คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 379

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 453 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13068/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือรับรองการปลอดหนี้, ค่าส่วนกลาง, การบังคับคดี, สิทธิโอนห้องชุด, อายุความค่าปรับ
ตามฟ้องและฟ้องแย้ง จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏตามฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำในฐานะส่วนตัวและจำเลยที่ 2 มิใช่เจ้าหนี้ตามฟ้องแย้ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องเดิมค้างชำระเป็นสิทธิของนิติบุคคลอาคารชุดที่จะฟ้องบังคับคดีให้เจ้าของห้องเดิมที่ค้างชำระหรือไม่ก็ได้ ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิแจ้งรายการเพื่อขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิเอาจากเจ้าพนักงานบังคับคดี การที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ใช้สิทธิแจ้งรายการเพื่อขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิเอาจากเจ้าพนักงานบังคับคดี และไม่ใช้สิทธิฟ้องคดีตามอำนาจหน้าที่เอาแก่เจ้าของห้องชุดเดิมตามมาตรา 41 และตามมาตรา 36 (6) แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
ค่าใช้จ่ายรายการที่ 5 ถึงรายการที่ 10 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 5 และที่ 6 เป็นค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นที่ต้องมีการบำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลางและเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่อยู่อาศัยซึ่งมิได้มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาในอันที่จะมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนค่าปรับในรายการที่ 3 และที่ 4 เป็นค่าปรับอันเกิดจากการผิดนัดชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เมื่อค่าใช้จ่ายส่วนกลางอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ ค่าปรับซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/26
ค่าปรับอันเกิดจากค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นหนี้เงินที่จำเลยทั้งสองจะเรียกเก็บได้ต่อเมื่อเจ้าของร่วมมิได้ชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดไว้อันมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าและถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379
ตามคำฟ้องของโจทก์นั้นขอให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ได้นั้น โจทก์จะชำระหนี้ค่าส่วนกลางให้ครบเสียก่อน แม้ตามคำขอท้ายฟ้องและคำให้การฟ้องแย้งของโจทก์จะไม่มีข้อความว่า เมื่อโจทก์ได้ชำระค่าส่วนกลางครบถ้วนแล้วให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ก็ตาม แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระหนี้ค่าส่วนกลางและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ชำระค่าส่วนกลางแก่จำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อโจทก์ชำระค่าส่วนกลางตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หนี้เป็นอันระงับสิ้นไป โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตอบแทนเช่นกัน การที่จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้จึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะโอนห้องชุดได้ จึงเป็นการกระทำนิติกรรมฝ่ายเดียวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ดังนั้น ในการบังคับชำระหนี้หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องศาลชอบที่จะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง ซึ่งเป็นการสั่งตามสมควรแก่รูปเรื่องเพื่อบังคับคดีให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 วรรคสาม
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ไม่มีค่าส่วนกลางที่ค้างชำระก่อนที่โจทก์จะซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดนั้น โจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างไว้ในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13068/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระค่าส่วนกลางหลังศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด จำเลยมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้เพื่อการโอนกรรมสิทธิ์
ตามฟ้องและฟ้องแย้ง จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏตามฟ้องว่าจำเลยที่ 2 กระทำในฐานะส่วนตัวและจำเลยที่ 2 มิใช่เจ้าหนี้ตามฟ้องแย้ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง ซึ่งปัญหาอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องเดิมค้างชำระเป็นสิทธิของนิติบุคคลอาคารชุดที่จะฟ้องบังคับคดีให้เจ้าของห้องเดิมที่ค้างชำระหรือไม่ก็ได้ ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองที่จะต้องฟ้องคดีหรือต้องใช้สิทธิแจ้งรายการเพื่อขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิเอาจากเจ้าพนักงานบังคับคดีตามมาตรา 41 การที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ใช้สิทธิแจ้งรายการเพื่อขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิเอาจากเจ้าพนักงานบังคับคดีตามมาตรา 41 และไม่ใช้สิทธิฟ้องคดีตามอำนาจหน้าที่เอาแก่เจ้าของห้องชุดเดิมตามมาตรา 36 (6) แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
ค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นที่ต้องมีการบำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่อยู่อาศัยซึ่งมิได้มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาไม่อยู่ในบังคับในอันที่จะมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4)
ค่าปรับอันเกิดจากการผิดนัดชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เมื่อค่าใช้จ่ายส่วนกลางอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ ค่าปรับซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/26 และเนื่องจากค่าปรับอันเกิดจากค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นหนี้เงินที่จำเลยทั้งสองจะเรียกเก็บได้ต่อเมื่อเจ้าของร่วมมิได้ชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดไว้อันมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าและถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379
ตามคำฟ้องของโจทก์นั้นขอให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 จะออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ได้นั้น โจทก์จะชำระหนี้ค่าส่วนกลางให้ครบเสียก่อน แม้ตามคำขอท้ายฟ้องและคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์จะไม่มีข้อความว่า เมื่อโจทก์ได้ชำระค่าส่วนกลางครบถ้วนแล้วให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ก็ตาม แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระหนี้ค่าส่วนกลาง และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ชำระค่าส่วนกลางแก่จำเลยที่ 1 แล้วเมื่อโจทก์ชำระค่าส่วนกลางตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หนี้เป็นอันระงับสิ้นไป โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตอบแทนเช่นกัน เพราะโจทก์ประสงค์จะนำหนังสือนี้ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอจดทะเบียนโอนห้องชุดมาเป็นของตนตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 การที่จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้จึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะโอนห้องชุดได้ จึงเป็นการกระทำนิติกรรมฝ่ายเดียวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ดังนั้น ในการบังคับชำระหนี้หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่อง ศาลชอบที่จะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง ซึ่งเป็นการสั่งตามสมควรแก่รูปเรื่องเพื่อบังคับคดีให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 วรรคสาม มิใช่เป็นการสั่งนอกเหนือไปจากคำขอท้ายฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7364/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาห้ามแข่งขันหลังพ้นงาน: ข้อตกลงที่เป็นธรรมและเบี้ยปรับสูงเกินไป
โจทก์ผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งต้องอาศัยการแข่งขันทางธุรกิจการค้า โจทก์จึงมีสิทธิตามสมควรที่จะป้องกันรักษาความลับในทางการค้าได้ จำเลยเป็นพนักงานตำแหน่งหัวหน้างานผสมผลิตภัณฑ์บำรุงผิว มีหน้าที่ควบคุมการผลิตตามแผนงานของแผนกวางแผน โจทก์จึงมีสิทธิทำความตกลงกับจำเลยเพื่อรักษาความลับทางการค้าได้ เมื่อพิจารณาข้อตกลงเรื่องการขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ ข้อ 2 ที่กำหนดว่า ในขณะที่จำเลยเป็นพนักงานหรือพ้นสภาพพนักงานภายในหนึ่งปี จำเลยจะไม่เป็นพนักงานนิติบุคคลอื่น ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม ในลักษณะการค้าประเภทหรือชนิดเดียวกันหรือคล้ายกัน กำหนดเวลาห้ามจำเลยอยู่หนึ่งปีเป็นกำหนดเวลาพอสมควร สัญญาข้อตกลงเรื่องการขัดแย้งผลประโยชน์ดังกล่าวจึงไม่ทำให้จำเลยต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี อย่างไรก็ตามข้อตกลงที่มีข้อความว่า หากฝ่าฝืนข้อตกลง จำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับเงิน 500,000 บาท นั้นเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งถ้าสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 แต่การกำหนดค่าเสียหายเป็นดุลพินิจของศาลแรงงาน เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7364/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาห้ามแข่งขันหลังพ้นงาน: การจำกัดสิทธิลูกจ้างต้องเป็นธรรมและมีระยะเวลาที่สมเหตุสมผล มิฉะนั้นอาจเป็นโมฆะ
โจทก์ผลิตเครื่องสำอางซึ่งในการประกอบกิจการโจทก์ต้องอาศัยการแข่งขันทางธุรกิจการค้า โจทก์จึงมีสิทธิตามสมควรที่จะป้องกันสงวนรักษาข้อมูลและความลับในทางการค้าเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์ได้ จำเลยเป็นพนักงานโจทก์ตำแหน่งหัวหน้างานผสมผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการผลิตตามแผนงานของแผนกวางแผน โจทก์จึงมีสิทธิที่จะทำความตกลงกับจำเลยเพื่อรักษาความลับทางการค้าของโจทก์ได้ด้วยการทำข้อตกลงกับจำเลยในการห้ามประกอบกิจการหรือปฏิบัติงานในกิจการอื่นที่แข่งขันกับโจทก์ สัญญาข้อตกลงเรื่องการขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ ข้อ 2 ที่กำหนดว่า ในขณะที่จำเลยเป็นพนักงานหรือพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตามภายใน 1 ปี นับแต่วันพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยไม่ปฏิบัติงานเป็นพนักงานของนิติบุคคลอื่น ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม ในลักษณะการค้าประเภทหรือชนิดเดียวกันหรือคล้ายกัน หรือเป็นคู่แข่งทางการค้าของโจทก์นั้น เมื่อข้อตกลงมีกำหนดเวลาห้ามจำเลยอยู่ 1 ปี ถือได้ว่าเป็นกำหนดเวลาพอสมควร ไม่ทำให้จำเลยต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงเป็นข้อสัญญาที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี
หลังจากจำเลยพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์ภายใน 1 ปี แล้วไปทำงานกับบริษัทที่มีลักษณะทางการค้าคล้ายกัน เข้าเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 2 ถือว่าจำเลยผิดสัญญาจ้าง แต่ข้อตกลงในสัญญาที่มีข้อความว่า หากฝ่าฝืนข้อตกลง จำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับเงินจำนวน 500,000 บาท เป็นการกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตามมาตรา 383 แต่การกำหนดค่าเสียหายเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลาง อันเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่อาจกำหนดให้ได้ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์แล้วพิพากษาคดีเสียใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17869/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปฏิบัติผิดสัญญาใช้ลิขสิทธิ์หลังบอกเลิกสัญญา ศาลลดค่าเสียหายเบี้ยปรับที่ไม่สมเหตุสมผล
สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสิบ ข้อ 3.4 เกี่ยวกับการห้ามใช้และถ่ายทอดเนื้อหา หลักสูตร เทคนิค และวิธีการสอนของโจทก์ทันทีที่หมดสัญญาหรือได้รับแจ้งจากโจทก์ให้หยุดใช้นั้น เมื่อสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาเกี่ยวกับการใช้งานวรรณกรรมแบบเรียนอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามสัญญาข้อนี้จึงจำกัดเฉพาะงานที่โจทก์มีลิขสิทธิ์เท่านั้น ดังนั้น กรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมและปฏิบัติผิดสัญญาข้อ 3.4 โจทก์จึงต้องนำสืบข้อเท็จจริงว่างานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ชิ้นใดของโจทก์ที่ถูกละเมิดและจำเลยทั้งสิบกระทำการใดที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความแน่ชัดว่างานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ชิ้นใดที่ถูกละเมิดและจำเลยทั้งสิบใช้หรือถ่ายทอดงานอันมีลิขสิทธิ์ชิ้นนั้นอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์และปฏิบัติผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าว
สัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ข้อ 8.1 ระบุว่า "เกิดกรณีที่ผู้อนุญาต (โจทก์) ยกเลิกสัญญา กับสาขาที่ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) ทำการสอนอยู่ ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) สัญญาว่าจะไม่ไปรับจ้างหรือทำงานกับสถาบันที่มีลักษณะเดียวกันกับผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นระยะเวลา 6 เดือน และจะไม่ประกอบกิจการใดที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันกับผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นระยะเวลา 1 ปี หากผิดสัญญา ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท" ข้อสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองโจทก์ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ ล. และ ด. ใช้ประโยชน์จากงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวแล้ว ล. และ ด. จึงไม่มีสิทธิแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์อีกและเป็นมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้ ล. และ ด. ใช้ประโยชน์จากจำเลยทั้งสิบซึ่งโจทก์อบรมให้ ข้อสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ข้อ 8.1 ดังกล่าว มิได้ห้ามจำเลยทั้งสิบประกอบอาชีพครูโดยเด็ดขาดไม่ทำให้จำเลยทั้งสิบต้องรับภาระเกินสมควร ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสิบ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 10 ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า ปัจจุบันจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 10 มิได้เป็นครูผู้สอนในโรงเรียนกวดวิชาของ ล. และ ด. ซึ่งได้ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมแบบเรียนของโจทก์แล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ เมื่อจำเลยทั้งสิบยังคงเป็นครูผู้สอนในโรงเรียนกวดวิชาของ ล. และ ด. ภายหลังที่โจทก์บอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แก่ ล. และ ด. ดังกล่าวแล้ว ย่อมถือว่าจำเลยทั้งสิบปฏิบัติผิดสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ ข้อ 8.1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ที่สัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ ข้อ 8.1 กำหนดว่า "หากผิดสัญญา ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท" เป็นการกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าฐานที่จำเลยทั้งสิบปฏิบัติผิดสัญญาอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์กำหนดค่าเสียหายในสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์เป็นจำนวน 200,000 บาท เท่ากันทุกฉบับโดยไม่ได้พิจารณาลักษณะการกระทำและความเสียหายที่แท้จริงที่เกิดจากการปฏิบัติผิดสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ของจำเลยแต่ละคน อีกทั้งจำเลยทั้งสิบประกอบวิชาชีพเป็นครูโดยทำงานอยู่กับ ล. และ ด. ตั้งแต่ก่อนที่โจทก์บอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แก่ ล. และ ด. การห้ามจำเลยทั้งสิบไม่ให้รับจ้างหรือทำงานกับ ล. และ ด. ต่อไปย่อมทำให้เกิดความยากลำบากแก่จำเลยทั้งสิบในการหางานด้วย มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสิบจงใจปฏิบัติฝ่าฝืนสัญญาที่ทำกับโจทก์ การกำหนดให้จำเลยทั้งสิบต้องชำระเงินแก่โจทก์คนละ 200,000 บาท จึงสูงเกินส่วน เมื่อโจทก์มิได้แสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติผิดสัญญาของจำเลยแต่ละคนเป็นเงินคนละ 200,000 บาท และเมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของโจทก์ทุกทางประกอบกับโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่ ล. และ ด. ก่อนฟ้องคดีนี้เป็นเวลาประมาณ 5 เดือน แล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสิบชำระเงินแก่โจทก์ในอัตราคนละ 50,000 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสิบชดใช้ค่าสูญเสียประโยชน์คนละ 50,000 บาท และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิจำนวน 50,000 บาท นั้น เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ตามฟ้อง โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายที่เป็นค่าสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์จากจำเลยทั้งสิบได้เพราะค่าเสียหายดังกล่าว พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 64 ให้โจทก์เรียกร้องได้เฉพาะกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13658/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับจากสัญญาซื้อขายและการลดจำนวนเบี้ยปรับเมื่อผู้ขายผิดสัญญา
โจทก์ให้หลักประกันเพื่อให้จำเลยที่ 2 เชื่อได้ว่าโจทก์จะปฏิบัติตามสัญญา หากโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาจำเลยที่ 2 จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการฟ้องขับไล่ผู้เช่าและผู้อาศัยที่ไม่ยอมย้ายออกจากทรัพย์สินที่ซื้อขายด้วยเงินที่ยึดถือไว้เป็นประกัน อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379
เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงหามีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับเบี้ยปรับที่ต้องคืนให้แก่โจทก์ด้วยนั้นไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18324/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญาตัวการตัวแทน, เบี้ยปรับสัญญาจัดการกองทุน, ศาลลดเบี้ยปรับได้
สัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โจทก์ทำกับจำเลยนั้น จำเลยมีหน้าที่บริหารจัดการกองทุนและดำเนินการต่าง ๆ แทนโจทก์ ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นความผูกพันในฐานะตัวการกับตัวแทน หาใช่เป็นความผูกพันในฐานะผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของไม่ ซึ่งในเรื่องตัวการตัวแทนนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
การที่โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยตกลงกันไว้ว่า หากจำเลยบริหารจัดการกองทุนโจทก์ได้รับผลประโยชน์ในอัตราเฉลี่ยต่อปีของผลประโยชน์รวมทั้งหมดของกองทุนก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยไม่รวมเงินบริจาคต่ำกว่าอัตราผลประโยชน์ที่จำเลยรับประกัน จำเลยจะชดเชยเงินที่ขาดนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่จะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 379 นั่นเอง เมื่อถือว่าเป็นเบี้ยปรับแล้ว ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14640/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าปรับอาคารชุด, การชำระหนี้แทนกัน, ละเมิดจากการไม่ดูแลรักษา, สิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย
ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ออกตามความในมาตรา 32 (เดิม) แห่งพ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ที่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในขณะจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 อันมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว และในมาตรา 18 วรรคหนึ่ง (เดิม) เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากบริการส่วนรวม เครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันและที่เกิดจากเครื่องมือ ตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด ทั้งนี้ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของร่วมที่จะต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางแก่จำเลยที่ 1 เพื่อนำไปใช้จัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของร่วมทุกคน เมื่อตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ในข้อ 17 กำหนดให้เจ้าของร่วมต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายการแจ้งจากผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดฯ ณ สำนักงานนิติบุคคลฯ ในกรณีชำระหลังจากที่กำหนดหรือนิติบุคคลอาคารชุดฯ ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ตามเช็ค เจ้าของห้องชุดจะต้องชำระค่าปรับในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ของจำนวนที่ค้างชำระ และหากค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน นิติบุคคลอาคารชุดมีอำนาจงดการให้บริการสาธารณูปโภคในห้องชุดได้นั้น เมื่อไม่ปรากฏว่า พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 (เดิม) ได้กำหนดอัตราของค่าปรับไว้แต่อย่างใด จึงยังถือไม่ได้ว่าข้อบังคับข้อ 17 ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น ข้อบังคับข้อ 17 ที่กำหนดอัตราค่าปรับไว้ด้วย จึงมิได้เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
ค่าปรับอันเกิดจากค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นหนี้เงินที่จำเลยที่ 1 จะเรียกเก็บได้ต่อเมื่อเจ้าของร่วมมิได้ชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดไว้อันมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าและเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379
ที่โจทก์ชำระค่าปรับเพราะต้องการใบปลอดหนี้ไปใช้ในการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแม้ค่าปรับดังกล่าวจะเป็นหนี้ที่เจ้าของห้องชุดเดิมต้องรับผิดก็ตาม แต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกซื้อห้องชุดได้จากการขายทอดตลาดจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับห้องชุดดังกล่าวโดยตรงยินยอมเข้าชำระหนี้ดังกล่าวแทนเจ้าของห้องชุดเดิมลูกหนี้นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นการชำระหนี้โดยขืนใจลูกหนี้จึงถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้โดยสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 314 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าปรับที่ชำระไปคืนจากจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11234/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความ: การจำแนกประเภทหนี้ค่าเสียหาย, เบี้ยปรับ, และดอกเบี้ยผิดนัด
โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันทำให้หนี้เดิมระงับไปและเปลี่ยนมาเป็นหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแทน ซึ่งตามสัญญาดังกล่าวจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้ค่าปรับของยอดซื้อผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่อเดือนต่ำกว่าจำนวนที่จำเลยได้ให้คำรับรองไว้ จำนวนเงินดังกล่าวถือว่าเป็นค่าเสียหายอันจำเลยยอมรับผิดชดใช้แก่โจทก์ ถือว่าเป็นมูลหนี้เกี่ยวกับค่าเสียหายตามที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความแจ้งชัดแล้ว มิใช่ค่าเสียหายที่คู่ความตกลงกันไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการไม่ชำระหนี้จึงมิใช่เบี้ยปรับ จำเลยต้องรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้
แต่ในส่วนที่เป็นเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของหนี้ค่าซื้อผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมค้างชำระ โจทก์และจำเลยมิได้ตกลงหรือกำหนดเบี้ยปรับดังกล่าวไว้เป็นจำนวนที่แน่นอนแจ้งชัดในขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ยอมรับว่าเป็นหนี้เบี้ยปรับ
ส่วนค่าเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของต้นเงินที่ยังไม่ชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมนั้น เป็นการที่จำเลยสัญญาแก่โจทก์ไว้ล่วงหน้าว่าจำเลยจะชดใช้ค่าเสียหายกรณีที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับอันศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6292/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตั๋วสัญญาใช้เงินประเภทถึงกำหนดเมื่อทวงถาม: โจทก์มีอำนาจฟ้องเมื่อทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ และอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาไม่ถือเป็นเบี้ยปรับ
ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินประเภทถึงกำหนดเมื่อทวงถามมิใช่ถึงกำหนดเมื่อได้เห็น ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระเงินแล้ว จำเลยไม่ชำระ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินได้ โดยหาจำต้องนำตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นต่อจำเลยเพื่อให้จำเลยชำระเงินก่อนไม่
ตามตั๋วสัญญาใช้เงินมีข้อความระบุไว้ว่า จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี แสดงว่าไม่ว่าจำเลยจะผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเอาจากจำเลยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ตามสัญญาได้อยู่แล้ว ข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงไม่ใช่เบี้ยปรับ เฉพาะดอกเบี้ยส่วนที่เกินกว่าอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เท่านั้นที่เป็นเบี้ยปรับ ซึ่งถ้าศาลเห็นว่าส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 16 ต่อปี สูงเกินส่วน ศาลจะลดไปจำนวนพอสมควรก็ได้ แต่จะลดลงเหลือเท่ากับหรือน้อยกว่าอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ไม่ได้
of 46