คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 653

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,099 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 692/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย และผลกระทบต่อการฟ้องร้องบังคับคดี
โจทก์ฟ้องจำเลยโดยอาศัยสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยให้การว่ากู้เงินจากโจทก์จริงแต่รับเงินไม่ถึงจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญา จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าสัญญาบางส่วนไม่สมบูรณ์ ศาลจำต้องใช้สัญญากู้ยืมเงินมาเป็นพยานหลักฐานในคดี การรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวโจทก์ต้องปิดอากรแสตมป์บนสัญญากู้ยืมเงินให้ถูกต้องบริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 118 เมื่อสัญญากู้ยืมเงินปิดอากรแสตมป์เพียง20 บาท ซึ่งตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรฯ ต้องปิดอากรแสตมป์จำนวน30 บาท สัญญากู้ยืมเงินจึงปิดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จึงฟ้องร้องให้บังคับจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 417/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์เอกสารปลอมในคดีกู้ยืมเงิน: น้ำหนักพยานหลักฐานและข้อต่อสู้ของจำเลย
การที่คู่ความซึ่งมีหน้าที่นำสืบภายหลังต้องถามค้านพยานของคู่ความฝ่ายที่นำสืบก่อนในเวลาที่พยานเบิกความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 นั้นต้องเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำสืบภายหลังประสงค์จะสืบพยานของตนเพื่อหักล้างหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขถ้อยคำพยานฝ่ายที่นำสืบก่อนในข้อความทั้งหลายซึ่งพยานเช่นว่านั้นเป็นผู้รู้เห็น หรือเพื่อพิสูจน์ข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกี่ยวด้วยการกระทำหรือถ้อยคำหรือหนังสือซึ่งพยานเช่นว่านั้นได้กระทำขึ้นโดยเฉพาะ เมื่อประเด็นแห่งคดีมีว่า สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ซึ่งจำเลยได้ถามค้านพยานโจทก์ถึงความไม่ถูกต้องของการทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำมาฟ้องไว้แล้ว การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลและสำเนาสัญญากู้ยืมเงินก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความประพฤติของโจทก์ในการเขียนสัญญากู้ยืมเงิน อันเป็นการสืบตามประเด็นที่จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้ มิใช่เป็นการนำสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงถ้อยคำของพยานโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิสืบตามประเด็นข้อต่อสู้ของตนได้ แม้จะมิได้ถามค้านพยานโจทก์ในข้อนี้ไว้ก็ตาม กรณีมิใช่การจู่โจมทางพยานหลักฐานหรือเอาเปรียบโจทก์แต่อย่างใด จำเลยไม่จำต้องถามค้านพยานโจทก์ไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 ศาลรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 203/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ด้วยเช็คหลังฉีกสัญญากู้ยืม ไม่ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ และหลักฐานกู้ยืมเงินยังใช้บังคับได้
การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ และโจทก์คืนสัญญากู้ยืมเงินให้จำเลย โดยจำเลยนำสัญญาดังกล่าวไปฉีกทำลายแล้วนั้น แสดงว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับเช็คพิพาทอันเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ด้วยเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคหนึ่ง กรณีมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้แต่ประการใด จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคหนึ่ง และหนี้เดิมจะระงับก็ต่อเมื่อจำเลยได้ใช้เงินตามเช็คแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคท้าย
การกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 นั้น หมายถึงการกู้ยืมเงินที่ไม่เคยมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งเลย แต่เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วเกิดสูญหาย ผู้ให้กู้ย่อมนำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) เมื่อปรากฏว่าจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นหลักฐานให้แก่โจทก์แล้ว และออกเช็คชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว จึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แม้สัญญากู้ยืมเงินจะถูกฉีกทำลายภายหลังออกเช็คก็หาทำให้ไม่เป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมายไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 170/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมที่อ้างอิงประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์อันเป็นสถาบันการเงิน ย่อมอยู่ภายในบังคับแห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ มาตรา 6 ซึ่งมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ในอัตราสูงสุดที่สถาบันการเงินอาจคิดได้ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ดังนั้นแม้สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยในช่องกำหนดอัตราร้อยละต่อปีจะเว้นว่างไว้โดยไม่มีการพิมพ์ตัวเลข แต่สัญญาดังกล่าวมีข้อความระบุว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราสูงสุดเท่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากผู้กู้ได้ และยังระบุอีกว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไปที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนดให้เรียกจากผู้กู้ยืมได้ ซึ่งหมายความว่า หลังจากทำสัญญาแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้ให้กู้ประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยตามสัญญาได้ในอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้ให้กู้ประกาศใช้บังคับใหม่ทันที โดยไม่จำต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงแก่ผู้กู้และให้ถือปฏิบัติเช่นนี้ตลอดไปจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้ครบถ้วน อันเป็นข้อตกลงที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมชัดแจ้งแล้ว และไม่ว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดจะเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงินหรือไม่ก็ตาม เมื่อดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยในอัตราต่าง ๆ ไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งโจทก์พึงมีสิทธิคิดได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงชอบที่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7308/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อไม่ใช่การกู้ยืมอำพราง แม้โจทก์ไม่มีสินค้าเป็นของตนเอง
การให้เช่าซื้อเป็นธุรกิจหนึ่งซึ่งรวมอยู่ในธุรกิจการค้าอื่น ๆ ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทมหาชน จำกัด ดังที่ได้ระบุไว้ตามหนังสือรับรอง แม้โจทก์จะไม่มีสินค้าของตนเอง แต่ก็อาจนำเอาสินค้ามาให้ลูกค้าทำการเช่าซื้อได้ โดยทำสัญญาเช่าซื้อกันไว้ล่วงหน้า ให้มีผลบังคับกันได้ ในเมื่อโจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์ทั้งมิได้มีข้อจำกัดว่าเมื่อไม่มีสินค้าของตนเองแล้วจะประกอบธุรกิจการค้าประเภทนี้ไม่ได้ จำเลยก็ยอมรับข้อเสนอของโจทก์ในอันที่จะผูกพันตนตามสัญญาเช่าซื้อและทราบถึงวัตถุประสงค์ของสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ ทั้งยังได้ยอมรับเอาเงื่อนไขต่าง ๆ รวมทั้งการชำระหนี้อันเป็นผลโดยตรงที่คู่กรณียอมรับนับถือและพึงใช้บังคับต่อกันตามข้อสัญญา สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นนิติกรรมที่ใช้บังคับแก่คู่กรณีได้ มิใช่เป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7032/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง, การคิดดอกเบี้ย, อายุความค่าเบี้ยประกันภัย
ตามหนังสือให้ความยินยอมในการทำสัญญาประกันภัยของจำเลยทั้งสองจำเลยที่ 1 ยอมให้ธนาคารโจทก์ดำเนินการทำสัญญาประกันภัยหลักทรัพย์ที่เป็นประกันหนี้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งในการทำสัญญาหรือต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 1 ตกลงเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันภัยโดยให้โจทก์เป็นผู้ชำระแทน แล้วหักบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 หรือเรียกเก็บจากจำเลยทั้งสอง ฉะนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ออกทดรองไปก่อน จึงเป็นการที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายไปชดใช้จากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำกับโจทก์ระบุว่า จำเลยที่ 2 ยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 จำนวน 400,000 บาท และสัญญาจำนองที่ดินของจำเลยที่ 2 ก็ระบุว่า จำเลยที่ 2 ตกลงจำนองที่ดินเป็นประกัน400,000 บาท จำเลยที่ 2 จึงมีความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองในต้นเงิน 400,000 บาท การที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงิน 441,718.25 บาท จึงเป็นการพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดมากกว่าที่จะต้องรับผิดตามกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7000/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รวมหนี้สินเชื่อ-ค่าขึ้นศาล-สิทธิเรียกร้อง-การโอนสิทธิ-การสวมสิทธิคู่ความ
โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสถาบันการเงิน ประกอบธุรกิจด้วยการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าโดยให้กู้เบิกเงินเกินบัญชี กู้ยืมเงิน ซื้อลดเช็ค หรือด้วยประการอื่นที่ทำได้ในการให้เงินหรือหลักประกันแก่ลูกค้า โดยรับประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่น จำเลยทั้งสองเป็นลูกค้าโจทก์ย่อมสามารถทำธุรกิจกับโจทก์ได้ไม่จำกัดว่าต้องเป็นวิธีใดเพียงอย่างเดียว การที่จำเลยที่ 1 ขอกู้เบิกเงินเกินบัญชี กู้ยืมเงิน และขายลดเช็คแก่โจทก์ ล้วนแต่เป็นการขอสินเชื่อจากโจทก์ จำเลยที่ 2 ค้ำประกันการชำระหนี้และจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันโดยมิได้แบ่งแยกว่าประกันหนี้ประเภทไหนรายการใดมูลหนี้ทั้งหมดจึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงนำสินเชื่อทุกชนิดมารวมกันเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องฟ้องมาในคดีเดียวกันได้ การที่โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องในอัตราสูงสุดตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ 1 ก. จึงชอบแล้ว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแล้ว คดีย่อมอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาที่จะพิจารณาและทำคำสั่งคำร้องดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เองจึงไม่ชอบ ต้องเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเสีย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องได้รับโอนสินทรัพย์ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยมาจากโจทก์แล้ว ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6469/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธุรกิจเงินทุนที่ไม่ได้รับอนุญาต: การกู้ยืมจากบุคคลในเครือไม่ใช่การจัดหาทุนจากประชาชนทั่วไป
ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ฯ มาตรา 4 กำหนดให้ "ธุรกิจเงินทุน หมายความว่า ธุรกิจการจัดหามาซึ่งเงินทุนและใช้เงินนั้นประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งจำแนกประเภทได้ดังต่อไปนี้..."ซึ่งกิจการเงินทุนแต่ละประเภทมีการกำหนดวิธีหาเงินทุนไว้ตรงกันคือ "ธุรกิจหาทุนจากประชาชน" ซึ่งหมายความรวมถึงกู้ยืมเงินหรือรับฝากเงินจากประชาชนด้วย ทั้งคำว่า"ประชาชน" ตามพจนานุกรม หมายถึง พลเมืองหรือสามัญชนทั่ว ๆ ไป ดังนั้น ธุรกิจเงินทุนภายใต้ข้อบังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องเป็นธุรกิจที่มีการจัดหาทุนดำเนินกิจการจากประชาชนพลเมืองทั่วไปไม่มีจำกัดว่าจะเป็นใคร เมื่อปรากฏว่าบริษัทโจทก์จัดหาเงินทุนมาจากบริษัทในเครือหรือจากญาติพี่น้องเฉพาะคนเท่านั้นไม่เป็นการทั่วไป ประกอบกับโจทก์มีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินหรือให้เครดิตด้วยวิธีการอื่นได้ ดังนั้นแม้โจทก์จะมิได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โจทก์ก็มีอำนาจให้จำเลยกู้เงินได้โดยชอบ สัญญากู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4936/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ยืมสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นโมฆะ แม้มิได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้น
ปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็มีอำนาจยกข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246
สัญญากู้ยืมระบุว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารโจทก์ แต่ตามประกาศกำหนดดอกเบี้ยของโจทก์ในขณะทำสัญญากู้ยืมกำหนดอัตราดอกเบี้ยเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลาร้อยละ14.50 ต่อปี ไม่มีข้อความตอนใดในประกาศดังกล่าวที่กำหนดให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยได้ถึงร้อยละ 19 ต่อปี ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่ระบุในสัญญากู้ยืมจึงสูงกว่าที่โจทก์มีสิทธิจะเรียกเก็บได้ตามกฎหมาย และขัดต่อ พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯมาตรา 3(ก) ข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ในสัญญากู้ยืมจึงตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3579/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การนอกกำหนดเวลาและประเด็นความสมบูรณ์ของสัญญาเช่าซื้อ
ในขณะที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์นั้น โจทก์จะเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทหรือไม่ เป็นเพียงข้อเท็จจริง มิได้มีผลกระทบถึงความสมบูรณ์ของสัญญาเช่าซื้อ ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในปัญหาดังกล่าวเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ได้
of 110