถยนต์ได้ การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้สำเนาหนังสือ ส.ป.ก. 4 - 01 ข ปลอม เพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายตกลงขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสาม จึงเป็นเพียงวิธีการที่จะทำให้จำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรณีมีเจตนาทุจริตที่จะเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่ต้นแล้ว จึงมิใช่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง แต่เป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ซึ่งการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมไปแสดงต่อพนักงานขายของผู้เสียหาย เพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสามและจำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปนั้น เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ได้รถยนต์ของผู้เสียหายเท่านั้น แม้การกระทำแต่ละอย่างจะเป็นความผิดก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดหลายกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16075/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิด พ.ร.บ.เลือกตั้ง: การแจ้งเท็จต่อ กกต. และการปรับบทความผิด
จำเลยร้องคัดค้านการเลือกตั้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครพนม กล่าวหาโจทก์ทั้งสองกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้งโดยให้ตัวแทนจ่ายเงินให้แก่ ว. และ บ. เป็นการตอบแทนที่ไปฟังโจทก์ทั้งสองปราศรัยหาเสียงเพื่อลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่โจทก์ทั้งสอง เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของโจทก์ทั้งสอง และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ซึ่งเป็นการกระทำคราวเดียวกัน แม้ผลจะเกิดกับโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ซึ่งได้รับการเลือกตั้งคนละตำแหน่งกันก็เป็นความผิดกระทงเดียว
ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 114 วรรคสาม แบ่งเป็นสี่วรรค วรรคหนึ่ง เป็นความผิดที่กระทำการอันเป็นเท็จ เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ วรรคสอง ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกลั่นแกล้งให้ผู้สมัครนั้นถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ส่วนวรรคสาม ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการแจ้งหรือให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวกำหนดโทษและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแก่ผู้กระทำความผิดหนักเบาแตกต่างกัน สำหรับคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นตามมาตรา 4 ให้คำนิยามหมายความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 หมวดที่ 1 คณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 6 คณะกรรมการการเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมีองค์ประกอบตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ หมวด 11 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ 1 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 1. คณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 229 คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกสี่คน ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง หมายถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งที่อยู่ในส่วนกลาง หรือกรุงเทพมหานคร ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมิได้อยู่ในความหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งการกระทำของจำเลยต้องปรับบทความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 114 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15734/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด: การรวมกรรม, การรับฟังพยาน, และขอบเขตการฎีกา
ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนของจำเลยที่ 2 นั้น แม้ศาลอุทธรณ์รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 อันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษนั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว
เมทแอมเฟตามีน และ 3, 4 - เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้จะเป็นยาเสพติดให้โทษคนละชนิดกันแต่ก็เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เหมือนกันและเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นยาเสพติดให้โทษทั้งสองชนิดในเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดกันแสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนามีเมทแอมเฟตามีนและ 3, 4 - เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนตามคำฟ้องข้อ ก. กับข้อ ข. ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วยกันจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา ลงโทษจำเลยที่ 1 เป็น 2 กรรมนั้น จึงเป็นการมิชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15711/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์ จำเลยต้องพิสูจน์ว่าไม่ใช่ผู้กระทำความผิดจริง หากโจทก์ฟ้องไม่ชัดเจน ศาลอาจยกฟ้อง
แม้การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 ในคำฟ้องข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ถึงข้อ 2.9 จะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2555 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน และเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553 เวลากลางวันจนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน ตามลำดับ อันเป็นความผิด 2 กรรม ดังที่โจทก์อุทธรณ์ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ถึงข้อ 2.9 ในส่วนที่เกี่ยวกับภาพยนตร์และวีดิทัศน์ว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ร้าน บ. และที่ร้าน น. อันได้มีไว้ในสถานที่ประกอบกิจการของตนซึ่งแผ่นซีดีและแผ่นดีวีดีภาพยนต์และวีดิทัศน์ที่ไม่มีการแสดงเครื่องหมายการอนุญาต ประเภทของภาพยนตร์ และหมายเลขรหัสและไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์จำนวนกี่แผ่นเท่านั้น โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 ว่า ภาพยนตร์และวีดิทัศน์นั้นเป็นภาพยนตร์และวีดิทัศน์เรื่องใด จัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทใด เช่น เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 (2) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์นั้นมีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมาตรา 51 ประกอบมาตรา 29 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์นั้นมีเนื้อหาสาระเช่นเดียวกับภาพยนตร์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43 หรือเพื่อแสดงให้เห็นว่าวีดิทัศน์นั้นมีลักษณะเช่นเดียวกับวีดิทัศน์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 คำฟ้องของโจทก์ในข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ถึง ข้อ 2.9 จึงเป็นคำฟ้องที่มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดให้ครบองค์ประกอบของความผิดตามบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์ย่อมเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12756/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมและแจ้งความเท็จเพื่อเอื้อประโยชน์ในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าวว่าได้ทำโฉนดที่ดินซึ่ง บ. และจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันสูญหาย และแจ้งให้พนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายแล้วนำบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายและหนังสือมอบอำนาจไปใช้และอ้างแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิ เพื่อขอรับใบแทนโฉนดที่ดินแล้วนำใบแทนโฉนดที่ดินและหนังสือมอบอำนาจปลอมไปใช้และอ้างแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิ เพื่อให้มีรายการแก้ไขจดทะเบียนโฉนดที่ดินจากชื่อ บ. มาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวจำเลยที่ 2 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 มีส่วนได้เสียในที่ดินที่รับโอนทั้งลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจและติดต่อ อ. ให้ประสานกับเจ้าพนักงานที่ดิน เช่นนี้ย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมรู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดมาตั้งแต่แรก และแม้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังกล่าว เป็นการกระทำคนละวันและต่อเจ้าพนักงานคนละหน่วยงานกัน แต่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน คือ เพื่อให้ที่ดินดังกล่าวตกมาเป็นของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาปัญหาดังกล่าว แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12362/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวเบิกความเท็จต่อศาล: การพิจารณาความผิดซ้ำซ้อนและการลดโทษ
การที่จำเลยเบิกความสองครั้งในคดีเดียวกัน คือ ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นพิจารณา แม้จะเป็นการเบิกความคนละคราว แต่ก็เป็นการนำสาระสำคัญของข้อความในเรื่องเดียวกัน มูลเหตุเดียวกันมากล่าวอีกครั้งโดยมีเจตนาให้โจทก์ต้องโทษในคดีเดียวกันเท่านั้น จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11994/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดกรรมเดียวจากการปลอมและใช้เอกสารสิทธิเพื่อบังคับให้ส่งมอบที่ดิน ศาลฎีกายกประเด็นความสงบเรียบร้อยและแก้ไขโทษ
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปลอมสัญญากู้และสัญญาซื้อขาย แล้วจำเลยที่ 1 นำเอกสารดังกล่าวไปเป็นหลักฐานฟ้องโจทก์ก็ด้วยเจตนาที่จะบังคับให้โจทก์ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงเชื่อได้ว่าการกรอกข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวทำในคราวเดียวกัน แม้จะเขียนวันที่คนละวันก็ตาม ส่วนการใช้เอกสารทั้งสองฉบับของจำเลยที่ 1 ก็ใช้ในคราวเดียวกัน และการปลอมเอกสารสิทธิทั้งสองฉบับดังกล่าวก็เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบกันด้วยเจตนาเดียวคือบังคับตามสัญญาซื้อขาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดกรรมเดียว การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม 2 ฉบับ เป็นความผิด 2 กระทง และลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานปลอมเอกสารสิทธิ 2 กระทง จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ฝ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11473/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำหน่ายยาเสพติด: ความรับผิดของผู้เกี่ยวข้องเมื่อไม่มีส่วนร่วมในการจำหน่ายโดยตรง
แม้ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับจะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วจึงนำไปจำหน่ายให้แก่สายลับ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นด้วย ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 192 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 215, 225
ความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายและเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายตาม ป.อ. มาตรา 90
of 173