คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 90

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,721 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11925/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานใช้บัตรปลอม, ปลอมและใช้เอกสารราชการ, การริบทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิด
หลังจากเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 3 ได้พร้อมใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอมของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ฬ - 2678 กรุงเทพมหานคร แล้ว จึงให้จำเลยที่ 3 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 4 เพื่อนัดรับใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ - 9961 กรุงเทพมหานคร การที่จำเลยที่ 4 นำใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ - 9961 กรุงเทพมหานคร มาส่งให้แก่จำเลยที่ 3 ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งทำนั้น ถือว่าเป็นการใช้เอกสารราชการใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ - 9961 กรุงเทพมหานคร แล้ว
ในวันรุ่งขึ้นหลังการจับกุมจำเลยที่ 4 พนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การจำเลยที่ 4 และในชั้นพิจารณาที่จำเลยที่ 4 เบิกความต่อศาล จำเลยที่ 4 ไม่เคยกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 4 รับราชการทหาร ทั้งขณะฟ้องคดีนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่า จำเลยที่ 4 รับราชการทหาร ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้
การที่จำเลยที่ 4 ปลอมหนังสือแสดงการจดทะเบียนของรถบรรทุกส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 81 - 0409 กรุงเทพมหานคร กับปลอมแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีของรถบรรทุกส่วนบุคคลดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 4 มีเจตนาอย่างเดียวกันคือ เพื่อนำไปใช้หรือแสดงต่อผู้พบเห็นว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนและเสียภาษีถูกต้องเพื่อจะได้ใช้รถยนต์คันดังกล่าวโดยชอบ การกระทำของจำเลยที่ 4 ในส่วนนี้จึงเป็นความผิดกรรมเดียว
แม้ตรายางที่ยึดได้ภายในรถยนต์ของจำเลยที่ 4 บางอันจะไม่ใช่ตรายางที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้ในการกระทำความผิดคดีนี้ แต่ตรายางที่ยึดได้นั้น เห็นได้ชัดว่า เป็นอุปกรณ์ที่มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารราชการของกรมการขนส่งทางบกโดยเฉพาะ จึงต้องริบตรายางทั้ง 25 อัน ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11337/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบิกความเท็จในชั้นไต่สวนและพิจารณาเป็นกรรมเดียว คดีอาญา
การที่จำเลยเบิกความเท็จสองครั้งในคดีเดียวกันคือชั้นไต่สวนมูลฟ้องครั้งหนึ่งกับชั้นพิจารณาอีกครั้งหนึ่งเป็นเพียงการนำสาระสำคัญของข้อความในเรื่องเดียวกันมูลเหตุเดียวกันมากล่าวซ้ำตามครรลองของเรื่องโดยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวคือให้โจทก์ต้องรับโทษทางอาญาในคดีนั้นเท่านั้น แม้จะเป็นการเบิกความคนละคราวคนละวาระกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8413/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์และการแก้ไขเอกสาร การกระทำเป็นกรรมเดียว
จำเลยมีตำแหน่งเป็นเสมียนตรามีหน้าที่รับเงินและออกใบเสร็จรับเงิน เมื่อใบเสร็จรับเงินที่จำเลยออกไปมีข้อความหรือจำนวนเงินผิดพลาด จำเลยย่อมมีอำนาจหน้าที่แก้ไขให้ถูกต้อง การแก้ไขดังกล่าวมิใช่การกระทำในขณะจำเลยหมดอำนาจที่จะแก้ไข จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จแต่การทำเอกสารอันเป็นเท็จดังกล่าวเพื่อให้สมเหตุผลในการยักยอกทรัพย์ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวคือเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ จึงเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8010/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินของรัฐ และร่วมกันทำเอกสารเท็จ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 157, 162 โดยกล่าวหาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับรองว่าที่พิพาทได้ทำประโยชน์ต่อเนื่องกันมาซึ่งเป็นความเท็จ เพราะความจริงที่พิพาทมีสภาพเป็นภูเขาไม่อาจออกเอกสารสิทธิได้ แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 นำเอาแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ผิดแปลงไปใช้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินพิพาท ก็เป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว ซึ่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวประสงค์เพียงให้มีรายละเอียดพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีก็พอแล้ว ส่วนรายละเอียดอื่นๆ เป็นเรื่องที่ว่ากันในชั้นสืบพยานได้
การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้รับมอบหมายให้รังวัดชันสูตรตรวจสอบที่ดินในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทให้คำรับรองว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ เป็นที่สาธารณประโยชน์ และเป็นที่สงวนหวงห้ามของทางราชการ เพื่อให้ ส. ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ทำให้เกิดความสียหายแก่รัฐ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือเสนอต่อนายอำเภอรับรองว่าออกทำการรังวัดตรวจสอบที่ดินตลอดจนตรวจสอบแล้วว่าสามารถออกแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ได้ อันเป็นความเท็จ จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ
จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในบันทึกสอบสวนสิทธิและใบรับรองเขตติดต่อที่ดินยืนยันว่ามีการครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องและที่ดินมีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ทั้งไม่ใช่ที่สาธารณะหรือที่หวงห้ามของทางราชการอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ
การที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานได้รับมอบหมายจากนายอำเภอให้ปฏิบัติหน้าที่ระวังชี้และรับรองแนวเขตที่ดินสาธารณะแต่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและยังรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ มีจุดประสงค์อย่างเดียวเพื่อให้นายอำเภอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7562/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานลักทรัพย์ในยวดยานสาธารณะและเป็นซ่องโจร: การกระทำร่วมกันและแบ่งหน้าที่
จำเลยทั้งสองกับพวก 5 คน ร่วมกันปรึกษาวางแผนลักทรัพย์ของชาวต่างชาติบนรถโดยสารสองแถว โดยขึ้นรถโดยสารสองแถวมาพร้อมกันซึ่งจะทำให้มีผู้โดยสารมากพอที่จะทำให้พวกของจำเลยที่ 1 สามารถเข้าไปนั่งชิดกับผู้เสียหายทางด้านขวาที่มีกระเป๋าสตางค์อยู่ในประเป๋ากางเกง พวกของจำเลยทั้งสองจึงมีโอกาสล้วงกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหาย และมีการแบ่งหน้าที่กันทำตามที่จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 5 คน สมคบกัน จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกลักทรัพย์ในยวดยานสาธารณะและเป็นซ่องโจร ซึ่งความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับฐานร่วมกันลักทรัพย์ในยวดยานสาธารณะเกี่ยวเนื่องกันจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3880/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรม: ก่อการร้าย, พยายามฆ่า, อั้งยี่, ซ่องโจร, พาอาวุธ, และการปรับบทลงโทษ
ความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และคงลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
ความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ฐานร่วมกันกระทำการอันเป็นส่วนหนึ่งของแผน ฐานเป็นอั้งยี่ และฐานเป็นซ่องโจร ย่อมเป็นความผิดสำเร็จแล้วตั้งแต่มีการสมคบวางแผนเพื่อกระทำการอันเป็นความผิด แม้ยังมิได้มีการกระทำการตามที่ได้สมคบกันก็ตาม จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมหนึ่ง ต่อมาจำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง และฐานใช้อาวุธปืนดังกล่าวในการกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานจึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่าการกระทำความผิดทุกฐานดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2273/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดอั้งยี่ซ่องโจรเพื่อฮั้วประมูลภาครัฐ ความผิดฐานพยายามกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.เสนอราคา
ผู้เสียหายที่ 2 ที่ถูกหน่วงเหนี่ยว ขวางทาง ฉุดรั้งและข่มขืนใจโดยถูกประทุษร้ายเพื่อให้ยอมไม่เข้าร่วมเสนอราคาไม่ได้ยอมตามที่ถูกกระทำดังกล่าว กลับได้เข้าไปยื่นซองเสนอราคาและร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง จนการจัดประกวดราคาในวันดังกล่าวถูกยกเลิก การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงเป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 6 และ ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก
เจตนาในการตั้งกลุ่มกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจรของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ก็เพื่อกระทำความผิดฐานต่าง ๆ ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ จึงเป็นเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตาม ป.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 209 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2025/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สมคบซื้อขายยาเสพติด, ครอบครองเพื่อจำหน่าย, เจตนาเดียว, โทษหนักสุด, ยกฟ้องจำเลยที่ 2
การที่ ล. และ น. สามีภริยากันติดต่อซื้อขายยาเสพติดให้โทษกับจำเลยที่ 1 โดยใช้โทรศัพท์และ ล. กับ น. ตกลงว่าจ้างให้ ก. กับ จ. ลำเลียงยาเสพติดให้โทษไปจากจังหวัดเชียงรายเพื่อส่งมอบให้ อ. ผู้มารับช่วงลำเลียงต่อที่กรุงเทพมหานคร โดย อ. ไม่เคยรู้จัก ก. กับ จ. มาก่อน แต่จะติดต่อกันทางโทรศัพท์ หลังจาก อ. ได้รับยาเสพติดให้โทษจาก ก. กับ จ. แล้ว ก็จะลำเลียงต่อไปยังอำเภอหาดใหญ่เพื่อส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ซื้ออีกทอดหนึ่ง ลักษณะการตกลงกันเพื่อให้มีการขายและส่งมอบยาเสพติดให้โทษเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการคบคิดร่วมกัน อันเป็นความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานเป็นผู้สมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 และข้อเท็จจริงได้ความว่าในที่สุดได้มีการส่งมอบยาเสพติดให้โทษของกลางให้แก่จำเลยที่ 1 รับไว้ในครอบครองแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและความผิดฐานเป็นผู้สมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม มาตรา 8 วรรคสอง อีกด้วย แต่การกระทำความผิดทั้งสองข้อหามีเจตนาเดียวกันคือ เจตนาเพียงเพื่อต้องการมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 222/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานอั้งยี่กับการสนับสนุนการก่อการร้ายเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ
ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ จำเลยกระทำความผิดโดยเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนความผิดฐานสนับสนุนการก่อการร้ายจำเลยกระทำความผิดด้วยการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดฐานก่อการร้ายก่อนหรือขณะกระทำความผิด การกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว แม้จำเลยจะได้กระทำในช่วงเดียวกัน แต่การกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำคนละอย่างแตกต่างกันและต่างกรรมต่างวาระ ทั้งเจตนาและความมุ่งหมายในการเป็นอั้งยี่ และสนับสนุนการก่อการร้ายก็เป็นคนละอย่างต่างกัน การกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานเป็นอั้งยี่และฐานสนับสนุนการก่อการร้ายจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22056/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวงจำกัดตามโทษที่กฎหมายกำหนด แม้รับฟ้องแต่ขาดอำนาจพิจารณาคดี
ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) บัญญัติให้ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 326, 328 โดยบรรยายฟ้องรวมกันมา จึงเป็นกรณีที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 ด้วยก็ตาม แต่หากพิจารณาได้ความตามฟ้อง ศาลต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 328 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. 90 เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท กรณีจึงเกินอำนาจศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ที่โจทก์ฎีกาว่า ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 เห็นได้ว่าศาลสามารถที่จะลงโทษจำเลยในบทมาตราที่ถูกต้องได้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. แล้ว หากศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์สืบสมแต่อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ซึ่งตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองรวมการกระทำความผิดหลายอย่าง และแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ เห็นได้ว่าศาลชั้นต้นพิจารณารับฟ้องโดยชอบมาแต่ต้นแล้วนั้น เห็นว่า ข้อกฎหมายที่โจทก์ทั้งสองยกขึ้นฎีกาเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องซึ่งเป็นคนละกรณีกับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้น และการจะนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับนั้น ศาลชั้นต้นต้องมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้เสียก่อน เมื่อศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้วจึงไม่สามารถนำบทบัญญัติดังกล่าวมากล่าวอ้างได้ว่าศาลชั้นต้นพิจารณารับฟ้องโจทก์ทั้งสองโดยชอบแล้ว
of 173