คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ม. 83 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 504-506/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานพรากเด็ก, กระทำชำเรา, และอนาจาร: ศาลฎีกาแก้ไขโทษและชี้ข้อไม่ชอบในการส่งตัวจำเลยเข้ารับการฝึกอบรม
ความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม จำคุก 6 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 5 ปี ขั้นสูงไม่เกินกว่า 7 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมกำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ปี ขั้นสูงไม่เกิน 2 ปี อันเป็นการพิพากษาแก้ไขเฉพาะระยะเวลาการฝึกอบรม ซึ่งไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 6 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นฝึกอบรมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 5 ปี ขั้นสูงไม่เกินกว่า 7 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ปี ขั้นสูงไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการพิพากษาแก้ทั้งบทลงโทษและแก้ไขระยะเวลาฝึกอบรมอันเป็นการแก้ไขมาก แต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า อวัยวะเพศของจำเลยได้ผ่านอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 เข้าไปแล้วจึงเป็นความผิดสำเร็จฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 317 วรรคสาม ให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิมต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
คดีนี้ จำเลยถูกควบคุมตัวในระหว่างอุทธรณ์ โดยสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช รับตัวจำเลยไว้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2559 หากผู้อำนวยการสถานพินิจเห็นสมควรย้ายเด็กหรือเยาวชนไปควบคุมในสถานพินิจอื่นหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 ของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินจะย้ายเด็กหรือเยาวชนไปก่อนก็ได้ แต่ต้องรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 41 (7) แต่คดีนี้ไม่ปรากฏว่าสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับอนุญาตจากศาลให้ย้ายเด็กหรือเยาวชนไปเข้ารับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านบึงก่อน หรือหากจะถือว่ามีเหตุฉุกเฉินที่จะย้ายเด็กหรือเยาวชนไปก่อนก็ไม่ปรากฏว่ามีการรายงานให้ศาลทราบ การส่งตัวจำเลยไปเข้ารับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านบึงจึงเป็นการไม่ชอบ และการที่ศาลชั้นต้นพิจารณาปล่อยจำเลยไปเมื่อครบกำหนดฝึกอบรมขั้นต่ำทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุดก็เป็นการไม่ชอบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเลยถูกควบคุมในระหว่างพิจารณาคดีจึงให้หักจำนวนวันที่จำเลยอยู่ในความควบคุมตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 83 วรรคหนึ่งด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4259/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาโทษเด็กและเยาวชนในความผิดฐานรับของโจร การหักวันควบคุมตัว และการแก้ไขโทษให้เหมาะสม
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 132 เป็นบทบัญญัติให้อำนาจศาลที่จะสั่งยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลย การใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้นตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยกับพวกร่วมกันรับของโจรรถจักรยานยนต์เกือบ 20 คัน ในระยะเวลาต่อเนื่องติดต่อกัน พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของสุจริตชนอันส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม เป็นเรื่องร้ายแรง เมื่อพิเคราะห์ประกอบรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดบุรีรัมย์แล้ว เห็นว่า บิดามารดาผู้ปกครองจำเลย รวมทั้งบุคคลใกล้ชิดจำเลย ไม่อยู่ในวิสัยที่จะอบรมดูแลสั่งสอนจำเลยให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่ใช้มาตรการสั่งยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษาจึงเป็นการเหมาะสมแล้ว และเมื่อความปรากฏต่อศาลว่าจำเลยถูกควบคุมตัวที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดบุรีรัมย์ในระหว่างการสอบสวนตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2557 ศาลชั้นต้นจึงต้องหักวันที่จำเลยถูกควบคุมตัวในระหว่างการสอบสวนออกจากระยะเวลาการฝึกอบรม ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 83 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นไม่หักวันควบคุมออกจากระยะเวลาฝึกอบรมเป็นการไม่ชอบ