คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 225 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 281 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15984/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหย่าใหม่หลังข้อตกลงเดิมไม่เป็นผล และการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต รวมถึงอำนาจฟ้องแย้ง
คดีก่อน โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงจะไปจดทะเบียนหย่ากันและต่างฝ่ายจะถอนฟ้องและถอนฟ้องแย้งซึ่งกันและกัน โดยศาลชั้นต้นจดข้อตกลงดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาแล้ว และโจทก์จำเลยที่ 1 ได้ถอนฟ้องแล้วตามข้อตกลง แต่ต่อมาโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนหย่า ภายหลังกลับมาฟ้องหย่าเป็นคดีนี้ ไม่ถือว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องโดยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะมีเหตุใหม่และเป็นคนละประเด็นกับคดีเดิม ปัญหาว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ ก็มีสิทธิยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และ 249 วรรคสอง
ศาลชั้นต้นบันทึกข้อเท็จจริงหรือการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการนั่งพิจารณาไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 48 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นบันทึกว่าโจทก์ตกลงหย่ากับจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่า รายงานกระบวนพิจารณาเป็นหนังสือหย่าโดยความยินยอม และผู้พิพากษาหรือผู้พิพากษาสมทบที่ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ก็เป็นลงลายมือชื่อตามที่กฎหมายบัญญัติ ถือไม่ได้ว่าเป็นการลงลายมือชื่อในฐานะพยาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1514 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11034/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โมฆะภาพพินัยกรรม: การลงลายมือชื่อพยานโดยไม่เห็นเหตุการณ์ทำพินัยกรรม
แม้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า พินัยกรรมปลอมหรือไม่โดยมิได้กำหนดประเด็นว่า พินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่ แต่ปัญหาเรื่องแบบของพินัยกรรมเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และโจทก์ก็บรรยายฟ้องมาด้วยว่า พยานในพินัยกรรมไม่รู้เห็นขณะทำพินัยกรรมอันเป็นการยกเรื่องแบบพินัยกรรมมาเป็นข้อต่อสู้ด้วย เมื่อมีข้อเท็จจริงดังกล่าวในการดำเนินกระบวนการพิจารณา ศาลจึงมีอำนาจหยิบยกปัญหาว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก บัญญัติกำหนดแบบของพินัยกรรมแบบธรรมดาไว้ว่า ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคนและพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวและทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะไปในทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริง ก็ไม่มีผลทำให้พินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลายเป็นพินัยกรรมที่มีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4521-4522/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจองสิทธิการเช่า, เหตุสุดวิสัย, การบอกเลิกสัญญา, เบี้ยปรับ, และอำนาจศาลในการวินิจฉัยข้อตกลงที่กระทบต่อสาธารณชน
การที่เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคาร พ. ทาวเวอร์ ซึ่งมีโครงสร้างรากฐานเดียวกันกับอาคาร พ. เพลส ที่พิพาทและใช้ใบอนุญาตก่อสร้างฉบับเดียวกัน หลังเกิดเหตุสำนักงานเขตมีคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุเพลิงไหม้จนกว่าจะมีการตรวจสอบแก้ไข การที่จำเลยไม่สามารถเข้าไปทำการก่อสร้างอาคารในช่วงเวลาที่มีคำสั่งห้ามดังกล่าวจึงเป็นเหตุจำเป็นอันสมควรที่จำเลยไม่สามารถก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จตามระยะเวลาที่ประมาณไว้ในสัญญาจองสิทธิการเช่าที่ทำกับโจทก์ การที่อาคารพิพาทไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่ประมาณไว้ในสัญญาจึงถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดของจำเลย ต่อมาหลังจากจำเลยก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์รับมอบห้องพักที่จองไว้และเข้าทำสัญญาจดทะเบียนการเช่าหลายครั้งแต่โจทก์เพิกเฉย จึงต้องถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญากับโจทก์ได้
แม้ข้อตกลงตามสัญญาจองสิทธิการเช่าจะผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาแต่ข้อตกลงในส่วนที่เกี่ยวกับเบี้ยปรับกระทบต่อผู้คนจำนวนมากที่เข้าทำสัญญากับจำเลยข้อตกลงดังกล่าวจึงถือเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้โจทก์จะเพิ่งยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1157/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดสรรที่ดินเกิน 10 แปลง ก่อให้เกิดภาระจำยอมตามประกาศ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แม้เจ้าของเดิมไม่ได้ขออนุญาต
ปัญหาว่าทางพิพาทตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรรหรือไม่ เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ทั้งสองไม่ได้บรรยายฟ้องมา โจทก์ทั้งสองก็มีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 1 บัญญัติว่า การจัดสรรที่ดินหมายความว่า การจัดจำหน่ายที่ดินติดต่อกันเป็นแปลงย่อยมีจำนวนตั้งแต่สิบแปลงขึ้นไปไม่ว่าด้วยวิธีใด โดยได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเป็นค่าตอบแทน และมีการให้คำมั่นหรือการแสดงออกโดยปริยายว่าจะจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะหรือปรับปรุงให้ที่ดินนั้นเป็นที่อยู่อาศัย ที่ประกอบการพาณิชย์... การที่ ด. จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3227 ออกเป็น 8 แปลง โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 23161, 23167 ขายให้ ม. มารดาจำเลย ที่ดินโฉนดเลขที่ 23162 ขายให้โจทก์ทั้งสอง ที่ดินโฉนดเลขที่ 23163 ขายให้ ส. ที่ดินโฉนดเลขที่ 23165, 23166 ขายให้ พ. สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 23168 ด. เจ้าของกรรมสิทธิ์ยินยอมให้ ม. มารดาจำเลยเข้าถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตน 26 ส่วน ใน 69 ส่วน โดยมีค่าตอบแทน 234,000 บาท ต่อมายินยอมให้ ม. มารดาจำเลยเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนของ ด. 13 ส่วน ใน 43 ส่วน โดยมีค่าตอบแทน 117,000 บาท หลังจากนั้น ด. และ ม. มารดาจำเลยได้ตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 23168 ออกเป็น 3 แปลง ระบุชื่อ ม. มารดาจำเลยเป็นเจ้าของส่วนที่ดินคงเหลือของโฉนดเลขที่ 23168 ด. ได้ขายให้ ม. มารดาจำเลยอีกการที่ ด. ยินยอมให้ ม. มารดาจำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโดยมีค่าตอบแทนและต่อมาได้ตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมเป็นโฉนดที่ดิน 3 แปลง ตามพฤติการณ์ฟังได้ว่า ด. จำหน่ายที่ดินทั้ง 3 แปลง ให้ ม. มารดาจำเลยทางอ้อมโดยมีค่าตอบแทนรวมเป็นที่ดินที่ ด. ได้แบ่งแยกและขายแก่บุคคลภายนอก 10 แปลง จึงเป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 เมื่อฟังได้ว่า ด. จัดจำหน่ายที่ดินติดต่อกันเป็นแปลงย่อยจำนวนตั้งแต่ 10 แปลง และได้มีการให้คำมั่นว่าจะจัดให้ทางพิพาทเป็นทั้งทางเดินและทางรถยนต์สำหรับเข้าออกสู่ทางสาธารณะด้วย ตรงตามความหมายของการจัดสรรที่ดิน ทางพิพาทจึงตกอยู่ในภาระจำยอมโดยผลของกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่การจัดสรรที่ดินตามข้อ 30 วรรคหนึ่ง ของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 จำเลยในฐานะผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทางพิพาทอันเป็นภารยทรัพย์จะกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกหาได้ไม่ การที่จำเลยยินยอมให้ผู้อื่นสร้างรั้วคอนกรีตรุกล้ำเข้าไปในทางพิพาทของจำเลยจึงฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยต้องรื้อรั้วและทำให้ที่ดินพิพาทอยู่ในสภาพเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8501/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ด้อยคุณภาพให้ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ทำให้ผู้ฟ้องเดิมขาดอำนาจฟ้อง
หนี้คดีนี้เป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่โจทก์ได้โอนให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ และต่อมาก่อนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะมีคำพิพากษา บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ได้โอนสินทรัพย์รายนี้ให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยไปแล้ว สิทธิเรียกร้องที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ในฐานะผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์มีต่อจำเลยทั้งสี่จึงโอนไปเป็นของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2540 มาตรา 30 บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์จึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีนี้อีกต่อไป
ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง และวรรคหกนั้น เมื่อได้มีการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายนี้ให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยไปแล้วก่อนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะได้มีคำพิพากษา และบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมิได้ยื่นคำร้องขอเป็นอย่างอื่น ชอบที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะต้องสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวเพิ่งปรากฏในชั้นพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ว่าบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมิได้ร้องขอเป็นอย่างอื่น แม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวคู่ความจะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้จำเลยทั้งสี่ยกปัญหาขึ้นกล่าวในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ จำเลยทั้งสี่จึงมีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6044/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิซื้อที่ดินก่อนของผู้เช่านา vs. สัญญาจะซื้อจะขาย: ศาลฎีกาตัดสินเรื่องความชอบธรรมของสิทธิ
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จะซื้อที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 2 มีการวางมัดจำกันไว้แล้วบางส่วน จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อกันคือชำระราคาส่วนที่เหลือ และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่กัน ดังนั้น การที่โจทก์มายื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้เพื่อขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันโอนที่ดินพิพาทขายให้แก่โจทก์ อ้างว่าโจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาททำนาจึงมีสิทธิที่จะซื้อที่ดินพิพาทได้ก่อนจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายว่าด้วยการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 โดยตรง เพราะแม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 แต่การที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ ย่อมเป็นผลให้จำเลยที่ 1 เสียสิทธิในการรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลในคดีนี้เพื่อให้ฟังว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เช่านา แต่สมรู้กับจำเลยที่ 2 มาฟ้องคดีนี้ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วยได้ และปัญหาว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย โจทก์จึงมีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้
การที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ร่วมกันโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์ว่า โจทก์สมคบกับจำเลยที่ 2 มาฟ้องคดีนี้ เพราะจำเลยที่ 2 ต้องการที่ดินพิพาทคืน จำเลยที่ 1 จึงมิใช่คู่ความเดียวกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิถามค้านพยานจำเลยที่ 2 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 117 วรรคสอง แต่ก็เป็นดุลยพินิจของศาลตามกฎหมายด้วยในการพิจารณาว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากทางพิจารณาเพียงพอแล้วหรือไม่ ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้ให้โอกาสจำเลยที่ 1 ถามค้านพยานจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มีอำนาจวินิจฉัยว่า ไม่มีเหตุสมควรต้องย้อนสำนวนลงไปเพื่อให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้ใหม่
บุคคลที่จะขอใช้สิทธิซื้อที่นาได้ก่อนผู้อื่นตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 53 และมาตรา 54 จะต้องเป็นผู้เช่านาตามกฎหมาย โดยเป็นผู้เช่าที่ดินดังกล่าวทำนาโดยแท้จริงเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1258/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือรับรองเงินฝากเป็นคำมั่นสัญญาผูกพันธนาคาร จำเลยต้องรับผิดชอบเมื่อมีการถอนเงินโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้รับรอง
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ให้คำรับรองแก่โจทก์ว่า ส. มีบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์พิเศษอยู่กับจำเลยที่ 2 จำนวน 3,000,000 บาท จำเลยที่ 2 จะไม่ยอมให้ผู้ใดถอนเงินดังกล่าวออกจากบัญชีเว้นเสียแต่จะได้รับความยินยอมจากโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เชื่อคำรับรองนั้นและยอมให้ ส. นำรถยนต์ของโจทก์ไปขาย ต่อมาโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของ ส. เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ปรากฏว่าบัญชีดังกล่าวปิดแล้ว เนื่องจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ยอมให้ ส. ถอนเงินออกจากบัญชีอันเป็นการผิดสัญญาและเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า การที่จำเลยทั้งสองให้ ส. ถอนเงินจากบัญชีเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการที่จำเลยที่ 2 ออกหนังสือรับรองไปยังโจทก์ก็เป็นการปฏิบัติงานตามปกติของจำเลยที่ 2 ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์จึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า จำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือต้องร่วมรับผิดในมูลละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองยอดเงินฝากของ ส. ไปถึงโจทก์ เป็นการกระทำนอกเหนือขอบอำนาจที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
การที่จำเลยที่ 2 ออกหนังสือรับรองไปถึงโจทก์ยืนยันว่า ส. มีเงินฝากในบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์พิเศษอยู่กับจำเลยที่ 2 ซึ่งมียอดเงินฝากในขณะนั้น 3,000,000 บาท และจำเลยที่ 2 จะไม่ยอมให้ผู้ใดถอนเงินจำนวนดังกล่าวออกจากบัญชีเว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากโจทก์ คำรับรองนี้มีลักษณะเป็นคำมั่นซึ่งมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 และก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำมั่นดังกล่าว โดยหลังจากที่โจทก์ได้รับหนังสือรับรองดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงยอมให้ ส. รับรถยนต์จากโจทก์ไปจำหน่ายได้ อันพึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นของจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องมีคำบอกกล่าวสนองไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้เสนอ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 361 วรรคสองอีก จำเลยที่ 2 ต้องถูกผูกพันตามคำมั่นที่จะไม่ยอมให้ผู้ใดถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของ ส. เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ยอมให้ ส. เปลี่ยนบัญชีเงินฝากจากบัญชีออมทรัพย์พิเศษเป็นบัญชีออมทรัพย์ธรรมดาและยอมให้ถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ตามคำมั่นอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยตรง ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้ถอนเงินจากบัญชีของ ส. โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อโจทก์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากเงินในบัญชีที่ ส. ฝากไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 535/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการขายทอดตลาดส่งผลถึงกรรมสิทธิ์และอำนาจฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิ
เมื่อศาลชั้นต้นในคดีที่จำเลยร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลอด และคดีถึงที่สุดแล้ว ผลของคำสั่งเท่ากับว่าไม่ได้มีการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทการโต้แย้งสิทธิของโจทก์จึงสิ้นสุดลง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะเพิ่ง
ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและยกฟ้องโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 535/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการขายทอดตลาดส่งผลถึงกรรมสิทธิ์และอำนาจฟ้องคดีขับไล่
ภายหลังจากโจทก์ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์พิพาทมาจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์ได้ยื่นฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีนี้ ส่วนจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ต่อมาระหว่างคดีนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดแล้วดำเนินการขายทอดตลาดใหม่ คดีถึงที่สุด ผลของคำสั่งเท่ากับว่าไม่ได้มีการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาท การโต้แย้งสิทธิของโจทก์จึงสิ้นสุดลง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6448/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนการโอนทรัพย์สินในคดีล้มละลาย และการกำหนดราคาชดใช้ที่ถูกต้องตามพยานหลักฐาน
เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าผู้รับโอนได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจากลูกหนี้ที่ 1 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ผู้ร้องจึงร้องขอให้เพิกถอนการโอนได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 114 (เดิม) และการที่ต่อมาผู้รับโอนได้โอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกภายหลังมีการยื่นฟ้องลูกหนี้ที่ 1 ให้ล้มละลาย ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา 116 (เดิม) จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
ปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทกลับคืนสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 โดยกำหนดราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทสูงเกินไปในกรณีที่ไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้นั้น แม้ผู้คัดค้านที่ 1 มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นโต้แย้งคัดค้านในศาลชั้นต้น แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14
การชดใช้ราคาทรัพย์คืนเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์เพียงผู้เดียว ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงผู้รับโอนและผู้คัดค้านที่ 2 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 28
of 29