คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 801 (5)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 11 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5149/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดิน และการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 93 และ 95 โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 93 มีชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์อยู่แล้ว แต่โฉนดเลขที่ 95 มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ ในอีกคดีหนึ่ง คู่ความได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยในคดีนั้นซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ให้แก่โจทก์ในคดีนี้ หากโจทก์คดีนั้นได้ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลย เมื่อโจทก์ในคดีก่อนปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชำระหนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 93 คืนแก่โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่จำเลยยังอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 93 ย่อมกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินแปลงนี้ได้
ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 95 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับการยกให้ที่ดินแปลงนี้มาจากโจทก์และยังคงเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงต้องถือว่าที่ดินแปลงนี้ยังเป็นของจำเลย ประกอบกับได้ความจากทางนำสืบของจำเลยโดยโจทก์ไม่ได้โต้แย้งว่า โจทก์ไม่ยอมไปรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมโอนคนละครึ่ง กรณียังไม่ถือว่าโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิในส่วนนี้ โจทก์ไม่อาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ได้ แต่อย่างไรก็ดี โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ก็ยังคงมีสิทธิบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
การมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดี ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 แม้ระบุข้อความทำนองว่า การใดที่ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำไปตามหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้แล้ว ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบเสมือนว่าข้าพเจ้าเป็นผู้กระทำการด้วยตนเองทั้งสิ้น เช่นนี้ถือว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ส. มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลได้ทุกประการ ซึ่งรวมถึงการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 (5) โดยการมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ไม่จำต้องระบุบุคคลที่จะถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด รวมทั้งไม่ต้องระบุว่าให้ฟ้องในข้อหาใดเช่นกัน การระบุหมายเลขคดีในภายหลังเป็นเพียงการระบุข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การมอบอำนาจของโจทก์ให้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2083/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องแทน, ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเล, การส่งมอบสินค้า, ความเสียหายสินค้า
หนังสือมอบอำนาจมีข้อความที่เป็นสาระสำคัญระบุว่า บริษัทโจทก์โดยกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนขอแต่งตั้งและมอบอำนาจให้ ถ. และหรือ ส. เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจของบริษัทในกิจการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้รวม 9 ข้อ โดยในข้อ 2 ระบุให้มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญาหรือคดีอื่นใดทุกประเภทต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้ทุกศาลทั่วราชอาณาจักร เป็นการมอบอำนาจให้ ถ. และหรือ ส. มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้หลายประการ ทั้งได้ระบุให้มีอำนาจที่จะฟ้องคดีและดำเนินคดีทุกประเภทต่อศาลทุกศาลไว้โดยชัดแจ้งโดยไม่จำกัดตัวบุคคลที่จะต้องถูกฟ้อง การมอบอำนาจดังกล่าวเป็นการมอบอำนาจทั่วไป ที่รวมถึงให้ยื่นฟ้องต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 (5) ด้วย ทั้งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเช่นนี้ไม่จำต้องระบุบุคคลที่จะต้องถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด ถ. และหรือ ส. จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามแทนโจทก์
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดฐานะที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยไม่ได้อ้างว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทน คดีไม่มีประเด็นเรื่องตัวการตัวแทน การที่โจทก์อุทธรณ์ในเรื่องดังกล่าวเป็นอุทธรณ์นอกเหนือประเด็นข้อพิพาท ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ขนส่งต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของซึ่งได้รับมอบจากผู้ส่งของเสียหาย ถ้าเหตุแห่งการเสียหายนั้นเกิดขึ้นระหว่างที่ของดังกล่าวอยู่ในความดูแลของตน และวรรคสองบัญญัติให้ถือว่าของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งนับตั้งแต่เวลาที่ผู้ขนส่งได้รับของนั้นไว้จากผู้ส่งของจนถึงเวลาที่ผู้ขนส่งส่งมอบของนั้น ณ ท่าปลายทางหรือที่หมายปลายทางตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 40 ดังนั้น ตราบใดที่สินค้าพิพาทยังมิได้ส่งมอบแก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งหรือส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่หรือบุคคลใด ๆ ตามกฎหมายหรือกฏข้อบังคับที่ใช้ ณ ท่าเรือกรุงเทพอันเป็นท่าปลายทาง ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งจึงยังไม่สิ้นสุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6659/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: หนังสือมอบอำนาจทั่วไปครอบคลุมการฟ้องคดีโดยไม่จำกัดตัวจำเลย
ตามหนังสือมอบอำนาจระบุว่า "...ธนาคาร ธ. โดย ท. กรรมการผู้จัดการใหญ่ได้มอบอำนาจให้ ก. เป็นผู้รับมอบอำนาจที่จะกระทำการแทนในนามธนาคาร ท. เฉพาะในกิจการตามที่กล่าวต่อไปนี้... (2) แจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญา ฟ้องร้องดำเนินคดี เป็นโจทก์ โจทก์ร่วมหรือจำเลยในคดีอาญา ตลอดจนการถอนคำร้องทุกข์ และรับข้อเสนอให้ประนีประนอม ตกลงยินยอม หรือทำการอย่างอื่นเพื่อให้คดีเสร็จสิ้นไป... (6) ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใดๆ จนกว่าจะถึงที่สุดและให้มีอำนาจทำการในทางจำหน่ายสิทธิด้วย... ธนาคารฯ ขอรับผิดชอบในการกระทำของผู้รับมอบอำนาจอันเกี่ยวกับกิจการตามที่มอบหมายดังกล่าวทุกประการ..." ตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ก. มีอำนาจทำการแทนโจทก์ได้หลายประการรวมทั้งได้ระบุให้มีอำนาจที่จะดำเนินการฟ้องคดีและดำเนินคดีอาญาต่อศาลไว้โดยชัดแจ้งโดยไม่จำกัดตัวบุคคลที่จะต้องถูกฟ้อง จึงเป็นการมอบอำนาจทั่วไป รวมถึงมอบอำนาจให้ยื่นฟ้องต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 (5) ด้วย ทั้งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเช่นนี้ไม่จำต้องระบุบุคคลที่ต้องถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นจำเลยหรือผู้ใด ก. จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยแทนโจทก์เป็นคดีนี้โดยไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องจำเลยอีก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1475/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของนิติบุคคล และการนับอายุความเมื่อทราบถึงการตายของลูกหนี้
โจทก์เป็นนิติบุคคล ตามข้อบังคับของโจทก์ระบุให้คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงให้เป็นไปตามข้อบังคับและตามมติของที่ประชุมใหญ่ ซึ่งรวมทั้งให้ฟ้องต่อสู้คดีหรือดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการของโจทก์ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการมีมติที่ประชุมให้ ณ รองประธานกรรมการเป็นผู้แทนของโจทก์ในการดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของโจทก์ เท่ากับว่าโจทก์เป็นผู้ฟ้องคดีเอง กรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 801 (5) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม โดยไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้ ณ ดำเนินการแต่อย่างใด
บ. เป็นเพียงกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ โดยไม่ปรากฏว่ามีมติที่ประชุมใหญ่ของโจทก์แต่งตั้ง บ. เป็นผู้แทนโจทก์ในกิจการใด ๆ แม้ บ. จะรู้ถึงการตายของ ว. สามีจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2541 ก็หาใช้เป็นการรับรู้ของโจทก์ไม่ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ประชุมกันเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2541 โดยมีวาระการประชุมเกี่ยวกับการตายของ ว. ด้วย ถือได้ว่าโจทก์เพิ่งรู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ว. ในวันดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6740/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจฟ้องและหนังสือมอบอำนาจเฉพาะการ: โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หากหนังสือมอบอำนาจไม่ได้ระบุ
หนังสือมอบอำนาจของโจทก์มีข้อความว่า บริษัทไอบีเอ็มประเทศไทย จำกัด โดยนายพงศ์ศักดิ์ ตัณสถิตย์ ขอมอบอำนาจให้ นาย ว. เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนในกิจการดังต่อไปนี้ คือ ข้อ 1. ให้มีอำนาจดำเนินคดีแพ่ง อาญา และคดีล้มละลายกับบริษัทโรงแรมรอยัลเลควิล จำกัด ข้อ 2. ฟ้องคดีในเรื่อง ข้อหา ฐานความผิด กับบุคคลดังกล่าว ข้อ 1. ต่อศาลทั่วราชอาณาจักร? ข้อความตามที่ระบุดังกล่าวเป็นเรื่องโจทก์มอบอำนาจเฉพาะการมิใช่มอบอำนาจทั่วไปและระบุให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 เท่านั้น นาย ว. ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจแต่งตั้งทนายความให้ดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 2 การที่ทนายโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วยจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจหรือทำนอกเหนือขอบอำนาจที่โจทก์มอบหมายไว้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6550/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืม: ศาลแก้ไขการคิดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด)
การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนั้นมิได้มีข้อจำกัดตามกฎหมายว่าจะต้องมอบอำนาจให้ฟ้องบุคคลใดเป็นคดีเรื่องใดโดยเฉพาะเจาะจงเท่านั้น เมื่อหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมีข้อความระบุไว้ชัดว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจคือนาย ส. ฟ้องคดีแทนได้แล้ว นาย ส. ก็มีอำนาจที่จะฟ้องคดีต่าง ๆ แทนโจทก์ได้ รวมทั้งฟ้องจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์เป็นคดีนี้ได้โดยชอบด้วย โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องทำหนังสือมอบอำนาจระบุเป็นการเฉพาะให้ฟ้องจำเลยทั้งห้าอีก
ตามสัญญาทรัสต์รีซีทซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำกันไว้มีข้อตกลงว่า "...ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 1) จะต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและกำหนดเวลาที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายให้แก่ธนาคาร โดยคำนวณเงินตราต่างประเทศที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารต้องชำระค่าสินค้าแทนข้าพเจ้า หรือตามอัตราที่ตกลงกันไว้ หรือในอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคาร ณ วันครบกำหนดชำระเงินตามทรัสต์รีซีทหรือในอัตราที่ได้กำหนดไว้แนบท้ายหนังสือนี้ โดยข้าพเจ้ายินยอมให้ธนาคารเป็นผู้เลือกที่จะใช้อัตราใดแล้วแต่จะเห็นสมควร..." แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันไว้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทยจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนวันใดให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเลือกตามแต่โจทก์จะเห็นสมควร ข้อตกลงเช่นนี้ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับกันได้โดยชอบ การที่โจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามที่โจทก์จ่ายไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตเป็นเงินไทยในวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินคืนให้แก่โจทก์ตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาทรัสต์ซีรีทนั้นจึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิที่มีอยู่ตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาทรัสต์รีซีท
สัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 ระบุว่า กรณีจำเลยที่ 1 ได้ขายสินค้า หรือแม้มิได้นำสินค้าออกขายก็ตาม จำเลยที่ 1 จะต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและในกำหนดเวลาที่ระบุไว้แนบท้ายแก่ธนาคารโจทก์ โดยคำนวณเงินตราต่างประเทศตามที่ตกลงไว้ โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้ธนาคารโจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารโจทก์ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด นับแต่วันที่ธนาคารโจทก์ได้ชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 และ ข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้ธนาคารโจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้แนบท้ายที่ค้างชำระดังกล่าวในอัตราสูงสุด ดังนี้ข้อความที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 ที่ระบุว่า "อัตราสูงสุด" ประกอบกับข้อความที่ขยายความคำว่า "อัตราสูงสุด" ว่า "ที่ธนาคาร (โจทก์)ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด" จึงมีความหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันโดยมีเจตนาให้เป็นอัตราสูงสุดที่ถูกต้องภายใต้หลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดไว้ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 อันได้แก่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) และเมื่อสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 7 ที่ตกลงกันว่าในกรณีผิดนัดให้คิดดอกเบี้ยใน "อัตราสูงสุด" ซึ่งย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยตามข้อ 4 หรือเป็นอัตราเดียวกันดังที่วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น จึงถือได้ว่าสัญญาทรัสต์ซีรีทได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอนเป็นอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์แล้ว โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราเพียงร้อยละ 18.50 ต่อปี และ 16.50 ต่อปี ซึ่งก็ล้วนเป็นอัตราที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป(ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์ ที่มีผลบังคับในขณะคิดดอกเบี้ยนั้นเช่นกัน หลังจากนั้นจึงคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดลูกค้าทั่วไปที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ซึ่งการคิดดอกเบี้ยดังกล่าวนอกจากจะไม่เกินกว่าอัตราที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 ดังกล่าวแล้ว ยังกลับเป็นคุณแก่จำเลยทั้งห้าอีกด้วย แม้ต่อมาภายหลังปรากฏว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยสูงสุดลูกค้าทั่วไปที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขและปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามอัตราดังกล่าวตามประกาศธนาคารโจทก์ที่มีผลใช้บังคับในแต่ละช่วงเวลาจนกระทั่งเป็นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดลูกค้าทั่วไปที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขนับตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไปจนถึงวันฟ้อง อันทำให้เห็นเป็นว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราเพิ่มขึ้นในช่วงหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้โดยอ้างสิทธิตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ทำนองเป็นเบี้ยปรับก็ตาม แต่ที่ถูกนั้นแม้ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แล้ว โจทก์จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ใน "อัตราสูงสุด" ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับอัตราตามสัญญาข้อ 4 ซึ่งได้แก่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์ มิใช่อัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารโจทก์การคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นเพียงการคิดดอกเบี้ยที่ไม่ถูกต้อง ผิดจากข้อสัญญาเท่านั้น มิใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยตามข้อสัญญาที่ลูกหนี้ (จำเลยที่ 1) ตกลงให้คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในลักษณะเป็นการตกลงใช้เงินจำนวนหนึ่ง หรือค่าเสียหายเพราะเหตุที่ลูกหนี้ (จำเลยที่ 1) ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระให้ถูกต้องสมควร อันเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลอาจพิพากษาให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตามมาตรา 383 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 293/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแทนและการผ่อนเวลาชำระหนี้ที่ไม่มีผลต่อความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ระบุว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ พ. กระทำการและดำเนินการแทนในกิจการดังต่อไปนี้... เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่ง... เพื่อป้องกันรักษาผลประโยชน์หรือสิทธิต่าง ๆ รวมทั้งทรัพย์สินของโจทก์ การมอบอำนาจในลักษณะนี้แม้จะเป็นการมอบอำนาจทั่วไปตามมาตรา 801 แห่ง ป.พ.พ. แต่ก็มีการมอบอำนาจรวมถึงการฟ้องคดีแทนด้วย ทั้งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีก็ไม่จำต้องระบุบุคคลที่ต้องถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด และแม้ว่าขณะมอบอำนาจมูลหนี้ระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่ทำให้ใบมอบอำนาจดังกล่าวเสียไป พ. จึงมีอำนาจฟ้อง และมีอำนาจตั้งทนายความฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 801 (5)
การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้อันจะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดนั้น จะต้องเป็นการตกลงผ่อนเวลาแน่นอน และมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้น เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องไม่ได้ เมื่อหนี้ของจำเลยที่ 1 ถึงกำหนดชำระแล้ว โจทก์ยังมิได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ หาใช่เป็นการยอมผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามมาตรา 700 แห่ง ป.พ.พ. อันจะมีผลทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2522/2530 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีของสาขาบริษัทต่างประเทศ: ผู้จัดการสาขาต้องได้รับมอบอำนาจเฉพาะเจาะจง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนในประเทศออสเตรเลีย แต่มีสาขาอยู่ในประเทศไทย โดยมี อ.ผู้รับมอบอำนาจคดีนี้เป็นผู้จัดการสาขาในกรุงเทพมหานคร แสดงว่า อ.ไม่ใช่ผู้จัดการบริษัทโจทก์ในประเทศออสเตรเลีย อ. จึงไม่ใช่ผู้แทนนิติบุคคลตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทโจทก์มอบอำนาจให้ อ. ฟ้องคดี ดังนี้ อ. ซึ่งเป็นเพียงผู้จัดการสาขาของบริษัทโจทก์ในประเทศไทย จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้ (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 925/2503)
ในคดีฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีอากร เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลจะกำหนดไว้ในคำพิพากษาว่า ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาก็ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2522/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีของสาขาบริษัทต่างประเทศ ผู้รับมอบอำนาจต้องได้รับมอบอำนาจเฉพาะเพื่อฟ้องคดี
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนในประเทศออสเตรเลีย แต่มีสาขาอยู่ในประเทศไทย โดยมี อ.ผู้รับมอบอำนาจคดีนี้เป็นผู้จัดการสาขาในกรุงเทพมหานครแสดงว่า อ.ไม่ใช่ผู้จัดการบริษัทโจทก์ในประเทศออสเตรเลียอ.จึงไม่ใช่ผู้แทนนิติบุคคลตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทโจทก์มอบอำนาจให้ อ.ฟ้องคดีดังนี้อ. ซึ่งเป็นเพียงผู้จัดการสาขาของบริษัทโจทก์ในประเทศไทย จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้ (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่925/2503)
ในคดีฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีอากร เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลจะกำหนดไว้ในคำพิพากษาว่า ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาก็ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 925/2503 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแทนบริษัท การมอบอำนาจหลังยื่นฟ้อง และผลของการไม่มีอำนาจฟ้องตั้งแต่แรก
ในคดีแพ่ง ศาลจะจะต้องพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะแต่ข้อประเด็นที่คู่ความอ้างอิงยกขึ้นเป็นสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอันปรากฏตามฟ้องและคำให้การเหล่านั้น
ตามฟ้อง โจทก์กล่าวอ้างว่า นายฟูจิโอ ผู้จัดการสาขาในประเทศไทย ได้รับมอบหมายอำนาจให้ฟ้องคดีในรามบริษัทโจทก์ในญี่ปุ่นได้ โดยมีหนังสือมอบอำนาจเป็นหลักฐาน จะได้อ้างส่งศาลวันพิจารณา นายฟูจิโอมิได้อ้างว่าตนเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปและมีกรณีฉุกเฉินเพื่อป้องกันความเสียหายของบริษัทโจทก์แต่อย่างไรเลย ต่อมาภายหลังที่จำเลยให้การตัดฟ้องและร้องขอให้ศาลวินิจฉัยเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 แล้ว ทนายโจทก์จะอ้างหนังสือมอบอำนาจของบริษัทโจทก์ซึ่งเพิ่งมอบอำนาจขึ้นภายหลังวันที่นายฟูจิโอแต่งทนายยื่นฟ้องศาลแล้ว 9 วัน มาเพื่อแสดงว่านายฟูจิโอมีอำนาจแต่งทนายยื่นฟ้องแทนบริษัทโจทก์ได้หาไม่ และกรณีเช่นว่านี้หาเป็นกรณีฉุกเฉินประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 802 ไม่ เพราะการรู้ว่าบริษัทจะต้องเสียหายด้วยการเสียภาษีนั้น สาขาบริษัทได้รู้นับแต่วันรับแจ้งการประเมินแล้ว มีเวลาเพียงพอตามประมวลรัษฎากร ที่จะจัดการให้ได้รับมอบอำนาจให้การะทำการยื่นฟ้องต่อศาลได้ถ้าบริษัทโจทก์เห็นว่า การเรียกเก็บภาษีไม่ถูกต้องและติดใจจะยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อการอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร ไม่สำเร็จ
การที่นายฟูจิโอแต่ทนายยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว 9 วัน บริษัทโจทก์จึงได้ทำการมอบอำนาจให้นายฟูจิโอทำการยื่นฟ้องต่อศาลแทนบริษัทได้ ทั้งได้ให้สัตยาบันการกระทำที่แล้วมานั้นด้วย ก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องอันชอบด้วยวิธีพิจารณา เพราะเมื่อนายฟูจิโอไม่มีอำนาจแต่งทนายยื่นฟ้องแทนบริษัทในเวลาที่ยื่นฟ้องนั้นแล้ว ฟ้องของโจทก์ก็ไม่เป็นฟ้องอันชอบด้วยวิธีพิจารณามาแต่แรก ไม่มีทางใด ๆ ที่ศาลจะรับฟ้องไว้พิจารณามาแต่ต้น แม้จะได้มีการรับรองหรือให้สัตยาบันในภายหลังต่อมา ก็หากระทำให้ฟ้องที่เสียใช้ไม่ได้แล้วนั้น กลับคืนดีมาเป็นฟ้องอันชอบด้วยวิธีพิจารณาในภายหลังได้ไม่ (อ้างฎีกาที่ 723-724/2503 ซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 9/2502)
of 2