คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 120

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 475 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9729/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดียาเสพติดต้องผ่านกระบวนการบังคับบำบัดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดก่อน จึงจะมีอำนาจฟ้อง
พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 กำหนดวิธีการเยียวยาแก้ไขด้วยกระบวนการบังคับบำบัด กล่าวคือ หากเป็นผู้ต้องหาในความผิดยาเสพติดที่กำหนด พนักงานสอบสวนต้องนำตัวไปศาลเพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด ควบคุมตัวที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดโดยไม่ต้องดำเนินการฝากขังหรือผัดฟ้อง ในระหว่างการตรวจพิสูจน์และการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนต่อไปจนเสร็จ แล้วส่งสำนวนสอบสวนไปยังพนักงานอัยการโดยไม่ต้องส่งผู้ต้องหาไปด้วย และแจ้งให้พนักงานอัยการทราบว่าผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจะเป็นผู้วินิจฉัยว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์เป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และแจ้งผลการตรวจพิสูจน์ให้พนักงานอัยการทราบ ในกรณีเช่นว่านี้ให้พนักงานอัยการมีคำสั่งชะลอการฟ้องไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับแจ้งผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ถ้าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเห็นว่าผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพจนครบถ้วนตามแผนการฟื้นฟูและผลการฟื้นฟูเป็นที่พอใจแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นพ้นจากความผิดที่ถูกกล่าวหา คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดก็จะมีคำสั่งปล่อยตัวผู้นั้นไปแล้วแจ้งให้พนักงานอัยการทราบ พนักงานอัยการจะมีอำนาจฟ้องดำเนินคดี หากเห็นว่าผู้ต้องหาซึ่งได้รับแจ้งผลการตรวจพิสูจน์ไม่มีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้รับรายงานความเห็นจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่าผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่า พนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยไปขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดแล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง โดยคงปรากฏเพียงคำร้องขอฝากขัง ซึ่งแม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตตลอดมาและพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนจนเสร็จก่อนส่งสำนวนให้โจทก์ฟ้องก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ผ่านกระบวนการบังคับบำบัดตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเพราะคดีมีการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 แล้วนั้น เป็นกระบวนการฟ้องคดีตามกฎหมายทั่วไป ไม่อาจนำมาใช้กับคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7607/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสอบสวนผู้เสพยาเสพติดต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูฯ หากไม่ปฏิบัติตาม อัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
ตามหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มีหลักการว่า ผู้เสพยาเสพติดมีสภาพเป็นผู้ป่วยอย่างหนึ่ง มิใช่อาชญากรปกติ กฎหมายฉบับนี้จึงกำหนดให้มีกระบวนการคัดแยกผู้เสพยาเสพติดไปดำเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพแทนการที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนสรุปสำนวนเสนอพนักงานอัยการฟ้องศาลเพื่อลงโทษผู้นั้นเหมือนอย่างผู้กระทำความผิดอื่น ๆ และเมื่อผู้เสพยาเสพติดได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพจนครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูสมรรถภาพ และผลการฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นที่พอใจของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพแล้ว มาตรา 33 บัญญัติว่า "...ให้ถือว่าผู้นั้นพ้นจากความผิดที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 19 และให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพมีคำสั่งปล่อยตัวผู้นั้นไป..." แต่ถ้าผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพ ยังไม่เป็นที่พอใจ มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณีเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้นั้นต่อไป โดยมีมาตรา 19 วางหลักเกณฑ์การคัดแยกผู้ต้องหาที่จะมีสิทธิเข้าสู่ระบบการฟื้นฟูสมรรถภาพแทนการถูกฟ้องดำเนินคดีว่า "ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์ การเสพหรือการติดยาเสพติด..." ซึ่งจะเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ว่า หากผู้ต้องหาเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ครบถ้วน พนักงานสอบสวนย่อมอยู่ในบังคับที่จะต้องนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา 22 โดยให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ตรวจวินิจฉัย ขั้นตอนดังกล่าวจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ครบถ้วน แต่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยที่ 1 แล้วส่งสำนวนให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 โดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 19 จึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเท่ากับไม่มีการสอบสวนคดีนี้มาก่อนย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6608-6609/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการฟ้องคดีอาญาต่อแผ่นดิน: การสอบสวนและการดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157, 162 (1) (4) ที่โจทก์ฟ้องและศาลลงโทษจำเลยที่ 10 เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน อันมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง เมื่อมีความผิดอาญาเกิดขึ้น หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้น และก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ ย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะต้องสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพื่อเอาความผิดแก่ผู้กระทำความผิดอาญาทั้งปวงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18, 19 ประกอบมาตรา 121 วรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะมีผู้เสียหายร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษผู้กระทำความผิดหรือไม่ ดังนั้น แม่ทัพภาค 2 จะมีอำนาจในการมอบอำนาจให้บุคคลใดไปทำการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เมื่อมีการสอบสวนในความผิดที่ได้ฟ้องซึ่งเป็นคดีอาญาต่อแผ่นดินแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3130/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานแก้ไขสำนวนการสอบสวนเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหา มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหาได้มีอำนาจที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม รายงานการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็มิได้ชี้มูลความผิดฐานนี้ การที่อนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวนในความผิดฐานนี้มาด้วย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ และแม้การสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงซึ่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรแต่งตั้งจะพบการกระทำความผิดฐานนี้ ก็มิใช่การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหานี้ให้จำเลยทราบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว
จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนแก้ไขข้อความในสำนวนการสอบสวนจากเดิมที่มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาเป็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาหลังจากเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นลงชื่อแล้วเพื่อช่วยผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ 200 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22714/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องในคดีข่มขืนใจ: การแจ้งความร้องทุกข์ของผู้ปกครองที่ไม่ชอบตามกฎหมาย
แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยในข้อหาข่มขืนใจผู้อื่น โดยมีอาวุธ ตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาข่มขืนใจผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก โจทก์มิได้อุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง ความผิดดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาข่มขืนใจผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 321 เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งในความดูแลของ ค. บิดาผู้เสียหาย หรือผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ อันจะทำให้ ค. เป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 การที่ ค. ไปแจ้งความร้องทุกข์จึงไม่ชอบ ถือได้ว่าไม่มีคำร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าว พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120, 121

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20395/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นความผิดต่อแผ่นดิน ผู้เสียหายยินยอมไม่กระทบอำนาจสอบสวน/ฟ้อง และกรรมเดียวผิดหลายบท
ความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 เป็นคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนโดยมิพักต้องมีผู้เสียหายตามกฎหมายมาร้องทุกข์กล่าวโทษ การที่ผู้เสียหายจะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ จึงมิใช่ข้อสาระสำคัญของการสอบสวน ดังนี้ แม้ผู้เสียหายจะยินยอมให้ดอกเบี้ยแก่จำเลยในอัตราที่ขัดต่อกฎหมาย พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17235/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน
ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ให้ความหมายคำว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" รวมถึงข้าราชการด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่โจทก์ฟ้องจะเป็นความผิดต้องด้วยบทเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา 149 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย หรือเป็นความผิดต้องด้วยบทเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา 148 ดังที่โจทก์ฎีกา แต่ก็ถือได้ว่าฟ้องโจทก์เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไป และความผิดตามบทมาตราทั้งสามดังกล่าวบัญญัติไว้ในหมวด 2 ของ ป.อ. ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยทั้งสามในส่วนนี้จึงเป็นการกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งมาตรา 19 (3) 43 (4) และมาตรา 88 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเมื่อมีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 ผู้ถูกกล่าวหายังหมายความรวมถึงตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าวด้วย โดยกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว แทนการให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. ดังเช่นคดีอาญาอื่นๆ การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการจึงเป็นการสอบสวนโดยมิชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตามข้อหาดังกล่าว
แม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ยกเลิกความในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยมาตรา 19 (4) ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งไม่ใช่บุคคลตาม (2) หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงหรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน รวมทั้งดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือข้าราชการในระดับต่ำกว่าที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว หรือกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือที่กระทำความผิดในลักษณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรดำเนินการด้วย และตาม พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 มาตรา 17 (4) บัญญัติให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (คณะกรรมการ ป.ป.ท.) มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลเกี่ยวกับการกระทำทุจริตในภาครัฐของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผลให้การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งไม่ได้เป็นข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองหรือสูงกว่าผู้อำนวยการกอง ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ตาม แต่อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน รวมตลอดถึงอำนาจของพนักงานอัยการในการยื่นฟ้องคดี ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น กรณีจึงต้องบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ฉบับเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14351/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเช็ค: ผู้เสียหายคือห้างหุ้นส่วนจำกัด ไม่ใช่เจ้าของห้างหุ้นส่วน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
เช็คพิพาททั้งสองฉบับ เช็คที่ออกเพื่อชำระเงินค่าเสื้อแจกเกตให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. กรณีจึงถือว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท เมื่อเช็คดังกล่าวธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ย่อมเป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท มิใช่โจทก์ร่วม ถึงแม้จำเลยจะได้สั่งซื้อเสื้อแจกเกตจากโจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมจะมีส่วนเป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ด้วยก็ตาม แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ก็เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมในฐานะส่วนตัวจึงไม่อยู่ในฐานะผู้ทรงเช็คพิพาท และมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยได้ การที่โจทก์ร่วมเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลย โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ได้มอบอำนาจให้โจทก์ร่วมดำเนินการแทน จึงถือได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจทำการสอบสวนการกระทำความผิดของจำเลย การที่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนมานั้น จึงเป็นการสอบสวนที่มิชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10510/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้เสียหายวางแผนล่อให้จำเลยกระทำความผิดฉ้อโกงเอง ไม่ถือเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ส. ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักข่าวสถานีโทรทัศน์ อ. กำลังทำรายการ "ทำผิดอย่าเผลอ" ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก ม. ว่าถูกจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นกลุ่มหลอกขายเหล็กไหลหลอกลวงจนต้องสูญเงินไปหลายแสนบาท ผู้เสียหายกับ ม. จึงดำเนินการวางแผนเพื่อการจับกุมด้วยการติดต่อกับกลุ่มของจำเลยทั้งห้า หลังจากที่มีการติดต่อกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวจนทราบแน่ชัดว่ามีพฤติกรรมในการหลอกลวงจริง จึงประสานงานกับเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจับกุม โดยผู้เสียหายนำเงินที่จะต้องวางประกันในการทำสัญญาจะซื้อจะขายเหล็กไหลไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานก็เพื่อจะได้เป็นหลักฐานของการกระทำความผิด จึงเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตนเอง โดยการหลอกล่อกลุ่มบุคคลดังกล่าวซึ่งก็คือจำเลยทั้งห้ามากระทำความผิดอันเป็นการก่อให้จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง มิใช่เป็นเพราะจำเลยทั้งห้ามีเจตนาจะฉ้อโกงผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้น กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย การแจ้งความร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย มีผลทำให้การสอบสวนในความผิดดังกล่าวไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9368/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหมิ่นประมาทต้องมีการร้องทุกข์ชัดเจนในแต่ละกรรมความผิด หากไม่มีโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชังตามฟ้องข้อ 1.1 ถึง 1.3 แต่ละข้อวันเวลาเกิดเหตุต่างกันและบุคคลที่สามต่างรายกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามฟ้องข้อ 1.1 ซึ่งความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 333 โจทก์ร่วมอ้างว่ามีผู้กระทำความผิดเกิดขึ้น แม้จำเลยผู้เดียวกระทำความผิด แต่กระทำความผิดหลายกรรม โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เมื่อโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ และห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง, 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามฟ้องข้อ 1.1
of 48