พบผลลัพธ์ทั้งหมด 199 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8518/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจ่ายค่าสินไหมทดแทนจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กรณีผู้ตายไม่ได้เป็นฝ่ายผิดและมีผู้ต้องรับผิด
ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2540) ที่ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ข้อ 3 มีข้อความว่า ในกรณีที่ผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่และผู้ขับขี่ที่ประสบภัยเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดตามกฎหมาย หรือไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่ประสบภัย จำนวนเงินเอาประกันภัยให้ลดลงเป็นจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และในกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 2.3 มีข้อความว่า กรณีผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยและเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุ หรือไม่มีผู้ใดต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่เป็นผู้ประสบภัย บริษัทจะรับผิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น... ข้อความในกฎกระทรวงและในกรมธรรม์ดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่และผู้ประสบภัยนั้นเองเป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมายในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหรือไม่มีฝ่ายใดต้องรับผิดตามกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า ผู้ตายซึ่งเป็นผู้ประสบภัยและเป็นผู้ขับขี่มิได้เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดและมีผู้ต้องรับผิดต่อผู้ตายตามกฎหมายแล้ว เพียงแต่เจ้าพนักงานตำรวจยังไม่สามารถติดตามผู้ที่ต้องรับผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้เท่านั้น จึงไม่ใช่กรณีที่ไม่มีฝ่ายใดที่ต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัย ทั้งไม่อาจตีความข้อความตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ดังกล่าวให้หมายความรวมถึงกรณียังไม่อาจติดตามผู้ต้องรับผิดมาได้ เนื่องจากข้อความดังกล่าวมีความชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่าจะต้องไม่มีผู้ที่ต้องรับผิดตามกฎหมายเท่านั้น จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนที่คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกรณีเสียชีวิตตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7208/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องครอบครองที่ดิน: โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยโอนสิทธิหากจำเลยไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินโดยซื้อคืนมาจากผู้รับซื้อฝากหรือจำนองจากจำเลย โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา แต่ไม่สามารถขอรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินหรือเอกสารอื่นๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้เพราะยังมีชื่อจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ขอให้บังคับจำเลยไปโอนสิทธิครอบครองหรือสละสิทธิที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติตามไม่ได้ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยหรือมีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองดีกว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์อ้างว่าตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทหรือกระทำสิ่งใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ทั้งการที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยไปโอนสิทธิครอบครองหรือสละสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ไม่มีกรณีที่จะพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ได้ เพราะกรณีตามฟ้องจำเลยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องไปโอนสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ ศาลมีอำนาจวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ มาตรา 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6969/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกระทำความผิดทางอาญาต่อผู้เสียหายเฉพาะราย การเข้าร่วมเป็นโจทก์ และการเรียกค่าเสียหาย
จำเลยพูดหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 เท่านั้น จำเลยมิได้หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 2 หรือเจตนาให้ได้ทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่ 2 การที่โจทก์ร่วมที่ 2 รับฟังเรื่องราวจากโจทก์ร่วมที่ 1 แล้วหลงเชื่อว่าเป็นความจริงและประสงค์ร่วมลงทุนกับโจทก์ร่วมที่ 1 ด้วย โดยโอนเงินผ่านธนาคารเข้าบัญชีโจทก์ร่วมที่ 1 เพื่อส่งมอบให้แก่จำเลยนั้น ไม่ได้เกิดจากการกระทำความผิดทางอาญาของจำเลยต่อโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 2 จึงไม่เป็นผู้เสียหายในคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6597/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแก้ไขบทลงโทษโดยศาลอุทธรณ์และการจำกัดสิทธิในการฎีกาในประเด็นข้อเท็จจริง
คดีนี้ในความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ปอ. มาตรา 138 วรรคสอง 140 วรรคแรก และวรรคสาม ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ปอ. มาตรา 138 วรรคสอง โดยไม่ได้ปรับบทลงโทษตามมาตรา 140 วรรคแรก และวรรคสามด้วย แต่ลักษณะความผิดตาม ปอ. มาตรา 138 วรรคสอง และมาตรา 140 วรรคแรก ไม่แตกต่างกันและไม่มีระวางโทษจำคุกขั้นต่ำเหมือนกัน ต่างกันเฉพาะระวางโทษขั้นสูงซึ่งมาตรา 138 วรรคสอง ระวางโทษขั้นสูงจำคุกไม่เกินสองปี ส่วนมาตรา 140 วรรคแรก ระวางโทษขั้นสูงจำคุกไม่เกินห้าปีและตาม ปอ. มาตรา 140 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดมาตรา 140 วรรคแรก ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ ไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แก้บทลงโทษ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพียงแต่แก้จำนวนโทษมิได้แก้บทลงโทษ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5249/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดทางแพ่งจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: ผลผูกพันจากคำพิพากษาคดีอาญาและหลักประมาท
คดีนี้โจทก์เป็นมารดาของผู้ตายในคดีอาญาจึงต้องถือว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทนโจทก์ ข้อเท็จจริงในคดีอาญาย่อมมีผลผูกพันโจทก์ด้วย เมื่อคดีอาญาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาโดยเห็นว่า ผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุและมีส่วนประมาทมากกว่า คู่ความไม่ฎีกา คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น คดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ยุติในคดีอาญาว่าผู้ตายมีส่วนประมาทมากกว่าจำเลยที่ 1 และตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาท การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากน้อยเพียงใดต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ เมื่อผู้ตายมีส่วนประมาทมากกว่าจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายผิดน้อยกว่าให้รับผิดในความเสียหายได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5016/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ของคนต่างด้าว: เงื่อนไขตามกฎหมายและการต่อเนื่องการครอบครอง
แม้คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวงและต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตาม ป.ที่ดิน มาตรา 86 แต่ ป.ที่ดินไม่ได้ห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดิน เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ดังนั้น การที่ ต. และจำเลยร่วมกันครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้วนั้น การครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทของ ต. จึงไม่ได้เสียเปล่าไปและยังมีผลตามกฎหมาย เมื่อ ต. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2534 จำเลยได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทต่อมาจาก ต. จึงเป็นการครอบครองเพื่อตนต่อเนื่องมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์
ต. ซึ่งเป็นคนต่างด้าวไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายแล้วซึ่งจะทำให้ ต. สามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ แม้การครอบครองที่ดินของ ต. จะไม่เสียเปล่าไป แต่ก็จะมาขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ ต. ครอบครองไม่ได้ หากศาลบังคับให้จะเป็นทางให้ ต. ได้ที่ดินอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คำขอของผู้ร้องสอดในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. จึงไม่อาจบังคับให้ได้ ผู้ร้องสอดจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องสอดให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้ รวมทั้งคำขออื่นที่อาศัยสิทธิของการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ด้วย
ต. ซึ่งเป็นคนต่างด้าวไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายแล้วซึ่งจะทำให้ ต. สามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ แม้การครอบครองที่ดินของ ต. จะไม่เสียเปล่าไป แต่ก็จะมาขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ ต. ครอบครองไม่ได้ หากศาลบังคับให้จะเป็นทางให้ ต. ได้ที่ดินอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คำขอของผู้ร้องสอดในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. จึงไม่อาจบังคับให้ได้ ผู้ร้องสอดจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องสอดให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้ รวมทั้งคำขออื่นที่อาศัยสิทธิของการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1842/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
องค์ประกอบความผิด พ.ร.บ.เช็ค: ต้องมีการยื่นเช็คและธนาคารปฏิเสธการใช้เงิน
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จะเห็นได้ว่า ข้อความที่ว่า "ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด ฯลฯ" จึงเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 เกิดขึ้น แต่ตามฟ้องโจทก์ไม่มีคำบรรยายให้ฟังได้ว่า โจทก์ยื่นเช็คฉบับที่ 2 ถึงที่ 10 เพื่อให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คและธนาคารปฏิเสธการใช้เงินแต่ประการใด ทั้งมิได้อ้างใบคืนเช็คฉบับที่ 2 ถึงที่ 10 แนบมาท้ายฟ้องเป็นหลักฐานอันจะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องแต่อย่างใด ตามฟ้องโจทก์ที่บรรยายว่า เมื่อเช็คฉบับแรกถึงกำหนดเรียกเก็บเงิน โจทก์นำเช็คฉบับดังกล่าวเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ให้เหตุผลว่าบัญชีปิดแล้วนั้น ก็เป็นวันที่เกิดการกระทำความผิดในการออกเช็คฉบับแรกฉบับเดียว ในวันดังกล่าวเช็คฉบับที่ 2 ถึงที่ 10 ยังไม่ถึงกำหนดชำระและโจทก์มิได้ยื่นเช็คเพื่อเรียกเก็บ ซึ่งหากธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จึงมิใช่วันที่จำเลยกระทำความผิดตามเช็คฉบับที่ 2 ถึงที่ 10 จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจฟังลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215, 225