คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 120

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 475 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1130/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้ต้องหา – การจัดหาทนายความ – การสอบสวน – การริบของกลาง – ลดโทษ
คดีมีโทษถึงประหารชีวิต การสอบสวนคำให้การของผู้ต้องหาจึงอยู่ในบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นสิทธิเด็ดขาดของผู้ต้องหาที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในการจัดหาทนายความให้ เมื่อพนักงานสอบสวนถามแล้วผู้ต้องหาไม่มีทนายความ เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานสอบสวนต้องหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหา ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิให้จำเลยทราบแล้ว และสอบถามเรื่องทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธไม่ต้องการทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยไม่ได้จัดหาทนายความให้จำเลยตามคำให้การดังกล่าวจำเลยไม่ขอให้การโดยจะไปให้การในชั้นศาล การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง แต่ในบทบัญญัติมาตรา 134/4 วรรคท้าย บัญญัติไว้เพียงว่า ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้ ฉะนั้นแม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้จัดหาทนายความให้จำเลยก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบแต่อย่างใด เมื่อมีการสอบสวนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ขอให้ศาลริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางโดยอ้างว่า จำเลยใช้ในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน แต่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่าจำเลยถูกจับขณะขับรถยนต์ที่ใช้ในขณะเกิดเหตุ และเจ้าพนักงานตำรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 12,000 เม็ด อาวุธปืนซึ่งเป็นของผู้อื่นที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้จากนายทะเบียนท้องที่ซองกระสุนปืน 1 ซอง กับกระสุนปืนออโตเมติกขนาด 9 มม. จำนวน 11 นัด ดังนั้น โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงมิใช่เครื่องมือเครื่องใช้หรือวัตถุอื่นใด ซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรงและมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยได้กระทำความผิดซึ่งหมายถึงความผิดฐานที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงไม่อาจริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 ทั้งที่มิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตาม ป.อ. มาตรา 32
การที่จำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมว่ากระทำความผิดตามฟ้องถือได้ว่าเป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ. มาตรา 78

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 350/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิขอปล่อยตัวจากการคุมขังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายระงับเมื่อศาลมีคำสั่งคุมขังระหว่างพิจารณา
สิทธิในการร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจากการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 มีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่ถูกคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น
ผู้ร้องถูกจับกุมก่อนที่ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนทั้งมิใช่ความผิดซึ่งหน้าหรือกรณีใดๆ ที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ การคุมขังผู้ร้องโดยพนักงานสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้การคุมขังผู้ร้องในระหว่างพิจารณาคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย แต่ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งปล่อยตัวผู้ร้อง พนักงานอัยการได้ฟ้องผู้ร้องต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ศาลชั้นต้นประทับฟ้องและออกหมายขังผู้ร้องในระหว่างพิจารณา ดังนั้น แม้การคุมขังผู้ร้องโดยพนักงานสอบสวนจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การคุมขังนั้นก็สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ศาลประทับฟ้องและออกหมายขังผู้ร้องในระหว่างพิจารณา สิทธิของผู้ร้องที่จะร้องขอให้ปล่อยจากการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายจึงระงับไป ผู้ร้องจึงไม่อาจจะร้องขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90
การจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องดำเนินคดีแก่เจ้าพนักงานตำรวจที่จับผู้ร้อง ด้วยการ้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานหรือฟ้องคดีต่อศาลด้วยตนเองต่อไป ทั้งการจับกุมและคุมขังเป็นขั้นตอนต่างหากจากการสอบสวน การสอบสวนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยในชั้นพิจารณาของศาล เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ร้องต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นประทับฟ้องและออกหมายขังผู้ร้องไว้ระหว่างพิจารณา ซึ่งเป็นอำนาจที่จะดำเนินการได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 71, 88 แล้ว การคุมขังร้องในระหว่างพิจารณาจึงชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งข้อหาเปลี่ยนฐานความผิด การสอบสวน และการรับฟังพยานหลักฐานในคดีอาญา
การสอบสวนเป็นเพียงการที่พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการทั้งหลายตามที่กฎหมายกำหนดเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ การแจ้งข้อหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 นั้นเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวน เพื่อให้ผู้ต้องหารู้ตัวก่อนว่าจะถูกสอบสวนในคดีอาญาเรื่องใดเท่านั้น ดังนั้น แม้เดิมจะแจ้งข้อหาหนึ่งแต่เมื่อสอบสวนไปแล้วปรากฏว่า การกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐานอื่นก็ถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานดังกล่าวมาแล้วแต่แรก ฉะนั้น เมื่อคดีนี้ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจะแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก ฐานร่วมกันกรรโชกทรัพย์ แต่เมื่อโจทก์เห็นว่าพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกเข้าองค์ประกอบความผิดร่วมกันปล้นทรัพย์โจทก์ก็มีอำนาจที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1825/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสอบสวนคดีอาญา: การกำหนดพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. และผลกระทบต่อการฟ้องคดี
ความผิดฐานกรรโชกและฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น ที่ผู้เสียหายทั้งสองขอถอนคำร้องทุกข์ ไม่ใช่ความผิดอันยอมความได้ โดยเฉพาะความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น เป็นความผิดซึ่งรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย สิทธิฟ้องคดีของพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
ความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน รวมทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลประเวศและสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยถูกจับที่เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนกรณีจับผู้ต้องหาได้แล้วเช่นนี้ จึงเป็นที่แน่ชัดว่าคือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ก) การที่ น. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลประเวศได้ทำการสอบสวนคดีนี้หลังจากจับจำเลยได้แล้ว น. คงเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนเท่านั้น แต่ น. มิได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ทั้งมิใช่กรณีที่จับผู้ต้องหายังไม่ได้อันจะถือว่าพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ข) ได้ เมื่อ น. มิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบซึ่งมีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 140 แม้จะดำเนินการสอบสวนต่อไปจนเสร็จ ก็ถือไม่ได้ว่าได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนโดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1816/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งข้อหาพรากผู้เยาว์และการฟ้องนอกเหนือจากข้อหาที่แจ้ง พยานหลักฐานเชื่อมโยงผู้เสียหายกับจำเลย
การแจ้งข้อหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวนเพื่อต้องการให้ผู้ต้องหารู้ตัวก่อนว่าตนจะถูกสอบสวนในความผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น หาได้หมายความว่าพนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิดไม่ แม้เดิมจะแจ้งข้อหาว่ากระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์ 2 วัน แต่เมื่อสอบสวนไปแล้วปรากฏว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดอีก 2 วัน ซึ่งเป็นความผิดฐานเดียวกันแต่เพิ่มอีก 2 กระทง ก็ถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานพรากผู้เยาว์ พนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15057/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: การมอบอำนาจโดยสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ ไม่ใช่ตัวกลุ่มออมทรัพย์
สมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านบางเท่าแม่ ประชุมร่วมกันและลงลายมือชื่อร่วมกัน มอบอำนาจให้ ส. ร. และ ม. ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย มิใช่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านบางเท่าแม่ เป็นผู้มอบอำนาจให้ไปร้องทุกข์แต่อย่างใด การร้องทุกข์จึงเป็นไปโดยชอบ พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120,121 ศาลฎีกาเห็นสมควรยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14944/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสอบสวนคดีอาญาต่อเนื่องในหลายท้องที่ และการพิจารณาโทษผู้กระทำผิดอายุต่ำกว่า 18 ปี
คดีนี้จำเลยทั้งสองร่วมกันพรากผู้เสียหายที่เป็นผู้เยาว์ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนแล้วจำเลยทั้งสองได้ร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงในท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรสาคร กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป จึงเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) และ (4) พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ เมื่อผู้เสียหายไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด และพาเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจดังกล่าวไปจับจำเลยทั้งสองที่ท้องที่อำเภอเมืองสมุทรสาครในทันทีทันใด แล้วนำจำเลยทั้งสองไปส่งมอบแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนดำเนินคดี เห็นได้ว่า ขณะที่ผู้เสียหายแจ้งความยังจับกุมตัวจำเลยทั้งสองไม่ได้ ท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อนคือ สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนซึ่งเป็นท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ข) ดังนั้นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนจึงมีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 140 และ 141 ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดนั้นโดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2747/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฝากขังจำเลยต่อศาลที่ไม่มีเขตอำนาจ และอำนาจศาลในการเรียกตัวจำเลยจากนายประกัน
พนักงานสอบสวนฝากขังจำเลยต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ซึ่งเป็นศาลที่ไม่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี แต่เมื่อศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขังจำเลยได้และอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว ก็ต้องถือว่าจำเลยถูกขังโดยหมายของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 87 และอยู่ในอำนาจศาลที่จะเรียกตัวจำเลยจากนายประกันได้ กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 141 วรรคสี่ ที่ให้พนักงานอัยการมีหน้าที่จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวจำเลยมา เพราะไม่ใช่กรณีที่จับตัวจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1610/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสอบปากคำผู้เยาว์ต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ หากไม่ปฏิบัติตาม พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการสอบสวน บัญญัติว่า "ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สามปีขึ้นไป...การถามปากคำเด็กไว้ในฐานะเป็นผู้เสียหายหรือพยาน ให้แยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำนั้นด้วย" และในวรรคสี่บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 139 การถามปากคำเด็กตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำดังกล่าวซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน" เมื่อจำเลยถูกกล่าวหาว่าพรากนางสาว จ. ผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท เมื่อปรากฏว่านางสาว จ. มีอายุเพียง 17 ปีเศษ การสอบปากคำนางสาว จ. ไม่ว่าในฐานะผู้เสียหายหรือพยาน จึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสี่ โดยไม่มีข้อยกเว้น และไม่จำต้องได้รับการร้องขอจากนางสาว จ. ทั้งไม่ปรากฏว่ามีกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอบุคคลตามวรรคหนึ่งได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 133 ทวิ วรรคห้าแต่อย่างใด การที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำนางสาว จ. โดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้จะเป็นการไม่ชอบแต่ก็หามีผลทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด และถือเท่ากับไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน อันจะทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10450/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำร้ายร่างกายด้วยอาวุธมีดจนถึงแก่ความตาย: เจตนาฆ่าและอำนาจฟ้อง
พนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การพยานหลายปากและรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับความผิดแล้วกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส แต่พนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและมีคำสั่งให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติม เมื่อแจ้งข้อหาแก่จำเลยเพิ่มเติมว่าพยายามฆ่าผู้อื่น จำเลยให้การปฏิเสธ ดังนี้ ถือว่าคดีนี้ได้มีการสอบสวนในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง
จำเลยใช้อาวุธมีดสปาต้าปลายแหลมยาวประมาณ 1 ศอก ฟันทำร้ายผู้เสียหายหลายครั้งถูกที่ร่างกาย ใบหน้า และท้ายทอยซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ เมื่อพิจารณาถึงบาดแผลลึกเห็นกระดูกและกระดูกแก้มแตกหักและลึกถึงกะโหลกศีรษะซึ่งแพทย์เห็นว่าเป็นการถูกฟันโดยแรง ต้องใช้เวลารักษาอย่างน้อย 45 วัน ดังนี้ แสดงว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่า
of 48