พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 432/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลอุทธรณ์ภาคพิจารณาคดียาเสพติด: การพิจารณาไม่ชอบตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
คดีที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินซึ่งเป็นหลักประกันขายทอดตลาด เพื่อบังคับชำระค่าปรับเนื่องจากผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัดในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 15 บัญญัติให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไปยังศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งอุทธรณ์พร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว โดยมาตรา 5 บัญญัติว่า "ศาลอุทธรณ์" หมายความว่า ศาลอุทธรณ์ซึ่งมิใช่ศาลอุทธรณ์ภาค ดังนั้น เมื่อผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กรรมสิทธิ์รถยนต์ตกเป็นของผู้อื่นก่อนถูกใช้ในความผิด ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอคืน
คดีหลักโจทก์บรรยายฟ้องว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามกฎหมาย รถยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด คดีนี้จึงมิใช่คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา แต่เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้าศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคดีไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยก่อน
เมื่อผู้ร้องและ ว. ตกลงซื้อขายรถยนต์ของกลาง โดย ว. ชำระราคารถยนต์ของกลางครบถ้วนและได้รับมอบรถยนต์ของกลางแล้วก่อนวันที่จำเลยนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด จึงเป็นการซื้อขายกันเสร็จเด็ดขาด ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 458 กรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางตกไปเป็นของ ว. แล้ว นับแต่วันที่ผู้ร้องและ ว. ตกลงซื้อขายรถยนต์ของกลางกัน แม้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนจากชื่อผู้ร้องเป็นชื่อ ว. การซื้อขายก็สมบูรณ์เพราะรายการจดทะเบียนมิใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง ดังนี้ขณะเกิดเหตุผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง
เมื่อผู้ร้องและ ว. ตกลงซื้อขายรถยนต์ของกลาง โดย ว. ชำระราคารถยนต์ของกลางครบถ้วนและได้รับมอบรถยนต์ของกลางแล้วก่อนวันที่จำเลยนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด จึงเป็นการซื้อขายกันเสร็จเด็ดขาด ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 458 กรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางตกไปเป็นของ ว. แล้ว นับแต่วันที่ผู้ร้องและ ว. ตกลงซื้อขายรถยนต์ของกลางกัน แม้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนจากชื่อผู้ร้องเป็นชื่อ ว. การซื้อขายก็สมบูรณ์เพราะรายการจดทะเบียนมิใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง ดังนี้ขณะเกิดเหตุผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9230/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลอุทธรณ์คดีริบของกลางที่ไม่ใช่คดียาเสพติด ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นสั่งริบรถจักรยานยนต์ของกลางสืบเนื่องจากจำเลยทั้งสองกระทำความผิดในข้อหาความผิดต่อเจ้าพนักงาน จึงมิใช่คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ดังนี้ เมื่อผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ร้องจึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10004/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลอุทธรณ์ในคดีอาวุธปืนและยาเสพติด: การพิจารณาคดีที่ไม่ชอบและการปฏิเสธการพิจารณา
ศาลจังหวัดเลยพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โดยให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ทุกข้อหามีกำหนด 2 ปี โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำเลยสถานหนักและไม่รอการลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น ซึ่งมิใช่คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 15 จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8405/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลในคดีริบของกลาง: ความผิดเกี่ยวกับการคนเข้าเมืองไม่ใช่คดีเกี่ยวกับยาเสพติด
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนแล้วขับขี่รถจักรยานยนต์ ฐานนำและพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร และฐานให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ ให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม และขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง ซึ่งความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนแล้วขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แต่ศาลชั้นต้นริบรถจักรยานยนต์ของกลางซึ่งจำเลยใช้เป็นยานพาหนะในการพาบุคคลต่างด้าวหลบหนี อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มิใช่ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 15 เมื่อโจทก์อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นซึ่งมีคำสั่งให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิจารณาพิพากษาจึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5316/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลอุทธรณ์ในการพิจารณาคดีริบทรัพย์จากความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด มาตรา 5 บัญญัติว่า กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด หมายความถึงกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วย ดังนั้นความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจึงเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามความหมายของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด ซึ่งพ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มาตรา 3 แม้จะไม่ได้บัญญัติให้รวมความถึงคำร้องขอให้ริบทรัพย์ตามมาตรา 27 ด้วย แต่โดยเนื้อหาและลักษณะของคำร้องนี้ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดข้อหาใดข้อหาหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 โดยมาตรา 32 แห่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดต่อเมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีเท่านั้น ซึ่งหมายถึงการฟ้องคดีในข้อหาความผิดตามที่บัญญัติในมาตรา 3 นั่นเอง แสดงให้เห็นว่าการฟ้องคดีดังกล่าวเป็นมูลเหตุโดยตรงและเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญในการวินิจฉัยชี้ขาดว่าทรัพย์สินที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินสั่งยึดและอายัดไว้ น่าจะเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่จะต้องริบหรือไม่ คำร้องขอให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 27 จึงเป็นส่วนหนึ่งของความผิดหรือมาตรการลงโทษในทางทรัพย์สินที่เกี่ยวโยงอยู่กับความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ต้องถือว่าคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินนี้เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามความหมายของ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์แต่เพียงศาลเดียวตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด มาตรา 15 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4476/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลอุทธรณ์พิจารณาคดียาเสพติดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550
คดีนี้เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2723/2551 ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีดังกล่าวก่อนวันที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2551 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 ภายหลังที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับ จึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 คดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์หรือเมื่อมีการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งอุทธรณ์หรือคำร้องเช่นว่านั้นพร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว" ดังนี้ เมื่อจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11410/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลอุทธรณ์: คดีเกี่ยวกับยาเสพติดต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
คดีขอให้ริบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 15 บัญญัติให้คดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ ดังนี้เมื่อผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ