คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 296

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 635 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 647/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม – การบังคับคดี – ไม่ขายทรัพย์สินรวม – ราคาต่ำเกินสมควร
อุทธรณ์ของผู้ร้องมีอยู่ 2 ประเด็น คือ เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้บังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษารวมกันไปทั้งหมด เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 309 วรรคสอง และเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินในราคาต่ำเกินสมควร เป็นการกระทำไม่สุจริตตามมาตรา 296 วรรคสอง ประกอบมาตรา 309 ทวิวรรคสอง ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยให้เฉพาะประเด็นที่สอง โดยรับฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คำวินิจฉัยดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ฉะนั้น การที่ผู้ร้องฎีกาว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดีฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 309 วรรคสอง จึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4432/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีขับไล่ที่ดิน: เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนส่งมอบการครอบครอง
ที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นที่ดินที่มีการปลูกต้นยูคาลิปตัสไว้เท่านั้นไม่มีต้นไม้อื่นหรือสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาท ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นอันใดที่จำเลยและบริวารจะต้องอยู่ครอบครองตลอดเวลา เมื่อทำการปลูกต้นยูคาลิปตัสเสร็จแล้วก็ไม่จำเป็นต้องมาเฝ้าดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปที่ที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดี ตามรายงานที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่พบจำเลยหรือบุคคลใดอยู่ในที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานบังคับคดีควรจะต้องสอบถามจำเลยหรือกระทำการอย่างใด ๆ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแน่นอน การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีรับฟังคำแถลงของผู้แทนโจทก์ซึ่งแถลงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นชั่วขณะต่อหน้าแล้วด่วนชี้ขาดว่าทรัพย์ที่ต้องจัดการตามคำพิพากษานั้นไม่มีผู้ใดอยู่อาศัยจึงมอบการครอบครองทรัพย์นั้นให้แก่โจทก์ในทันทีไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งจะให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลมีผลบังคับเด็ดขาดให้เสร็จสิ้นไป และตามรายงานเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไปยึดทรัพย์จำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้บันทึกว่า "จำเลยได้แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีด้วยว่าตนยังไม่ได้ออกไปจากที่ดินพิพาทโดยปลูกต้นยูคาลิปตัสในที่ดินพิพาท" อันแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า ตลอดเวลาจำเลยและบริวารมิได้ย้ายออกไปจากที่ดินพิพาทนี้เลย การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบันทึกมอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ จึงเป็นการมีคำสั่งโดยผิดหลงในข้อเท็จจริง คดีจึงต้องฟังว่า จำเลยและบริวารยังมิได้ขนย้ายออกไปจากที่ดินพิพาทตามคำพิพากษา ตราบใดที่จำเลยและบริวารยังอยู่บนที่ดินของโจทก์ ยังมิได้ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์ย่อมขอบังคับคดีได้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแม้โจทก์จะเคยร้องขอบังคับคดีมาแล้วไม่เป็นผลก็ขอให้บังคับคดีใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 539/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนการขายทอดตลาดทำให้กรรมสิทธิ์ไม่เกิด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่
สำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดซึ่งจำเลยแนบท้ายคำแก้ฎีกา แม้จำเลยจะมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานและมิได้ส่งสำเนาเอกสารแก่โจทก์ แต่เอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกามีอำนาจรับฟังเอกสารท้ายคำแก้ฎีกานั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) และเอกสารดังกล่าวแม้เป็นเพียงสำเนาเอกสาร แต่เมื่อมีรองจ่าศาลรับรองความถูกต้องแห่งเอกสารนั้นจึงฟังได้ว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127
โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลแม้จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย แต่เมื่อศาลได้มีคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวแล้ว ผลของคำสั่งเท่ากับว่าไม่มีการขายทอดตลาดมาแต่แรก โจทก์ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8454/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับการบังคับคดี: ผู้ค้ำประกันต้องถูกบังคับคดีเมื่อลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินที่บังคับได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน แม้จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ได้ขอให้ออกคำบังคับแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ก็ตาม แต่ในการทำสัญญากู้เงิน จำเลยที่ 1 ได้มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้ได้และการบังคับชำระหนี้ไม่เป็นการยาก จำเลยที่ 2 ชอบที่จะขอให้ศาลเพิกถอนการยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 โดยให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 689 ได้ แม้โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเนื่องจากยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 แล้วไม่มีการขาย และหากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ไม่พอชำระหนี้ โจทก์จะต้องนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 อีกครั้งหนึ่ง ก็ไม่มีเหตุที่จะมีคำสั่งเพียงให้งดการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ไว้เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8454/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับการบังคับคดี: ต้องบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินลูกหนี้ก่อน หากลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินจึงบังคับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้บังคับจำเลยที่ 2 ชำระแทน โจทก์จะต้องดำเนินการบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เสียก่อน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินที่โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ โจทก์จึงจะดำเนินการบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้
ในการทำสัญญากู้เงิน จำเลยที่ 1 ได้มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้ให้โจทก์ได้และการที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการยาก แต่โจทก์กลับนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ก่อนเป็นการข้ามการบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 ชอบที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 โดยให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 689 ได้ แม้โจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเนื่องจากยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 แล้วไม่มีการขาย และหากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จะต้องบังคับชำระหนี้โดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 อีกครั้งหนึ่งก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8281/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความ: ลำดับการบังคับคดีตามสัญญาต่างตอบแทน และสิทธิในการขอปฏิบัติการชำระหนี้ก่อน
ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์มีสิทธิบังคับจำเลยสามประการ ประการแรกคือบังคับให้โอนสิทธิในที่ดินพิพาทโดยโจทก์ต้องชำระเงินตอบแทนแก่จำเลย ประการที่สองคือบังคับให้ใช้ค่าเสียหายในกรณีที่จำเลยไม่สามารถโอนสิทธิในที่ดินพิพาทได้ และประการที่สามคือให้จำเลยรื้อถอนสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ออกจากที่ดินพิพาท สำหรับสิทธิของโจทก์ในประการแรกและประการที่สองการบังคับคดีต้องเป็นไปตามลำดับเพราะมิใช่กรณีที่อาจเลือกการชำระหนี้ได้ เมื่อที่ดินพิพาทได้ออกโฉนดที่ดินมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์สามารถใช้สิทธิบังคับในประการแรกคือให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ได้ โจทก์ย่อมไม่อาจใช้สิทธิบังคับในประการที่สองให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์เพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยมาชำระค่าเสียหายจึงเป็นการไม่ชอบ
จำเลยต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ต้องชำระเงินจำนวนหนึ่งให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ เห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกันในลักษณะของสัญญาต่างตอบแทน กล่าวคือฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้เมื่อโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้โดยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ชอบที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้ในส่วนของตนเสียก่อน แล้วจึงขอให้ศาลบังคับคดีแก่จำเลยได้ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดขอปฏิบัติการชำระหนี้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเลยเช่นนี้ จึงต้องถือว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีสิทธิที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้ในส่วนของตนและอาจใช้สิทธิขอให้บังคับคดีแก่อีกฝ่ายหนึ่งตามสัญญาต่อไป ยังไม่อาจถือว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดนัดหรือผิดสัญญา ฎีกาของจำเลยที่ว่าโจทก์ผิดนัดจึงไม่จำต้องวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5746/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนขายทอดตลาดกระทบสิทธิจำนอง: ผู้รับจำนองไม่อาจอ้างสุจริตหลังเพิกถอน
คำพิพากษาของศาลที่ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดิน น.ส.3 ก. ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายให้แก่ ว. ต้องถือเสมือนว่าไม่มีการขายทอดตลาด และไม่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนสิทธิครอบครองให้แก่ ว. ทั้ง ว. ไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะมิใช่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าวในระหว่างการพิจารณาคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด จึงไม่อาจอ้างว่าผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกซึ่งรับจำนองและจดทะเบียนโดยสุจริตและไม่อาจอ้างว่าคำพิพากษาที่ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดไม่ผูกพันผู้ร้องได้ เมื่อ ว. ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดิน จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินและไม่อาจนำมาจดทะเบียนจำนองแก่ผู้ร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 705 ทั้งการจดทะเบียนจำนองเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 702 แต่การเพิกถอนการขายทอดตลาดเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตา 296 วรรคสอง (เดิม)เป็นคนละกรณีไม่เกี่ยวข้องกัน ผู้ร้องจึงไม่ได้รับความคุ้มครอง จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะปฏิเสธไม่ส่งมอบต้นฉบับ น.ส.3 ก ตามคำสั่งศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5378/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักส่วนได้ใช้แทนในบังคับคดีและการคำนวณดอกเบี้ยที่ถูกต้อง
โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินของจำเลยได้จากการขายทอดตลาด และโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทั้งเป็นเจ้าหนี้จำนองที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ด้วย การที่โจทก์ขอหักส่วนได้ใช้แทน หมายถึงการที่โจทก์มีหน้าที่ต้องวางเงินชำระ ราคาค่าซื้อที่ดินในฐานะผู้ซื้อ และโจทก์มีสิทธิรับเงินจากการขายทอดตลาดที่โจทก์นำมาวางชำระค่าที่ดินในฐานะ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อโจทก์ขอหักส่วนได้ใช้แทนราคาที่ต้องชำระ และศาลอนุญาต โจทก์จึงไม่ต้องนำเงินค่าที่ดินที่ต้องชำระมาวางและโจทก์ก็ไม่ต้องรับเงินจากการขายทอดตลาดไป แต่ถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ซื้อและได้ใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้รับเงินไปแล้วนับแต่วันที่ศาลสั่งอนุญาตให้โจทก์หักส่วนได้ใช้แทน แม้จำเลยจะร้องคัดค้านการขายทอดตลาด โจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินดังกล่าวหลังจากวันที่โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้วไม่ได้
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงินก็เพื่อจะได้แบ่งเงินให้เจ้าหนี้แต่ละคน ได้รับตามส่วนโดยถูกต้อง บทบัญญัติในมาตรา 318 ถึง 322 แห่ง ป.วิ.พ. เป็นแต่เพียงวิธีการที่กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการในการจ่ายเงินให้เจ้าหนี้เท่านั้น ซึ่งเมื่อจ่ายเงินไปครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าว ก็ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลง
โจทก์นำยึดที่ดินของจำเลยเพิ่ม เนื่องจากบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงิน ของเจ้าพนักงานบังคับคดีคำนวณ ไม่ถูกต้อง ส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ได้จ่ายให้โจทก์รับไปตามหนี้จำนองที่โจทก์มีอยู่เหนือที่ดินที่ขายทอดตลาดดังกล่าวครบถ้วนตามหนี้จำนองและเงินส่วนที่เหลือได้คืนให้จำเลย รับไปแล้ว เมื่อกรณียังไม่เป็นการแน่ชัดว่า เมื่อขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว ยังมีหนี้เหลือ ที่โจทก์จะได้รับชำระอีกหรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาเห็นควรให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงินใหม่ทั้งหมดและคำนวณดอกเบี้ยใหม่ให้ถูกต้อง หากปรากฏว่ามีหนี้เหลือที่โจทก์จะได้รับชำระอีกก็ให้โจทก์บังคับคดีจากที่ดินของจำเลยที่ยึดไว้เท่าที่พอจะชำระหนี้ต่อไป แต่ถ้าการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยพอชำระหนี้โจทก์พร้อม ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีแล้ว ก็ให้จ่ายเงินให้โจทก์และจำเลยตามสิทธิของแต่ละฝ่าย และเพิกถอนการยึดที่ดินของจำเลยที่โจทก์นำยึดเพิ่มต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1852-1915/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการขายทอดตลาดต้องพิสูจน์การคบคิดฉ้อฉลหรือประมาทเลินเล่อร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดี
การขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ได้ราคาต่ำเกินสมควรนอกจากจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม แล้วยังจะต้องอ้างด้วยว่าการขายทอดตลาดในราคาที่ต่ำเกินสมควรนั้นเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง เมื่อคำร้องของจำเลยอ้างแต่เพียงว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดสิทธิการเช่าโทรศัพท์ของจำเลยไปในราคาที่ต่ำเกินสมควร มิได้อ้างว่าการขายทอดตลาดในราคาต่ำนั้นเกิดจากเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงไม่ต้องด้วยกรณีที่จะให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1852-1915/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการขายทอดตลาดต้องมีเหตุผลเฉพาะเจาะจง นอกเหนือจากราคาต่ำกว่าราคาตลาด
การขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ได้ราคาต่ำเกินสมควรนอกจากจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม แล้ว ยังจะต้องอ้างด้วยว่าการขายทอดตลาดในราคาที่ต่ำเกินสมควรนั้นเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง
คำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยอ้างแต่เพียงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดสิทธิการเช่าโทรศัพท์ของจำเลยไปในราคาที่ต่ำเกินสมควร จึงไม่ต้องด้วยกรณีที่จะให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้
of 64