คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 176

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 679 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4521/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหลีกเลี่ยงการรับหมายเรียกราชการทหาร และการเพิ่มโทษเนื่องจากเคยต้องโทษจำคุก
ตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 มาตรา 25 วรรคหนึ่งและวรรคสาม กำหนดให้ ทหารกองเกินเมื่อมีอายุย่างเข้ายี่สิบเอ็ดปีในพุทธศักราชใด ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตนภายในพุทธศักราชนั้น ผู้ใดไม่สามารถจะไปรับหมายเรียกด้วยตนเองได้ ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและพอจะเชื่อถือได้ไปรับหมายเรียกแทน ถ้าไม่มีผู้แทนให้ถือว่าผู้นั้นหลีกเลี่ยงขัดขืน เมื่อจำเลยมีหน้าที่ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 แม้จำเลยอยู่ในระหว่างต้องรับโทษซึ่งไม่สามารถไปรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหารได้ก็ตาม จำเลยยังคงมีหน้าที่ต้องมอบหมายให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและพอจะเชื่อถือได้ไปรับหมายเรียกดังกล่าวแทนระยะเวลาที่กำหนดข้างต้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยไม่ดำเนินการดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาหลีกเลี่ยงขัดขืน
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1009/2557 ของศาลจังหวัดสุรินทร์ ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ในระหว่างที่จำเลยยังจะต้องรับโทษในคดีดังกล่าว จำเลยกระทำความผิดในคดีนี้อีก ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นอ่านอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การว่ารับสารภาพตามฟ้อง คำให้การที่จำเลยที่รับสารภาพย่อมหมายรวมถึงการรับว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนตามที่โจทก์กล่าวหาในฟ้อง ตลอดจนรับตามบทบัญญัติที่ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามฟ้องด้วย เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย จึงต้องเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยอีกหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 549/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษจำเลยเนื่องจากเคยต้องโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ และกลับมากระทำความผิดซ้ำภายในห้าปี
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องถึงคดีที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษและมีคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 92 แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้สอบคำให้การจำเลยที่ 1 ว่า เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ แต่โจทก์ได้อ้างส่งบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งให้การว่า เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกในความผิดฐานลักทรัพย์ และพ้นโทษเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 และจำเลยที่ 1 ยังเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามติงว่า จำเลยที่ 1 พ้นโทษออกจากเรือนจำกลางสุรินทร์ในข้อหาลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ต่อมาอีก 27 วัน ก็ถูกจับกุมคดีนี้ อันสอดคล้องกับบันทึกคำให้การดังกล่าว และได้ความตรงกับคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษตามฟ้องว่า จำเลยเคยต้องโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ของศาลชั้นต้นจริง เมื่อพ้นโทษจำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ถือว่าโจทก์ได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงนั้นแล้ว จึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามคำขอของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8286/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำหน่ายคดีชั่วคราว-เด็ดขาด: จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่ง/คำพิพากษาเมื่อคดีจำหน่าย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เข้ามาใหม่ โดยให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 2 และจำหน่ายคดีเด็ดขาดเมื่อโจทก์ฟ้องหรือไม่ฟ้องภายในเวลาที่ศาลกำหนด จึงไม่มีคดีของจำเลยที่ 2 ในระหว่างพิจารณาที่จำเลยที่ 2 จะอุทธรณ์คำสั่งขอให้รวมการพิจารณาคดี คำสั่งขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ หรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อสิทธิให้แก่จำเลยที่ 2 ที่จะฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6041/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตได้ การบรรยายฟ้องครบถ้วน
โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ข้อ 1.3 ว่า และเครื่องกระสุนปืน ขนาด 7.62 มม. NATO จำนวน 11 นัด ซึ่งเป็นกระสุนปืนตามกฎหมายผลิตขึ้นใช้กับอาวุธปืนกล ขนาด 7.62 มม. NATO เป็นอาวุธปืนชนิดที่มีเครื่องกลไกสำหรับบรรจุกระสุนปืนให้สามารถยิงซ้ำเองได้ มีขนาดความยาวลำกล้องเกิน 160 มม. ซึ่งนายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ อันเป็นเครื่องกระสุนปืนที่สามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตและวัตถุได้ เครื่องกระสุนปืนจึงเป็นแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 2 (3) (ก) ไว้ในครอบครองของจำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ดังนี้ เมื่อฟ้องโจทก์บรรยายว่ากระสุนปืน ขนาด 7.62 มม. เป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนกล ขนาด 7.62 มม. NATO ซึ่งเป็นอาวุธปืนชนิดที่มีเครื่องกลไกสำหรับบรรจุกระสุนปืนให้สามารถยิงซ้ำเองได้มีขนาดความยาวลำกล้องเกิน 160 มม. ที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 2 (3) (ก) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่ไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองแล้ว โดยไม่จำต้องบรรยายให้เห็นว่าเครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 3 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพความผิดฐานดังกล่าวกฎหมายไม่ได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น ศาลย่อมลงโทษจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาโทษจำเลยในคดีฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลต้องพิจารณาพยานหลักฐานและเหตุผลประกอบ
บทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 176 มิได้หมายความว่า เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแล้วจะต้องพิพากษาลงโทษจำเลยเสมอไป ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
ข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่า จำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ศาลชั้นต้นสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว จึงพิพากษาคดี เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจนเป็นที่น่าพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 ดังนี้ จำเลยก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิด และปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หมายความว่า ก่อนทำการฆ่า ผู้กระทำผิดได้คิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด ไม่ใช่กระทำไปโดยปัจจุบันทันด่วนเพราะเมาสุราหรือบันดาลโทสะ พฤติการณ์ที่จำเลยกับผู้ตายเล่นการพนันและทะเลาะวิวาทกันขณะจำเลยเมาสุรานั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ความโกรธจะมากน้อยเพียงใดก็แล้วแต่สภาพจิตของแต่ละคน แต่การที่จำเลยออกจากที่เกิดเหตุแล้วกลับมาอีกครั้งใช้เวลาประมาณ 5 นาที พร้อมอาวุธมีด แสดงว่าจำเลยโกรธมากในการทะเลาะวิวาทกับผู้ตาย ระยะเวลาที่เกิดขึ้นรวดเร็วเพียงนั้น โอกาสที่จำเลยจะได้คิดไตร่ตรองทบทวนไว้ก่อนย่อมมีน้อย การที่จำเลยกลับมายังที่เกิดเหตุแล้วใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายในเวลาต่อเนื่องกัน จึงไม่พอรับฟังว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพและการพิสูจน์ความผิดทางอาญา ศาลต้องฟังพยานหลักฐานจนพอใจก่อนลงโทษ
บทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 176 มิได้หมายความว่า เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแล้วศาลจะต้องพิพากษาลงโทษจำเลยเสมอไป ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง โดยเฉพาะข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่า จำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ คดีนี้ศาลชั้นต้นสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้วจึงพิพากษาคดี เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจนเป็นที่น่าพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 ดังนี้ จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15719/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษอาญาซ้ำ จำเป็นต้องพิสูจน์คดีเดิมถึงที่สุด
ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 3 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 767/2548 ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษนั้น เป็นข้อเท็จจริงต่างหากจากข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิด และเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ปรากฏ คดีนี้จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ ซึ่งเป็นการรับสารภาพว่าจำเลยที่ 3 ได้กระทำความผิดตามฟ้องเท่านั้น มิได้ให้การรับด้วยว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 รับในเรื่องการเพิ่มโทษและมิใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลรู้เอง แม้โจทก์มีพนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า พยานได้ส่งลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ 3 ไปตรวจสอบประวัติ ผลการตรวจสอบระบุว่า จำเลยที่ 3 ถูกดำเนินคดีข้อหาปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธ โดยใช้ยานพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 767/2548 ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2548 ว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 83, 340 วรรคสอง, 340 ตรี จำคุก 22 ปี 6 เดือน รับลดกึ่งหนึ่ง จำคุก 11 ปี 3 เดือน ก็ตาม แต่พยานปากดังกล่าวมิได้เบิกความว่า คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้วหรือไม่ เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนว่าจำเลยที่ 3 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 767/2548 ของศาลชั้นต้น และคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 3 ได้กระทำผิดในคดีนี้ซ้ำในอนุมาตราเดียวกันอีกภายในเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษ จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10758/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์คำสั่งแก้ฟ้องและเหตุอันควรในการแก้ไขฟ้องอาญา
ป.วิ.อ. มาตรา 196 บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญและมีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย โดยมิได้บัญญัติให้คู่ความต้องโต้แย้งไว้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 226 ฉะนั้น เมื่อจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้แม้จะมิได้โต้แย้งไว้ก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และไม่รับวินิจฉัยนั้นไม่ชอบ
ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อมีเหตุอันควร โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตามคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์อ้างเหตุว่าคำฟ้องของโจทก์ผิดพลาดในรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อยในการพิมพ์ ขอแก้คำฟ้องจาก ร่วมกันลักเอารถจักรยานยนต์ เป็น ร่วมกันลักเอารถยนต์ ดังนี้ เหตุที่โจทก์อ้างมานั้นถือได้ว่าเป็นเหตุอันควรอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้เนื่องจากเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาด และการที่โจทก์ขอแก้ฟ้องดังกล่าวเป็นการแก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำความผิดซึ่งต้องแถลงในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 ฉะนั้นจึงไม่ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 164 และมิใช่เป็นการแก้ฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่สมบูรณ์ให้เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือสมบูรณ์ดังที่จำเลยฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16889/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกงจากการหลอกลวงพนักงานรับจำนำทองคำ โดยใช้ทรัพย์สินของผู้เสียหายอ้างเป็นของลูกค้า
จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายซึ่งประกอบอาชีพค้าขายทองคำและเป็นผู้จัดการร้าน มีหน้าที่ขายทองคำของผู้เสียหายให้แก่ลูกค้า และยังมีหน้าที่รับจำนำทองคำของลูกค้าด้วย จำเลยใช้กลอุบายนำสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ และแหวนพลอยของผู้เสียหายที่จำเลยมีหน้าที่ขายให้แก่ลูกค้าไปบอกแก่พนักงานเก็บเงินในร้านของผู้เสียหายว่าเป็นของลูกค้าที่นำมาจำนำแก่ทางร้าน เมื่อพนักงานเก็บเงินส่งมอบเงินซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่จะต้องนำไปมอบให้แก่ลูกค้าที่นำทรัพย์มาจำนำให้แก่จำเลยตามที่จำเลยอ้าง จำเลยก็รับเอาเงินดังกล่าวไปเป็นของตน การกระทำของจำเลยมิใช่เอาเงินของผู้เสียหายไปโดยพลการโดยทุจริต หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ และแหวนพลอยของผู้เสียหายเป็นของลูกค้าที่นำมาจำนำ การที่จำเลยได้เงินของผู้เสียหายไปจึงเกิดจากการที่พนักงานเก็บเงินซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายหลงเชื่อการหลอกลวงของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14552/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กหญิงโดยใช้อาวุธปืน และประเด็นการลงโทษกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท
โจทก์ฟ้องจำเลยฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยมีและใช้อาวุธปืน มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์คงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำให้การรับสารภาพเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่ฟ้อง และศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ แต่ในกรณีเช่นนี้โจทก์ไม่จำต้องนำสืบให้ได้ความชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยดังเช่นคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธ เพียงมีพยานมาสืบให้เป็นที่พอใจศาลว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามคำรับ ก็เป็นการเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยโดยอาศัยพยานหลักฐานนั้นได้
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารถือได้ว่าความผิดสำเร็จนับแต่จำเลยเริ่มพรากผู้เยาว์ไปโดยมีเจตนา จึงไม่ใช่เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง แต่ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง ตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก และฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยใช้อาวุธปืนตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) นั้น จำเลยกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันโดยมุ่งหมายจะหน่วงเหนี่ยวเอาตัวผู้เสียหายที่ 1 ไว้กระทำชำเรา การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม)
of 68